ประเด็นสังคมที่ได้รับการร้องเรียนในช่วงวิกฤตโควิด-19

ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคม โดยในที่นี้จะได้นำเสนอข้อมูลการเปลี่ยนแปลงประเด็นสังคมที่มีการรับเรื่องโดย ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 

จากข้อมูลในช่วง 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค.) ปี 2563 ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 พบว่า มีการใช้บริการสายด่วน 1300 ในประเด็นสังคมต่างๆ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.8 โดยประเด็นปัญหาที่มีการรับเรื่องเพิ่มขึ้น คือ ปัญหาครอบครัวยากจน ปัญหาที่อยู่อาศัย และปัญหาเร่ร่อน ขณะที่ประเด็นปัญหาที่มีการรับเรื่องลดลง ได้แก่ ความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงนอกครอบครัว ปัญหาขอทาน การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ และปัญหาการค้ามนุษย์ 

รูปที่ 1: สถิติศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 

ที่มา:  ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคมในด้านต่างๆ โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดจากเศรษฐกิจที่แย่ลงและการดำเนินมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ โดยเฉพาะมาตรการด้านสาธารณสุข เช่น การ Lockdown ได้ส่งผลกระทบให้ปัญหาสังคมเพิ่มขึ้น ได้แก่ ครอบครัวยากจน ปัญหาที่อยู่อาศัย และคนเร่ร่อน อย่างไรก็ดี ในทางกลับกัน ความเครียดจากสถานการณ์โควิด-19 และการดำเนินมาตรการของภาครัฐบางอย่าง เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคม ได้ส่งผลให้ปัญหาสังคมบางส่วนลดลงหรือเปลี่ยนแปลงไป ได้แก่ ความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงนอกครอบครัว ปัญหาขอทาน การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ และปัญหาการค้ามนุษย์ 

จะเห็นได้ว่า การดำเนินนโยบายมาตรการของภาครัฐ แม้จะมีความมุ่งหมายที่ดีในด้านสาธารณสุขและชีวิตของคนทั้งประเทศ แต่อาจส่งผลกระทบทางอ้อมต่อเศรษฐกิจและสังคม จำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐต้องชั่งน้ำหนักผลดีที่เกิดขึ้น และหาแนวทางรองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายและมาตรการดังกล่าว ก่อนที่จะนำนโยบายมาตรการที่ได้วางแผนไว้นำไปดำเนินการจริง 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ 
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)


(ชื่อบทความเดิม: ปัญหาสังคมจากการร้องเรียน)

โดย คณะวิจัย TDRI 
14 สิงหาคม 2563