SME ไทยกับภารกิจสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลง  

วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือที่รู้จักกันในชื่อของ SME เป็นอีกหนึ่งภาคส่วนธุรกิจของไทยที่มีความสำคัญในฐานะกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่มาจากฐานรากหรือประชาชนคนทั่วไปที่ประกอบธุรกิจ โดยบทบาทดังกล่าวสะท้อนผ่านมูลค่าทางเศรษฐกิจของ SME ต่อ GDP ประเทศซึ่งมากกว่า 35% (ตามนิยาม SME ในปัจจุบัน) ในช่วงปี 2565 และยังเป็นแหล่งการจ้างงานที่สำคัญของแรงงานในประเทศ โดยมีสัดส่วนการจ้างงานร้อยละ 71 ของการจ้างงานทั้งประเทศ โดยบทบาทการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและการจ้างงานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลกระทบเชิงบวกที่เกิดขึ้นจากการมีอยู่ของ SME  

ที่มา: ประมวลผลโดยคณะผู้วิจัย จากข้อมูลสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

ความสำคัญของ SME สะท้อนอยู่ในตลอดวงจรธุรกิจ ตั้งแต่เริ่มต้นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ออกแบบและวิจัยสินค้าหรือบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ช่วงเติบโต รวมไปถึงการต่อยอดธุรกิจไปสู่ระดับสากล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนและพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมของประเทศ นอกจากนี้ การเกิดขึ้นของ SME ในหลากหลายกลุ่มสินค้าและบริการ ยังเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในภาพรวมอีกด้วย ทำให้ไม่ต้องพึ่งพิงธุรกิจหรือกิจการที่สร้างรายได้เพียงช่องทางเดียว ซึ่งอาจจะมีความเสี่ยงเมื่อธุรกิจประเภทดังกล่าวได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด  

ความสำคัญของ SME ข้างต้น จึงเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะพูดถึงการสนับสนุนจากหน่วยงานหลักในการส่งเสริม SME อย่างสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. ที่ทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและแผนการส่งเสริม SME ซึ่งปัจจุบันดำเนินการอยู่ภายใต้แผนการส่งเสริม SME ฉบับที่ 5  อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานของ สสว. ในช่วงแผนการส่งเสริม SME ฉบับที่ผ่านมามีความน่าสนใจโดยเฉพาะในช่วงแผนการส่งเสริม SME ฉบับที่ 4 (2560-2564) และแผนเฉพาะกิจในช่วงปี 2564 – 2565 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการผันผวนทั้งเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโควิด-19 การเกิดสงครามรัสเซีย – ยูเครน ไปจนถึงปัญหาทางเศรษฐกิจระหว่างสองขั้วอำนาจ (สหรัฐอเมริกาและจีน) ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญของประเทศไทย  

การดำเนินงานในช่วงแผนส่งเสริม SME ฉบับที่ 4 และแผนเฉพาะกิจ ส่งผลที่สำคัญหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นจากสินค้า OTOP ที่สูงถึง 1,328 ล้านบาท เมื่อสิ้นสุดปีงบประมาณ 2565 การจดทะเบียนธุรกิจใหม่มากกว่า 76,000 รายในปีเดียวกัน รวมไปถึงการสนับสนุนส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการในกลุ่มนิสิตนักศึกษา ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นเกือบ 160% ในสิ้นปี 2564  อย่างไรก็ตามผลกระทบที่เกิดขึ้นในบางเรื่องอาจจะยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มขึ้นของมูลค่าผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยของ SME ที่ต่ำกว่าเป้าหมายที่มีกำหนดไว้ รวมถึงสัดส่วนของสินเชื่อ SME ต่อสินเชื่อรวมที่ลดลงจาก 33% เหลือเพียง 19% ในปี 2565 ซึ่งสะท้อนถึงความท้าทายในการเข้าถึงแหล่งทุนของผู้ประกอบการ SME ได้เป็นอย่างดี 

อย่างไรก็ตามยังมีปัญหาและช่องว่างในการพัฒนาผู้ประกอบการ SME ในหลายประเด็นทั้งในเรื่องการบูรณาการกระบวนการส่งเสริม SME เพื่อลดต้นทุนในการจัดกิจกรรมและสร้างความสะดวกแก่กลุ่มเป้าหมาย การประชาสัมพันธ์ที่กิจกรรมส่งเสริมที่สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการปรับปรุงกฎระเบียบข้อบังคับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระเบียบที่ส่งผลต่อต้นทุนในการดำเนินธุรกิจของ SME เช่น การขอใบอนุญาตการทำโรงแรมที่ต้องมีการขอจากหลายหน่วยงาน หรือการประกอบโรงงานแปรรูปอาหารสำเร็จรูป ซึ่งเกี่ยวข้องกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งทางด้านสาธารณสุข การสร้างอาคารโรงเรือนและการทำบัญชีทางธุรกิจ เป็นต้น  

นอกจากนั้นแล้ว กระแสการพัฒนาของโลกในปัจจุบันยังส่งผลต่อผู้ประกอบการ SME ในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในฐานะที่ประเทศไทยมีเศรษฐกิจระบบเปิดและเป็นส่วนหนึ่งของ Global supply chain ที่ทำหน้าที่ในการเป็นผู้ผลิตสินค้าและบริการไม่เพียงแค่ในประเทศไทย แต่ยังรวมไปถึงประเทศอื่นทั่วโลก โดยมีหลากหลายประเด็นที่เกี่ยวข้อง เช่น การเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยีที่อาจจะทดแทนแรงงานบางกลุ่มหรือธุรกิจหลักของ SME บางกิจการ การเข้าสู่สังคมสูงอายุในหลายประเทศทั่วโลกที่เป็นการเปิดตลาดสินค้าที่มีความเฉพาะเจาะจง รวมไปถึงการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดความยั่งยืนอย่าง ESG ซึ่งปัจจุบันธุรกิจขนาดใหญ่หลายรายกำลังตอบสนองต่อแนวทางดังกล่าวและในอนาคต SME อาจต้องมีการตอบสนองต่อกระแสดังกล่าวด้วยเช่นกัน  

ดังนั้นการเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน จึงเป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญที่ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้ดำเนินการส่งเสริม SME ภาครัฐ ภาคเอกชนไม่ว่าจะเป็นขนาดใหญ่หรือ SME ต้องให้ความสำคัญและเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนต่อไปในอนาคต  

บทความโดย ชาคร เลิศนิทัศน์ นักวิจัยอาวุโสทีมนโยบายด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ