เอลนีโญแนวโน้มรุนแรง’ทุเรียน’เสี่ยงขาดน้ำ

         นับตั้งแต่ต้นฤดูฝน พ.ค.2566 เป็นต้นมา ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต อ่างเก็บน้ำ ส่วนใหญ่ ทั้งขนาดกลางและขนาดใหญ่ มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่าปีที่แล้ว โชคดีที่ช่วง กลางเดือน ก.ย.-ต.ค.มีฝนมาก แต่ปริมาณน้ำโดยรวมในอ่าง โดยเฉพาะในภาคตะวันออก ยังมีน้อยกว่าปีก่อน

          ข้อมูลของกรมชลประทานแสดงให้เห็นว่า ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ณ วันที่ 18 ต.ค.2566 รวมกัน ทั้งสิ้น 58,928 ล้าน ลบ.ม. (น้อยกว่าวันเดียวกันในปี 2565 ที่ 63,773 ล้าน ลบ.ม.) ยิ่งไปกว่านั้น ต.ค.ที่ผ่านมา องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ ของสหรัฐ (NOAA) รายงานว่า โอกาสเกิดเอลนีโญระดับรุนแรงอยู่ที่ประมาณ 75-85%

          ผลกระทบอาจเริ่มต้นหลังเดือน ต.ค. และชัดเจนช่วงปลายปีนี้ ต่อเนื่องไปจนถึงกลางปี 2567 หลายประเทศในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก ออสเตรเลีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย จะได้รับผลกระทบปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยลดลงอย่างน้อย 5-10% หลายพื้นที่อาจต้องเผชิญกับความแห้งแล้ง ถึงแม้ผลกระทบความแห้งแล้งจาก เอลนีโญจะทุเลาลงภายหลังกลางปี 2567 แต่มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของ Liang และคณะ (2564) ที่แสดงว่าปริมาณน้ำฝนจะมีปริมาณน้อยกว่าปีที่ผ่านๆ มา ยาวนานกว่า 5 ปี หรือจนถึงปี 2571  แน่นอนว่าปรากฏการณ์นี้ย่อมส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะ ภาคการเกษตร ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีสัดส่วนการใช้น้ำมากที่สุด 87% รวมถึงการปลูกทุเรียนซึ่งเป็นพืชทางเศรษฐกิจมูลค่าสูงที่สำคัญของประเทศไทย คำถามสำคัญคือ ภาวะ เอลนีโญจะกระทบต่อผลผลิตทุเรียนอย่างไร และชาวสวนควรมีแนวทางรับมืออย่างไรเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง

          ความเสี่ยงต่อปริมาณและคุณภาพของทุเรียนไทย จากสภาพอากาศแล้งและ การขาดน้ำ

          ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ราคาทุเรียนเพิ่มขึ้น อย่างรวดเร็ว จากความนิยมของตลาดภายในและนอกประเทศ โดยเฉพาะจีน ซึ่งส่งผลให้เกษตรกรหันมาปลูกทุเรียนเพิ่มมากขึ้น จากการลงพื้นที่สำรวจของ TDRI ในปี 2566 พบว่าเกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะ จ.จันทบุรีและระยอง หลาย รายตัดต้นยางและพืชชนิดอื่นไปปลูกทุเรียนมากขึ้น เพราะรายได้จากการขายทุเรียนอาจมากถึง 1 แสนบาทต่อไร่

          ด้วยเหตุนี้พื้นที่เพาะปลูกทุเรียน เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่าใน จ.จันทบุรี จาก 228,924 ไร่ในปี 2561 กลายเป็น 320,494 ไร่ในปี 2565 หรือเพิ่มขึ้น 40% ขณะที่ใน จ.ระยอง จาก 71,128 ไร่ในปี 2561 กลายเป็น 117,753 ไร่ในปี 2565 หรือเพิ่มขึ้น ถึง 66%

          การทำสวนทุเรียนในช่วง 6 เดือนของการออกดอกและดูแลผลทุเรียน การศึกษาของทรงศักดิ์ ภัทราวุฒชัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อปี 2563 พบว่าในพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ ชาวสวนมักใช้น้ำไม่ต่ำกว่า 6,500 ลบ.ม. และช่วงเดือน พ.ย.-ม.ค. ชาวสวนจะให้น้ำ 150 ลิตร/ต้น/วัน ส่วนช่วง ก.พ.-เม.ย. ให้น้ำ 200-300 ลิตร/ต้น/วัน

          แต่จากการที่ปริมาณน้ำฝนมีแนวโน้มลดลงจากเอลนีโญในปลายปีนี้ ตรงกับช่วงระยะการเจริญเติบโตของผลทุเรียน ภาคตะวันออกพอดี คือตั้งแต่เดือน พ.ย.ปีนี้ ถึง ก.พ.2567 ดังนั้น ผลกระทบย่อมเกิดขึ้น กับชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออกอย่าง หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งผลผลิตที่จะลดลง และผลทุเรียนที่จะมีขนาดเล็ก ไม่ได้มาตรฐาน ขาดความสมบูรณ์

          เหตุผลเกิดจากในกระบวนการสังเคราะห์แสง ปากใบพืช (Stomata) จะเปิดเพื่อ คายน้ำ แลกเปลี่ยนก๊าซ CO2 และ O2 น้ำจะถูกดูดผ่านรากขึ้นไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของ ต้นพร้อมกับธาตุอาหาร ตามที่งานศึกษาของ รศ.ดร.พงศ์เทพ อัครธนกุล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้อธิบายไว้

          อย่างไรก็ดี เมื่อสภาพอากาศร้อนจัด พืชมีกลไกอัตโนมัติในการป้องกันการ สูญเสียน้ำ ด้วยการปิดปากใบ ทำให้ไม่เกิด การสังเคราะห์แสง ไม่ดูดน้ำและธาตุอาหารขึ้นไป ต่อให้ดินชุ่มฉ่ำน้ำ หรือให้น้ำมาก แค่ไหนก็เป็นการให้น้ำเกินจำเป็นอย่างเปล่าประโยชน์

          ปรากฏการณ์เอลนีโญนี้ไม่ได้ส่ง ผลกระทบเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเท่านั้น ภาคอื่นก็อาจโดนผลกระทบเช่นกัน เช่น ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ทุเรียนลับแลอุตรดิตถ์ ทุเรียนป่าละอู เป็นต้น เพราะมีการ ขยายพื้นที่ปลูกไปทั่วประเทศ รวมไปถึงทุเรียนภาคใต้ที่แม้ว่าช่วงออกดอกจะเริ่มช้ากว่า ก็ตาม โดยจะโดนผลกระทบช่วงออกดอก เดือน มี.ค.-เม.ย.2567

          จากการลงพื้นที่สัมภาษณ์เจ้าพนักงานสถิติชำนาญงาน ผู้สำรวจพื้นที่เพาะปลูกจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 พบว่าพื้นที่ปลูกทุเรียนภาคใต้แทบทั้งหมดอยู่นอกเขตชลประทาน ซึ่งจะยิ่งเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำในช่วงแห้งแล้ง ความน่ากังวลต่อการขาดแคลนน้ำใน การเพาะปลูกทุเรียน ยังมีอีกปัจจัยสำคัญ จะขออธิบายต่อในครั้งหน้าพร้อมข้อเสนอสำหรับภาครัฐในการเร่งสนับสนุนภาคเกษตรไทยรับมือกับภาวะขาดแคลนน้ำได้อย่างยั่งยืน

          ปัญหาการขาดแคลนน้ำของเกษตรกรที่ปลูกทุเรียน ยังจะมีปัจจัยมาจากการทำเกษตรในพื้นที่นอกเขตชลประทาน หรือพื้นที่ป่า เช่น ใน จ.กาญจนบุรี และยังมีแนวโน้มขยายพื้นที่ปลูกอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ การปลูกทุเรียนในพื้นที่เหล่านี้ต้องอาศัยการส่งน้ำผ่านรถขนส่งน้ำที่สูบจากแหล่งน้ำต่างๆ ทำให้เกิดการแย่งชิงน้ำจากทั้งผู้ใช้น้ำเก่าและใหม่

          เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับ “ทุเรียนป่าละอู” ในพื้นที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เกษตรกรเชื่อว่าสาเหตุที่ทำให้น้ำน้อย เป็นเพราะการเปลี่ยนทิศทางผันน้ำเพื่อการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำป่าละอู แม้กรมชลประทานได้แก้ไขโดยการผันน้ำ แต่ผู้ที่อยู่ต้นน้ำได้ผันน้ำและใช้อย่างฟุ่มเฟือย มีผู้ใช้น้ำรายใหญ่ดึงน้ำไปใช้ระหว่างทาง ทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลไปถึงเกษตรกรที่ปลูกทุเรียน ไม่เพียงพอกับความต้องการเช่นเดิม (รายการร้องทุก(ข์) ลงป้ายนี้, 11 เม.ย.66)

          แล้วปัญหานี้จะแก้ไขได้อย่างไร? ทางออกคือ ภาครัฐควรส่งเสริม สนับสนุน และเผยแพร่นวัตกรรมการเพาะปลูกทุเรียนที่ใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพในวงกว้างอย่างเป็นรูปธรรม ครบวงจร และต่อเนื่อง เช่น เทคนิคการปลูกแบบลดการใช้น้ำ

          ก่อนหน้านี้มีการทดลองของ ดร.ทรงศักดิ์ ภัทราวุฒชัย อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่า การปลูกทุเรียนไม่จำเป็นต้องให้น้ำในปริมาณมากตามความเข้าใจของเกษตรกร เช่น ก.พ.-เม.ย. ชาวสวนนิยมให้น้ำมากถึง 200-300 ลิตร/ต้น/วัน แต่การทดลองพบว่า สามารถให้น้ำเพียง 150 ลิตร ปริมาณและคุณภาพผลผลิตไม่แตกต่างกัน

          ในสภาวะแล้งนี้ นักการเกษตรให้ ข้อแนะนำว่า เกษตรกรควรให้น้ำแค่พอ ชุ่มชื้นต่อการเลี้ยงระบบรากให้มีชีวิต เพื่อรอ สภาวะที่เหมาะสมต่อไป ต่อให้ใช้น้ำมาก แค่ไหน แต่ด้วยข้อจำกัดของสภาพอากาศร้อน และแห้ง ปากใบไม่เปิด ย่อมส่งผลต่อคุณภาพผลผลิตทุเรียน หรือในสภาวะที่พืชเครียด ถ้าจัดการลดจำนวนดอกที่ติดผล ปลิดออก ภาระในการเลี้ยงดูของต้นก็น้อยลง

          จึงต้องมีฝ่ายวิชาการเข้าไปศึกษาเรื่องนี้โดยตรง ว่าในช่วงแล้งแต่ละระดับ ควรมีการตัดจำนวนดอกที่ติดผลเท่าไร ถึงจะลดผลกระทบจากภาวะแล้ง โดยที่สามารถรักษาสมดุลระหว่างปริมาณและคุณภาพผลผลิตทุเรียนให้มากที่สุดได้

          นอกจากนี้ควรสร้างระบบพี่เลี้ยงจากเจ้าหน้าที่รัฐ หรือร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในการถ่ายทอดองค์ความรู้แนวทางการปลูก ทุเรียนที่ใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และการจำกัดปริมาณดอกที่ติดผล พร้อมการติดตามช่วยแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิดในแปลงทดลองจริง จนเกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่เพียงแค่จัดการอบรมทางทฤษฎี ที่เน้นนับจำนวนผู้เข้าร่วม แต่เกษตรกรไม่สามารถนำไปใช้ได้จริง เกิดการสูญเปล่าของงบประมาณแผ่นดิน

          ขณะเดียวกัน ในพื้นที่ชลประทานและใกล้เคียง ภาครัฐต้องสนับสนุนการรวมกลุ่ม ของเกษตรกรให้เข้มแข็ง และสร้างกลไก การเจรจาต่อรองระหว่างกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อลดความขัดแย้ง รวมถึงการลงทุนเทคโนโลยีระบบการจัดสรรน้ำและการตรวจสอบปริมาณการสูบน้ำที่มีความแม่นยำ เช่น กรมชลประทานและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ร่วมมือกันจัดสรรงบประมาณเพื่อสร้างท่อส่งน้ำที่มีมาตรวัดน้ำคุณภาพดี

          พร้อมกับสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบำรุงรักษาแหล่งน้ำ ผ่านการเก็บค่าใช้น้ำที่ให้อำนาจกลุ่มผู้ใช้น้ำ ร่วมกับ อปท.เป็นผู้จัดเก็บค่าใช้น้ำ เพื่อนำมาใช้บำรุงรักษาแหล่งน้ำและท่อส่งน้ำภายในพื้นที่ตนเอง

          เหล่านี้คือตัวอย่างความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการปรับตัว เพื่อรับมือกับสภาวะภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป และมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ

บทความโดย สุทธิภัทร ราชคม นักวิจัยทีม นโยบายเกษตรสมัยใหม่

เผยแพร่ครั้งแรก ในนสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 24 และ 24 พ.ย. 2566