การออกแบบกลไก กระบวนการทำงานและจัดสรรทรัพยากรในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

การจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นับเป็นการปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่สำคัญสำหรับประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้กระทรวงฯ ทำหน้าที่ขับเคลื่อนพันธกิจสำคัญตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ที่มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม และขับเคลื่อนประเทศไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเต็มรูปแบบ ยั่งยืน และครบทุกมิติ อาทิ การพัฒนาคนในศตวรรษที่ 21 การพัฒนาเชิงพื้นที่ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร และภาคบริการ และท่องเที่ยว การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม การยกระดับขีดความสามารถด้านวิจัยและนวัตกรรมให้แก่ภาคอุตสาหกรรม การสร้างผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป

ประเด็นการขับเคลื่อนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมที่สำคัญเร่งด่วนเพื่อตอบสนองนโยบายของประเทศ อาทิ

  • การเปลี่ยนความยากจนสู่ความมั่งมีอย่างทั่วถึงด้วยอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) มุ่งเน้นปรับเปลี่ยนการแก้ไขปัญหาความยากจนจากการอุดหนุนทรัพยากร ไปสู่การปลดล็อกศักยภาพความเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรมของคนในพื้นที่ เพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตควบคู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรม
  • สร้างเสริมคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์และพลังทางสังคม เพื่อการพัฒนาที่สมดุลด้วย อววน. โดยส่งเสริมระบบ อววน. ในการสร้างคน องค์ความรู้ และนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการพัฒนามนุษย์สังคมและสิ่งแวดล้อมที่สมดุล ยั่งยืน และทั่วถึง ให้ความสำคัญกับความมั่นคงของมนุษย์ สุขภาวะ การพัฒนามนุษย์ทุกช่วงวัย ความหลากหลายของวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ความเปิดกว้างและความเป็นธรรมในสังคม การมีส่วนร่วมทางการเมืองและนโยบายสาธารณะทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น ความเข้าใจโลกและการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์และการอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมอย่างสอดคล้องกับระบบนิเวศ และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี
  • ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนโดยใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นเครื่องยนต์ชุดใหม่สำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สร้างการเติบโตเชิงคุณภาพ ต่อยอดจากความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบของไทยในด้านความเข้มแข็งของฐานทรัพยากรชีวภาพภายในประเทศ สู่กลยุทธ์การสร้างความได้เปรียบเชิงการแข่งขันในระดับโลกมุ่งเน้นการพัฒนาใน 4 อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1) เกษตรและอาหาร 2) ผลิตภัณฑ์และกระบวนการเคมีชีวภาพมูลค่าสูงเพื่อสร้างพลังงานชีวภาพ วัสดุชีวภาพ และชีวเคมีภัณฑ์ 3) อุตสาหกรรมการแพทย์และบริการสุขภาพ และ 4) อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวมทั้งส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านโมเดลการพัฒนาสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน การสร้างกลไกและโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนการพัฒนา BCG และการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ BCG
  • ยกระดับอุตสาหกรรม และวางรากฐานเพื่ออนาคตด้วย อววน. ใช้อววน. หนุนเสริมการเปลี่ยนผ่านภาคการผลิตและบริการสู่ “อุตสาหกรรม 4.0” เพิ่มจำนวน Tech-based Enterprises พร้อมกับเร่งสร้างขีดความสามารถในประเทศให้มีเทคโนโลยี วิศวกรรม และวิทยาศาสตร์ขั้นสูง สำหรับแก้ไขโจทย์หรือรับมือกับวิกฤตการณ์สำคัญ รวมถึงมีโครงสร้างพื้นฐานและแพลตฟอร์มที่สามารถรองรับการพัฒนาภาคการผลิตและบริการยุคใหม่ ตลอดจนสนับสนุนการวิจัยขั้นแนวหน้า (frontier research)ในสาขาที่ประเทศไทยมีศักยภาพเป็นเจ้าของเทคโนโลยี หรือพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ในประเทศ รวมถึงพัฒนาองค์ความรู้ด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ ที่นำไปสู่การสร้างพลังทางสังคมและทางสุนทรียะ ตลอดจนส่งเสริมวัฒนธรรมการวิจัย และความตระหนักทางวิทยาศาสตร์เพื่อสร้างความฉลาดรู้ให้กับสังคมไทยในทุกมิติ
  • พลิกโฉมการอุดมศึกษาและพัฒนากำลังคนให้ตอบโจทย์ประเทศ ผลักดันการพลิกโฉมบทบาทของสถาบันอุดมศึกษา ให้ตอบโจทย์ทั้งการพัฒนากำลังลังคน การวิจัย นวัตกรรม ที่สอดคล้องกับบริบทประเทศและสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงสร้างความเข้มแข็งและปฏิรูประบบนิเวศการพัฒนากำลังคนของประเทศ ให้ตอบโจทย์การพัฒนากำลังคนในทุกช่วงวัย ที่สอดคล้องกับทั้งมิติการพัฒนาเศรษฐกิจและการส่งเสริมความเท่าเทียม

การบรรลุเป้าหมายตามนโยบายของประเทศตามที่กล่าวมาข้างต้น จำเป็นต้องขับเคลื่อนการปฏิรูประบบ ววน. รองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยกำหนดบทบาทหน้าที่ของหน่วยงาน (Division of Labor) ในระบบ ววน. ทำให้หน่วยงานเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเอง เกิดความรับผิดชอบต่องาน (Accountability) เพื่อลดความซ้ำซ้อน สามารถทำงานเสริมกัน ทำให้สามารถใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่า ควบคู่ไปกับการปรับกระบวนทัศน์ (Paradigm) ในการทำงาน การจัดระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนา ววน. รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของหน่วยงานและบุคลากรให้มีคุณภาพสูงอย่างเพียงพอ เพื่อขับเคลื่อนระบบ ววน. ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการพัฒนาประเทศ

วัตถุประสงค์โครงการ
1) เพื่อศึกษาทบทวนการดำเนินงานในภาพรวมของระบบ ววน. ของประเทศในช่วงหลังการจัดตั้งกระทรวง อว. เพื่อให้ทราบถึงช่องว่าง (Gap) ที่เป็นความเสี่ยงและข้อจำกัดที่อาจทำให้การดำเนินงานของระบบ ววน. ไม่บรรลุเป้าหมายและสัมฤทธิ์ผลตามนโยบายของประเทศ โดยเฉพาะในระดับบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม
2) เพื่อออกแบบกลไก/กระบวนการทำงานและการจัดสรรทรัพยากรในระบบ ววน. โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับการบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาประเทศ

Download