แก้โจทย์ Climate Change ให้โลกอยู่ได้ คนอยู่รอด

“เราอยู่บนถนนที่มุ่งหน้าสู่หายนะด้านสภาพภูมิอากาศ โดยที่เท้าของเรานั้นยังคงเหยียบคันเร่ง” เป็นถ้อยคำของ Antonio Guterres เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (UN) ที่กล่าวระหว่างการเปิดการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 27 หรือ COP27 ณ เมืองชาร์มเอลชีค ประเทศอียิปต์ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565

แน่นอนว่าทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change และร่วมกันหาแนวทางชะลอการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ได้มากที่สุด

ประเทศไทยแม้จะเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ถึง 1 % ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกใบนี้ แต่ทว่าไทยกลับติดอันดับ 1-10 ของโลกที่ได้รับผลกระทบจาก Climate Change มากที่สุด และมีความเสี่ยงสูงที่จะต้องเผชิญกับสภาพอากาศสุดขั้ว ทั้งน้ำท่วม ภัยแล้ง และพายุรุนแรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของคนไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แล้วอะไรที่จะช่วยให้โลกอยู่ได้ และมนุษย์อยู่รอด? ชวนไปไขคำตอบกับ ดร. กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ นักวิชาการอาวุโส นโยบายด้านภูมิอากาศและการพัฒนาสีเขียว สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ

สถานการณ์ Climate Change ในวันนี้เราอยู่จุดไหน?

เวลาคุยกันเรื่อง Climate Change จะหมายถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ใน 2 ห้วงเวลา  คือ ห้วงเวลาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ถามว่าตอนนี้เราอยู่จุดไหน ต้องดูว่าตั้งแต่เวลาอดีตถึงปัจจุบัน อากาศของเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร  ในส่วนของอุณหภูมิจะเห็นว่าประเทศไทยมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้นในทุกภูมิภาค แต่การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยในแต่ละพื้นที่จะแตกต่างกัน อย่างไรก็ดี ในภาพรวม ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 1 องศา

ถามว่า 1 องศาเยอะหรือไม่? ถ้าไปดูสภาพอากาศในแต่ละวันอาจะดูไม่เยอะถ้า แต่ถ้าดูในแง่ของการขยับขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยก็เยอะพอสมควร นอกจากอุณหภูมิโดยรวมเพิ่มขึ้น 1 องศาแล้ว อุณหภูมิสูงสุดในช่วงกลางวัน กับอุณหภูมิต่ำสุดในช่วงกลางคืนก็ขยับตัวสูงขึ้นด้วย นั่นหมายความว่าในช่วงเวลาที่อากาศร้อนที่สุด ก็จะร้อนขึ้นไปอีก แล้วช่วงเวลาที่อากาศเย็นที่สุด ก็จะอุ่นขึ้น เพราะฉะนั้นอากาศบ้านเราในห้วงเวลาอดีตถึงปัจจุบันอุ่นขึ้น หนาวน้อยลง ฤดูร้อนยาวขึ้น และฤดูหนาวสั้นลง

สำหรับฝนนั้น พบว่าในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาฝนมีความแปรปรวนมากขึ้น จำนวนวันที่ฝนตกต่อเนื่องกันหลายวันน้อยลง สะท้อนว่า เรามีความเสี่ยงต่อภัยแล้งมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันเมื่อฝนตกลงแต่ละที ฝนตกในปริมาณที่มาก ซึ่งทำให้เราเสี่ยงต่อปัญหาน้ำท่วม ในส่วนของพายุ ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาจำนวนพายุที่เคลื่อนที่เข้าสู่ประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง แต่พายุแต่ละลูกที่เข้ามาเป็นพายุที่รุนแรงระดับตั้งแต่พายุดีเปรสชันขึ้นไป ซึ่งส่งผลให้เกิดฝนตกหนัก  ทำให้หลายพื้นที่ในประเทศไทยเสี่ยงสูงต่อปัญหาน้ำท่วมฉับพลันด้วย  

ดังนั้น หากสรุปภาพรวมของสภาพภูมิอากาศในห้วงเวลาตลอด 30 ปีที่ผ่านมา พบว่าประเทศไทยร้อนขึ้น ร้อนนาน อีกทั้งมีความเสี่ยงทีจะได้รับผลกระทบสองเด้งทั้งจากภัยแล้งและภัยน้ำท่วม  

ภาพรวมของผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจสังคมไทยมีอะไรบ้าง

ในประเทศไทยมีงานศึกษาผลกระทบใน 2 ระดับ คือ หนึ่งในระดับมหภาค  ที่ดูผลกระทบต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจ ของประเทศไทย เช่น GDP การจ้างงาน เงินเฟ้อ ฯลฯ  และสองในระดับรายสาขา  เช่น ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อสาขาเกษตร อุตสาหกรรม เป็นต้น ในส่วนของผลกระทบในระดับมหภาคนั้น งานศึกษาของพิม มโนพิโมกษ์ และคณะ (2565) ทำการวิเคราะห์ผลกระทบของสภาพอากาศที่ผิดปกติ (Climate shocks) ต่อเศรษฐกิจมหภาคของไทย ผลการศึกษาพบว่าสภาพภูมิอากาศที่ผิดปกติสามารถทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจและภาคการผลิตหลักของประเทศหดตัวประมาณ 0.7% สำหรับทุกภาคการผลิต โดยภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดคือภาคเกษตรกรรม เนื่องจากเมื่อเกิด climate shock แล้ว ผลผลิตจะหดตัวทันที 0.75% ในขณะที่ภาคการผลิตอื่น ๆ จะทยอยได้รับผลกระทบและหดตัวสูงสุดที่ 0.6% หลังจากผ่านไปแล้วถึง 2–3 ไตรมาส

จะเห็นว่าภาคเกษตรกรรมได้รับผลกระทบที่ค่อนข้างสูงจากสภาพอากาศที่ผิดปกติ ดังนั้น เมื่อเจาะลึกลงไปดูในภาคเกษตรกรรม พบว่างานศึกษาของ Attavanich (2017) ซึ่งติดตามผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อภาคเกษตรของไทย ตั้งแต่ปี 2554 และมองไปในอนาคตจนถึงปี 2588 ในภาพรวม ผลกระทบหรือความเสียหายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อภาคเกษตรของไทย อยู่ที่ประมาณ 6.1 แสนล้านบาทถึง 2.85 ล้านล้านบาท เมื่อคิดเป็นรายปีจะอยู่ที่ปีละ 1.7 หมื่นล้านบาทไปจนถึง 8.3 หมื่นล้านบาท สาเหตุที่เกิดผลกระทบกับภาคเกษตรกรรมอย่างรุนแรงมาก เพราะภาคเกษตรกรรมเป็นภาคที่พึ่งพาดินฟ้าอากาศในการผลิตค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืช ทำปศุสัตว์ และทำประมง ดังนั้น สภาพอากาศที่ไม่เหมาะสมจึงสร้างผลกระทบต่อการทำการเกษตรทั้งทางตรงและทางอ้อม  

อย่างไรก็ดี งานศึกษาของ Attavanich (2017) พบว่าภาคเกษตรในแต่ภูมิภาคของประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจาก Climate Change ไม่เท่ากัน บางภูมิภาคจะได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก  นอกจากความเสียหายที่มีต่อแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากันแล้ว ยังพบว่า พืชเศรษฐกิจแต่ละชนิดได้รับผลกระทบจาก Climate Change ไม่เท่ากันด้วยเช่นกัน  หากพิจารณาพืชเศรษฐกิจ 4 ชนิดหลัก คือ ข้าว อ้อย มันสัมปะหลัง และข้าวโพด จะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลทำให้ผลผลิตข้าวหดตัวประมาณ 10-13% ซึ่งขึ้นอยู่กับแบบจำลองที่ใช้ ส่วนผลผลิตอ้อยหดตัวตั้งแต่ 24-34 % เป็นต้น

Climate Change ทำให้วิถีชีวิตของมนุษย์เปลี่ยนไป?

ถูกต้อง ในภาคเกษตรผลผลิตเสียหายก็กระทบต่อเนื่องไปยังรายได้ของเกษตรกร ไปยังเรื่องของการบริโภคของเขา และกระทบไปยังสาขา อื่นๆด้วย  ที่ยกตัวอย่างไปข้างต้นเป็นเรื่องของสภาวะอากาศสุดขั้วเท่านั้น แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังส่งผลทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพของคนเช่นกัน มีผลการศึกษาของ Watts et al. (2020) พบว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้ผลิตภาพการทำงานของคนแย่ลง โดยการสูญเสียชั่วโมงทำงานของคนไทยอันเนื่องมาจากความร้อนในปี 2562  อยู่ที่ประมาณ 9.7 พันล้านชั่วโมง นอกจากความร้อนจะกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงาน/หารายได้แล้ว ยังทำให้จำนวนวันลางานสูงขึ้น

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังส่งผลกระทบทางอ้อมต่อสุขภาพของคนไทย โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลทำให้การแพร่กระจายของแมลงที่เป็นพาหะของโรคบางชนิดเพิ่มขึ้น เช่น โรคไข้เลือดออก มาลาเรีย เป็นต้น ทำให้คนไทยมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากโรคเหล่านี้เพิ่มขึ้นด้วย สถานพยาบาลต่างๆ มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม และการขาดแคลนน้ำ อาจส่งผลทำให้กระทบต่อการเข้าถึงบริการทางสุขภาพของประชาชน นอกจากนี้ โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น ถนนหนทางที่ใช้ในการสัญจรของคนไทย ก็อาจได้รับผลกระทบ การขนส่งสินค้า การเคลื่อนย้ายคนเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะฉะนั้นจะเห็นเลยว่าเรื่องของ Climate Change ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป

อะไรเป็นสาเหตุหลักที่เป็นตัวเร่งให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

สภาพภูมิอากาศมีการเปลี่ยนแปลงตามวัฏจักรทางธรรมชาติอยู่แล้ว เพียงแต่ว่างานศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ที่รวมกลุ่มกันเรียกว่าคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ล่าสุดพบว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเร่งตัวมากขึ้นตั้งแต่ช่วงหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นช่วงประจวบเหมาะกับการที่หลายประเทศเริ่มที่จะนำทรัพยากรมาใช้ในการผลิตมากขึ้นโดยเฉพาะพวกเชื้อเพลิงฟอสซิล ก็เลยสามารถที่จะอนุมานเป็นนัย ๆ ว่าเป็นเพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ที่เรามีการผลิตโดยใช้พวกเชื้อเพลิงเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะพลังงานที่ไม่สะอาดเป็นตัวที่เร่ง ทำให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสะสมในชั้นบรรยากาศมากขึ้น ซึ่งปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสะสมที่เพิ่มขึ้นเชื่อมโยงกับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิพื้นผิวโลกเฉลี่ยและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

ถ้าสำรวจการรับมือของบ้านเราถือว่าทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงหรือไม่

บ้านเราตอนนี้ยังค่อนข้างให้ความสำคัญเรื่องของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสังคมคาร์บอนต่ำเยอะ ซึ่งแน่นอนว่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีความสำคัญ เนื่องจากช่วยบรรเทาไม่ให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดเร็วขึ้น แต่ว่าทำแค่ด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียงอย่างเดียวไม่พอ อย่าลืมว่าเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พอเกิดแล้วสร้างผลกระทบความเสียหายให้กับบ้านเรา ประเทศของเราค่อนข้างรุนแรงมาก ดังนั้น จึงควรดำเนินการด้านการปรับตัวเพื่อลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศควบคู่ไปด้วย

เนื่องจากประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่เกิน 1 % ของโลกใบนี้ ซึ่งหมายความว่าถึงแม้เราอาจจะไม่ใช่ตัวการหลักที่ทำให้เกิดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ประเทศไทยเป็นอันดับต้นๆของโลก ที่เสี่ยงสูงและได้รับผลกระทบสูงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถ้าพิจารณาดัชนี Global Climate Risk Index ย้อนหลัง พบว่าประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้วติดต่อกันอย่างน้อยๆ 7 ปี โดยเหตุการณ์ที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยติดอันดับต้น ๆ ของโลกคือเหตุการณ์มหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในปี 2554

“ปัจจุบันหลายภาคส่วนในประเทศไทยยังมีการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อบรรเทาผลกระทบและความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศน้อยมาก  ยังมีผู้คนและองค์กรจำนวนมากที่ยังไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบอย่างไรกับชีวิตพวกเขา องค์กรของเขา และประเทศของเราทั้งหมด และยังไม่เห็นความสำคัญว่าเรายังไม่มีการปรับเปลี่ยนแนวคิดในการที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยไปสู่ภูมิคุ้มกันในระยะยาว หรือ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Long-term Climate Resilience ผลที่ตามมาคือการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังมีค่อนข้างน้อย  การดำเนินการส่วนใหญ่เน้นการรับมือภัยพิบัติ เฉพาะหน้าหรือระยะสั้นเท่านั้น”

มีตรงไหนที่รอให้ทางภาครัฐเข้ามาแอคชั่นในการเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมไทยไปสู่ภูมิคุ้มกันในระยะยาวบ้าง

เวลาที่เราคุยเรื่องการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นเรื่องที่ดูเหมือนจะง่ายแต่จริง ๆ แล้วเข้าใจยาก ว่าตกลงจะให้ปรับอย่างไรเพื่อที่เราสามารถอยู่รอดและลดความเสี่ยงได้ สิ่งสำคัญก็คือในฐานะภาครัฐ การทำให้ทุกภาคส่วนและทุกพื้นที่สร้างความพร้อมในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศพร้อม ๆ กันอาจจะยาก แต่ที่รัฐสามารถทำได้อาจต้องเริ่มจากการสร้างตัวอย่าง แนวทางในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในแต่ละสาขาและในบางพื้นที่ให้เป็นกรณีศึกษาหรือ โครงการนำร่องขึ้นมาก่อน เพื่อให้เห็นว่าสาขาต่าง ๆ เช่น สาขาการท่องเที่ยว สาขาเกษตร ฯลฯ ถ้าจะปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องเริ่มที่ตรงไหน  ถ้าทำหลายๆ กรณีศึกษาขึ้นมาเป็นตัวอย่าง แล้วให้ผู้ที่อยู่ในสาขานั้น ๆ ไปลองดูว่าตัวอย่างไหน หรือโครงการนำร่องไหน ที่มีความใกล้เคียงกับบริบทของเขามากที่สุด แล้วเอาอันนั้นเป็นแนวทางในการเริ่มดำเนินการ ตั้งแต่การประเมินความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเพื่อนำไปสู่การหาแนวทางในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เหมาะกับสมกับเขา อันนั้นก็จะช่วยได้

แต่สิ่งสำคัญเรื่องของการปรับตัว นอกจากไปสร้างความตระหนักแล้ว ต้องส่งเสริมให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินลงทุนเพื่อใช้ในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย กรณีของภาคเกษตรกรรม ที่เราบอกว่า ในอนาคตบ้านเราจะเสี่ยงต่อเรื่องของน้ำท่วมน้ำแล้งมากขึ้น ทำอย่างไรให้เกษตรกรสามารถปลูกพืชที่มีคุณสมบัติทนทานน้ำท่วมหรือภัยแล้งได้  ซึ่งการที่จะเข้าถึงพวกพันธุ์พืชที่ยืดหยุ่นต่อสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสมตรงนี้ต้องใช้เงินจำนวนมากในการสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาที่นานพอสมควร อีกทั้งสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถมีเงินทุนในการเข้าถึงเมล็ดพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นอย่างทั่วถึง สิ่งสำคัญคือพันธุ์พืชที่ต้านทานสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสมที่พัฒนาขึ้นต้องไม่ลดทอนคุณสมบัติที่สำคัญคือรสชาติ โดยรสชาติจะต้องดีและอร่อยด้วย เพราะเราไม่อยากเห็นพัฒนาแนวทางการปรับตัวอะไรออกมาแต่ว่าสุดท้ายคนไม่เอาไปใช้ เช่น เราผลิตข้าวออกมาที่ทนน้ำท่วม แต่ข้าวนั้นไม่อร่อย แข็งกระด้าง คนก็จะไม่นิยมรับประทาน และจะไม่เกิดตลาดสำหรับสินค้านั้น ๆ อย่างแท้จริง

เพราะฉะนั้นเวลาภาครัฐจะสนับสนุนด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคิดให้จบทั้งห่วงโซ่ ตั้งแต่เรื่องของการพัฒนา การคิดเรื่องปัจจัยการผลิต สุดท้ายเรื่องของการทำการตลาด จะจำหน่ายสินค้าอย่างไรสร้างตลาดอย่างไร  สร้างแบรนด์อย่างไรให้กับสินค้าพวกนั้น  มีการแปรรูปสินค้า ให้มีมูลค่าสูงขึ้น เข้ามาช่วยอาจจะเป็นการสร้างชุมชนที่มีการเชื่อมโยงคนที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลาย ตั้งแต่นักปรับปรุงพันธุ์ นักส่งเสริม และนักการตลาด จนถึงการนำสินค้านี้ไปถึงมือผู้บริโภคให้ได้ เป็นสิ่งสำคัญและความท้าทายของรัฐบาลไทยที่น่าจะต้องเข้ามาทำเรื่องนี้มากขึ้น โดยควรทำงานแบบบูรณาการในหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ไม่จำกัดเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น  

ในแง่ของการเข้าถึงแหล่งเงินทุน อาจต้องอาศัยการขับเคลื่อนจากหลายภาคส่วนทั้งสถาบันการเงิน ตลาดทุน ฯลฯ เพื่อให้ผู้ประกอบการที่สนใจที่จะทำเรื่องของการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสามารถเข้าถึงเม็ดเงินสนับสนุนในการจะลงทุนได้  สุดท้ายนี้ อยากฝากให้ภาครัฐมองถึงกลไกสามด้านที่ช่วยสนับสนุนด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือ ดูเรื่องของการเข้าถึงเทคโนโลยีที่สนับสนุนการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่จะมาใช้ในการลงทุนในการการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต  และสุดท้ายเรื่องของคน ทำอย่างไรให้สร้างการรับรู้ให้เขา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสร้างผลกระทบอย่างไรกับสาขาการผลิตของเขา และเมื่อรับรู้ถึงผลกระทบแล้ว จะช่วยสนับสนุนให้เขาคิดนอกกรอบจากสิ่งที่เขาดำเนินการมาโดยตลอดชั่วชีวิตเขาอย่างไร  เช่น การปลูกข้าวด้วยวิธีการแบบเดิมมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย จะทำอย่างไรให้ปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวเป็นรูปแบบใหม่ที่ใช้น้ำน้อยลง ประหยัดน้ำเพื่อรับมือกับภัยแล้งได้มากขึ้น เป็นต้น ซึ่งภาครัฐยังมีการบ้านที่ยังต้องทำอีกหลายด้านเพื่อทำให้เกิดในเรื่องของการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างแท้จริง ไม่เพียงแต่การจัดทำแผน หรือนโยบายที่เป็นยุทธศาสตร์ของประเทศด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ควรเน้นการขับเคลื่อนไปสู่การปฎิบัติควบคู่ไปด้วย

ถ้าพิจารณาจากสถานการณ์ ณ วันนี้ไทยจะสามารถก้าวไปสู่คำมั่นที่ได้ให้ไว้ในการประชุม COP26 ว่าจะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี2050 และNet Zero ในปี 2065 ได้หรือไม่

ต้องบอกว่าที่เราไปให้คำมั่นไว้ในระดับโลก ซึ่งมีการทำในเรื่องของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในส่วนตัวมองว่ามีความหวัง เพราะตอนนี้มีความก้าวหน้าของเทคโนโลยีลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในด้านต่าง ๆ  ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เช่น กรีนไฮโดรเจน เทคโนโลยีในการดักจับคาร์บอน เป็นต้น ดังนั้น มีหนทางให้ไทยนำเทคโนโลยีเหล่านี้เข้าไปในภาค เศรษฐกิจต่าง ๆ  แต่อีกขาหนึ่งในเรื่องของแนวทางที่จะไปสู่ long term Climate Resilience ซึ่งเป็นอีกคำมั่นหนึ่งที่เราให้ไว้ในเวทีโลก เราจำเป็นต้องขับเคลื่อนเรื่องการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เข้มข้นมากขึ้น  อันนี้เป็นสิ่งสำคัญที่คิดว่ามีความก้าวหน้าน้อยกว่าเรื่องของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ แต่เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ ที่ต้องเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ ไม่ใช่ว่ารอให้เหตุการณ์รุนแรงไปมากกว่านี้แล้วจะสายเกินไป  ฝากรัฐว่าบ้านเราต้องบาลานซ์ 2 ด้าน คือ ด้านของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กับเรื่องการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ต้องทำควบคู่กันไป อยากให้เขามีการเชื่อมต่อตัวผู้ประกอบการในการที่จะมาทำเรื่องของการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น.


ชวนสำรวจเส้นทางการ “สร้างเศรษฐกิจและสังคม” บนโจทย์ ”คาร์บอนต่ำ” เมื่อไทยต้องเผชิญกับความท้าทาย ทั้งสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป และประชาคมโลกเสริมแรงกดดันผ่านมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนไทยจะปรับประเทศอย่างไร? เพื่อไปต่อได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง ในงานสัมมนานโยบายสาธารณะประจำปีของทีดีอาร์ไอปรับประเทศไทย… ไปสู่เศรษฐกิจ-สังคมคาร์บอนต่ำ” วันที่ 31 ตุลาคม 2566

ผู้สนใจติดตามงานสัมมนาผ่าน Online สามารถลงทะเบียนได้ที่  https://us02web.zoom.us/webinar/register/WN_huDXTbC9RQKiYGqo-SKSgA

หมายเหตุ : เนื่องจากที่นั่ง Onsite ภายในงานที่สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์เต็มทุกที่นั่งแล้ว แต่ยังสามารถลงทะเบียนเพื่อรับฟังผ่านทาง Zoom Webinar ได้

“ปรับประเทศไทย…ไปสู่เศรษฐกิจ-สังคมคาร์บอนต่ำ”

งานสัมมนานโยบายสาธารณะประจำปี 2566 ของทีดีอาร์ไอ TDRI Annual Public Conference 2023 “ปรับประเทศไทย… ไปสู่เศรษฐกิจ-สังคมคาร์บอนต่ำ” วันที่ 31 ตุลาคม 2566 ณ สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์

ไทยต้องลดคาร์บอนและปรับตัว

Global climate change หรือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับโลก ได้ทำให้ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องปรับตัวไปสู่เศรษฐกิจ-สังคมคาร์บอนต่ำ ทั้งในด้านของการลดการปล่อยคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกต่างๆ (mitigation) และการปรับตัวเข้ากับสภาพภูมิอากาศในอนาคต (adaptation) ที่จะมีอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น โดยทั้งสองเรื่องนี้จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อความอยู่รอดของเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของคนไทย

ลดการปล่อยคาร์บอน คือ กุญแจสำคัญในปี 2023

งานสัมมนาสาธารณะของทีดีอาร์ไอปีนี้ จะให้ความสำคัญต่อการที่ประเทศไทยจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ มาตรการ Mitigation จากแรงกดดันต่างๆ ซึ่งเข้ามาอย่างรวดเร็ว เช่น เป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนที่ประเทศไทยให้ไว้ต่อประชาคมโลก การเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดน ของสหภาพยุโรป และการปรับระบบการผลิตให้ลดการปล่อยคาร์บอนตามบริษัทขนาดใหญ่ซึ่งเป็นผู้นำในซัพพลายเชน เป็นต้น

เปลี่ยนยุทธศาสตร์คาร์บอนต่ำไทยให้ชัดเจน

จนถึงขณะนี้ประเทศไทยยังไม่ได้มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการเปลี่ยนผ่านไทยไปสู่ยุคคาร์บอนต่ำ เพื่อให้ประเทศไทยยังคงสามารถรักษาอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่เพิ่มหรือแม้กระทั่งสามารถลดความเหลื่อมล้ำ และสามารถสร้างโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้แนวนโยบายที่พรรคการเมืองต่างๆ นำมาหาเสียงในการเลือกตั้งทั่วไปที่ผ่านมาก็ยังเน้นมาตรการที่จำกัดอยู่ไม่กี่ด้าน เช่น การหารายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต เป็นต้น

งานสัมมนาครั้งนี้ จะชวนทุกท่านร่วมกันค้นหาคำตอบ และจะมองไปข้างหน้า เพื่อมุ่งสู่การทำให้เป็นประเทศเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำที่มียุทธศาสตร์ชัดเจน

ประเด็นนำเสนอในงาน โดยนักวิจัยทีดีอาร์ไอ

  • ปรับประเทศไทย…ไปสู่เศรษฐกิจ-สังคมคาร์บอนต่ำ
  • ปฏิรูปภาคไฟฟ้า…พาไทยให้อยู่รอด
  • ชาร์จพลังประเทศไทย…ไปสู่การขนส่งคาร์บอนต่ำ
  • ปั๊มรายได้ สร้างเศรษฐกิจ…ผลิตในยุคคาร์บอนต่ำ
  • อัพสกิลคนไทย…ทำงานใหม่ยุคคาร์บอนต่ำ
  • ธุรกิจไทย…พร้อมแค่ไหนสู่ยุคคาร์บอนต่ำ?

และพบกับ วงเสวนาชวนคุยในหัวข้อ “ประเทศไทย…ก้าวไปสู่ยุคคาร์บอนต่ำ” ร่วมด้วย ดร. เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ “Think Forward Center”, คุณธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี, คุณสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท ด้านการพัฒนาความรู้ “ป่าสาละ” ดำเนินรายการโดย ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน ผู้ดำเนินรายการข่าวเศรษฐกิจ