การปรับโครงสร้างแรงงานสร้างสรรค์ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย ในยุคหลังโควิด-19

อุตสาหกรรมสร้างสรรค์มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย โดยมีมูลค่าสูงประมาณ 4 แสนล้านบาท ในปี 2562 (คิดเป็นร้อยละ 2.5 ของผลผลิตมวลรวมในประเทศ) มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปี (CAGR) ประมาณร้อยละ 1.7 ในช่วงปี 2558-2563 และมีการจ้างงานมากกว่า 1 ล้านคนหรือราวร้อยละ 2.7 ของการจ้างงานทั้งประเทศ เป็นแหล่งรายได้ของผู้มีอาชีพสร้างสรรค์ที่ทำงานอิสระหรือเป็นแรงงานนอกระบบ

ต่อมา สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันและรุนแรงต่ออุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมท่องเที่ยว สันทนาการ แฟชั่น และการออกแบบ ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์การปิดเมืองของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และลักษณะของสินค้าและบริการ บางประเภทของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่เป็น “สินค้าฟุ่มเฟือย (luxury good)” ส่งผลให้ความต้องการของสินค้าหรือบริการลดลง และมีระดับรายได้ที่ลดลงไปด้วย

การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบต่ออุตสาหกรรมสร้างสรรค์

แน่นอนว่าในทางลบ การระบาดของโควิด-19 ได้มีการออกมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ต้องปิดสถานที่และปิดการแสดง ส่งผลให้ธุรกิจขาดรายได้และค่อยๆปิดตัวลงกันไปหลายราย ส่วนผลกระทบทางบวก ถือว่าเป็นโอกาสในวิกฤต ที่ทำให้ผู้ประกอบการและแรงงานหันมาปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อให้เข้าถึงผู้ชมหรือฐานลูกค้าในรูปแบบใหม่ๆ เช่น ดนตรี ภาพยนตร์ การตลาดออนไลน์ การใช้สตรีมมิ่ง และการสื่อสารทางดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น Facebook, TikTok และ Instagram จึงเรียกได้ว่าเป็นแรงงานสร้างสรรค์ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ นอกจากนี้ยังสามารถสร้างสรรค์ผลงานร่วมกันได้ แม้ว่าจะทำงานอยู่ห่างไกลกัน (remote working) ในอุตสาหกรรมเกมและซอฟแวร์จึงเติบโตมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด

ยังพบอีกว่า แรงงานที่ทำงานเต็มเวลามีจำนวนลดลง จากเดิมที่ปริมาณร้อยละ 90-92 ของแรงงานในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เหลือเพียงร้อยละ 78 ในปี 2563 และในทางตรงกันข้าม จำนวนแรงงานที่เป็นผู้เสมือนว่างงาน (ผู้ที่มีงานทำ 0-24 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) เพิ่มขึ้นมาถึงสามเท่า อีกทั้งความต้องการทักษะของแรงงานสร้างสรรค์เปลี่ยนแปลงไป โดยต้องการแรงงานที่มีทักษะหลากหลายมากขึ้น เช่น ทักษะภาษาอังกฤษ ทักษะดิจิทัล การมีความคิดสร้างสรรค์และการคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) เน้นการทำงานที่มีคุณภาพ ความเป็นมืออาชีพ สามารถเรียนรู้ได้เร็ว และสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้

ทักษะแรงงานสร้างสรรค์ ก้าวทันโลกที่เปลี่ยนไปหลังวิกฤตโควิด-19

ความสร้างสรรค์เป็นทักษะสำคัญของแรงงานสร้างสรรค์ แต่เพียงทักษะเดียวคงไม่พอสำหรับโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว แรงงานสร้างสรรค์จึงควรมี ทักษะที่ผสมผสานหรือ “fusion skill” ซึ่งประกอบไปด้วย ทักษะทางภาษา เช่น ภาษาอังกฤษ และภาษาที่สาม ทักษะดิจิทัล เช่น การสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย และการใช้บริการสตรีมมิ่ง ทักษะทางเทคนิค เช่น ทักษะวิชาชีพ ทักษะการวิเคราะห์ข้อมูล และทักษะการใช้ซอฟต์แวร์ และ ทักษะความเป็นผู้ประกอบการ เช่น การตลาด การบริหารธุรกิจ และการสร้างแบรนด์ แนวทางสำคัญที่จะช่วยให้แรงงานสร้างสรรค์มีทักษะดังกล่าวได้ คือ การส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้แบบพหุวิทยาการควบคู่ไปกับการยกระดับทักษะ (up skill) และปรับทักษะ (re skill)

ที่มา : คณะผู้วิจัย

นอกจากนี้ เพื่อก้าวสู่โมเดลใหม่ของแรงงานสร้างสรรค์ที่มีการปรับตัว ต่อยอดด้วยเทคโนโลยี และเติบโตได้ดีหลังยุคโควิด-19 ควรมีทักษะที่สำคัญ ได้แก่

  • ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเผยแพร่ผ่านสื่อ และเพิ่มช่องทางติดต่อและเข้าถึงลูกค้า
  • พัฒนาเนื้อหา (content) ที่น่าสนใจและดึงดูดผู้ชม เนื่องจากเทคโนโลยีดิจิทัลและสื่อสังคมออนไลน์ทำให้ผู้ชมสามารถเข้าถึงเนื้อหาได้รวดเร็วและมีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น ผู้ผลิตเนื้อหาจึงต้องแข่งขันกันพัฒนาเพื่อแย่งเวลาที่มีจำกัดของผู้ชมมากขึ้น
  • สร้างประสบการณ์ใหม่ที่มีคุณค่าให้ลูกค้า เช่น ละครซีรีส์ Y “เพราะเราคู่กัน” มีเนื้อหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของคนเพศเดียวกันที่สร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้ชม จึงได้รับความนิยมสูงในจีน และอาเซียน
  • ออกแบบสินค้าให้สวยงามควบคู่การใช้งานได้จริง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า เช่น กระเป๋ายี่ห้อ BOYY ซึ่งเป็นกระเป๋าแบรนด์เนมของไทยที่โด่งดังในระดับโลก
  • ใช้ภาษาต่างประเทศได้ดี เพื่อช่วยขยายสู่ตลาดต่างประเทศ เนื่องจากตลาดในประเทศมีขนาดเล็ก นอกจากนี้ แนวโน้มของนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในประเทศไทยน่าจะมีจำนวนลดลงในยุคหลังโควิด-19 การขยายสู่ตลาดต่างประเทศจะช่วยให้การผลิตและการพัฒนาสินค้าหรือบริการสร้างสรรค์เกิดการประหยัดต่อขนาด (economies of scale) และเป็นการขยายฐานลูกค้าเพื่อสร้างการเติบโต ตัวอย่างเช่น บริษัท ยานนิกซ์ (Yannix) ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการสร้างภาพด้วยเทคนิคพิเศษ (Visual Effect) มีผลงานที่ทำให้ภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด เช่น Avengers: Endgame

แรงงานสร้างสรรค์เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างคุณค่า..บริษัทจะล้าหลัง หากไม่สร้างความน่าดึงดูด และไม่ให้รางวัลมากขึ้นแก่นักเขียน นักออกแบบ ศิลปิน โปรดิวเซอร์ หรือใครก็ตามที่ให้คุณค่ากับความคิดสร้างสรรค์ในที่ทำงาน
Scott Belsky, Chief Product Officer, Adobe

ดังคำกล่าวของ Scott Belsky แรงงานสร้างสรรค์เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างคุณค่า… และยังสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ แต่การที่จะหล่อหลอมขึ้นมาเป็นกุญแจได้นั้น ต้องอาศัยสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้แรงงานสามารถพัฒนาทักษะตัวเองได้ มีโอกาสได้ใช้ความคิด ความสามารถ และสามารถเป็นแรงงานสร้างสรรค์ที่สรรค์สร้างความคิดออกมาอย่างมีคุณภาพ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นบริษัท ภาครัฐ หรือองค์กรต่างๆ ควรให้การสนับสนุน สร้างความดึงดูด แรงจูงใจ ลงทุนในการพัฒนาความรู้ของทรัพยากรบุคคล เพื่อนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถ ผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ

โดยคณะผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อเป็นแนวทางให้กับภาครัฐในการพัฒนาแรงงานอาชีพสร้างสรรค์ 4 ประการ ดังต่อไปนี้

ประการแรก ให้ทุนสนับสนุนแรงงานสร้างสรรค์ในทุกช่วงวัย เพื่อใช้พัฒนาทักษะที่จำเป็นในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แรงงานที่อยู่ในวัยกลางคน เพื่อช่วยให้สามารถปรับตัวต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป

ประการที่สอง สถาบันการศึกษาควรเน้นการพัฒนาคุณภาพและนำไปปฏิบัติได้จริง และร่วมมือกับภาคเอกชนในการดำเนินการ ควรเร่งปรับรื้อหลักสูตร โดยเพิ่มการสอนทักษะเฉพาะวิชาชีพที่จำเป็น รวมทั้งทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ทักษะภาษาอังกฤษ ทักษะการตลาด และการบริหาร และให้นักศึกษาทำศิลปนิพนธ์หรือวิทยานิพนธ์ เพื่อเรียนรู้การประยุกต์ใช้องค์ความรู้ที่ได้เรียนมา ขณะเดียวกัน ต้องควบคุมคุณภาพและกระบวนการทำงานวิทยานิพนธ์ เพื่อทำให้นักศึกษามีโอกาสได้เรียนรู้กระบวนการทำงานที่เข้มงวด มีระเบียบวิธีวิจัยที่ชัดเจน สามารถนำกระบวนการและทัศนคติด้านความเป็นมืออาชีพไปใช้ในการทำงาน สุดท้ายแล้ว ควรให้นักศึกษาเข้าไปฝึกงานในสถานประกอบการจริง เพื่อให้ได้เรียนรู้ทักษะการทำงาน และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่ทำงานจริงมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้

ประการที่สาม ระบบการอุดมศึกษาควรมีกลไกการประเมิน ตรวจสอบ ประเมินผล และรับผิดรับชอบ รวมทั้งกลไกสนับสนุนความเข้มแข็งของสถาบันการศึกษา ควรเปิดข้อมูลเผยข้อมูลการสำรวจการมีงานทำและรายได้ของบัณฑิตจบใหม่ของแต่ละหลักสูตรเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการตัดสินใจของนักเรียนในการศึกษาต่อและมหาวิทยาลัยในการดูผลลัพธ์ในด้านการผลิตบัณฑิตออกสู่ตลาดแรงงาน และสนับสนุนสถาบันการศึกษาในการปรับปรุงคุณภาพและปรับตัว โดยให้ความช่วยเหลือทั้งด้านความรู้ บุคลากร และการเงิน

ประการที่สี่ การอำนวยความสะดวกและสร้างแรงจูงใจให้แรงงานสร้างสรรค์ทักษะสูงจากต่างประเทศเข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยพิจารณาเพิ่มประเภทของ Smart Visa ให้แก่กลุ่มผู้เชี่ยวชาญอิสระที่อยู่ในกลุ่มอาชีพสร้างสรรค์ เพื่อให้แรงานสร้างสรรค์ของไทยได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับแรงงานทักษะสูงจากต่างประเทศ และเพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานสร้างสรรค์ในสาขาที่ขาดแคลน เช่น สาขาบริการซอฟต์แวร์

Download