สำรวจ 5 ประเด็น รับมือ”โลกรวน” พลิกความเสี่ยงเป็นโอกาส

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ จัดสัมมนาสาธารณะประจำปี 2566 ในหัวข้อ “ปรับประเทศไทย…ไปสู่ เศรษฐกิจ-สังคมคาร์บอนต่ำ”  ที่สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ สำหรับการนำเสนอของทีดีอาร์ไอ ในงานสัมมนาสาธารณะประจำปีนี้ มีด้วยกัน 6 หัวข้อ ประกอบด้วย 1. หัวข้อ “ปรับประเทศไทย…ไปสู่เศรษฐกิจ-สังคมคาร์บอนต่ำ” โดยดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ , 2.หัวข้อ “ปฏิรูปภาคไฟฟ้า…พาไทยให้อยู่รอด” โดยดร.อารีพร อิศวินพงศ์พันธ์ นักวิชาการทีดีอาร์ไอ , 3. หัวข้อ “ชาร์จพลังประเทศไทย…ไปสู่การขนส่งคาร์บอนต่ำ” โดยดร.สุเมธ องกิตติกุล รองประธานทีดีอาร์ไอ ,4. หัวข้อ “ปั้มรายได้ สร้างเศรษฐกิจ…ผลิตในยุคคาร์บอนต่ำ” โดยดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ นักวิชาการอาวุโส และดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ , 5. หัวข้อ “ปรับทักษะคนไทย…ทำงานใหม่ยุคคาร์บอนต่ำ” โดยดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู ผู้อำนวยการวิจัยทีดีอาร์ไอ และ 6 หัวข้อ “เตรียมธุรกิจไทย…ให้พร้อมสู่ยุคคาร์บอนต่ำ” โดยดร.ชาริกา ชาญนันทพิพัฒน์ และดร.สลิลธร ทองมีนสุข นักวิชาการทีดีอาร์ไอ

จี้รัฐ ปฎิรูปไฟฟ้า หนุนพลังงานสะอาด เปิดตลาดเสรีเพิ่มช่องแข่งขันผลิตไฟ เร่งอนุมัติ Net metering เพื่อจูงใจปชช.ติดโซลาร์ เปิดกว้างผู้ผลิตไฟฟ้าทุกรายใช้บริการสายส่งได้

ดร.อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์  นักวิชาการด้านนโยบายพลังงาน ทีดีอาร์ไอ กล่าวในหัวข้อ “ปฏิรูปไฟฟ้า….พาไทยให้อยู่รอด” ว่า การปฏิรูปไฟฟ้าถือเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ภาครัฐควรสนับสนุนให้มีการใช้พลังงานสะอาดอย่างจริงจัง เพราะในขณะนี้เป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนของภาครัฐล่าช้ากว่าเป้าที่ภาคเอกชนได้ตั้งเอาไว้ นอกจากนี้ดัชนีชี้วัดความสมดุลด้านพลังงานไทย ที่ประเมินโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน พบแนวโน้มความสมดุลด้านพลังงานของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านความมั่งคั่ง และความยั่งยืน ดังนั้นภาครัฐจะต้องคำนึงถึงความสมดุลด้านพลังงานโดยรวมด้วย ทั้งความมั่นคง เช่น สัดส่วนการนำเข้าพลังงาน , ความมั่งคั่ง เช่น ราคาค่าไฟที่เป็นธรรม รวมไปถึงความยั่งยืน เช่น การมุ่งสู่พลังงานสะอาด

ดร.อารีพร กล่าวว่า ที่ผ่านมาแม้รัฐบาลไทยมีการวางนโยบาย เช่น โครงการโซลาร์ภาคประชาชน แต่ในขณะเดียวกันกลับพบว่ามีอีกหลายนโยบายของภาครัฐที่ยังสวนทางกับการเพิ่มไฟฟ้าพลังงานสะอาด การเปิดเสรีไฟฟ้า และทำให้เกิดผลกระทบต่อความสมดุลพลังงาน เช่น การปรับราคารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ทำให้ผลตอบแทนการลงทุนลดลง ส่งผลให้เอกชนหันไปลงทุนพลังงานหมุนเวียนในประเทศเพื่อนบ้านแทน การพับแผน Net metering (การคิดค่าไฟฟ้าแบบหักลบกลบหน่วยตามจริง) ซึ่งทำให้ส่วนลดค่าไฟจากการติดตั้งแผงโซลาร์รูฟท็อปหายไป รวมถึงการวางโครงสร้างค่าไฟที่ไม่ครอบคลุมต้นทุนอย่างเป็นธรรม

“การที่จะไปถึงเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนได้เร็วและเป็นจริงได้มากขึ้น คือการเปิดไฟฟ้าเสรี โดยกำหนดให้ชัดเจนในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ( PDP ) และต้องให้มีการแข่งขันการผลิต โดยสนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น พร้อมปรับโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติให้ทำหน้าที่หลักสนับสนุนเสถียรภาพของระบบไฟฟ้า รวมถึงอนุมัติNet metering เพื่อจูงใจให้ครัวเรือนหันมาติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปมากขึ้น และเปิดให้ผู้ผลิตทุกรายสามารถใช้บริการสายส่งโดยคิดค่าบริการและซื้อขายไฟกับประชาชนด้วยราคาที่เป็นธรรม นอกจากการที่ราคาไฟฟ้าในตลาดซื้อขายเสรีจะถูกกำหนดด้วยกลไกตลาดแล้ว ในระยะสั้นผู้ใช้ไฟฟ้าทุกคนต้องช่วยรับผิดชอบต้นทุนความมั่นคงของระบบไฟฟ้าโดยรวมด้วย” ดร.อารีพรระบุ

ชง เลิกอุดหนุนน้ำมันภาคขนส่ง-เก็บภาษีคาร์บอน เพิ่มประสิทธิภาพระบบราง ยกระดับขนส่งสาธารณะเขตเมือง เอื้อคนเปลี่ยนพฤติกรรม

ดร.สุเมธ องกิตติกุล รองประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวในหัวข้อ “ชาร์จพลังประเทศไทย…ไปสู่การขนส่งคาร์บอนต่ำ” ว่า ภาคขนส่งปล่อยคาร์บอนเป็นอันดับสองรองจากภาคพลังงาน  และปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างน้อย 30 เปอร์เซ็นต์ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของประเทศ โดยการขนส่งทางถนนเป็นภาคที่ปล่อยคาร์บอนสูงสุด รองลงมาคือการขนส่งทางอากาศ ซึ่งหากไม่มีมาตรการใดๆออกมาเลย ในปีคศ. 2050 ไทยจะปล่อยคาร์บอนอยู่ที่ 202 ล้านตัน หรือประมาณ 2.5 เท่าของปัจจุบัน ดังนั้นจึงมีความท้าทายอย่างมากที่ไทยจะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามคำมั่นที่เคยให้ไว้กับ NBC (Nationally Determined Contribution) อย่างไรก็ตามแม้ว่ารัฐบาลมีการกำหนดมาตรการเพื่อลดคาร์บอน แต่หลักๆโดยเป็นการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า แต่จะต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพของยานยนต์ที่ใช้ในปัจจุบันให้มีการปล่อยคาร์บอนน้อยลงด้วย รวมถึงการพัฒนาระบบขนส่งในเขตเมืองและระหว่างเมือง เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลให้มาใช้ระบบรางมาก

ดร.สุเมธ ระบุว่า แม้ในกทม.จะมีรถไฟฟ้าหลายสายแต่ปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงไม่มีแนวโน้มลดลง สาเหตุเพราะยังไม่มีแนวทางในการจำกัดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในเขตเมืองเท่าที่ควร อีกทั้งระบบขนส่งมวลชนยังไม่จูงใจให้คนมาใช้บริการ เช่น  ค่าโดยสารสูง ไม่เชื่อมโยงพื้นที่อย่างครอบคลุม  ไม่มีตั๋วร่วม การลงทุนรถไฟทางคู่ยังไม่ตอบโจทย์การเดินทางขนส่งระหว่างเมืองเท่าที่ควร ขณะที่ปริมาณการเดินทางทางอากาศมีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งนี้การลดคาร์บอนในภาคขนส่งอย่างยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะส่งผลต่อรายได้จากการท่องเที่ยวที่ในปัจจุบัน นทท.ต่างชาติมีแนวโน้มที่จะให้ความใส่ใจเรื่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยยอมจ่ายมากขึ้นเพื่อให้ได้การเดินทางที่สะอาด เพราะฉะนั้นถ้าไทยไม่ปรับตัวประเทศไทยอาจเป็นตัวเลือกท้ายๆที่นทท.กลุ่มนี้อยากจะเข้ามาท่องเที่ยว

ดร.สุเมธ มีข้อเสนอด้วยว่า รัฐบาลควรยกเลิกการอุดหนุนน้ำมันเชื้อเพลิงในภาคขนส่ง ลดการเดินทางทางอากาศระยะสั้น เพิ่มประสิทธิภาพขนส่งทางราง ยกระดับขนส่งสาธารณะในเขตเมือง เช่น เพิ่มเส้นทางเดินรถ ลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า ใช้ระบบตั๋วร่วม ขณะเดียวกันรัฐควรลงทุนและกำหนดมาตรการเพื่อส่งเสริมรถ EV  ทั้งประเภทรถโดยสาร รถจยย. และรถบรรทุก โดยให้มีวงเงินอุดหนุนการซื้อรถเหล่านี้ รวมถึงการเก็บภาษีน้ำมันตามปริมาณคาร์บอนของน้ำมันเชื้อเพลิงนั้นๆ ขณะเดียวกันควรกำหนดโลว์คาร์บอน โซน รวมถึงค่าธรรมเนียมเข้าเมืองในเขตรถติด  ส่วนการจัดการขนส่งทางรางนั้นนอกจาการเพิ่มขบวนรถและบริหารเที่ยวการเดินรถไฟแล้ว ยังต้องเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของรถไฟ และเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงสะอาดด้วย สำหรับภาคขนส่งทางอากาศ ต้องเสริมน้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) และให้สายการบินใช้เครื่องยนต์ที่มีประสิทธิภาพสูง ส่วนเป้าหมายระยะต่อไปคือการส่งเสริมคาร์บอนเครดิต การพัฒนาเมืองแบบ Compact City 

สร้างเศรษฐกิจสีเขียว หนุนใช้นวัตกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หวังผู้ประกอบการเข้าถึงเงินทุน

ด้านดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ นักวิชาการอาวุโส และดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอกล่าวในหัวข้อ “ปั๊มรายได้ สร้างเศรษฐกิจ…ผลิตในยุคคาร์บอนต่ำ” ว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม เกษตร และบริการของไทยกำลังเผชิญแรงกดดันจากหลายด้านให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ หัวใจสำคัญคือการเปลี่ยนจากแรงกดดันให้เป็นโอกาสในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร และทำให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพสูงสุดและสะอาดขึ้น ทั้งนี้ข้อมูลปี 2018 พบว่าประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกว่า 372 ล้านตันคาร์บอน โดยภาคพลังงานปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุด รองลงมาคือภาคเกษตร ตามด้วยกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ และภาคของเสีย โดยการปลูกข้าวปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดในภาคเกษตร และการผลิตซีเมนต์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดในภาคอุตสาหกรรม ในขณะที่ภาคบริการส่วนใหญ่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาจากการใช้พลังงาน

นักวิชาการทีดีอาร์ไอ มีข้อเสนอด้วยว่า ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้นอาจเริ่มจากมาตรการระยะสั้นเร่งด่วน เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ การจัดการขยะและน้ำเสีย ฯลฯ เนื่องจากมาตรการเหล่านี้มีเทคโนโลยีค่อนข้างพร้อมและคืนทุนเร็ว แต่ในระยะกลางถึงระยะยาว อาจใช้เทคโนโลยีการลดการปล่อย-กักเก็บก๊าซเรือนกระจกที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น เทคโนโลยีไฮโดรเจนสีเขียว เทคโนโลยีการกักเก็บคาร์บอน ขณะที่ภาคเกษตรอาจให้ความสำคัญที่การปรับกระบวนการปลูกข้าวให้ลดการใช้น้ำและลดการปล่อยมีเทน การพัฒนาอาหารสัตว์เพื่อลดการปล่อยมีเทนจากสัตว์ ฯลฯ สำหรับภาคอุตสาหกรรม อาจให้ความสำคัญที่การพัฒนาผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ เช่น ปูนหรือคอนกรีตคาร์บอนต่ำ รวมถึงการนำเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนมาใช้ สำหรับภาคบริการ อาจเน้นที่การใช้เทคโนโลยีหรือเชื้อเพลิงสะอาดในการขนส่ง

 “ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่สำคัญจากงานศึกษานี้ ได้แก่ การเก็บภาษีคาร์บอนและนำรายได้จากภาษีส่วนหนึ่งไปสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงเงินทุน องค์ความรู้ และเทคโนโลยีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และอีกส่วนหนึ่งไปบรรเทาผลกระทบของการเปลี่ยนผ่านต่อกลุ่มที่ได้รับผลกระทบและสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”นักวิชาการทีดีอาร์ไอระบุ        

แนวโน้มจ้างงานสีเขียวโตขึ้นทั่วโลก ขณะที่งานก่อคาร์บอนหดตัวลง แนะรัฐทำนโยบายสิ่งแวดล้อม – ทักษะแรงงานให้สอดคล้องกัน พร้อมเร่งปรับทักษะคนไทยรองรับธุรกิจสีเขียว

ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู ผู้อำนวยการวิจัยทีดีอาร์ไอ กล่าวในหัวข้อ “ปรับทักษะคนไทย…ทำงานใหม่ในยุคคาร์บอนต่ำ” ว่า ทั่วโลกกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว ทำให้เกิดธุรกิจสีเขียว และเกิดการสร้างงานใหม่ เช่น เศรษฐกิจหมุนเวียน  พลังงานหมุนเวียน การขนส่งคาร์บอนต่ำ และบริการวิจัย บริหารจัดการและการเงินสีเขียว ในทางตรงกันข้ามก็ทำให้ธุรกิจสีน้ำตาลบางส่วนที่ปล่อยคาร์บอนสูง เช่น ธุรกิจเชื้อเพลิงฟอสซิล ธุรกิจรถยนต์สันดาป ธุรกิจเกษตรแบบเดิม ต้องหดตัวลงและทำให้งานหายไปซึ่งแรงงานกลุ่มเสี่ยงมักเป็นแรงงานที่มีทักษะและระดับการศึกษาไม่สูงนัก

ดร.เสาวรัจ ระบุว่าสำหรับงานสีเขียวนั้น แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ งานใหม่ที่เกิดขึ้นจากธุรกิจสีเขียว กับ งานเดิมที่มีอยู่แต่ต้องปรับเพิ่มทักษะสีเขียวเข้าไป โดยแรงงานสีเขียวต้องมีสมรรถนะที่สำคัญ 3 ประการ คือ 1. ทัศนคติ ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม 2.ทักษะ ได้แก่ การสื่อสาร ความคิดสร้างสรรค์ การปรับตัว และการคิดเชิงออกแบบ และ 3.องค์ความรู้ เช่น วิศวกรรมและเทคนิค วิทยาศาสตร์ การจัดการดำเนินงาน และการติดตาม โดยการวิเคราะห์ข้อมูลของแพลตฟอร์มลิงค์อิน พบว่า แนวโน้มการจ้างงานสีเขียวเติบโตเพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีความต้องการเพิ่มขึ้นประมาณ 8 % ต่อปี ขณะที่จำนวนแรงงานที่มีทักษะสีเขียวเพิ่มขึ้นประมาณ 6 % ต่อปี  ซึ่งหมายความว่า ความต้องการแรงงานมีสูงกว่าจำนวนแรงงานที่มีอยู่ แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การจ้างงานสีเขียวในประเทศไทยเติบโดสะสมเฉลี่ยต่อปีประมาณ 1.4% และสัดส่วนการจ้างงานสีเขียวของไทยเติบโตจาก 6% เป็น 7%  ซึ่งประกอบไปด้วยการจ้างงานใหม่สีเขียวซึ่งมีสัดส่วน 2% และการจ้างงานเดิม เติมทักษะสีเขียวซึ่งมีสัดส่วน 5% 

ดร.เสาวรัจ เปิดเผยว่าด้วยว่า นอกจากนี้ทีดีอาร์ไอ ยังได้วิเคราะห์ข้อมูลบิ๊กดาต้า โดยเข้าไปดูประกาศรับสมัครงานกว่า 1 ล้านตำแหน่งในประเทศ พบว่ามีตำแหน่งงานสีเขียวประมาณ 7 หมื่นตำแหน่ง โดยทักษะสีเขียวที่ภาคธุรกิจมีความต้องการสูงคือ ทักษะการจัดการด้านความยั่งยืน วิศวกรรมเพื่อความยั่งยืน การทำรายงานด้านความยั่งยืน และพบด้วยว่างานสีเขียวยังมีการกระจายอยู่หลายอุตสาหกรรม โดยสาขาที่มีสัดส่วนแรงงานสีเขียวมาก มักเป็นสาขาที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาก ขณะเดียวกันพบว่ามีการกระจุกตัวของงานสีเขียวในสาขาที่ไม่ได้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงด้วย เช่น บริการวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคนิค ไอซีที และการเงิน ยังมีข้อค้นพบที่น่าสนใจว่า รายได้ของบัณฑิตปริญญาตรีจบใหม่ ที่ทำงานสีเขียว สูงกว่าที่ทำงานอื่นถึง 12 % อย่างไรก็ตาม บัณฑิต ป. ตรี จบใหม่ที่ทำงานสีเขียวโดยรวมยังมีรายได้น้อยกว่าที่ทำงานด้าน STEM นอกจากนี้ ความต้องการแรงงานสีเขียวที่สูงขึ้น ทำให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเริ่มปรับตัวเพื่อพัฒนาทักษะสีเขียว ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษาทั้งอาชีวศึกษา และมหาวิทยาลัย ก็เริ่มเปิดหลักสูตรงานสีเขียวแล้ว เช่นเดียวกับภาคเอกชนที่มีการปรับตัวอย่างมากในการฝึกอบรมพนักงาน และภาครัฐที่สนับสนุนค่าใช้จ่ายฝึกอบรมหลักสูตรที่รับรอง

ดร.เสาวรัจ ระบุว่า ประเทศไทยจะเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำได้ยาก ถ้าไม่ได้มีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะการขาดแคลนแรงงานสีเขียว ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ  จึงขอเสนอแนะต่อภาครัฐ ให้ปรับการพัฒนาแรงงานตามนโยบายเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ที่สร้างเวทีให้มีการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐ-เอกชน และวางระบบข้อมูลระบุทักษะและทำแผนพัฒนาทักษะแรงงานที่ต้องการรายอุตสาหกรรมทุกปี โดยใช้การวิเคราะห์ข้อมูลจากบิ๊กดาต้า ร่วมกับการหารือใกล้ชิดกับภาคเอกชน และภาคการศึกษาเพื่อจัดลำดับทักษะที่ต้องพัฒนา และจัดหลักสูตรรองรับตลาดแรงงานในอนาคต รวมไปถึงวิเคราะห์แรงงานที่มีความเสี่ยงที่จะถูกเลิกจ้าง ขณะเดียวกันต้องพัฒนาทักษะสะเต็มให้เข้มแข็ง แล้วต่อยอดด้วยการฝึกอบรมทักษะแรงงาน

“รัฐต้องสนับสนุนการฝึกทักษะแรงงาน สำหรับแรงงานแต่ละกลุ่ม กล่าวคือ สำหรับแรงงานในระบบ โดยอุดหนุนค่าเรียนและให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่นายจ้างปัจจุบัน หรือสำหรับแรงงานนอกระบบ โดยแจกคูปองฝึกทักษะ ควบคู่กับจัดทำระบบแนะแนวและจับคู่หางาน หรือสำหรับแรงงานกลุ่มเสี่ยงในธุรกิจสีน้ำตาล ควรอุดหนุนการฝึกทักษะเพื่อให้สามารถเปลี่ยนงานได้ โดยช่วยจับคู่หางาน และสนับสนุนค่าเรียนและเงินเดือนบางส่วนให้นายจ้างใหม่ ซึ่งเหล่านี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในหลายประเทศ” ดร.เสาวรัจระบุ

เตือน ธุรกิจเตรียมรับแรงกดดันยุคคาร์บอนต่ำ แนะ ต้องเข้าใจข้อมูลก๊าซเรือนกระจก พร้อมปรับโมเดลธุรกิจ เสนอ สถาบันการเงินออกผลิตภัณฑ์โยงธุรกิจGo Green

ด้านดร. ชาริกา ชาญนันทพิพัฒน์ นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวในหัวข้อ “เตรียมธุรกิจไทย…ให้พร้อมสู่ยุคคาร์บอนต่ำ” ว่า ธุรกิจไทยเผชิญแรงกดดันรอบด้านให้ก้าวสู่ยุคคาร์บอนต่ำ โดยธุรกิจแต่ละประเภท แต่ละขนาดเผชิญแรงกดดันที่แตกต่างกัน  โดยมี 2 ปัจจัยที่ภาคธุรกิจต้องเตรียมพร้อมเพื่อรับมือ  คือ การเข้าใจข้อมูลก๊าซเรือนกระจก และการเข้าถึงทรัพยากรทางการเงิน  สำหรับข้อมูลก๊าซเรือนกระจกนั้น ธุรกิจจึงต้องประเมินแรงกดดันภายนอก เพื่อจัดการประเด็นเร่งด่วนไม่ว่าจะเป็นเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูล และกติกาการค้า  รวมถึงแรงกดดันจากความต้องการใช้ข้อมูลก๊าซเรือนกระจกของคู่ค้า สถาบันการเงิน และนักลงทุนสถาบัน ขณะเดียวกันจะต้องปรับการดำเนินงานภายใน โดยทำความเข้าใจข้อมูลก๊าซเรือนกระจกองค์กร และกิจกรรมในห่วงโซ่คุณค่า เพื่อมองให้เห็นโอกาสในเติบโต พร้อม ๆ ไปกับการลดก๊าซเรือนกระจก ถึงแม้ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรในประเทศไทยมีแนวโน้มมากขึ้น แต่ทั้งปริมาณ และคุณภาพของข้อมูลยังมีจำกัดอยู่ ทั้งนี้หากธุรกิจยังไม่เข้าใจข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาจทำให้ปรับตัวไม่ทัน มีต้นทุนเพิ่มในอนาคตจากราคาคาร์บอน เสียโอกาสทางธุรกิจ

ขณะที่ดร.สลิลธร ทองมีนสุข นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวถึง การก้าวข้ามความท้าทายต่าง ๆ ของภาคธุรกิจ ทั้งการเตรียมข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การลงทุนในเทคโนโลยีในการจัดเก็บและจัดการข้อมูล พร้อมหาตัวช่วยเพื่อก้าวข้ามความท้าทาย โดยเฉพาะการสร้างความร่วมมือในระดับกลุ่มอุตสาหกรรม ตลอดจนการเข้าใจทางเลือกแหล่งเงินทุนเพื่อลงทุนในโครงการหรือกิจกรรมเพื่อการเปลี่ยนผ่าน ขณะเดียวกันสถาบันการเงินและนักลงทุนต่างให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการลงทุนในกิจกรรมและเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำผ่านการให้สินเชื่อหรือการลงทุนในธุรกิจและสินทรัพย์กลุ่มความยั่งยืน  ปัจจุบันประเทศไทยมีการพัฒนา Thailand Taxonomy Phase 1 ขึ้นมา ซึ่งทั้งสถาบันการเงินและนักลงทุนสามารถใช้เครื่องมือนี้ในการประเมิน Portfolio การให้สินเชื่อหรือการตัดสินใจการลงทุนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้

สามารถดาวนโหลดเอกสารประกอบการสัมมนาและรับชมย้อนหลังได้ที่นี่