สำรวจ เมกะเทรนด์ “Low Carbon – AI – Aging Society” ต้องปรับก่อนตกขบวน

โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แน่นอนว่าคนที่พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ย่อมเข้าถึง “โอกาส” ได้ไวกว่าคู่แข่ง

“Mega trends” คือ แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลกในมิติต่างๆ และมีผลกระทบต่อสังคม ธุรกิจ เศรษฐกิจ และวิถีชีวิตของมนุษย์ ซึ่งทำให้มนุษย์เป็นไปแรงขับเคลื่อนของ Mega trends

ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา และ ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ พาไปสำรวจ 3  Mega trends ที่มาแรงที่สุดในเวลานี้

เทรนด์แรก คือ การไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

โดยดร.กิริฎา มองว่า ถ้าเราไม่ไปกับเทรนด์นี้ เราก็จะลำบากในอนาคต ด้วยเพราะประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป (EU)  หรือ สหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีสำหรับสินค้าที่ก่อให้เกิดคาร์บอนสูง ขณะเดียวกันบริษัทใหญ่ๆที่มาลงทุนในประเทศไทยล้วนแล้วแต่ตั้งเป้าบรรลุเป้าหมาย “Net Zero” เช่นเดียวกัน

เพราะฉะนั้นไทยเอง ก็จะโดนแรงกดดันจากการค้าและธุรกิจเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่เป็น Supply Chain

“เรื่องของการไปสู่คาร์บอนต่ำอันนี้เป็นเทรนด์สำคัญที่เราไม่ทำไม่ได้  เพราะฉะนั้นเราต้องให้ความใส่ใจเรื่องนี้ เนื่องจากว่าเราพึ่งพาการส่งออกเยอะ และพึ่งการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศด้วย”

ส่วนเทรนด์ที่สอง คือ เทคโนโลยีดิจิทัล และ AI  

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเหล่านี้ ถือว่ามีประโยชน์ ที่สามารถช่วยธุรกิจ ช่วยลดต้นทุน แต่ในขณะเดียวกันยังมีคำถามว่าปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI จะมาแย่งงานเราหรือไม่?

ดร.กิริฎา ยกตัวอย่างด้วยว่า ก่อนหน้านี้นักเขียนสคริปต์ที่ Hollywood รวมตัวประท้วงเพราะตกงาน เนื่องจากค่ายหนังต่างๆใช้ AI เขียนสคริปต์แทน  หรือ นักเขียนซอฟต์แวร์ที่อินเดีย ก็ตกงานจำนวนไม่น้อย เพราะมีการให้ AI เขียนซอฟต์แวร์ให้ ดังนั้นงานหลายๆอย่างถูก Disruption  ซึ่งเทรนด์นี้ถือเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่ต้องปรับตัวตามให้ทัน ใช้แบบไหน อย่างไร หรือต้องพัฒนาทักษะของคนไทยให้ใช้ AI เป็นผู้ช่วยแทนที่จะให้ AI มาทดแทนเรา

เทรนด์ที่สาม คือสังคมสูงวัย

ประเทศไทยเป็นประเทศรายได้ปานกลาง แต่เป็นสังคมสูงวัยที่มีประชากรอายุเกิน 60 ปี มากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั้งหมด โดยในระยะเวลานับจากนี้อีกเพียง 10 ปี ตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าตัว

คำถามสำคัญก็คือ เราจะพัฒนาเศรษฐกิจต่อไปอย่างไร รัฐบาลจะเก็บภาษีเพียงพอหรือไม่ในอนาคต ในเมื่อคนที่อยู่ในวัยแรงงานลดน้อยลง แต่ผู้สูงวัยมากขึ้น

ในเรื่องนี้ ดร.กิริฎา ย้ำว่า วันนี้ต้องคิดกันอย่างเข้มข้น เพราะการเตรียมพร้อมสู่สังคมสูงวัยไม่ใช่แค่การไปสงเคราะห์ผู้สูงวัยเท่านั้น เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่จะต้องทำให้ผู้สูงวัยและคนที่ยังอยู่ในวัยแรงงานมีประสิทธิภาพในการทำงานหลังอายุ 60 ปี ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีต่อตัวเองและเศรษฐกิจไทยในอนาคต เพราะถ้ามีงานทำก็ยังสามารถจ่ายภาษีต่อไปได้ ขณะเดียวกันผู้สูงวัยก็จะมีความเป็นอยู่ที่ดี ไม่ต้องรอให้รัฐบาลมาช่วย

ดร.กิริฎา ชี้ด้วยว่า 3 Mega trend นี้ล้วนแล้วแต่เชื่อมโยงกันทั้งหมด เช่น ในสังคมสูงวัย ถ้ามีการนำเทคโนโลยีมาใช้  พัฒนาทักษะของคน ก็สามารถให้ผู้สูงวัยทำงานได้นานขึ้น มีรายได้ดีขึ้น และยังโยงกับเทรนด์โลว์คาร์บอน เพราะเมื่อสังคมสูงวัยมากขึ้น ทุกคนอยากจะได้อาหารหรือสินค้าและบริการที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น 

“จริงๆประเทศไทยสามารถผลิตอาหารได้เยอะ การที่เราสามารถผลิต อาหารที่เป็น Bio Food  หรือ โลว์คาร์บอน เช่น โปรตีนที่ทำจากพืช โปรตีนจากจิ้งหรีด แมลง ซึ่งเหล่านี้เป็นเทรนด์หลักของโลกด้วย ถ้าทั้ง 3 เทรนด์ผูกติดกัน แล้วเราสามารถบริหารจัดการได้ ก็จะทำให้คนของเรากินดีอยู่ดีได้ต่อไป”ดร.กิริฎาระบุ