“5 คีย์” สู่เศรษฐกิจ-สังคมคาร์บอนต่ำ

นับถอยหลังอีกเพียงไม่กี่วันก็จะเข้าสู่ช่วงการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศโลก COP 28  (30 พ.ย.– 12 ธ.ค) ณ นครดูไบของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป้าหมายของการประชุม คือ การคงอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกที่จะเข้าร่วมประชุมดังกล่าวด้วย หลังจากก่อนหน้านี้รัฐบาลไทยได้ให้คำมั่นในที่ประชุม COP26  ว่ามีเป้าหมายที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2065

แต่กระนั้นกลับล่าช้ากว่าหลายประเทศในโลก รวมไปถึงประเทศในภูมิภาคเดียวกับไทย เช่น  สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนามและลาว ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันดึงดูดการลงทุนในประเทศไทย

ที่สำคัญยังเป็นการที่ตั้งเป้าหมายที่ล่าช้ากว่าเป้าหมายของผู้นำซัพพลายเชนในหลายอุตสาหกรรม ที่ผู้ผลิตไทยจำนวนมากเกี่ยวข้อง อาจทำธุรกิจของไทยโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กปรับตัวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลง

แรงกดดันจากภายนอกอื่นที่กระชับพื้นที่เข้ามาทุกขณะ ทำให้ประเทศไทยต้องเร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไทยจะเผชิญกับแรงกดดันนี้อย่างไร มีหนทางใดบ้างที่จะทำให้ทุกภาคส่วนเดินไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

ในเวทีเสวนา “ประเทศไทย…ก้าวไปสู่ยุคคาร์บอนต่ำ” ในงานสัมมนาสาธารณะของทีดีอาร์ไอ ประจำปี 2566 ซึ่งประกอบด้วย นายรองเพชร บุญช่วยดี รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก, ดร. เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ  Think Forward Center – ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต, นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี (SCG) และน.ส.สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการบริษัทด้านการพัฒนาความรู้ ป่าสาละ  โดยดร.วิทย์ สิทธิเวคิน เป็นผู้ดำเนินรายการ มีการแลกเปลี่ยนความเห็นและฉายภาพของการเดินสู่ยุคคาร์บอนต่ำ ซึ่งมี “5 คีย์” สำคัญ คือ  Climate Finance  แรงกดดันต่อภาคธุรกิจ Carbon Pricing  Carbon Tax และ การปรับโครงสร้างพลังงาน 

Climate Finance 

NOTE :  Climate Finance คือ การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นกลไกการจัดหาแหล่งเงินทุน เพื่อใช้ในกิจกรรมด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การให้สินเชื่อ การระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้

“สฤณี อาชวานันทกุล”

ถ้าพูดถึง climate finance  ต้องตั้งโจทย์ว่า ต้องการอะไร  และจะทำอย่างไรให้ภาคการเงิน ทั้งภาครัฐ และเอกชน สามารถขับเคลื่อนในทางที่ตอบสนองเป้าหลักได้ ไม่ว่าจะเป็น Adaptation (การปรับตัว) และ  Mitigation  (การบรรเทาผลกระทบ) เพราะในความเป็นจริงการที่จะไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำนั้น เราไม่ได้เริ่มจาก “ศูนย์” แต่เริ่มจาก “สูง” เรามีอุตสาหกรรมคาร์บอนสูงมากมาย ดังนั้นในแง่ของการเปลี่ยนผ่านนี้ไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนผ่านสภาพภูมิอากาศแต่เพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงการเปลี่ยนผ่านด้านการเงิน หรือ Transition finance ด้วย โดยจะต้องมองตั้งแต่ต้นน้ำ และต้องอาศัยการผลักดันในเชิงนโยบาย เพื่อเพิ่มความชัดเจนให้กับภาคการเงิน ซึ่งถือเป็นโจทย์ใหญ่ เพราะเม็ดเงินที่จะใช้ไปสู่ carbon neutrality ในปี 2050ได้ตามที่กำหนดเป้าไว้นั้น ต้องใช้จำนวนมหาศาล

ส่วนตัวมองว่า แผนพลังงานถือเป็นหัวใจ ของการไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งการที่จะเปลี่ยนให้ไปใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น จะต้องอาศัยเจตจำนงค์ทางนโยบายที่ชัดเจนอย่างมาก ซึ่งในร่างPDP (แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ) ถึงแม้รัฐบาลพยายามจะเร่งเข้าสู่ Net Zero  โดยเพิ่มพลังงานทดแทน  50 เปอร์เซ็นต์ แต่ 50 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือยังเป็นพลังงานจากฟอสซิลอยู่  ดังนั้นจะเห็นว่ามีการผูกพลังงานหมุนเวียนเข้ากับฐานของพลังงานฟอสซิลต่อไป สิ่งนี้เป็นตัวอย่างของความไม่แน่นอน หรือความไม่ชัดเจนทางนโยบาย ทำให้ภาคการเงินไม่มีความชัดเจนในแง่ของแรงจูงใจว่าเขาจะสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านนี้อย่างไร ในเมื่อเห็นอยู่แล้วว่าผู้ประกอบการที่ใช้พลังงานฟอสซิลยังทำรายได้อยู่

ขณะเดียวกันหากเกิดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับกลุ่มเปราะบาง เช่น กลุ่มเกษตรกร และเกิดความเสียหายขึ้นทั้งจากภัยน้ำท่วมและภัยแล้ง ผู้ที่จะต้องรับภาระในการชดเชยและเยียวยาก็คือรัฐ ซึ่งรัฐจะต้องจ่ายทุกปี แต่ถ้ามองในแง่ของ Prevention Cost (ค่าใช้จ่ายการป้องกัน) ก็อาจจะสามารถออกแบบกลไกป้องกันนี้ ซึ่งจะสามารถช่วยลดเงินที่ไปใช้เยียวยาได้ โดยกลไกนี้มีโอกาสที่จะไปประสานกับกลไกระหว่างประเทศอีกด้วย เพราะในต่างประเทศ มีการคุยกันเรื่องกองทุนความสูญเสียและเสียหาย  (loss and damage fund)  และคาดว่าจะมีการหารือเรื่องนี้ใน COP 28ด้วย  ดังนั้นไทยควรให้ความสนใจประเด็นนี้เพราะประเทศเราก็เป็นประเทศเปราะบางอันดับต้นๆของโลก

วันนี้เห็นความตั้งใจที่จะใช้เม็ดเงินในการช่วยเรื่องนี้ จะเห็นว่าในแทบทุกกลไกทางการเงินที่มีอยู่ ทั้งที่เป็นเงินช่วยเหลือระหว่างประเทศ เงินของภาครัฐ เงินให้เปล่า เงินสินเชื่อ  ค่อนข้างครบ และในประเทศไทย เราเริ่มจะเห็นพวกตราสาร หรือ Green Bond , Sustainability-linked Bond หุ้นกู้ที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืน บางบริษัทเริ่มใช้คำว่า Climate Bond ซึ่งถือเป็นความพยายาม แต่ความท้าทายอีกสิ่งหนึ่งคือเรื่องของมาตรฐานความน่าเชื่อถือ จะทำอย่างไรให้แยกแยะออกระหว่างบริษัทที่ตั้งใจจะทำจริงๆ หรือ บริษัทที่ฟอกเขียว Green washing ตั้งบริษัทขึ้นมาหาเงิน

แรงกดดันต่อภาคธุรกิจ

NOTE :  ไทยเป็นเศรษฐกิจเปิดขนาดเล็ก ต้องพึ่งพาการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศในระดับที่สูง ทำให้ไม่สามารถละเลยต่อแรงกดดันต่างๆได้ เช่น มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) หรือ บริษัทชั้นนำในระดับโลก ซึ่งเป็นผู้นำซัพพลายเชน กดดันให้บริษัทในไทยซึ่งอยู่ในซัพพลายเชนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม 

ในโลกของธุรกิจย่อมต้องมีแรงกดดัน เพราะทุกคนอยากได้บริษัท หรืออุตสาหกรรมที่ดีต่อโลก อยู่อย่างยั่งยืน โดยความกดดันนี้จะมารอบทิศทาง  อย่างไรก็ตามถ้ามองว่าเป็นแรงกดดันคือการมองในเชิงลบ แต่ถ้ามองในมุมกลับถือเป็น “ความต้องการ” และเป็นสัญญาณที่ทุกภาคส่วนส่งมา ขอยกตัวอย่างสินค้าประเภทปูนซีเมนต์ซึ่งเป็นสินค้าที่ไฮคาร์บอน และมีน้ำหนักมาก ดังนั้นจึงไม่มีโอกาสที่จะส่งปูนซีเมนต์ไปขายที่ต่างประเทศมากนัก และทางเอสซีจียกเลิกการส่งออกไปสหรัฐฯหลายสิบปีแล้ว แต่ปรากฏว่ากลับมีออเดอร์ใหญ่จากสหรัฐฯที่มาขอซื้อปูนโลว์คาร์บอนจากเอสซีจี ดังนั้นถ้าอ่านสัญญาณได้ เราจะเห็นว่ามีโอกาสทางธุรกิจในการปรับตัวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

“เรากำลังจะพูดอะไรที่เป็นเหมือนการวิ่งมาราธอน ซึ่งการวิ่งแบบมาราธอน ไม่ใช่ปี สองปี สามปี แต่การก้าวไปที่ปี คศ.2050 คศ.2065 ที่เราจะต้องไปให้ถึง  หรือ ปีคศ.2030 ซึ่งเป็นเป้าหมายแรก เพราะฉะนั้นทำอย่างไรให้ธุรกิจ ไปให้ถึงเป้าหมาย โดยที่ยังยืนอยู่ได้ด้วยความเข้มแข็ง ทุกวันเราต้องลดคาร์บอน แต่ส่วนหนึ่งต้องทำให้เข้มแข็งด้วย  ดังนั้นต้องทำธุรกิจให้เกิดความสมดุล ความสมเหตุสมผล หรือใช้นวัตกรรมมาเสริมเป็นเรื่องที่เราทำมาโดยตลอด”

แต่อะไรคือความสมดุลในบริบทของประเทศไทย?

รองกรรมการผู้จัดการใหญ่เอสซีจี ชวนคิดว่า ถ้ามีการตั้งเป้าว่าจะลดคาร์บอน แต่กระบวนการกระโดดไปใช้เชื้อเพลิงแบบไฮโดรเจนเลยก็จะเกิดต้นทุนที่สูงมากจนไม่มีใครรับได้ แต่ถ้าไปเทียบกับสหรัฐฯ ที่มีการสนับสนุนทุนให้กับผู้ที่ทำกรีนไฮโดรเจน  3 พันเหรียญสหรัฐฯ ทำให้ไปสู่การใช้กรีนไฮโดรเจนได้ แต่การที่สหรัฐฯไปกรีนไฮโดรเจนได้ ไม่ได้หมายความว่าไทยจะไปกรีนไฮโดรเจนได้เหมือนกัน  

ขณะที่ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม จุดเด่นของไทยคือ สามารถหันไปใช้ “พลังงานชีวมวล”  (Biomass)  และ “เอทานอล”จากพืชได้  ดังนั้นการใช้จุดเด่นของประเทศเรา-บ้านเรา จะทำให้ไทยสามารถเล่นในเกมที่เป็นมาราธอนได้ แต่ถ้ามองไปเฉพาะว่า จะต้องใช้ไฮโดรเจนเท่านั้น ถือว่ากำลังเดินผิดทาง  นอกจากนี้ “นวัตกรรม” ก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะนวัตกรรมจะช่วยให้ ซัพพลายเชนสามารถใช้ศักยภาพจากพื้นที่ผลิตวัตถุดิบที่ต้นทุนต่ำได้ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องให้ผู้บริโภคแบกรับภาระราคาสินค้าที่เพิ่มจากการลดคาร์บอน

Carbon Pricing (การคิดราคาคาร์บอน)

NOTE :  “Carbon pricing” (การคิดราคาคาร์บอน) เป็นทางเลือกหนึ่งที่มีประสิทธิภาพสูงมากในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ธนาคารโลก พบว่า ทั่วโลก มี 39 ประเทศ และรัฐบาลท้องถิ่น 33 แห่ง ใช้ราคาคาร์บอนในปัจจุบัน และยังมีรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นอีกกว่า 100 แห่งที่มีแผนจะใช้ราคาคาร์บอนในอนาคต

ดร. เดชรัต สุขกำเนิด

มันถึงเวลาแล้วที่จะต้องมี Carbon pricing ทำให้มีต้นทุนที่ทำให้เราต้องคิด ส่วนจะอยู่ในรูปของภาษี หรือว่าการกำหนดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้วมีการเทรดกัน เป็นรายละเอียดในเรื่องของการออกแบบต่อไป ซึ่งภารกิจในตอนนี้จะต้องมีการส่งสัญญาณให้กับคนในประเทศว่า มีบางสิ่งที่เราจะต้องลดลงแล้ว แล้วค่อยๆช่วยกัน เดิมทีไม่ใช่ต้นทุนของคุณ แต่เป็นต้นทุนของคนอื่น คราวนี้เอามาใส่ไว้ในต้นทุนนะ ต่อมาต้องหาวิธีการที่ลงตัว เป็นสนามซ้อมในการปรับตัวให้เข้าสู่กติกาของโลก ถ้าทำได้จะทำให้ไทยมีอำนาจต่อรองมากยิ่งขึ้นในเวทีนานาชาติ ซึ่งจะทำแบบนั้นได้จำเป็นจะต้องมีแรงงานสีเขียว คือมีคนที่มีความรู้ความสามารถมีทักษะสีเขียวจำนวนมาก ตอนนี้สิ่งที่เป็นคอขวดมากๆในเรื่องของสิ่งแวดล้อมคือคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ

“เชื่อว่าควรจะเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินในปี 2035 โดยใช้กลไกPDP แต่ภาษีคาร์บอน ควรใช้พื้นฐานทำเพื่อปรับตัวซึ่งกันและกันก่อน และสุดท้ายถ้าเราสามารถรักษาสมดุลแบบนี้ ไม่ได้เป็นกลไกที่ลงโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากจนเกินไป สุดท้ายจะเกิดความเชื่อมั่น เกิดความไว้วางใจร่วมกัน มันคือเวลาที่เราจะปรับตัวร่วมกัน ไม่ใช่เรื่องภาษีหรือกำหนดราคาคาร์บอนที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแต่เป็นเรื่องที่เราเห็นพ้องต้องกันแล้วว่า เรากำลังจะต่อสู้กันแล้วเราจะมาช่วยกันออกแบบร่างสิ่งนี้ไปพร้อมๆกัน”

รองเพชร บุญช่วยดี 

Carbon Pricing คือ การกำหนดราคาคาร์บอน ถ้าเมื่อไหร่คาร์บอนมีมูลค่านั่นหมายความว่าต้นทุนเพิ่ม แล้วหากสามารถลดคาร์บอนได้เมื่อไหร่ ก็จะเป็นประโยชน์  สำหรับคาร์บอนเครดิตนั้น มี 2 ประเภท คือ reduction (การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก) และ Removal  (การดูดกลับก๊าซเรือนกระจก)  เช่น ป่าไม้ CCUS  (เทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอน)  อย่างไรก็ตามถ้าไปดูสถิติหลังการประชุม Cop 26 จะเห็นว่ามีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตกันมากขึ้น เพราะทุกฝ่ายตั้งเป้าความเป็นกลางทางคาร์บอน ทั้ง Net zero เลยไปหาซื้อ แต่ยังไม่พบว่ามีใครนำไปหักลบบัญชีคาร์บอน เพราะยังไม่มีความชัดเจนแม้แต่ในระดับของ UN ว่าวิธีการหักลบว่าจะเป็นแบบใด ใช้คาร์บอนปีไหนมาหักลบ  หรือ หากมีการซื้อคาร์บอนย้อน 10 ปีมาหักลบก็ไม่นับว่าเป็นเรื่องที่จะไปหักลบกับความเข้มข้นของคาร์บอนในเวลานั้นแล้ว

Carbon Tax (ภาษีคาร์บอน)

NOTE :  ภาษีคาร์บอน เป็นแนวทางหนึ่งในมาตรการ Carbon Pricing เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยจะช่วยให้ภาคธุรกิจเห็นถึงต้นทุนอย่างแน่ชัด ภาครัฐประมาณการรายรับได้ง่าย และสามารถใช้กลไกในการเก็บภาษีที่มีอยู่ได้ โดยรายได้ในส่วนนี้มีข้อเสนอให้นำไปจัดตั้งกองทุน เพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก  และการปรับตัวเข้ากับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป

รองเพชร บุญช่วยดี

เรื่องของภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) กลุ่มสหภาพยุโรปใช้กันอยู่ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายใช้ภาษีคาร์บอนที่สูงมาก เช่น สวีเดน กำหนด 127 เหรียญสหรัฐต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์  อย่างไรก็ตามก่อนที่จะมีภาษีคาร์บอน ได้มีการปรับโครงสร้างภาษีก่อน ไม่ได้เก็บภาษีคาร์บอนเลยเพราะเป็นการทำลายศักยภาพของการแข่งขัน ดังนั้นการปรับโครงสร้างภาษีเป็นเรื่องสำคัญ ภาษีสรรพสามิตจะคิดแบบเดิมไม่ได้แล้ว และต้องทำให้คนเห็นภาพว่าเมื่อไหร่ที่เติมน้ำมัน E20 แปลว่าเรากำลังได้รับเงินอุดหนุน 20เปอร์เซ็นต์ แต่เรากำลังจ่ายภาษี 80 เปอร์เซ็นต์  ตอนนี้เรากำลังแข่งกับการอุดหนุนทั้งพลังงานฟอสซิล ทั้งพลังงานทดแทน แต่เราไม่เคยสร้างแบริเออร์ให้กับตัวที่ปล่อยมลพิษ

ถ้ามีการเปลี่ยนในเรื่องของ regulatory (กฎระเบียบ) จะตอบโจทย์ว่าประเทศจะเดินไป green growth ได้อย่างไร มีทางที่จะทำให้สมูทได้โดยไม่เสียศักยภาพในการแข่งขัน ภาครัฐทำนโยบายที่คำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์เสมอ ดูเอกชนในเรื่องของขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ และต้องไม่กระทบต่อการแข่งขันอยู่แล้ว 

สฤณี อาชวานันทกุล 

ประเด็นเรื่องความสามารถของการแข่งขันมีความสำคัญมากโดยเฉพาะในเรื่องของการเปลี่ยนผ่าน และจะต้องคิดถึงความยุติธรรมด้วย ถ้าจะต้องมีต้นทุนที่สูงขึ้นทำอย่างไรให้ไม่มีคนที่แบกมากจนเกินสมควร โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเปราะบาง ส่วนตัวมีข้อกังวลในเรื่องภาษีคาร์บอนเหมือนกัน อย่างกรณีของ CBEM ที่ค่อนข้างตรงไปตรงมา ถ้าเราไม่เก็บเราก็ต้องเสียให้กับEUอยู่ดี  และแน่นอนว่าจะต้องมีกระบวนการในการช่วยเหลือ SME ด้วย

ส่วนการเก็บภาษีคาร์บอนในภาคพลังงาน ถือ เป็นโจทย์ที่สำคัญ ที่หลายประเทศคิด แต่ไม่ได้ทำ ส่วนตัวเห็นว่า ต้องเปรียบเทียบความสามารถในการแข่งขันกับภาระต่อประชาชน ความสามารถที่จะโยงไปที่ความช่วยเหลือ หรือการตั้งกองทุนไปที่คนที่จะได้รับความเดือดร้อนจะได้รับการช่วยเหลือแบบไหน

เรื่องราคา Carbon pricing ก็สำคัญเหมือนกัน ในทางการเงินถ้าเกิดราคาต่ำมากก็ไม่มีแรงจูงใจที่จะต้องปรับตัว ในทางปฏิบัติหลายคนอาจจะสงสัยว่าต้องราคาเท่าไหร่  ซึ่งจะเป็นตัวเลขใด จะต้องสร้างแรงจูงใจให้กับเอกชนปรับตัวไปสู่โลว์คาร์บอนจริงๆ  และยังรักษาความสามารถในการแข่งขันได้ประมาณหนึ่ง อีกทั้งยังสามารถไปช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนจาการเปลี่ยนแปลงได้ด้วย เหล่านี้คือโจทก์โดยรวมถ้าจะพูดถึงภาษีคาร์บอน

อย่างไรก็ตามการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าเราจริงจังกับเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ การที่ประกาศต่อประชาคมโลกว่าเราอยากจะขยับ Net Zero เหมือนชาวโลก และเป็นเรื่องความสามารถของการแข่งขันด้วย เมื่อเราตั้งเป้าไว้ที่ 2065 แต่คู่ค้าของเราตั้งเป้าไว้ก่อนหน้านั้น ดังนั้นควรจะเพิ่มความพยายามในการให้คำมั่นสัญญากับประชาคมโลกประเทศ

ประเด็นที่สองเรื่องการเปิดเสรี ซึ่งเห็นด้วยกับการ deregulation  แต่ถ้ายังไม่เปิดเสรีและมี deregulation ก่อน ก็อาจจะมีเสือนอนกินหรือผู้ผูกขาดที่มีอำนาจมากกว่าเดิม ซึ่งก็จะเป็นปัญหา ต้นทุนก็จะถูกส่งต่อมาที่ผู้บริโภคได้ทันที ทำให้เรื่องของการเปลี่ยนผ่านอย่างที่ทำก็จะยิ่งแย่กว่าเดิม ดังนั้นการจัดลำดับเป็นเรื่องที่สำคัญเหมือนกัน เห็นด้วยว่าภาษีคาร์บอนยังไงก็ต้องมาแต่จะต้องดูให้ชัดเจนและระดับความสำคัญอะไรก่อนหลัง

เวลาที่เราพูดว่าไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เหมือนเป็นนามธรรม ในทางปฏิบัติมีเรื่องเฉพาะหน้าที่เราทำได้เลย เช่นตั้งคำถามกับโครงการที่อ้างว่าเป็นพลังงานสะอาด เพราะว่าทุกวันนี้ชาวโลกไม่ได้สนใจแค่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเท่านั้น ต่อให้เป็นโครงการขนาดใหญ่ เช่น เขื่อน ที่บอกว่าปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยมาก แต่ถ้าเกิดจากความเสี่ยงอื่นในเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อมอันนี้ก็ไม่ถือว่าคลีนเหมือนกัน ตอนนี้มาตรฐานโลกกำลังมาหลอมรวมเข้าด้วยกันแล้ว ยุโรปกำลังจะออกกฎหมายที่ชื่อว่า Corporate sustainability due diligence  บังคับให้บริษัทขนาดใหญ่ที่ส่งออกไปยุโรปในทุกอุตสาหกรรมต้องทำสิ่งที่เรียกว่าสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ที่ต้องจับตากัน เพราะประเทศไทยเรามีเศรษฐกิจแบบเปิดและมีคู่ค้าอยู่หลายประเทศ

ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม 

ภาคธุรกิจ ในต่างประเทศในยุโรปมีการเก็บภาษีคาร์บอน ส่วนในสหรัฐฯทำให้เกิดแรงจูงใจในการลงทุนในอุตสาหกรรมสีเขียว มีเริ่มต้นในโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวและเทคโนโลยีนวัตกรรมเพราะถ้าเกิดสองอันนี้ได้จะทำให้อุตสาหกรรมในระยะยาวเกิดการแข่งขัน แล้วก็สามารถที่จะเลิกให้เงินอุดหนุนได้แล้วค่อยเริ่มภาษีคาร์บอน

ส่วนในจีน รัฐบาลก็สนับสนุนเป็นลักษณะสนับสนุนผ่านทาง stage own มีการผลักดันเรื่องของแบตเตอรี่โซล่าร์  จนเป็นผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ของโลกซึ่งมีต้นทุนในเรื่องของกรีนเทคโนโลยี ทำให้ผลิตภัณฑ์สีเขียวของจีนถูกกว่าที่อื่น  อย่างไรก็ตามถ้าถามว่าภาษีคาร์บอนจะมาหรือไม่ สุดท้ายของต้องมา ยุโรปเดินไปก่อนตอนนี้จะเห็นว่าหลายบริษัทย้ายจากยุโรปไปอเมริกา

ถ้าเราขยับ ระบบ “cap and trade”  คือ ไป ETS   (Emission Trading Scheme : ระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก) อาจจะซับซ้อนในการวิเคราะห์ แต่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านเป็นระบบ ใครทำได้ดีให้เอาไปขาย ใครทำได้แย่ก็เปลี่ยนเป็นเงิน ซึ่งจะสามารถคุมผลกระทบต่ออุตสาหกรรมได้พอประมาณ เพราะที่เราต้องการคือลดการปล่อยคาร์บอน แต่ถ้าทำแบบเดียวกันด้วยน้ำหนักที่ผิดไปจะเกิด deindustrialization (กระบวนการที่การผลิตลดลง) ตรงนี้ถึงต้องทำให้เกิดการพูดคุยกัน อย่างสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ที่เป็นเวทีของการพูดคุยกัน มีน้ำหนักที่พอประมาน ที่ทำให้ซัพพลายเชนปรับตัวได้

ปรับโครงสร้างพลังงาน 

NOTE :  การปฏิรูปตลาดไฟฟ้าของประเทศให้เป็นเครื่องมือที่เอื้อต่อการเติบโตของพลังงานหมุนเวียน (renewable energy) และทำให้ผู้ใช้ไฟสามารถเข้าถึงได้ในราคาที่เป็นธรรม แนวทางสำคัญคือการเปิดเสรีตลาดการผลิต เปิดสายส่งไฟฟ้าให้ผู้ผลิตไฟฟ้าจากแหล่งต่างๆและ นำเอาระบบการซื้อขายไฟฟ้าโดยตรงและระบบ net metering มาใช้

สฤณี อาชวานันทกุล 

คำว่าเปิดเสรีคือ “คีย์เวิร์ด” เปิดเสรีระบบพลังงานจะต้องพูดถึง “3 D” คือ Decarbonization (การลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์)  Digitization ( นำเทคโนโลยีมาปรับใช้) และ Decentralization (การกระจายอำนาจ) ซึ่งต้องไปด้วยกันทั้ง “3 D”  โดยเฉพาะ Decentralization ที่จะเชื่อมโยงไปที่ Net metering (มาตรการการรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อป) ทำอย่างไรให้ประชาชนเป็นผู้ผลิตพลังงานเองได้ ซึ่งถือเป็นความมั่นคงทางพลังงาน ของประชาชน

“ตัวอุปสรรคจริงๆอยู่ตรงไหน ทำไมเราถึงเปิดเสรีไม่ได้สักที ทั้งที่เหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ครบแล้ว เหตุผลแรรงกดดันจากภายนอก ความสามารถในการแข่งขันต่างๆก็มาจ่ออยู่แล้ว  เป็นโอกาสในยุคที่เราคุยเรื่องการกระจายอำนาจ ประชาชนตื่นตัว มองในมุมนี้ก็ได้ ว่าการกระจายอำนาจไม่ได้แปลว่าการจัดการตัวเองแต่เพียงอย่างเดียว แต่มองในแง่ของการจัดการพลังงานด้วย”