รื้อกฎหมายแก้เกมธุรกิจ

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ธุรกิจที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดและสามารถสร้างมูลค่าตลาดได้อย่างมหาศาล คือ ธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์ม ซึ่งสร้างมูลค่าการตลาดในประเทศไทย ณ ปี 2558 ประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท เพิ่มเป็น 9 แสนล้านบาทในปี 2564 แม้จะมีมูลค่าการตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ประเทศไทยยังไม่สามารถจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก ธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์มหลายรายโดยเฉพาะที่มีสำนักงานในต่างประเทศ
         

เนื่องจากธุรกิจแพลตฟอร์มยอดนิยมส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่ให้บริการระหว่างประเทศ แต่ปัจจุบันประมวลรัษฎากรให้อำนาจรัฐเก็บภาษีเฉพาะบริษัทข้ามชาติ ที่มีรายได้จากการ ขายสินค้าหรือให้บริการ และมีสำนักงาน หรือมีการจ้างลูกจ้าง หรือตัวแทนดำเนินงานในประเทศไทยเท่านั้น

ขณะที่ธุรกิจแพลตฟอร์มเหล่านี้ มักไม่มีสำนักงานในไทย และใช้ช่องทางอื่นในการขายหรือให้บริการกับผู้บริโภคที่อยู่ในประเทศไทย ประกอบกับหลายบริษัทก็เลือกไปจดทะเบียนบริษัท หรือตั้งสำนักงานใหญ่ในต่างประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ บริษัทแพลตฟอร์มข้ามชาติเหล่านี้ จึงสร้างผลประโยชน์จาก “ช่องว่าง” ของกฎหมาย ซึ่งไม่สอดรับกับรูปแบบการให้บริการของธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์มในปัจจุบัน

ปัญหาการจัดเก็บภาษีธุรกิจแพลตฟอร์มนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับหลายประเทศทั่วโลก ทำให้องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) จัดทำเวทีความร่วมมือ ระหว่างประเทศเพื่อเจรจาหาแนวทางการจัดเก็บภาษีธุรกิจแพลตฟอร์มระหว่างประเทศ ตลอดจนแก้ปัญหาการเลี่ยงภาษี และได้เสนอกรอบความร่วมมือเกี่ยวกับการป้องกันการโยกย้ายฐานภาษีของกลุ่มบริษัทข้ามชาติ (Erosion and Profit Shifting : BEPS) อันประกอบด้วย 15 แผนปฏิบัติการ เพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว

หนึ่งในแผนปฏิบัติการที่สำคัญเพื่อ แก้ปัญหาเรื่องภาษีธุรกิจแพลตฟอร์มระหว่างประเทศนั้นปรากฏอยู่ในแผนปฏิบัติการที่ 1 มีชื่อว่า “แนวทางการจัดเก็บภาษีเงินได้ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล” (Statement on a Two-Pillar Solution to Address the Tax Challenges Arising from the Digitalisation of the Economy) ซึ่งปัจจุบันได้รับความเห็นชอบจาก 138 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย และอยู่ระหว่างการพัฒนาแนวปฏิบัติสากลภายใต้หลักการสำคัญสองประการ

หลักการข้อแรก การแบ่งสัดส่วนสิทธิในการจัดเก็บภาษีใหม่(Allocation Taxing Right) เพื่อให้ประเทศที่เกิดการบริโภคมีอำนาจจัดเก็บภาษีจากธุรกิจดิจิทัลขนาดใหญ่ได้ โดยการกำหนดให้การมีรายได้ ในประเทศเป็น “จุดเกาะเกี่ยว” หรือจุดเชื่อมโยงที่ทำให้รัฐมีอำนาจจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล หลักการนี้จะทำให้รัฐบาลประเทศนั้นๆ สามารถเก็บภาษีธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ไม่มีการประกอบกิจการทางกายภาพได้ ตัวอย่างเช่น บริษัทแพลตฟอร์ม A มีสำนักงานอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์และ ไม่มีสำนักงานในไทย บริษัทนี้ให้บริการ ดูหนังสตรีมมิงผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต แก่ผู้บริโภคในไทย และมีรายได้จากประเทศไทย
          

กรณีเช่นนี้กฎหมายปัจจุบันตามประมวลรัษฎากรนั้นยังไม่ให้อำนาจรัฐไทยจัดเก็บภาษีจากบริษัท A เนื่องจากกฎหมายเดิมยัง ยึดจุดเกาะเกี่ยวจาก “การที่บริษัทมีสำนักงานในไทย” ในขณะที่หลักการของ OECD ให้อำนาจรัฐไทยจัดเก็บภาษีในกรณีดังกล่าวได้ เนื่องจากยึดจุดเกาะเกี่ยวจาก “การให้บริการในประเทศ”
          

หลักการข้อสอง ข้อตกลงร่วม ในการกำหนดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำของโลก (Global Minimum Tax) มีเป้าหมายเพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีของบริษัท ข้ามชาติที่โยกย้าย กำไรไปบริษัทในเครือที่ตั้งในประเทศที่มี อัตราภาษีต่ำ โดยบริษัทในเครือกิจการข้ามชาติที่มี รายได้สูงเกินกว่า 750 ล้านยูโร จะต้องชำระอัตราภาษีที่แท้จริงไม่ต่ำกว่าอัตราขั้นต่ำที่ถูกกำหนดไว้ที่ร้อยละ 15 ตัวอย่างเช่น บริษัทข้ามชาติ A เป็นบริษัทในเครือกิจการข้ามชาติมีรายได้สูงเกินกว่า 750 ล้านยูโร (อยู่ในขอบเขตต้อง เสียภาษีในอัตราขั้นต่ำ) แต่บริษัทนี้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ทำให้ต้องจ่ายภาษีจริง เพียงแค่ในอัตราร้อยละ 9 ซึ่งไม่ถึงอัตราขั้นต่ำตามหลักการข้อสอง หลักการนี้กำหนดให้บริษัทข้ามชาติ A ต้องชำระภาษีส่วนเพิ่มอีกร้อยละ 6 เพื่อให้จ่ายภาษีเท่ากับอัตราขั้นต่ำ หรือร้อยละ 15 นั่นเอง
          

จากการเปลี่ยนแปลงข้างต้น ประเทศไทยควรปรับปรุงกฎหมายภายในให้พร้อมเพื่อนำหลักการนี้มาใช้ โดยพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรเพื่อให้รัฐบาลไทยมีอำนาจจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิของกิจการข้ามชาติขนาดใหญ่ ที่สร้างรายได้จากการขายสินค้าและบริการให้แก่ผู้บริโภคในประเทศ โดยไม่จำเป็นต้องมีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย และปรับอัตราภาษีเงินได้ที่จ่ายจริงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 สำหรับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มีรายได้ทั่วโลกรวมเกินกว่า 750 ล้านยูโร
          

นอกจากเรื่องการปรับกฎหมายในประเทศแล้ว ไทยยังต้องปรับข้อตกลงทางภาษีระหว่างประเทศที่ไทยมีอยู่กับคู่สัญญาแต่ละประเทศซึ่งเรียกว่า “อนุสัญญาภาษีซ้อน” (Double Tax Agreement : DTA) ให้สอดคล้องกับหลักการของ OECD ด้วยเช่นกัน
          

โดยไทยควรพิจารณาเข้าร่วมเจรจาอนุสัญญาพหุภาคี (Multilateral Con vention : MLC) ของ OECD ที่จะถือให้ MLC เป็นการแก้ไขอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศคู่สัญญาที่เป็นภาคีความร่วมมือไปในคราวเดียว อย่างไรก็ดี แม้ว่ารัฐบาลไทยให้ความสนใจแก้ไขปัญหาการจัดเก็บภาษีเงินได้จากธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์ม และกรมสรรพากรเองก็ตื่นตัวต่อการเข้าร่วมเวทีเจรจาของ OECD สะท้อนจากความพยายามแก้ไขกฎหมายให้สอดรับกับให้แนวทางของ OECD


แต่ความท้าทายต่อไปคือการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งไทยจะสามารถเรียกเก็บภาษีจากบริษัทแพลตฟอร์มได้หรือ ไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่ศักยภาพในการจัดเก็บและแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีระหว่างประเทศ ว่าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ ซึ่งยังเป็นโจทย์สำคัญที่ไทยต้องดำเนินการ ต่อไป

บทความโดย  ภูมิจิต ศรีอุดมขจร

หมายเหตุเผยแพร่ครั้งแรกใน นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 24 ส.ค. 2566