ทีดีอาร์ไอ เปิดประเด็น “จัดการความขัดแย้งแห่งช่วงวัย” แก้โจทย์ให้ประเทศไทยหนุ่มสาวขึ้น

ทีดีอาร์ไอจัดงาน TDRI Annual Public Conference 2022 “ทำอย่างไรให้ประเทศไทยหนุ่มสาวขึ้น?” เมื่อวันอังคารที่ 29 พ.ย. โดยเปิดประเด็นปัญหาความเชื่องช้าของประเทศไทยในหลายด้าน เปรียบเทียบคล้ายคนสูงวัยที่เดินช้า สายตาพร่ามัวจนก้าวไม่ทันหลายประเทศ ทำให้ขาดเสน่ห์ในสายตาของนักลงทุนเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน

นอกจากนี้ยังเกิดปัญหาที่คนแต่ละรุ่นมีค่านิยมที่แตกต่างกัน ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดความขัดแย้ง และทำให้ประเทศไทยไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ แนวทางในการแก้ปัญหาต้องแก้ไขที่ต้นเหตุ คือ การจัดการความขัดแย้งแห่งช่วงวัย การหนุนคนทุกวัยโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ให้มีพื้นที่เรียนรู้ที่ปลอดภัย และการเปิดให้คนแต่ละรุ่นมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศในระบบประชาธิปไตย 

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดประเด็นสัมมนา ในหัวข้อแรก “จัดการความขัดแย้งแห่งช่วงวัย” ชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลกและประเทศไทย คือ คนมีอายุยืนยาวขึ้นมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยจึงมีคนอย่างน้อย 6 รุ่นอยู่ร่วมกัน ในขณะที่สภาพแวดล้อมภายนอกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ความขัดแย้งระหว่างช่วงวัยเห็นได้ชัดเจนมากขึ้น และทำให้ขาดส่วนร่วมของรุ่นคนที่หลากหลายในการพัฒนาประเทศโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ประเทศไทยจึงเหมือนคนสูงวัยที่ไร้พลังสดใหม่   

ดร.สมเกียรติ อธิบายรากปัญหาความขัดแย้งของคนต่างวัยที่มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแตกต่างกันนำมาซึ่งความต้องการที่ต่างกัน แต่เป็นสิ่งที่จัดการได้ เช่น คนหนุ่มสาวต้องการการศึกษาที่มีคุณภาพ สวัสดิการเด็กเล็กและเป็นห่วงเรื่องการว่างงาน  ขณะที่คนวัยเกษียณห่วงเรื่องเงินออมและเงินเฟ้อ มีความต้องการบำเหน็จ บำนาญและการรักษาพยาบาล 

นอกจากนี้ความขัดแย้งของคนต่างวัย ยังมาจากค่านิยมที่ต่างกัน เห็นได้จาก คนรุ่นใหม่ต้องการนวัตกรรมใหม่ เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม แต่คนรุ่นเก่าอาจยังยึดติดโดยอนุรักษ์สิ่งที่ตนคิดว่าดีงามไว้เป็นสำคัญ นอกจากนี้คนอายุมากยังมักมองคนหนุ่มสาวในแง่ที่ไม่ถูกใจนัก เช่น เมื่อปี 2013  นิตยสาร TIME ขึ้นหน้าปก The Me Me Me Generation ที่กล่าวถึง คน Generation ​Y ว่าคนรุ่นนี้ขี้เกียจ เห็นแก่ตัว และหลงตัวเอง ขณะที่พึ่งตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งพ่อแม่ รายงานลักษณะนี้ยังสร้างภาพจำต่อคนรุ่นต่างๆ ในทางที่ไม่น่าพึงประสงค์ เช่น Generation Alpha ที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่สุด ถูกมองว่าฉลาดกว่าทุกรุ่น แต่ขาดความอดทน ส่วน Generation Z มีความรู้ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ แต่ไม่ชอบความลำบาก  

ดร.สมเกียรติ เห็นว่าภาพจำของคนแต่ละรุ่นมักถูกนำมาใช้ในการบริหารงานบุคคล และการทำการตลาด ทั้งที่ไม่มีหลักฐานสนับสนุนทำให้เกิดภาพจำที่ผิดและทำให้คนแต่ละรุ่นเสี่ยงต่อการขัดแย้งกันมากขึ้น เพราะคิดว่าความแตกต่างของคนแต่ละรุ่นเกิดจาก “ปัจจัยรุ่นคน” (Cohort Effect) เท่านั้น  โดยละเลยต่อ “ปัจจัยด้านวัฏจักรชีวิต” (Life-cycle Effect) เช่น เมื่ออายุมากขึ้น คนทุกรุ่นจะสนใจเรื่องสุขภาพมากกว่า   “ปัจจัยจากเหตุการณ์ใหญ่ที่เกิดในช่วงนั้น”  (Period Effect) เช่น หากเกิดการก่อการร้าย หรือ โรคระบาดใหญ่ ทุกรุ่นคนจะมีทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงไป และ “ปัจจัยของประเทศที่อยู่” (Country Effect) ซึ่งมีผลต่อค่านิยมและวัฒนธรรมของคนทุกรุ่นในประเทศนั้น

ดร.สมเกียรติ ได้ใช้ข้อมูลจาก “การสำรวจค่านิยมของประเทศต่างๆ ในโลก” (World Value Survey)  ซึ่งมีการสำรวจในประเทศไทยแล้ว 3 รอบ โดยสถาบันพระปกเกล้า เพื่อทำความเข้าใจค่านิยมด้านการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ความเชื่อมั่นต่อสถาบันต่างๆ ของคนไทย 5 รุ่น (ไม่รวมรุ่น Alpha ซึ่งยังมีอายุน้อยมาก) ได้แก่  รุ่นก่อนสงคราม ซึ่งเกิดก่อนปี 1945  (ก่อน พ.ศ. 2488) ปัจจุบันมีอายุเกิน 75 ปี รุ่นเบบี้บูม ซึ่งเกิดช่วงปี 1945-1965  (พ.ศ. 2488-2508)  ปัจจุบันมีอายุ 56-75 ปี รุ่น Gen X  ซึ่งเกิดช่วงปี 1966-1979 (พ.ศ. 2509-2522) ปัจจุบันมีอายุ 41-55 ปี รุ่น Gen Y (มิลเลเนียล) ซึ่งเกิดช่วงปี 1980-1995 (พ.ศ. 2523-2538) ปัจจุบันอายุ 25-40 ปี  และรุ่น Gen Z ซึ่งเกิดช่วงปี 1996-2010 (พ.ศ. 2539-2553)  ปัจจุบันมีอายุน้อยกว่า 25 ปี โดยพบว่า 

ด้านการเมือง โดยรวมคนไทยคิดว่า ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ดี แต่คนหลายรุ่นเห็นว่าประชาธิปไตยเป็นสิ่งดีลดลง ซึ่งอาจเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดความผิดหวังต่อประชาธิปไตยที่เกิดทั่วโลก  โดยคนไทยทุกรุ่นมององค์ประกอบประชาธิปไตยว่า รัฐบาลต้องมาจากการเลือกตั้ง ต้องช่วยเหลือประชาชนเรื่องการว่างงาน ปัญหาปากท้อง และมองว่าสิทธิของพลเมืองต้องได้รับการคุ้มครอง แต่องค์ประกอบสุดท้ายมีความเห็นพ้องกันน้อยกว่า 2 องค์ประกอบแรก

ด้านเศรษฐกิจ โดยรวมคนไทยอยากเห็นเศรษฐกิจเติบโตในระดับที่สูง แต่มีความรู้สึกก้ำกึ่งระหว่างการสร้างความเท่าเทียมทางรายได้และการจูงใจให้คนมีความพยายามมากขึ้น  นอกจากนี้ยังมีความรู้สึกก้ำกึ่งว่าความสำเร็จเกิดจากทำงานหนัก หรือ เกิดจากโชคและเครือข่าย  ด้านวัฒนธรรม พบว่าคนไทยค่อนข้างอนุรักษ์นิยมทางวัฒนธรรม คือ เกินครึ่งไม่ยอมรับการหย่าร้าง การมีเซ็กส์ก่อนแต่งงาน การรักคนเพศเดียวกัน และการทำแท้ง แต่ยอมรับได้มากขึ้นตามเวลาและรุ่นคน

ด้านคอร์รัปชั่น โดยรวมเชื่อว่าประเทศไทยมีทุจริตค่อนข้างมาก โดย45% เชื่อว่า เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่หรือทั้งหมดทุจริต  และไม่คิดว่าการไม่จ่ายค่ารถสาธารณะ การโกงภาษีและการรับสินบนเป็นสิ่งที่ยอมรับได้

ด้านความเชื่อมั่นต่อสถาบันต่างๆ โดยรวมแล้ว คนไทยเชื่อมั่นต่อสถาบันตุลาการมากที่สุด ตามด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และ ทหาร แต่มีความเชื่อมั่นต่อนักการเมืองและพรรคการเมืองน้อย แต่ความเชื่อมั่นต่อสถาบันตุลาการในช่วงหลังลดลงเล็กน้อย ในขณะที่ความเชื่อมั่นต่อทหารลดลงมากในการสำรวจรอบสุดท้าย  ทั้งนี้ในการสำรวจรอบสุดท้ายมีสิ่งที่น่ากังวล คือ คนรุ่น Gen Z คิดว่าต้องเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยการปฏิวัติมากกว่ารุ่นอื่นๆ และเชื่อมั่นในการปฏิรูปน้อยกว่ารุ่นก่อนหน้า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะไม่เห็นความสำเร็จจากการปฏิรูป และความไม่เชื่อในสถาบันต่างๆ 

ด้านความภูมิใจในความเป็นคนไทย คนทุกรุ่นรวมทั้งคนหนุ่มสาวมีความภูมิใจที่เป็นคนไทย  และทุกรุ่นคิดว่ามาตรฐานการครองชีพดีกว่ารุ่นพ่อแม่เมื่ออายุพอ ๆ กัน  นอกจากนี้คนไทยส่วนใหญ่มีความสุข และค่อนข้างพอใจในชีวิตในระดับใกล้เคียงกันทุกรุ่น แม้ช่วงหลังแต่ละรุ่นมีความพอใจลดลง  

ด้านทัศนคติต่อการเลี้ยงลูก พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา โดยสัดส่วนคนที่คิดว่าควรให้เด็ก “อยู่ในโอวาท“ ลดลงตามเวลาและตามรุ่นคน ในขณะที่สัดส่วนคนที่คิดว่าควรให้เด็ก “เป็นตัวของตัวเอง” มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามเวลา และตามรุ่นคน เช่นเดียวกับความต้องการให้เด็ก “มีจินตนาการ” 

ด้านสิ่งแวดล้อม คนรุ่น Gen Z และรุ่นก่อนสงครามเห็นความสำคัญของการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมมากกว่ารุ่นอื่นๆ  

ด้านการทำงาน คนรุ่น Gen Y และคนรุ่น Gen Z เห็นความสำคัญของการทำงานสูงพอควรแม้จะหมายถึงการมีเวลาพักผ่อนน้อยลง โดยแม้จะไม่สูงเท่ารุ่นก่อนและกังวลต่อการตกงานมากขึ้น  คนรุ่นเก่าจึงไม่ควรเปรียบเทียบว่าคนรุ่นใหม่ ไม่ขยันเท่ารุ่นของตน เพราะทุกรุ่นให้ความสำคัญต่อการทำงานลดลง ซึ่งอาจเป็นผลจากการพัฒนาเศรษฐกิจที่ทำให้คนทุกรุ่นมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และมีแรงกดดันให้ต้องทำงานลดลง  

ด้านศาสนา คนรุ่น Gen Y และรุ่น Gen Z คิดว่าศาสนามีความสำคัญ แต่น้อยกว่ารุ่นอื่นๆ  โดยคน Gen Z คิดว่าศาสนามีความสำคัญ แต่น้อยกว่าคนรุ่น Gen Y เมื่ออายุใกล้เคียงกัน และทุกรุ่นเห็นความสำคัญลดลงตามเวลา 

ในตอนท้ายของการนำเสนอ ดร.สมเกียรติ ได้เสนอแนวทางการจัดการความขัดแย้งแห่งช่วงวัยว่า ต้องทำระบบการศึกษาให้ดี สร้างพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่และคนทุกรุ่น พร้อมปรับตัวรับกับสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว คนรุ่นก่อนต้องเปิดใจกว้างให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีบทบาททางการเมือง โดยประวัติศาสตร์ได้ชี้ให้เห็นว่ามีหลายเหตุการณ์สำคัญทั้งในระดับโลกและประเทศไทย ที่มีคนรุ่นใหม่เป็นผู้นำสร้างความเปลี่ยนแปลง และสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้โลกมาแทบทุกยุคทุกสมัย เช่น ขบวนการสิทธิพลเมืองในอเมริกาในทศวรรษ 1960 ซึ่งสร้างความเสมอภาคของคนต่างชาติพันธุ์และสีผิว, การประท้วงสงครามเวียดนาม และขบวนการสันติภาพ ซึ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของประเทศต่างๆมากมาย และเหตุการณ์อาหรับสปริง ที่ขับเคลื่อนด้วยคนรุ่นใหม่ รวมถึงกรณีของไทย เช่น 14 ตุลาคม 2516 ที่แม้นิสิตนักศึกษาจะไม่ใช่พลังชี้ขาด แต่ได้ริเริ่มทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง สร้างจิตสำนึกให้คนจำนวนไม่น้อยทำงานเพื่อสังคมมาจนถึงปัจจุบัน  เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 และขบวนการประชาธิปไตยในปัจจุบัน การเปิดใจรับคนรุ่นใหม่ ไม่ผูกขาดอำนาจทางการเมืองไว้ในมือคนรุ่นเก่า จะช่วยให้ประเทศไทยมีพลังของความหนุ่มสาวมากขึ้น

นอกจากนี้ ดร.สมเกียรติ ได้ฝากถึงคนรุ่นใหม่ที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงในประเทศไทยให้ตระหนักว่า รุ่นของตนเพียงรุ่นเดียวอาจไม่มีพลังเพียงพอสร้างความเปลี่ยนแปลง หากดูสัดส่วนจำนวนคน Gen Z แม้จะมีร้อยละ 19 แต่ถ้านับจำนวนเสียงเลือกตั้งจะมีเพียงร้อยละ 13 เท่านั้น คนรุ่นใหม่จึงต้องจับมือคนรุ่นก่อนที่มีจำนวนและทรัพยากรมากกว่าในการขับเคลื่อนประเทศ  โดยควรเลือกประเด็นที่แสวงหาจุดร่วมและสงวนจุดต่างมากขึ้น คำนึงถึงความรู้สึกและอัตลักษณ์ของคนยุคก่อนหน้า เพราะคนทุกรุ่นต้องช่วยบริหารความขัดแย้งแห่งช่วงวัย ทำให้ประเทศไทยน่าอยู่ร่วมกัน


รับชมและดาวน์โหลดเอกสาร TDRI Annual Public Conference 2022 “ทำอย่างไรให้ประเทศไทยหนุ่มสาวขึ้น?”  ได้ที่นี่