‘เงินตกค้าง’ ในตลาดทุน และ ต้นทุนค่าเสียโอกาส

ในแต่ละปีตลาดทุนไทยมียอดเงินตกค้างที่ไม่สามารถติดต่อนักลงทุนเจ้าของเงินได้เป็นจำนวนมาก เฉพาะเงินปันผลจากหุ้นที่ตกค้างอยู่กับศูนย์รับฝากหลักทรัพย์(TSD)ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามียอดสะสมอย่างน้อย 764 ล้านบาท         

นอกจากเงินก้อนนี้แล้วยังมีเงินตกค้างหลังการชำระบัญชีของกองทุนรวมที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) ไม่สามารถติดต่อผู้ถือหน่วยลงทุนได้และถูกเก็บรักษาไว้ที่กรมบังคับคดี โดยที่กรมบังคับคดียังไม่สามารถระบุได้ว่ามีมูลค่ารวมสูงเท่าไร

คำถามที่น่าสนใจมีอยู่ว่า เงินตกค้างเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร สร้างต้นทุนอย่างไรบ้างต่อตลาดทุน และควรจัดการอย่างไรให้เกิดประโยชน์แทนที่จะให้เงินดังกล่าวถูกปล่อยทิ้งไว้

เงินตกค้างในตลาดทุนเกิดจากการที่เจ้าของเงินไม่มารับเงินคืนหรือไม่สามารถติดต่อได้เป็นเวลานานคล้ายกับเงินฝากในสถาบันการเงินที่ไม่มีการเคลื่อนไหวเป็นเวลานาน และเงินกรมธรรม์ประกันชีวิตตกค้าง(เงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ)ที่กองทุนประกันชีวิต แม้จะมีความแตกต่างในรายละเอียดอยู่บ้าง เช่น ในกรณีการจ่ายเงินปันผลจากหุ้นที่นักลงทุนจำนวนมากไม่นำเช็คไปขึ้นเงินโดยเห็นว่ายอดเงินปันผลน้อยไม่คุ้มค่าต่อการเสียเวลาเดินทางไปธนาคาร อีกกรณีที่พบมากคือเช็คที่ส่งไปทางไปรษณีย์ถูกตีกลับ

เงินตกค้างก้อนนี้เป็นเงินตกค้างที่ “นอนอยู่เฉยๆ” ไม่มีการนำไปหาประโยชน์ต่อ ทำให้เกิด “ต้นทุนค่าเสียโอกาส” ซึ่งเป็นหลักคิดที่นักลงทุนตระหนักอยู่เสมอ หากคำนวณอย่างง่ายโดยใช้ผลตอบแทนจากพันธบัตรรัฐบาลอายุ 1 ปี ในปี 2565 ที่ 1.43% ต้นทุนค่าเสียโอกาสของเงินปันผลจากหุ้นตกค้างสะสม 764 ล้านบาทจะอยู่ที่ 11 ล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้ เงินตกค้างยังเป็นภาระกับ TSD บริษัทจดทะเบียน และ บลจ.ที่มีต้นทุนดูแลรักษาบัญชีทุกปีโดยไม่จำเป็น เฉพาะกรณีของ TSD เพียงรายเดียวมีค่าใช้จ่ายดูแลเงินปันผลจากหุ้นตกค้าง 1.6 ล้านบาทต่อปี บริษัทจดทะเบียนแต่ละรายมีต้นทุนกระทบยอดบัญชีโดยเฉลี่ยอย่างน้อย 2 แสนบาทต่อปี ส่วนบลจ.ต้องเสียค่าธรรมเนียมวางทรัพย์ให้แก่กรมบังคับคดี 2,000 บาทต่อบัญชี

ทางออกเพื่อจัดการเงินตกค้างนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดไม่ใช่เรื่องซับซ้อนมากนัก เพียงแต่ในปัจจุบัน TSD บริษัทจดทะเบียน และ บลจ.ยังไม่มีอำนาจตามกฎระเบียบใดให้สามารถจัดการเงินก้อนนี้ได้ หากสำนักงานก.ล.ต.จะพิจารณาออกเกณฑ์เพื่อจัดการเงินปันผลจากหุ้นตกค้างและเสนอแก้ไขประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนเกี่ยวกับการชำระบัญชีของกองทุนรวมจะทำให้บริษัทจดทะเบียนและบลจ.มีแนวทางชัดเจนในเรื่องนี้มากขึ้น

ทั้งนี้เกณฑ์การจัดการเงินตกค้างจำเป็นต้องตอบโจทย์สำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่ มีนิยามของเงินตกค้างที่ชัดเจน มีหน่วยงานที่มีความสามารถบริหารเงินตกค้างให้ได้ผลตอบแทนที่เหมาะสม และมีช่องทางให้นักลงทุนหรือญาติใช้สิทธิขอเงินต้นคืน ตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น มาเลเซียและออสเตรเลียกำหนดว่าเงินหรือผลประโยชน์ต่างๆที่ไม่สามารถติดต่อนักลงทุนได้มากกว่า 5-10 ปี มีแนวโน้มจะเป็นเงินตกค้างอยู่ในตลาดทุนไปอีกนาน รัฐบาลจึงออกกฎหมาย Unclaimed Moneys Act ให้มีการโอนเงินไปฝากไว้กับกระทรวงการคลังเพื่อรอเจ้าของเงินหรือญาติมาขอคืนเงินต้น

สำหรับเกณฑ์การจัดการเงินตกค้างกรณีของประเทศไทย จึงควรมีการกำหนดให้บริษัทจดทะเบียนและบลจ.เก็บรักษาเงินตกค้างไว้เพียง 5 ปี โดยอาจมีการหักค่าธรรมเนียมดูแลรักษาบัญชีได้ตามสมควร หลังจากนั้นให้โอนเงินตกค้างไปให้กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF)เป็นผู้เก็บรักษาและนำเงินก้อนนี้ไปหาผลตอบแทนที่เหมาะสม

ผู้อ่านคงมีคำถามว่า ทำไมต้องเป็น CMDF และไม่ใช่กระทรวงการคลังตามอย่างต่างประเทศ หรืออย่างที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเคยเสนอร่างพ.ร.บ.การบริหารจัดการบัญชีเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหวของสถาบันการเงิน การโยกย้ายเงินของนักลงทุนไปจัดเก็บไว้และหาผลตอบแทนเป็นประเด็นอ่อนไหวทางสังคมว่าเป็นการยึดและนำเงินประชาชนไปหาประโยชน์หรือไม่ การออกแบบวิธีการบริหารเงินก้อนนี้จึงสำคัญเช่นกัน ซึ่ง CMDF เป็นหน่วยงานที่มีพันธกิจพัฒนาตลาดทุนโดยตรงและมีศักยภาพบริหารเงินทุนจึงมีบทบาทเหมาะสมที่จะรับเงินตกค้างไปหาผลตอบแทนเพื่อนำกลับมาพัฒนาตลาดทุนต่อไป ข้อเสนอนี้มีแนวทางการจัดการคล้ายกับการโอนเงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความไปรักษาไว้ที่กองทุนประกันชีวิต

นอกจากนี้ CMDF ยังประสานงานใกล้ชิดกับตลาดหลักทรัพย์ฯ และ TSD จึงสามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ นักลงทุนในการติดต่อเพื่อขอรับเงินตกค้างคืนได้ ในขณะที่การโอนเงินตกค้างไปไว้กับหน่วยงานอื่น เช่น กระทรวงการคลังอาจมีความเสี่ยงที่จะถูกตั้งคำถามว่ารัฐจะยึดเงินประชาชนหรือไม่ อันเป็นประเด็นร้อนแรงที่เกิดขึ้นในอดีต อีกทั้งกฎระเบียบของราชการที่เคร่งครัดอาจทำให้กระทรวงการคลังไม่สามารถนำเงินตกค้างไปหาผลตอบแทนได้สูงกว่าการซื้อพันธบัตรรัฐบาลซึ่งอาจไม่เพียงพอแม้แต่จะครอบคลุมต้นทุนการดูแลรักษาเงินตกค้าง

นอกจากการเปิดทางให้จัดการเงินตกค้างได้แล้ว การปรับปรุงวิธีการจ่ายเงินต่างๆแก่นักลงทุนโดยให้จ่ายผ่านระบบการโอนเงินออนไลน์เพียงอย่างเดียว เช่น ระบบ E-Dividend และยกเลิกทางเลือกสั่งจ่ายเงินผ่านทางเช็คหรือดราฟต์จะช่วยลดปัญหาติดต่อนักลงทุนไม่ได้และลดต้นทุนการโอนเงินได้มาก

โดยสรุปแล้ว เงินตกค้างในตลาดทุนเป็นเงินก้อนหนึ่งที่เป็นตัวชี้วัดให้เห็นความไม่มีประสิทธิภาพในการจัดการเงินให้ได้ผลตอบแทนสูงสุดและต้นทุนค่าเสียโอกาสต่อตลาดทุน จึงถึงเวลาที่สำนักงานก.ล.ต.จะพิจารณาออกกฎระเบียบเพื่อเปิดทางให้มีการนำเงินก้อนนี้ไปหาผลตอบแทนที่สูงกว่าการปล่อยให้เงิน “นอนไว้เฉยๆ” เพื่อนำผลตอบแทนมาพัฒนาตลาดทุนต่อไป ที่สำคัญคือเจ้าของเงินยังต้องมีสิทธิขอรับเงินต้นคืนได้เสมอ

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดบทความการกิโยตินกฎหมายตลาดทุน ภายใต้ “โครงการศึกษาวิเคราะห์ ทบทวน กฎ ระเบียบ ประกาศ และข้อบังคับที่เกี่ยวกับ การอนุญาตและการดำเนินการอื่นนอกเหนือ จากการอนุญาตเพื่อลดขั้นตอนหรือการดำเนินการที่ไม่จำเป็นหรือเป็นอุปสรรค ต่อการประกอบธุรกิจในตลาดทุนไทย” ซึ่งอยู่ ระหว่างการวิจัย โดย ทีดีอาร์ไอ และการสนับสนุนจาก CMDF

บทความโดย :  ธนภูมิ ไชยศิริ ,  ธิปไตร แสละวงศ์

เผยแพร่ครั้งแรก : นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 14 ธ.ค. 2566