ร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการการเพิ่มความสามารถในการฟื้นคืนจากผลกระทบการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทย

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่ง เนื่องจากการท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่งต้องพึ่งพาสภาพอากาศที่เหมาะสม ดังนั้น หากแหล่งท่องเที่ยวเผชิญพายุรุนแรง ฝนตกหนัก น้ําท่วม อุณหภูมิสูง ฯลฯ ก็อาจกระทบต่อแรงดึงดูดทางด้านการท่องเที่ยว

อย่างไรก็ดี แหล่งท่องเที่ยวแต่ละแห่งเผชิญความเสี่ยงและความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกัน การศึกษานี้เน้นการศึกษาความเสี่ยงและผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อการท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงการหาแนวทางในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อลดความเสี่ยงสําหรับภาคการท่องเที่ยวฯ

วัตถุประสงค์ของการศึกษานี้มีอยู่ 3 ประการ คือ การทบทวนแผนและนโยบายต่างๆเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคการท่องเที่ยว การวิเคราะห์ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคการท่องเที่ยวของพื้นที่ชายฝั่งทะเล และการเสนอแนะทางเลือกในการปรับตัว โดยพื้นที่ศึกษาภายใต้โครงการวิจัยในส่วนนี้มี 4 พื้นที่ คือ พื้นที่แหลมผักเบี้ย อําเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี พื้นที่ปากน้ําประแส อําเภอแกลง จังหวัดระยอง พื้นที่จังหวัดสงขลา และพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี

จากการทบทวนแผนและนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง พบว่า มีกล่าวถึงแนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมาตรการที่สําคัญ เช่น การพัฒนาระบบฐานข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การคาดการณ์สภาพภูมิอากาศ ระบบเตือนภัยล่วงหน้า เป็นต้น อย่างไรก็ดี แผนและนโยบายดังกล่าวพูดถึงการปรับตัวเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาพรวม ไม่ได้ระบุแนวทางการปรับตัวสําหรับการท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่งเป็นการเฉพาะ

เพราะฉะนั้นในภาพรวม แนวทางในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในด้านการท่องเที่ยวที่สําคัญคือ การพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวที่หลากหลาย แต่ยังคงรักษาอัตลักษณ์ของพื้นที่ โดยเฉพาะการพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวที่ไม่ต้องพึ่งพาสภาพอากาศที่เหมาะสม และการชูจุดเด่นในแต่ละฤดูกาล เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี

Download