ทีดีอาร์ไอ ชี้ ผลสอบ PISA ส่งสัญญาณเตือนระบบการศึกษาไทยมีปัญหา ทำคนไทยไม่พร้อมรับมือโลกที่เปลี่ยนแปลง 

ทีดีอาร์ไอ ชี้ ผลสอบ PISA ส่งสัญญาณเตือนระบบการศึกษาไทยมีปัญหา ทำคนไทยไม่พร้อมรับมือโลกที่เปลี่ยนแปลง ไทยลงทุนสูงแต่ได้ผลลัพธ์ต่ำ ห่วงหลักสูตรล้าหลัง เน้นท่องจำ ประยุกต์ใช้จริงไม่ได้ ซ้ำบริหารงบ-คน ไร้ประสิทธิภาพ ครูแบกภาระงานมาก ย้ำต้องยกเครื่อง-ปรับใหญ่ทั้งระบบ แนะทางแก้ปัญหา 3 ระยะ ชง รัฐ-ศธ. คลอดหลักสูตรใหม่ในรัฐบาลชุดนี้ 

เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดแถลงข่าวเรื่อง “ผลสอบ PISA สัญญาณเตือน วิกฤตการศึกษา แก้ปัญหาให้ถูกจุด” หลังจากผลประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) ล่าสุดปี 2022 พบว่า นักเรียนไทยอายุ 15 ปี คะแนนลดต่ำลงในทุกด้านทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน โดยนายพงศ์ทัศ วนิชานันท์ นักวิจัยอาวุโส ทีมนโยบายด้านการปฏิรูปการศึกษา ทีดีอาร์ไอ ระบุว่า สาเหตุหลักของปัญหาที่ทำให้ผลการประเมินPISA ของไทยลดลงต่อเนื่องนั้น มาจากการระบบศึกษาของไทยที่อ่อนแอ แม้ครั้งนี้จะมีส่วนจากการปิดโรงเรียนจากการแพร่ระบาดของโควิด -19 แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็เกิดขึ้นทั่วโลก และเมื่อเปรียบเทียบกับหลายประเทศ ผลการเรียนของไทยตกต่ำลงมากกว่า ดังนั้นปัญหาหลักจึงอยู่ที่ระบบการศึกษาที่ไม่เข้มแข็งนั่นเอง

หลักสูตรเก่าใช้นาน 15 ปี เน้นท่องจำ ทำนร.ไทยไม่ทันโลก

นายพงศ์ทัศ ระบุว่า มี 2 สาเหตุหลักที่ทำให้การศึกษาไทยไม่เข้มแข็ง  หนึ่งคือ หลักสูตรของไทยล้าสมัย มีการใช้มาตั้งแต่ปี 2551 หรือ 15 ปีมาแล้ว และแม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการปรับหลักสูตรอยู่บ้าง แต่เป็นการปรับเล็กในบางวิชาเท่านั้น ซึ่งในภาพรวมหลักสูตรไทยยังไม่มุ่งให้เด็กนำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริงได้ เพราะการที่เด็กจะมีสมรรถนะในการประยุกต์ใช้นั้น จำเป็นต้องมีความรู้ ทักษะ และทัศนคติที่เหมาะสม ไปพร้อมๆกัน  เช่น การจะสื่อสารภาษาอังกฤษได้ จะต้องรู้คำศัพท์ โครงสร้างประโยค ทักษะการออกเสียง และมีทัศนคติในการกล้าสื่อสาร โดยได้รับการฝึกฝนในสถานการณ์ใกล้เคียงกับสถานการณ์จริง แต่หลักสูตรของไทยมุ่งเน้นไปที่การให้ความรู้ผ่านการจดจำ ในขณะที่การทดสอบของ PISA เน้นนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการแก้ปัญหาในชีวิตจริง

“ความรู้ที่เรามีส่วนใหญ่เน้นไปที่การท่องจำ ยังไม่เรียกร้องว่าต้องวิเคราะห์ได้ ประเมินคุณค่าและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้ ซึ่งล้วนเป็นทักษะที่จำเป็นในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นจะต้องมีการปรับหลักสูตรให้ทันสมัยมากขึ้น และส่งเสริมให้นักเรียนคิดขั้นสูงหรือนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงมากขึ้น เพราะหลักสูตรเป็นต้นทางของการปฏิรูปทั้งหมด” นายพงศ์ทัศระบุ 

นักวิจัยทีดีอาร์ไอ ยังพบด้วยว่าการใช้หลักสูตรของไทยไม่มีความยืดหยุ่นเท่าที่ควร แม้ว่ากระทรวงศึกษาธิการจะให้โรงเรียนสามารถนำหลักสูตรแกนกลางไปปรับเพื่อให้เข้ากับบริบทได้ แต่ในทางปฏิบัติครูยังไม่กล้าทำสิ่งใหม่ ยังทำตามสิ่งที่เคยทำมา อีกทั้งยังมีการกำหนดโครงสร้างเวลาเรียน ทำให้โรงเรียนต้องทำหลักสูตรตามที่สาระวิชาได้กำหนดเอาไว้  

จัดการทรัพยากรไม่มีประสิทธิภาพ-ครูมีภาระงานอื่นทำสอนไม่เต็มที่

นายพงศ์ทัศ ระบุว่า จุดอ่อนสำคัญอีกประการหนึ่งคือการบริหารทรัพยากร ทั้งด้านคนโดยเฉพาะครู และ งบประมาณ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีรายได้ใกล้เคียงกัน ถือว่าไทยลงทุนทรัพยากรด้านการศึกษาค่อนข้างสูง แต่ผลลัพธ์ยังไม่ดี ซ้ำยังลดลงเรื่อยๆ สะท้อนว่าการบริหารจัดการมีประสิทธิภาพต่ำ  อีกทั้งโรงเรียนยังไม่มีอิสระในการจัดการทรัพยากรด้วยตัวเอง  ในส่วนเรื่องของคน หรือครูนั้น พบว่า โรงเรียนยังขาดแคลนครู โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็ก มีปัญหาครูไม่ครบชั้น ซึ่งสอดรับกับผลคะแนนของ PISA  ที่บ่งชี้ว่า โรงเรียนที่มีครูเพียงพอจะมีผลสัมฤทธิ์ที่ดีกว่า นอกจากนี้ในปัจจุบันครูต้องแบกรับงานธุรการที่นอกเหนือไปจากการสอนมาก ทำให้ไม่สามารถโฟกัสกับการสอนได้  ซึ่งจากการที่ทีดีอาร์ไอได้ลงพื้นที่สำรวจความเห็นครูใน 8 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่า ครูต้องทำงานนอกเหนือจากการสอนจำนวนมาก โดยภาระงานที่ครูรู้สึกว่าเป็นปัญหามากที่สุด คือการรายงานผลที่กระทรวงศึกษาธิการ หรือ หน่วยงานต่างๆ มอบหมายให้โรงเรียนทำ  ส่งผลให้ครูสอนนักเรียนได้ไม่เต็มที่

แนะถอดโมเดล “สิงคโปร์ -ฟินแลนด์” ต้นแบบระบบการศึกษาที่ดี

นายพงศ์ทัศ ระบุด้วยว่า เมื่อไปดูผลลัพธ์การศึกษาของประเทศที่ได้ผลประเมินของ PISAในเกณฑ์ดี อย่างสิงคโปร์ และฟินแลนด์นั้น เห็นว่าประเทศไทยสามารถเรียนรู้ระบบการศึกษาที่ดีจากประเทศเหล่านี้ได้ เช่น สิงคโปร์มีความโดดเด่นในเรื่องของการพัฒนาครู โดยได้ให้ความสำคัญกับการผลิตครูอย่างมาก มีเกณฑ์การคัดเลือกค่อนข้างสูง ครูได้รับค่าตอบแทนที่สูงและได้รับการพัฒนาต่อเนื่อง จึงทำให้ครูของสิงคโปร์มีคุณภาพ ส่วนฟินแลนด์ มีความน่าสนใจด้านหลักสูตร ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เน้นสร้างสมรรถนะ โดยพยายามให้นักเรียนได้เรียนจากสถานการณ์จริง และเกิดการเรียนรู้แบบข้ามศาสตร์ และให้ความสนใจโลกใหม่ เช่น นาโนเทคโนโลยี ทำให้นักเรียนได้เรียนในสิ่งที่ทันโลกทันเหตุการณ์ 

ยกเครื่องทั้งระบบ แนะ รัฐ-ศธ.ส่งสัญญาณปรับหลักสูตรทันที 

นายพงศ์ทัศ เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาว่า ไทยควรยกเครื่องการศึกษาใหม่ ปรับใหญ่ทั้งระบบ ทั้งหลักสูตร การใช้ทรัพยากร และการผลิตครู โดยแบ่งได้เป็น 3 ระยะคือ ระยะแรก ซึ่งทำได้ทันที คือการลดภาระงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสอนของครูให้เหลือน้อยที่สุด  ระยะที่สอง รัฐบาลควรปรับหลักสูตรการศึกษาให้เสร็จสิ้นภายใน 3 ปี หรือภายในวาระของรัฐบาล โดยเมื่อปรับหลักสูตรแล้ว ก็จำเป็นต้องออกแบบให้องค์ประกอบอื่นของระบบการศึกษามีความสอดคล้องกันด้วย ทั้งการผลิตและพัฒนาครู ตลอดจนการสอบและประเมินผล 

“ต้องคิดรวมไปถึงการจัดสรรทรัพยากรอย่างไรให้สามารถตอบโจทย์การสร้างสมรรถนะใหม่ๆ มีระบบประกันคุณภาพ โดยหลักสูตรใหม่ควรผ่านการทดลองใช้ในพื้นที่นำร่อง ก่อนที่จะนำมาใช้ทั้งประเทศ เพื่อจะดูว่าติดขัดอย่างไรในการนำไปใช้จริง เพื่อป้องกันผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์จากการทดลองใช้หลักสูตรใหม่”นักวิจัยทีดีอาร์ไอกล่าว

สำหรับในระยะที่สาม ซึ่งต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหานานนั้น นายพงศ์ทัศ ระบุว่า อาจจะเริ่มต้นจากข้อเสนอของธนาคารโลก  ในการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก เช่น การควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กและพัฒนาเครือข่ายโรงเรียนที่อยู่ใกล้กัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรและการเรียนการสอน ส่วนโรงเรียนที่ไม่สามารถที่จะควบรวมหรือพัฒนาเป็นเครือข่ายได้ เช่น โรงเรียนที่อยู่ห่างไกล จำเป็นต้องคงอยู่และมีการจัดสรรงบเพิ่มเพื่อให้มีทรัพยากรที่เพียงพอในการจัดการศึกษา

“ดร.สมเกียรติ” ห่วงปัญหารากฐาน ถ้าไม่เร่งแก้ไทยจะห่างจากโลกทุกขณะ 

ด้านดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ ระบุว่า แม้โควิด-19 จะเป็นสาเหตุที่ทำให้ระบบการศึกษาไทยอ่อนแอลง แต่ในความเป็นจริง ระบบการศึกษาไทยอ่อนแอมานานแล้ว ผลประเมิน PISA ชี้ให้เห็นมาโดยตลอด 20 ปีว่าการศึกษาไทยมีปัญหาระดับรากฐาน ซึ่งหากไม่มีการแก้ไขครั้งใหญ่ประเทศไทยจะไม่สามารถก้าวเดินเป็นประเทศพัฒนาได้ และคนไทยจะไม่มีทักษะพอที่จะใช้ชีวิตอยู่ในศตวรรษที่21 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีทั้งความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายในโลก ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่จะเข้ามาทดแทนมนุษย์อย่างปัญญาประดิษฐ์  หรือหุ่นยนต์ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่จะทำให้คนต้องปรับตัวมากมาย ดังนั้นหากไม่มีการแก้ไขจะทำให้ไทยยิ่งตกขบวนในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงในโลกมากขึ้นไปเรื่อยๆ