สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดมาตรฐานจำนวนแพทย์ต่อประชากรไว้ที่แพทย์ 1 คนต่อประชากร 1,000 คน ที่ผ่านมาตัวเลขของไทยอยู่ระหว่าง 0.5-0.8 คนต่อประชากร 1,000 คน โดยในภาครัฐน่าจะมีเพียง 0.5 ต่อประชากร 1,000 คน หรือแพทย์ 1 คนต่อประชากร 2,000 คน
“การขาดแคลนแพทย์เป็นปัญหาเรื้อรังที่มีมานานแล้ว เคยมีคนคิดว่าเราผลิตแพทย์มากขึ้นไปสักพักแล้วปัญหานี้จะหายไป แต่ถึงแม้ปัญหาดูจะบรรเทาลงไปบ้าง แต่ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะหายไปได้ง่ายๆ ในเร็ววัน”
ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายสาธารณสุขและการเกษตร ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ฉายภาพสถานการณ์บุคลากรแพทย์ของไทย
ดร.วิโรจน์ ชี้ว่าปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้แพทย์ขาดแคลน แรกสุดคือระยะเวลาการผลิตแพทย์ โดยในปัจจุบันแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต้องใช้เวลาศึกษานับสิบปี ยิ่งถ้าเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมากๆ ก็ต้องใช้เวลา 12 ปีขึ้นไป ซึ่งในทางปฏิบัติเมื่อแพทย์จบใหม่ทำงาน “ใช้ทุน” ครบ 3 ปีแล้ว ก็มักมีบางส่วนลาออกเพื่อไปเรียนต่อเฉพาะทางแล้วย้ายไปอยู่โรงพยาบาลเอกชน จนถึงทุกวันนี้ ยังไม่ปรากฏว่าการผลิตแล้วเติมแพทย์จบใหม่เข้าไปทดแทนในระบบโรงพยาบาลรัฐจะ “เติมเต็ม” ให้มีแพทย์เพียงพอกับความต้องการ
แล้วอะไรที่ทำให้แพทย์ออกจากโรงพยาบาลรัฐ โดยเฉพาะในต่างจังหวัด?
คำตอบคือมีทั้ง “แรงดึง” และ “แรงผลัก” โดย “แรงดึง(ออก)” นั้น มีทั้งเรื่องความก้าวหน้าในวิชาชีพ เช่น การไปศึกษาต่อเพื่อเป็นอาจารย์ในโรงเรียนแพทย์ หรือเป็นแพทย์เฉพาะทางรวมทั้งในภาคเอกชนที่ปกติมีรายได้สูงกว่าภาครัฐ และการไปอยู่ในเมืองใหญ่ที่มีแทบทุกอย่างครบครัน รวมทั้งโรงเรียนดีๆ ให้ลูกเรียนด้วย
ส่วน “แรงผลัก” ที่สำคัญคือภาระงานที่ค่อนข้างหนัก ซึ่งนอกจากเกิดจากจำนวนแพทย์ในหลายโรงพยาบาลมีน้อยแล้ว ก็ยังมีประเด็นเรื่องการกระจายงานภายในโรงพยาบาลเองด้วย
“ถึงแม้รายได้แพทย์โรงพยาบาลรัฐอาจไม่ดีเท่าในโรงพยาบาลเอกชน แต่เมื่อเทียบรายได้กับบุคลากรทางการแพทย์อื่นในโรงพยาบาลแล้ว ก็ยังถือได้ว่าแพทย์มีรายได้ค่อนข้างดี แต่ที่มาพร้อมกับรายได้ก็คือภาระงานการ เช่น ชั่วโมงการเข้าเวร และยังมีเรื่องของการกระจายงานในโรงพยาบาลซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเหมือนวัฏจักรชีวิตของแพทย์ในระบบราชการ ที่แพทย์จบใหม่เป็นเหมือนผู้ใช้แรงงานในโรงพยาบาล ก่อนที่จะค่อยๆ ไต่เต้าขึ้นไปเป็นผู้บริหาร ทำให้ในสถานการณ์ที่จำนวนแพทย์ไม่ได้มีมากหรือเต็มอัตรา แพทย์ที่อยู่ในหลายโรงพยาบาลรัฐก็ต้องทำงานหนัก”
“พลังดูด” โรงพยาบาลเอกชน – “เมดิคัล ฮับ” ซ้ำเติมปัญหา
ดร.วิโรจน์ ชี้ด้วยว่ายังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้แพทย์ถูกดึงออกจากระบบรัฐไปอยู่โรงพยาบาลเอกชน มากขึ้นกว่าเดิมและมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะนโยบาย “Medical Hub” หรือ “ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ” ซึ่งแทบทุกรัฐบาลในสองทศวรรษที่ผ่านมาต่างก็สนับสนุนนโยบายนี้ และโรงพยาบาลเอกชนของไทยหลายแห่งก็ประสบความสำเร็จในการดึงดูดผู้ป่วยต่างชาติเข้ามารักษาในโรงพยาบาลของไทยเป็นจำนวนมากโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำของไทยหลายแห่งสร้างตึกเพิ่มเพื่อรับคนไข้ต่างชาติ และดึงทีมแพทย์เฉพาะทางจากโรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาลรัฐอื่นๆ ไปอยู่ในโรงพยาบาลเอกชนกลุ่มต่างๆ เป็นจำนวนมาก
“ที่ผ่านมาโรงเรียนแพทย์ในภาครัฐหลายแห่งมีความรู้สึกว่า แพทย์ที่ผลิตออกมาได้ไม่นานก็หายไปอยู่กับภาคเอกชน ซึ่งถ้า Medical Hub ยิ่งเจริญงอกงาม แรงดึงในส่วนนั้นก็ยิ่งมากกว่าเดิม เพราะนอกจากแพทย์ไปอยู่เอกชนมากขึ้นแล้ว ก็ยังจะมีคนไข้ต่างชาติจำนวนมากทะลักเข้ามาด้วยกำลังซื้อที่สูงกว่าคนไข้ไทย (และกองทุนหลักประกันสุขภาพต่างๆ) มาก และทำให้ถึงแม้ว่าจะผลิตแพทย์เพิ่มขึ้นได้มาก แต่ในที่สุดแล้ว ในต่างจังหวัดและในพื้นที่ห่างไกลในหลายที่ แพทย์ก็ยังจะขาดแคลนและมีภาระงานที่ยังหนักเหมือนเดิม” ดร.วิโรจน์ ระบุ
เมื่อใดที่แพทย์ขาดแคลน ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีความพยายามปรับระบบเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ เช่น การนำการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เข้ามาเสริม การให้ผู้ป่วยบางโรคไปรับยาที่ร้านขายยา เป็นต้น แต่วิธีเหล่านี้ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่
“ในระบบของเรา ส่วนที่มีคนกังวลมากกว่าเรื่องอื่นก็คือคุณภาพ เพราะการที่มีแพทย์พยาบาลที่ไม่เพียงพอในระบบรัฐ ทำให้ในหลายที่แพทย์หนึ่งคนอาจต้องตรวจคนไข้วันละเป็นร้อยคน ซึ่งแม้ว่าในการตรวจวันละเป็นร้อยคนนั้น แพทย์ส่วนใหญ่อาจทำได้โดยไม่มีความผิดพลาดที่สำคัญเลย แต่การตรวจคนไข้จำนวนมากในเวลาอันสั้นนั้น ความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดพลาดก็ย่อมจะสูงขึ้น และอาจกลายเป็นระเบิดเวลาที่ระเบิดขึ้นมาได้ทุกเมื่อ”
งานหนัก กระทบผู้ป่วย เปรียบสายพานโรงงานอุตสาหกรรม
ประเด็นนี้เอง ทำให้การยึดหลัก “ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง” ทำได้ยากขึ้น เพราะในแต่ละวันผู้ป่วยจะถูกส่งเข้ามาพบแพทย์แต่ละคนเป็นจำนวนมาก เปรียบเสมือนกับการส่งชิ้นส่วนมาทางสายพานในระบบสินค้าอุตสาหกรรมที่แต่ละจุดต้องจะต้องทำให้เสร็จในเวลาสั้นๆ ในขณะที่ปกติแล้วอาการและปัญหาแวดล้อมของผู้ป่วยแต่ละคนมักมีรายละเอียดเฉพาะบุคคลที่แตกต่างกันมากพอสมควร
สำหรับแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขในการแก้ไขปัญหาด้วยการผลิตแพทย์เพิ่มเป็นการแก้ไขปัญหาได้ถูกจุดหรือไม่นั้น ดร.วิโรจน์ เห็นว่ามีทั้งสองกรณี กล่าวคือโครงการผลิตแพทย์เพิ่มในความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุข (หรือ “โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท” เดิม) นักศึกษาแพทย์ที่จะรับเข้ามามักเป็นคนในพื้นที่และตั้งใจที่จะอยู่ต่อในพื้นที่ โอกาสที่ผลิตมาแล้วจะหายไปในเมืองใหญ่หรือในภาคเอกชนจะมีน้อยกว่าแพทย์ทั่วไป
แต่อีกประเด็นที่สำคัญก็คือ จะควบคุมคุณภาพแพทย์ที่ผลิตเพิ่มให้ได้มาตรฐานได้อย่างไร?
ดร.วิโรจน์ อธิบายว่า ปกติแนวทางการควบคุมคุณภาพมักจะใช้ 2 วิธีประกอบกัน
วิธีแรกคือการกำกับดูแลหลักสูตรการสอนในโรงเรียนแพทย์ต่างๆ ในส่วนนี้ ระบบของไทยใช้แพทยสภาเป็นองค์กรกำกับคุณภาพมาตรฐานโรงเรียนแพทย์ ซึ่งแพทยสภาก็อิงตามมาตรฐานที่ใช้กันในประเทศพัฒนาแล้วเป็นหลัก และยังมีราชวิทยาลัยสาขาต่างๆ มากำกับการสอนเฉพาะทางในแต่ละสาขาด้วย แต่ทั้งนี้ โรงเรียนแพทย์จะต้องมีกำลังอาจารย์และจำนวนเคสคนไข้โรคต่างๆ มากพอสำหรับใช้สอนนักศึกษาแพทย์ด้วย
ในส่วนนี้มีจุดหนึ่งที่บางฝ่ายเป็นห่วงมากกว่าจุดอื่น คือโครงการ[ร่วม]ผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ซึ่งแม้ว่าสถาบันภายใต้กระทรวงสาธารณสุขจะเริ่มทำมานานแล้ว โดยใช้โรงพยาบาลศูนย์เป็นสถานที่สอนระดับคลินิก ซึ่งก็น่าจะมีเคสคนไข้ต่างๆ มากพอ แต่อาจมีศักยภาพการสอนที่ค่อนข้างจำกัด เพราะต้องใช้แพทย์ที่ปกติทำหน้าตรวจคนไข้เป็นหลักมารับภาระหน้าที่เพิ่มเป็นอาจารย์แพทย์ไปด้วย ทำให้การผลิตแพทย์เพิ่มในส่วนนี้น่าจะทำได้จำกัดพอสมควร
ซึ่งการจำกัดจำนวนการรับนักศึกษาแพทย์หรือฝึกอบรมแพทย์ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่มักใช้ในการควบคุมคุณภาพ ซึ่งที่ผ่านมา แพทย์ส่วนใหญ่คือกลุ่มคนที่เป็น “หัวกะทิ” ของประเทศ ดังนั้นการคัดเลือกคนในกลุ่มนี้เข้ามา (เช่น ถ้าเพิ่มจากร้อยละ 3 เป็นร้อยละ 5) คุณภาพเฉลี่ยก็อาจลดลงตามจำนวนที่รับเข้ามาเพิ่มขึ้น และแน่นอนว่าต้องพิจารณาศักยภาพและกำลังคนในการสอนด้วย
“ถ้าเราผลิตแพทย์เพิ่มมากกว่าศักยภาพที่จะสามารถทำได้ดี คุณภาพก็อาจลดลงบ้าง ซึ่งแน่นอนว่าการควบคุมคุณภาพจะมีความสำคัญมากขึ้น แต่อีกปัญหาคือผู้บริหารมีภาพที่ไม่ชัดเจนว่าจะต้องผลิตเพิ่มมากแค่ไหน ซึ่งที่ผ่านมาในหลายกรณีเราอาจผลิตแพทย์และพยาบาลน้อยเกินไป เนื่องจากผู้ที่เกี่ยวข้องกังวลว่าภาครัฐจะไม่มีตำแหน่งงานมารองรับ แต่เมื่อผลิตมาแล้วก็ไม่พอบรรจุในตำแหน่งงานของรัฐที่ว่างอยู่ เพราะแต่ละปีมีคนเกษียณและลาออกไปมากกว่า ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ในทศวรรษที่ผ่านมาเรามีปัญหาขาดแคลนบุคลาการทางการแพทย์และสาธารณสุขมากและยาวนานกว่าที่ควรจะเป็น
ส่วนการเพิ่มค่าตอบแทน สวัสดิการ และความก้าวหน้าในการทำงานให้กับแพทย์นั้น ดร.วิโรจน์ ระบุว่า ที่ผ่านมามีการผลักดันในเรื่องนี้ไปพอสมควร แต่ก็มักเป็นเหมือนการผลิต “เสื้อโหล” ซึ่งบางครั้งไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาได้ดีพอ เทียบกับกรณีที่โรงพยาบาลเอกชนพยายามดึงตัวแพทย์ไปอยู่ด้วย ซึ่งเอกชนมักจะพิจารณาเป็นรายๆ แล้วยื่นข้อเสนอที่เห็นว่าน่าจะตอบสนองความต้องการของแพทย์แต่ละท่านได้ดีกว่า
“ในช่วงรัฐมนตรีเฉลิม อยู่บำรุง ได้ปรับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายในระดับที่เพิ่มขึ้นสูงถึง 60,000 บาทต่อเดือนสำหรับแพทย์ที่ทำงานอยู่โรงพยาบาลอำเภอในพื้นที่กันดารเกิน 10 ปี การที่มีรายได้เพิ่มขึ้นก็คงจะช่วยให้แพทย์ในโรงพยาบาลอำเภอที่ยินดีที่จะอยู่ที่นั่นต่อไปเป็นเวลานาน แต่ในระบบราชการของไทยนั้น เมื่อแพทย์ในโรงพยาบาลอำเภอได้รับเงินเพิ่ม แพทย์ในโรงพยาบาลจังหวัดก็เห็นว่าพวกเขาก็ทำงานหนักและควรได้รับค่าตอบแทนเพิ่มเช่นกัน ก็ทำให้เกิดการเสนอให้ปรับการจ่ายมาใช้ระบบ “P4P” หรือ Pay-for-Performance แทน ซึ่งวิธีนี้จะทำให้แพทย์ที่อยู่โรงพยาบาลใหญ่อาจได้รับค่าตอบแทนมากกว่าคนที่อยู่ห่างไกล ซึ่งก็ทำให้แพทย์ในโรงพยาบาลอำเภอก็ประท้วงเพราะเห็นว่าพวกเขาควรที่ได้ค่าตอบแทนพิเศษจากการที่อยู่ห่างไกล การใช้วิธีปรับค่าตอบแทนเพื่อจูงใจแพทย์บางกลุ่มจึงไม่ใช่วิธีที่ทำได้ง่ายในระบบราชการไทย”
พิจารณาให้โรงพยาบาลเอกชนเปิดสอนหลักสูตรเฉพาะทาง – เลิกกีดกันแพทย์ต่างชาติ
นอกจากการแก้ในภาพรวมแล้ว การปรับแก้เฉพาะจุดก็อาจช่วยบรรเทาบางปัญหาลงได้ ซึ่ง ดร.วิโรจน์ เสนอให้พิจารณาอนุญาตให้โรงพยาบาลเอกชนร่วมเปิดหลักสูตรสอนแพทย์เฉพาะทางได้ จากเดิมที่การสอนแพทย์เฉพาะทางจะอยู่ในโรงเรียนแพทย์ของรัฐบาลเท่านั้น กับพิจารณาเปิดทางให้แพทย์ต่างชาติรักษาผู้ป่วยต่างชาติที่เข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนของไทย
“สิบกว่าปีที่ภาคเอกชนและ medical hub ของเราเติบโตอย่างมาก มีอาจารย์จากโรงเรียนแพทย์จำนวนมากถูกดึงหรือ “ซื้อตัว” (บางครั้งก็ถูก “ซื้อยกทีม”) ไปอยู่ที่โรงพยาบาลเอกชนชั้นนำ ทำให้โรงพยาบาลเหล่านั้นมีอาจารย์ที่มีศักยภาพและประสบการณ์ในการสอนหลักสูตรเฉพาะทางมาก่อนและยังอาจมีภาระงานที่เบาลงด้วย ดังนั้น แทนที่จะไปกีดกันไม่ให้เอกชนเปิดสอนหลักสูตรเฉพาะทาง ก็น่าจะหาทางดึงศักยภาพตรงนั้นมาใช้แก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งอาจมีปัญหามากขึ้นจากการเติบโตของโรงพยาบาลเอกชนและคนไข้ต่างชาติ”
“เรายังมีนโยบายที่จะดึงคนไข้ต่างชาติเข้ามาเยอะๆ ในขณะที่กีดกันไม่ให้แพทย์ต่างชาติรักษาคนไข้ในไทย โดยตั้งเงื่อนไขว่าเขาต้องสอบใบประกอบโรคศิลป์เป็นภาษาไทย ซึ่งเราควรจะอนุญาตให้แพทย์ต่างชาติรักษาคนไข้ที่ใช้ภาษาเดียวกันกับที่เขาใช้สอบใบประกอบโรคศิลปะ เพราะในกรณีนี้การใช้ภาษาต่างประเทศอาจมีประโยชน์กับคนไข้ที่พูดภาษาเดียวกัน ซึ่งการอธิบายอาการของโรคในหลายกรณีบางกรณีอาจดีกว่าการพูดคุยผ่านล่ามด้วย
แพทย์บางท่านตั้งคำถามว่าถ้าเรายอมให้นำแพทย์จากต่างประเทศเข้ามา เราจะมีแพทย์ชั้นสอง ชั้นสาม เข้ามาด้วยหรือเปล่า ซึ่งในส่วนนี้ไทยก็สามารถควบคุมมาตรฐานได้ ไม่ว่าจะใช้แนวทางรับรองร่วมกัน (mutual recognition) และ/หรือแพทยสภาสามารถจัดสอบใบประกอบโรคศิลปะในภาษาอังกฤษและภาษาอื่นๆ ที่แพทยสภาของไทยสามารถดำเนินการได้ ซึ่งในภาพรวมนั้น การที่มีแพทย์มากขึ้นและเพียงพอกับจำนวนคนไข้ ก็น่าจะช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนของคนไข้ชาวไทยด้วย”
“ตั้งแต่ 14 ปีก่อน ผมเคยเสนอไว้ว่า ถ้ามีการดึงคนไข้ต่างชาติเข้ามามากๆ ก็จะเพิ่มความเสี่ยงในการเข้าถึงบริการของคนไทยและต้นทุนสำหรับกองทุนสุขภาพต่างๆ อีกทั้งแพทย์ไทยที่ผ่านการศึกษาอบรมในประเทศไทยส่วนใหญ่ก็ได้รับประโยชน์ทั้งจากการอุดหนุนด้วยเงินภาษีของประชาชน (ประมาณ 4 ล้านบาทต่อการลิตแพทย์ทั่วไป 1 คน) และการได้เรียนรู้จากเคสตัวอย่างที่เป็นคนไข้ ในระหว่างการศึกษาก่อนที่จะจบมาเป็นเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง”
ด้วยเหตุนี้ ดร.วิโรจน์ จึงเสนอแนวคิดว่า ไทยควรพิจารณาเก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมพิเศษจากคนไข้ต่างชาติที่เป็น medical tourist ซึ่งหมายถึงผู้ที่เดินทางเข้ามาเพื่อรับการรักษาในประเทศไทยโดยเฉพาะ (ไม่รวมผู้ป่วยที่เป็นนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่มาทำงานในประเทศไทย)
“มีเหตุผลที่เราอาจจะเก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมจากเขา เพื่อเป็นการชดเชยการใช้ภาษีของคนไทยในการอุดหนุนการผลิตและฝึกอบรมแพทย์ ซึ่งวิธีนี้แทบจะไม่กระทบคนไข้หรือกองทุนต่างประเทศที่มีกำลังซื้อสูงกว่าคนไทยมาก แต่จะช่วยสกัดไม่ให้ราคาค่ารักษาพยาบาลในไทยเพิ่มพรวดพราดตามกำลังซื้อที่มาจากต่างประเทศด้วย และเงินภาษีที่เก็บได้ให้นำมาแบ่งเฉลี่ยเพื่ออุดหนุนการผลิตแพทย์หรือปรับปรุงพัฒนาโรงเรียนแพทย์ของไทยให้ดีขึ้น”
นอกจากข้อเสนอเหล่านี้แล้ว ดร.วิโรจน์ ยังตั้งโจทย์ชวนสังคมคิดไปพร้อมกันด้วยว่า ควรทำอย่างไรกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มคนที่ต้องใช้บริการโรงพยาบาลรัฐอาจจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แต่คนบางกลุ่มก็อาจจะไม่สนใจมากนัก เพราะใช้แต่บริการโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งปัจจุบันรองรับคนประมาณร้อยละ 20 แต่มีทรัพยากร (รวมจำนวนเตียง) ที่ใหญ่พอๆ กับระบบของรัฐ ซึ่งบ่งชี้ด้วยว่าระบบบริการการแพทย์ของไทยไม่ได้เป็นระบบที่มี “มาตรฐานเดียวกัน”
“การที่ประเทศเรามีความเหลื่อมล้ำสูง น่าจะทำให้คนไทยจำนวนมากไม่ได้เห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับระบบของรัฐให้ดี มีคุณภาพ และเป็นที่พอใจของทั้งผู้ให้บริการกับผู้รับบริการ คนจำนวนหนึ่งที่มีเงินต้องการเลือกบริการที่เห็นว่าดีที่สุดสำหรับตัวเอง โดยไม่ได้สนใจมากนักว่าระบบที่เหลือจะเป็นอย่างไร ไม่ได้อยากให้รัฐนำเงินภาษีไปใช้ในการปรับปรุงคุณภาพบริการ โดยหลายคนเรียกร้องให้เก็บเงิน “ร่วมจ่าย” จากผู้ใช้บริการมากขึ้นแทนการใช้เงินภาษี ซึ่งพวกเขาอยากจะจ่ายให้น้อยที่สุด แล้วเก็บเงินเอาไว้สำหรับไปเลือกหาหมอที่ต้องการในโรงพยาบาลเอกชนเอง ถึงแม้ว่าในระยะหลังหลายท่านก็ได้เรียนรู้ว่าเมื่อรักษาในโรงพยาบาลเอกชนไปไม่นานนัก ก็จ่ายไม่ไหว และต้องย้ายมารับรักษาในระบบของรัฐแทน”
ความเคลื่อนไหวทางสังคมในเรื่องนี้ของไทย จึงยังคงแตกต่างไปจากในแคนาดาหรืออังกฤษที่ระบบบริการทางการแพทย์ของเขายังคงความเป็นระบบของรัฐ (National Health System) ที่แทบจะไม่เปิดให้มีทางเลือกอื่นสำหรับผู้ที่ต้องการระบบที่มีคุณภาพสูงกว่า (ถ้าไม่ควักกระเป๋าข้ามไปใช้บริการในประเทศอื่นรวมทั้งไทย) ทำให้คนในประเทศเหล่านั้นไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากเฝ้าดูว่าระบบของรัฐกำลังพัฒนาไปในทางที่น่าพอใจหรือไม่ และมักจะสนใจเรียกร้องให้ปรับปรุงระบบบริการทางการแพทย์ของรัฐอย่างแข็งขันอยู่เสมอ
ในทางกลับกัน การแก้ไขปัญหาระบบบริการสุขภาพของไทยในระยะยาวอย่างจริงจัง คงจะยังไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นเรื่องเป็นราวจนกระทั่งคนไทยส่วนใหญ่มี “ฉันทามติ” และตกลงกันได้ด้วยว่าจะมุ่งหน้าไปทางไหนในเรื่องนี้
แต่จนถึงวันนี้ ดร.วิโรจน์ มองว่ายังไม่เห็นแนวโน้มใดที่จะนำพาให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเช่นนั้นในเร็ววัน ทำให้มีโอกาสมากที่การแก้ไขปัญหานี้และปัญหาอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นตามมา จะยังดำเนินไปอย่างช้าๆ ในวงจำกัด หรือจะยังถูกละเลยและเงียบหายไปเหมือนกับอีกหลายกรณีที่ผ่านมา