แก้โจทย์’ขยะ’บน’เกาะเสม็ด’สำเร็จได้อย่างไร

 

“เกาะเสม็ด” เป็นที่รู้จักดีของนักท่องเที่ยว ไทยและต่างประเทศ ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยว เดินทางไปที่เกาะเสม็ดมากกว่า 1 ล้านคน ทำให้เกิดรายได้และการพัฒนาทางเศรษฐกิจ อีกทั้งเกาะเสม็ดยังได้รับอานิสงส์จากเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีการเคลื่อนย้ายแรงงาน การจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่
          

แต่ขณะเดียวกัน การเพิ่มขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและจำนวนประชากรในพื้นที่ ส่งผลให้ปริมาณขยะมูลฝอยและของเสียเพิ่มมากขึ้น การวางแผนจัดการขยะมูลฝอยในพื้นที่ EEC อย่างเป็นระบบ รวมถึงพื้นที่ชายฝั่งทะเลและเกาะต่างๆ อย่างเกาะเสม็ด จึงเป็นโจทย์สำคัญไม่น้อย ไปกว่าการมุ่งพัฒนาทางเศรษฐกิจ ดึงดูดการลงทุนและการท่องเที่ยว
          

ปัญหาสำคัญในการจัดการขยะมูลฝอยในพื้นที่เกาะเสม็ด อาจไม่ต่างจากปัญหา ในพื้นที่อื่นๆ คือ ผู้ประกอบการธุรกิจ ท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังไม่มีการคัดแยกขยะที่ต้นทาง
          

ส่งผลให้ขยะบางส่วนที่น่าจะสามารถรีไซเคิลหรืออัปไซเคิลเพื่อเพิ่มมูลค่าไม่สามารถทำได้ เพราะปนเปื้อนกับขยะประเภทอื่นโดยเฉพาะขยะอาหาร ทำให้สูญเสียโอกาสทางด้านเศรษฐกิจ อีกทั้งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
          

โครงการส่งเสริมการคัดแยกขยะที่ต้นทางในเขตท่องเที่ยวของ EEC เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยสถาบันวิจัย เพื่อการพัฒนาประเทศไทย และมูลนิธิเสนาะ อูนากูล จึงมีเป้าหมายส่งเสริมให้ทั้งคนในพื้นที่เกาะเสม็ดและผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวมีการคัดแยกขยะที่ต้นทางเพิ่มขึ้น โดยนำแนวคิดเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (Behavioral economics) มาใช้ วิเคราะห์ปัญหาและพัฒนามาตรการส่งเสริม การคัดแยกขยะที่ต้นทางเพิ่มขึ้น
          

จากการหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่เกาะเสม็ด ทั้งตัวแทนชาวบ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้ประกอบการธุรกิจที่พัก พบว่ามีหลายปัจจัยที่เป็นอุปสรรคทำให้ครัวเรือนยังไม่มีการคัดแยกขยะ เท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็นการขาดอุปกรณ์รองรับขยะที่ได้รับการคัดแยก ข้อจำกัดด้านพื้นที่ภายในที่พักอาศัย ราคารับซื้อขยะรีไซเคิลที่ไม่จูงใจ
          

ขณะที่อุปสรรคของกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจที่พัก คือ ความกังวลด้านภาพลักษณ์ ของธุรกิจในมุมมองของนักท่องเที่ยว การขาดความเชื่อมั่นเกี่ยวกับแนวทางการใช้ประโยชน์ขยะที่ได้รับการคัดแยกแล้ว เหตุปัจจัย เหล่านี้ทำให้ทั้งครัวเรือนและผู้ประกอบการ ธุรกิจที่พักในพื้นที่เกาะเสม็ด จึงยังไม่ได้คัดแยกขยะเป็นวงกว้าง มีเพียงบางรายที่มีการคัดแยกขยะเป็นประจำ
          

งานศึกษานี้นำแนวคิดเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมาใช้ในการออกแบบมาตรการส่งเสริมการคัดแยกขยะที่ต้นทาง และใช้เครื่องมือการทดลองภาคสนาม โดยใช้วิธีการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (Randomized Controlled Trial : RCT) ในการทดสอบว่ามาตรการใดที่ส่งผลให้ ครัวเรือนและผู้ประกอบการธุรกิจที่พักที่เข้าร่วมการทดลองภายใต้การศึกษานี้คัดแยก ขยะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
          

ภายใต้งานศึกษานี้มีครัวเรือน 140 ครัวเรือน และผู้ประกอบการธุรกิจที่พัก 60 แห่ง เข้าร่วมการทดลองเป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยเดือนแรกเป็นช่วงการเก็บบันทึกข้อมูลน้ำหนักขยะ ที่กลุ่มตัวอย่างได้ “คัดแยก ขยะที่ต้นทาง” ก่อนที่จะได้รับมาตรการแทรกแซงในเดือนที่ 2-3 โดยสำหรับกลุ่มตัวอย่างระดับครัวเรือนจะได้รับอุปกรณ์ที่ใช้ คัดแยกขยะรีไซเคิลในรูปแบบของถุงปุ๋ย และการให้ข้อมูลการแปลงปริมาณขยะที่ได้รับการคัดแยกเป็นเงินสมทบทุนในการจัดหาอุปกรณ์สำหรับจิตอาสา
          

สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจที่พัก มาตรการแทรกแซงที่ใช้ในการทดสอบ ได้แก่ การมอบใบประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติสำหรับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมและ คัดแยกขยะจนจบโครงการ และการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ขยะรีไซเคิลหรือ เส้นทางการจัดการขยะ (Waste journey) ขณะเดียวกันยังมีกลุ่มครัวเรือนและกลุ่ม ผู้ประกอบการฯ ที่ไม่ได้รับมาตรการแทรกแซง ใดๆ เลย เพื่อใช้ทดสอบประสิทธิผลของมาตรการแทรกแซงในการส่งเสริมการคัดแยก ขยะที่ต้นทางด้วย
          

ผลจากการทดลองพบว่า มาตรการที่สามารถช่วยให้เกิดการคัดแยกขยะรีไซเคิลและขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นในระดับครัวเรือน คือ การให้อุปกรณ์ที่ใช้คัดแยกขยะรีไซเคิล และการให้อุปกรณ์ควบคู่กับการให้ข้อมูลฯ ขณะที่ผลทดลองของกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจที่พัก พบว่า การมอบเกียรติบัตรฯ เป็นมาตรการที่ช่วยส่งเสริมให้มีการคัดแยกขยะรีไซเคิลเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
          

หน่วยงานและภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง สามารถนำผลที่ได้จากการทดลองไปขยายผลต่อในพื้นที่อื่น สำหรับการส่งเสริมการคัดแยกขยะที่ต้นทางสำหรับกลุ่มครัวเรือน ทาง อปท.อาจร่วมมือกับภาคเอกชนจัดหาอุปกรณ์สำหรับใช้คัดแยกขยะภายในที่พักอาศัย เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับครัวเรือน  และในขณะเดียวกันทาง อปท.ควรพิจารณาจัดเก็บขยะที่ครัวเรือนช่วยคัดแยกที่ต้นทาง โดยแยกประเภทและมีแนวทางการใช้ประโยชน์จากขยะดังกล่าวที่ชัดเจน และสื่อสาร/ประชาสัมพันธ์ให้คนในพื้นที่รับทราบ อย่างทั่วถึง
          

ส่วนการส่งเสริมผู้ประกอบการ ท่องเที่ยวให้มีการคัดแยกขยะที่ต้นทางเพิ่มขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจพิจารณา สร้างแรงจูงใจโดยการมอบเกียรติบัตรเพื่อเชิดชูเกียรติ เนื่องจากผู้ประกอบการฯ ให้ความสำคัญกับด้านภาพลักษณ์ของธุรกิจในมุมมองของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะปัจจุบันมีกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำมากขึ้น
          

ภาพฝันในอนาคตที่อยากเห็นคือ การมีแหล่งท่องเที่ยวที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ ควบคู่ไปกับการรักษาสภาพแวดล้อมบริเวณ แหล่งท่องเที่ยวให้มีความยั่งยืนและสวยงาม ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอาศัยความร่วมมือกันของ ทุกฝ่ายในสังคม

บทความโดย นิพนธ์พันธุ์ ศศิธร ,  กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ ,  ภานุวัฒน์ สัจจะวิริยะกุล
          

บทความนี้อ้างอิงงานวิจัย ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากมูลนิธิเสนาะ อูนากูล

เผยแพร่ครั้งแรก : นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 2 พ.ย. 2566