เศรษฐกิจไทย ใต้เงารัฐบาล“เศรษฐา” สำรวจความเสี่ยงที่ต้องรับมือ

รัฐบาลภายใต้การนำของ “เศรษฐา ทวีสิน” ชูธงนำด้านเศรษฐกิจในการขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งสะท้อนออกมาจากการที่นายกรัฐมนตรีควบตำแหน่งรมว.คลังด้วยตัวเอง นับเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 8 ของไทยที่นั่งในตำแหน่ง “ขุนคลัง” นี้ด้วย

อีกทั้งนโยบาย “เร่งด่วน” ของรัฐบาลเศรษฐาที่แถลงต่อรัฐสภา มี  4 ใน 5  นโยบายที่เป็นเรื่องเศรษฐกิจ 

แน่นอนว่ามีหลายนโยบายที่“ร้อนแรง” จนเกิดการตั้งคำถามของผู้คน โดยเฉพาะนโยบายที่เกี่ยวข้องกับ “เงิน” ทั้ง ดิจิทัล วอลเล็ต , พักชำระหนี้เกษตรกร และการอุ้มค่าพลังงาน ทั้งลดค่าไฟฟ้า และ ลดค่าน้ำมัน

นโยบายทั้งหลายนี้ จะเป็น “ยาดี” ที่จะชุบชีวิตเศรษฐกิจไทยได้ตามที่รัฐบาลหวังไว้ หรือเป็นเพียง “ยาชุด” คอยบรรเทาอาการเบื้องต้น และรอลุ้นต่อไปในอนาคตว่าโรคจะกำเริบขึ้นมาอีกครั้งเมื่อใด

ดร. กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา และ ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ จับชีพจรเศรษฐกิจไทย ทิศทางหลังการเดินหน้านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ข้อห่วงใย-ข้อเสนอแนะ รวมทั้งสำรวจกระแสคลื่นลมของเศรษฐกิจโลกจะส่งผลต่อเศรษฐกิจประเทศ และเงินในกระเป๋าของคนไทยมากน้อยเพียงใด 

หลังมีรัฐบาลชุดใหม่ ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้จะมีทิศทางเป็นอย่างไรบ้าง

ไตรมาส 4 ของปีนี้ น่าจะดีกว่าไตรมาส 3 เพราะเป็นช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยวด้วย ทำให้มีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการท่องเที่ยว ขณะเดียวกันนโยบายของรัฐที่ออกมาทั้งการลดค่าใช้จ่ายประชาชนในเรื่องของค่าไฟฟ้า และค่าน้ำมันดีเซลที่ถูกลง น่าจะช่วยให้เงินในกระเป๋าของคนให้มีมากขึ้น มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น รวมถึงการลงทุนทั้งจากในไทยเอง และลงทุนจากต่างประเทศยังเข้ามาอยู่  

นโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลมี 4 นโยบายที่เป็นเรื่องเร่งด่วน อย่างเรื่องแรกคือนโยบาย ดิจิทัลวอลเล็ต นโยบายนี้จะสามารถจุดชนวนกระตุกเศรษฐกิจของประเทศให้ตื่นขึ้นมาได้ตามที่รัฐบาลหวังเอาไว้หรือไม่

วัตถุประสงค์หลักของดิจิทัลวอลเล็ต คือความต้องการที่อยากจะกระตุ้นการบริโภค อยากให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนได้ด้วยการบริโภค มองตามตรงคงจะมีส่วนที่ช่วยให้เศรษฐกิจไทยโตได้จริง เพราะเงินที่เอาเข้ามาในระบบเศรษฐกิจค่อนข้างเยอะ  คิดเป็นเกือบ 3 เปอร์เซ็นต์ของ GDP หรือมูลค่าเศรษฐกิจไทยเลยทีเดียว ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจในปีหน้าโตได้ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ แต่อาจเป็นการโตในระยะสั้น เพราะเงินที่ลงมาใช้ได้ 6 เดือนก็อาจจะทำให้เกิดการหมุนในเศรษฐกิจบ้าง

ส่วนที่ว่าเงินที่ลงมาจะหมุนในระบบเศรษฐกิจจะหมุนได้กี่เท่านั้น ส่วนใหญ่แล้วถ้าเราแจกเงินให้กับทุกคน และมีเงื่อนไขว่าใช้ได้ในระยะทางที่จำกัด และในเวลาที่จำกัด อาจจะหมุนได้ไม่มาก เช่น ลงมา 1 บาท ได้ผลประมาณใกล้ๆ 1 บาท แต่ถ้าเรานำเงินนี้ไปให้คนที่มีรายได้น้อย คนที่มีรายได้น้อย พอได้เงินก็อาจจะนำเงินไปใช้เลยทันที หรืออาจจะมีการใช้หมดเลย ไม่เหมือนคนที่มีรายได้ปานกลาง หรือ รายได้สูง อาจจะใช้ไม่หมด เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากให้มีตัวคูณเยอะต้องให้กับคนมีรายได้น้อย ซึ่งเงินจำนวนหนึ่งหมื่นบาท ก็จะได้ตัวคูณประมาณหมื่นกว่าบาท

ฉะนั้นเรื่องการให้เงิน มองว่าอาจจะได้ผลในระยะสั้นในเรื่องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ  แต่ผลระยะต่อไปอาจะทำให้ราคาของแพงขึ้น เพราะมีเงินเทลงมาอย่างรวดเร็วในปริมาณมหาศาล เงินเฟ้อเขยิบขึ้น เมื่อเงินเฟ้อขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)อาจจะมองว่าต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อที่จะไปลดความร้อนแรงความต้องการสินค้าและบริการ อาจจะมีการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดเงินเฟ้อลง แน่นอนผลระยะยาว เงินที่มาไม่มีอะไรฟรี เป็นภาระด้านการคลัง ภาระกระเป๋าของรัฐบาล เพราะฉะนั้นอาจจะต้องมีการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นในอนาคตเพื่อที่จะมาใช้หนี้

การเดินหน้านโยบายดิจิทัล วอลเล็ต ควรใช้วิธีการแบบใดที่จะทำให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด

ถ้าจะให้ต้องให้คนที่มีรายได้น้อยจะดีที่สุด เขาจะเอาเงินไปใช้ เขามีความต้องการจริงๆที่ใช้เงิน การใช้เงินทันที เงินจะไปหมุน อาจจะทำให้ตัวคูณทางเศรษฐกิจได้มากกว่าหนึ่งเท่านิดๆ การเจาะกลุ่ม ให้คนที่มีรายได้น้อย คนที่จำเป็น เป็นวิธีที่ดีที่สุด แล้วก็ไม่ต้องจำกัดเงื่อนไขเรื่องระยะทางตามทะเบียนบ้าน เพราะบางทีเขาอาจะไม่ได้อยู่ในภูมิลำเนาที่มีทะเบียนบ้าน เขาอาจจะย้ายเข้ามาทำงานในเมือง ในกรุงเทพฯ ถ้าเขาต้องกลับบ้านไปเพื่อไปใช้อาจจะไม่คุ้ม

ดูเหมือนนโยบายต่างๆต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก รัฐบาลเองก็ต้องหารายได้ให้มากขึ้น โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษี  

การจัดเก็บภาษีก็จำเป็น เงินที่จะลงมาประมาณ 5.6 แสนล้านบาท ก็มีส่วนหนึ่งที่มาจากเงินกู้ ไม่ได้มาจากการตัดงบอื่นๆที่มาใช้ในโครงการนี้ การที่รัฐบาลจะใช้หนี้จากเงินกู้ในอนาคต ก็ต้องเก็บภาษีได้มากขึ้น แต่ถามว่าจะเก็บภาษีได้เลยในปีนี้ไหม ก็คงไม่เร็วขนาดนั้น ซึ่งการที่เราจะเพิ่มการเก็บภาษีมี 3 -4 วิธี เช่น การขึ้นอัตราภาษี ขึ้น VAT จาก 7 เป็น 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งวิธีการนี้ก็ไม่ง่าย เพราะรัฐบาลก็เป็นห่วงประชาชน อย่างน้อยอาจจะยังไม่อยากขึ้นอัตราภาษี

อย่างที่สอง อาจจะสามารถเพิ่มประเภทของภาษีให้มากขึ้น อันนี้ก็ต้องใช้เวลาเหมือนกันในการพัฒนาภาษีตัวใหม่ อันที่สาม คือ พยายามโกยคน ธุรกิจห้างร้านเข้ามาในระบบภาษีให้มากขึ้น ซึ่งไม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็วต้องใช้เวลา แต่มีภาษีบางตัวที่ทำได้เร็ว เช่น ภาษีมรดก ที่เรามีอยู่แล้ว แต่อาจจะมีคนที่จ่ายน้อย เราต้องพยายามโกยคนที่มีฐานะดีเข้ามาเสียภาษีมรดก ซึ่งอาจจะได้แต่ก็เป็นส่วนน้อย  แน่นอนว่าถ้ารัฐบาลต้องคืนหนี้ ก็ต้องเก็บภาษีเพิ่มในระยะต่อไป

ยังมีนโยบายทางเศรษฐกิจเร่งด่วนอื่นๆ อีก 3 นโยบาย มีมุมมองแต่ละเรื่องอย่างไรบ้าง

แก้ปัญหาหนี้ พักหนี้เกษตรกร และประคองภาระหนี้สิน SME  ก็ควรจะเจาะกลุ่มเหมือนกัน ไม่ใช่เกษตรกรทุกคน หรือ SME ทุกคนมีความเดือดร้อน หรือมีปัญหา  เพราะฉะนั้นอาจไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพักหนี้ให้ทุกคน แต่ควรเจาะกลุ่ม และอาจจะมีเงื่อนไขบางอย่าง เช่น จะต้องบริหารเงิน หรือทำบัญชี เพื่อที่จะได้สามารถที่จะกู้ยืมเงินเพิ่มขึ้น โดยภาครัฐต้องไปให้ความรู้ และวิธีการกับทาง SME หรือเกษตรกร ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นวิธีที่ช่วยเสริมได้ เพราะการพักหนี้ทุกคนเป็นภาระกับรัฐบาลค่อนข้างมาก จึงอยากให้พักหนี้เฉพาะกลุ่มมากกว่า

อีกนโยบายหนึ่ง การลดราคาพลังงาน ทั้งราคาน้ำมันดีเซล กับค่าไฟ เป็นการลดต้นทุนให้ประชาชน ให้ธุรกิจ บริษัทห้างร้าน ที่จะต้องใช้ไฟฟ้า หรือน้ำมันดีเซลในการขนส่ง แต่แน่นอนว่าไม่มีอะไรมาฟรี  การที่เราลดราคาลง ก็แปลว่าถ้าในระยะสั้นอาจจะปรับโครงสร้างราคาอะไรยังไม่ค่อยได้ ต้องใช้เงินรัฐบาลอุดหนุนก่อน  ซึ่งใช้งบประมาณ 1.5 – 2 หมื่นล้านบาท สำหรับการอุดหนุนถึงปลายปีนี้  ถ้ามีการยืดมาตรการไปถึงปีหน้าก็จะต้องอุดหนุนเพิ่มขึ้น ซึ่งก็จะเป็นภาระต่อการคลังของรัฐบาล ที่จะต้องหาเงินมาใช้

ส่วนนโยบายการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว วีซ่าฟรีกับนักท่องเที่ยวจีน หรือ นทท.ประเทศอื่นๆ ก็มีส่วนดี ที่จะทำให้นักท่องเที่ยว (นทท.) สะดวกสบายขึ้นในการตัดสินใจในการมาเที่ยวไทย เพราะไม่ต้องขอวีซ่าเลย แต่ต้องไม่ลืมว่าการที่เราไปจะเที่ยวที่ไหน แล้วที่นั่นไม่ต้องทำวีซ่า ไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่ทำให้เราตัดสินใจจะไปเที่ยวนั่น เพราะเราต้องดูด้วยว่าเงินในกระเป๋าเราเป็นอย่างไร อันไหนถูกกว่ากัน

ทุกวันนี้การที่นทท.จีนจะมาไทยค่าใช้จ่ายไม่ถูกเหมือนสมัยก่อนการแพร่ระบาดของโควิด ตอนนี้ค่าตั๋วเครื่องบินจากเซี่ยงไฮ หรือ ปักกิ่ง มาไทยแพงกว่าเดิมเท่าตัว ถ้ามาจากคุนหมิงแพงกว่าเดิมเป็นสองเท่า ก็เท่ากับราคาคูณสามไปเลย แล้วตอนนี้รัฐบาลจีนเองก็ มีโปรโมชั่น ให้จีนเที่ยวจีน เที่ยวในประเทศเขาเอง ลดค่าเข้าสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ หรืออาจจะมีเงินที่ช่วยเหลือด้วยเหมือนอย่างที่เราเคยทำนโยบายไทยเที่ยวไทย  ดังนั้นปัจจัยเรื่องค่าใช้จ่าย อาจจะทำให้นทท.จีนอาจไม่อยากออกมาเที่ยวนอกประเทศมากเหมือนเดิมแม้จะมีวีซ่าฟรีก็ตาม แต่อย่างไรก็ตามในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามา มากกว่าไตรมาส 3 อยู่แล้ว

ในส่วนของค่าแรง นายกรัฐมนตรีประกาศว่าจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวันโดยให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคมปีหน้า ถ้าพิจารณาทั้งสองมุม ระหว่างแรงงาน กับ ผู้ประกอบการ อัตรานี้มีความเหมาะสมหรือไม่ 

เราต้องกลับไปถามก่อนว่าค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นธรรมควรจะเป็นเท่าไหร่ เพราะทุกวันนี้ค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยทั่วประเทศ ประมาณ 336 บาทต่อวัน แน่นอนว่าแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน  ถ้าถามว่า 336 บาทต่อวันเพียงพอหรือเป็นธรรมไหม  วิธีที่เราดู เราลองย้อนกลับไปเมื่อ 12 ปีที่แล้ว ที่มีการค่าแรงขั้นต่ำขึ้นเป็น 300 บาท  และก็ดูว่าจากวันนั้นถึงวันนี้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นไปเท่าไหร่  ราคาของเพิ่มขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ แล้วก็ดูด้วยว่าผลิตภาพของแรงงาน เขาสามารถผลิตของได้เพิ่มขึ้นต่อคนกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งพบว่า 12 ปีผ่านไป ค่าแรงขั้นต่ำ ควรเป็น 380 บาท ดังนั้นค่าแรงปัจจุบันที่อยู่ที่ 336 บาทถือว่าต่ำไป เพราะเราไม่ได้ขึ้นมาหลายปีแต่ 400 บาทก็อาจจะมากไปนิดนึง 

แต่ถ้าพูดถึงผลกระทบที่จะมีต่อภาคเอกชน  ก็มีหลายผลสำรวจที่มีการไปถามเอกชน ในภาคการโรงแรม ภาคการค้าปลีก หรือ ธปท. ก็ไปถามความมั่นใจของภาคธุรกิจ ซึ่งมีการไปสัมภษณ์ภาคอุตสาหกรรม ก็พบว่า เกิน 50 เปอร์เซ็นต์บอกว่า ถ้าค่าแรงขั้นต่ำขึ้น เขาก็พยายามลดค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่แรงงานก่อน เพื่อที่จะรักษาคนงานเอาไว้ แต่กว่าประมาณครึ่งหนึ่ง ก็บอกว่าอยากขึ้นราคาสินค้า เพราะฉะนั้นก็จะมีผลกระทบต่อราคาสินค้าแน่นอน  

อีก 25 เปอร์เซ็นต์ หรือ 1 ใน 4  บอกว่าคงจะต้องมีการเอาคนงานออกบ้าง  เพราะอย่าลืมว่าเวลาที่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่ใช่ว่าคนงานที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำจะได้รับเงินเดือนขึ้นเท่านั้น แต่เงินเดือนจะมีการขึ้นตามกระบอกเงินเดือน ดังนั้นเงินเดือนก็จะเขยิบขึ้นไปอีก

ในส่วนของผลกระทบหลังจากปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ก็จะมีหลายเรื่องที่ตามมา เช่น เงินเฟ้อ  การเลิกจ้างบางส่วน การปรับตัวของภาคธุรกิจในการนำเครื่องจักร Automation มาใช้แทนแรงงานคนมากขึ้น และเป็นไปได้ว่าธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก อาจจะย้ายที่ตั้งจากจังหวัดหรือพื้นที่ที่โครงสร้างพื้นฐานไม่ค่อยดี ไปสู่เมืองใหญ่มากขึ้น เพื่อเป็นการลดต้นทุนการขนส่ง ซึ่งทำให้จังหวัดที่ไม่มีการพัฒนามากเท่าไหร่ก็จะทำให้ถดถอยลงไปอีก ซึ่งผลกระทบนี้เราเห็นได้จากการขึ้นค่าแรงครั้งที่ผ่านมา ที่ตอนนั้นกระโดดขึ้นไปทีเดียว 40 เปอร์เซ็นต์ แต่ครั้งนี้ถ้าเราจะขึ้นจาก 336 เป็น 400 คือกระโดดไป 30 เปอร์เซ็นต์  

เพราะฉะนั้นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำถ้าเราอยากขึ้นให้เป็นธรรม อาจจะไม่ต้องขึ้นเท่ากันทั้งประเทศ รมว.แรงงานพูดออกมาแล้วว่าการขึ้นเงินเดือนเฉลี่ย 400 บาทต่อวัน แต่อาจจะไม่ต้องขึ้นในอัตราเท่ากันทุกจังหวัด ซึ่งจังหวัดที่มีการพัฒนาน้อย อาจมีค่าแรงที่ต่ำกว่าในกทม. หรือ  EEC  เพื่อที่ SME จะได้อยู่ต่อในพื้นที่นั้นๆไม่ย้ายออกมา

มีข้อห่วงใย หรือข้อแนะนำสำหรับการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลอย่างไรบ้าง

ตอนนี้ที่เห็นมีแต่นโยบายในระยะสั้นซึ่งเข้าใจว่ารัฐบาลต้องรีบทำ ส่วนใหญ่เป็นการช่วยเหลือการบริโภคของประชาชน มีความเป็นห่วงว่าอาจจะช่วยได้ระยะสั้นเท่านั้น เศรษฐกิจฟูขึ้นมาในระยะสั้น และฟีบกลับลงไป จะทำให้เราไม่สามารถที่จะเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะต่อไป มีภาระการคลังที่ตามมา ยังไม่พูดถึงราคาของที่เพิ่มขึ้น อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น พวกนี้เป็นความเป็นห่วงที่มีต่อมาตราการที่เป็นมาตรการกระตุ้นการบริโภค

อย่างไรก็ตามภาครัฐเอง มีมาตรการฟรีวีซ่านทท. หรือ มาตรการระยะยาวอย่างการเจรจา FTA Free Trade Agreement กับประเทศอื่นให้มากขึ้น เพื่อที่ว่าเราได้นำเข้า-ส่งออกได้ง่ายขึ้น ตอนนี้เรามี FTA ไม่มากเมื่อเทียบกับเวียดนาม เราต้องหาพันธมิตรมากขึ้น อยากจะโปรโมทการค้าชายแดน หรือ EEC  ให้โปรโมชั่นได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น พวกนี้เป็นนโยบายที่น่าจะส่งเสริมการเติบโตระยะยาวของเศรษฐกิจไทย รวมถึงการลงทุน หรือ การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ อันนี้อยากจะเห็นรายละเอียดให้ออกมามากขึ้น อยากเห็นมาตรการเหล่านี้ทำได้จริง

รัฐบาลชุดนี้ชูธงเรื่องเศรษฐกิจ นายกฯควบคลังเองด้วย การที่ต้องทำหน้าที่เป็นทั้งนายกฯ และ ดูแลกระทรวงการคลังไปพร้อมๆกัน จะส่งผลอะไรต่อการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจหรือไม่

ที่นายกฯ มานั่งรมว.คลังด้วยคงเพราะอยากขับเคลื่อนนโยบายให้เร็ว ไม่ต้องมาบอกอีกคน แล้วให้อีกคนไปทำ เพราะฉะนั้นมาตรการระยะสั้นที่อยากจะผลักดันให้เร็วก็เลยมาดูแลเอง อาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้นโยบายออกได้เร็วขึ้น แต่ในอนาคต นายกฯท่านมีภาระกิจมากมาย อาจจะไม่สามารถมาดูแลทั้งสองหน้าที่ได้อย่างครบถ้วน เพราะฉะนั้นระยะต่อไปอาจจะมอบให้ท่านอื่นเป็นรมว.คลังก็เป็นไปได้

ปีหน้าทั้งนักลงทุน และประชาชนต้องเผชิญหน้ากับเศรษฐกิจในรูปแบบไหน และควรเตรียมพร้อมในการรับมืออย่างไร

การที่เราจะรับมือไม่ใช่ปัจจัยในประเทศอย่างเดียว สิ่งสำคัญก็คือ สิ่งที่จะมาจากข้างนอกประเทศไทย คือเศรษฐกิจโลกนั่นเอง เพราะเศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจที่เปิด เราต้อนรับการนำเข้า นทท.ต่างชาติ การส่งออก มีนักลงทุนต่างชาติมาลงทุนในไทย และนักลงทุนเราก็ไปลงทุนต่างชาติด้วย เราผูกติดกับเศรษฐกิจโลกมาก เพราะฉะนั้นถ้าจะให้มองปีหน้า อะไรที่จะต้องจับตามอง ก็ต้องเป็นปัจจัยที่มาจากเศรษฐกิจโลกเป็นส่วนใหญ่ เช่น ทิศทางของดอกเบี้ยซึ่งมาจากดอกเบี้ยของสหรัฐฯจะเป็นอย่างไร ปีหน้าดอกเบี้ยสหรัฐฯให้ทายว่ายังไม่ลดลง ดอกเบี้ยสหรัฐฯยังจะสูงอยู่ ในส่วนของประเทศไทยมองว่ามีโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก เพราะเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นแล้ว ทั้งจากมีการอัดฉีดจากรัฐบาล ที่ทำให้เงินเฟ้อขึ้น และอาจจะทำให้ดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นด้วย

เพราะฉะนั้นนักลงทุน หรือว่าเราๆท่านๆ ต้องเตรียมตัวรับมือกับดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับที่สูง ดอกเบี้ยในอนาคตจะไม่ลงไปต่ำเหมือนสมัยก่อนโควิดอีกแล้ว ถ้าจะลดอาจจะลดสัก 25 -50 สต. แต่ว่าไม่ได้ลงไปใกล้ๆ ศูนย์เหมือนเดิมแล้ว

เรื่องที่สองราคาของจะไม่ต่ำลงมา เพราะจะเห็นว่าเงินเฟ้อขึ้นทุกปี ปีที่แล้วอาจจะขึ้นเยอะหน่อยเพราะมีสงคราม ปีนี้ประเทศไทยอาจจะสัก 2 เปอร์เซ็นต์ ปีหน้าอาจจะ 2.5 เปอร์เซ็นต์ แต่ว่าถ้ามีการอัดฉีดลงมามากๆมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำด้วย เงินเฟ้อก็อาจจะไปถึง 3.5 – 4 เปอร์เซ็นต์ก็ได้ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องเตรียมตัวรับกับราคาของที่อยู่ในระดับสูง

เรื่องที่สามสำหรับนักลงทุน เรื่องของค่าเงินบาท จะไม่กลับลงไปต่ำเหมือนก่อนโควิดเช่นกัน จะอยู่ประมาณ 34 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ  ในปีหน้ามีการประมาณการว่าค่าเงินอาจจะแข็งกว่าปีนี้นิดนึง ปีนี้อาจจะใกล้ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่ปีหน้าจะอยู่ที่ 34 บาท แล้วจะผันผวนมากตามดอลล่าสหรัฐที่สวิงด้วย เพราะฉะนั้นเราจะไม่ได้อยู่ในภาวะที่ค่าเงินเราแข็ง ซึ่งสิ่งนี้สำคัญอย่างไร ถ้าค่าเงินอ่อนถ้าเป็นผู้ส่งออกก็คงจะดีใจ แต่ว่าเราต้องนำเข้า เรานำเข้าน้ำมัน ซึ่งราคาน้ำมันในตลาดโลกปีหน้ามีแนวโน้มว่าจะสูงกว่าปีนี้ เพราะ OPEC จะตัดการผลิตลง ทำให้ราคาของสูงขึ้นด้วย ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าเราจะต้องอยู่ในสภาวะที่ดอกเบี้ยสูง ค่าเงินอ่อน เงินเฟ้อสูง พวกนี้เป็นสิ่งที่ต้องจับตามองเอาไว้

มาพูดกันถึงเรื่องที่ดีบ้าง เงินที่อัดฉีดมาจากภาครัฐจะทำให้คนมีเงินในกระเป๋ามากขึ้น แม้ว่าจะเป็นระยะสั้นก็ตาม ปีหน้าจะเห็นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่มากขึ้น อันนี้ส่งผลดีต่อธุรกิจด้วย นอกจากนี้ปีหน้าการส่งออก มีทิศทางที่จะฟื้นตัวขึ้นมานิดหน่อยจากปีนี้  เราน่าจะได้อานิสงส์จากการส่งออกบ้าง และการลงทุนจากต่างประเทศยังมีมาเรื่อยๆ เพราะบริษัทย้ายการลงทุนบางส่วนจากจีนมาที่อาเซียน ซึ่งไทยเองก็รับมาเยอะ ถ้าเราเห็นตัวเลขของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่ให้การส่งเสริมก็จะเห็นว่าเพิ่มขึ้น แสดงว่าการลงทุนยังมีมาอยู่ เพราะฉะนั้นบริษัทไทยเองที่เป็น Supply Chain ได้ก็จะได้ประโยชน์ เพราะว่ามีปัจจัยบวกเข้ามาบ้าง เพราะฉะนั้นเราเองที่เป็นประชาชนหรือนักธุรกิจ ก็ต้องดูว่าเทรนด์อะไรที่เราสามารถที่จะไปฉกฉวยโอกาสตรงนั้นมาได้ เราก็จะสามารถเติบโตได้