นักวิชาการ TDRI ลงพื้นที่สำรวจข้อดีข้อเสีย ชี้ควรมีกลไกการสร้างเสริมสุขภาพเพื่อคุ้มครองประชาชนจากการปลดล็อก “กัญชา”
ภายหลังจากที่ภาครัฐได้ปลดล็อก “กัญชา” ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ทำให้ส่วนต่างๆ ของพืชกัญชา ได้แก่ ช่อดอก จนถึง ลำต้น เส้นใย ราก ใบ ไม่มีสถานะเป็นยาเสพติดอีกต่อไป ยกเว้นการสกัดจากกัญชาที่มีปริมาณเตตราไฮโดรแคนนาบินอล หรือ THC ที่เกิน 0.2% ที่จะยังคงถือว่าเป็นยาเสพติด
ผู้เขียน ลงพื้นที่สำรวจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น พบว่า ข้อดีของการปลดล็อกกัญชา คือ ผู้ป่วยที่ต้องการใช้ช่อดอกกัญชาในการรักษาโรค สามารถเข้าถึงการรักษาได้ดีมากยิ่งขึ้น เนื่องจากทุกบ้านสามารถที่จะปลูกเองได้โดยไม่ต้องจดแจ้ง (ข้อมูลจากการสัมภาษณ์) ในขณะเดียวกัน ภาคธุรกิจสามารถใช้ส่วนต่างๆ ของพืชกัญชามาผสมเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทำให้เกิดสินค้าที่ส่วนประกอบของกัญชาจำนวนมาก ทั้งที่เป็นสินค้าอุปโภค และสินค้าบริโภค เช่นผงปรุงอาหาร น้ำกัญชาสกัดเข้มข้น รวมถึง สบู่ แชมพูสระผม หน้ากากบำรุงผิวพรรณ
นอกจากนี้ ผู้เขียนยังพบว่ามีการเติบโตขึ้นของธุรกิจกัญชาเพื่อการสันทนาการเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งร้านเหล่านี้มักจะเน้นการเสพเพื่อให้เกิดอาการเมา หรือ อาการ High ซึ่งถือว่าเป็นการทำธุรกิจในลักษณะที่ก้ำกึ่ง กล่าวคือ ในด้านหนึ่ง สารสกัดจากดอกกัญชาที่ใช้มักจะเกิน 0.2% ซึ่งทำให้กระบวนการสกัดเข้าข่ายที่จะต้องถูกพิจารณาอนุมัติโดยภาครัฐ แต่ในทางปฏิบัติจะเป็นการยื่นขอเพื่อสกัดใช้ในทางการแพทย์ และสามารถส่งผลิตภัณฑ์ไปยังร้านกัญชาเพื่อการสันทนาการเหล่านี้ได้โดยอ้างว่าเป็นการรักษาโรค เช่น โรคนอนไม่หลับ โรคสมาธิสั้น เป็นต้น
ปัจจุบัน คณะผู้วิจัยพบว่ามีร้านค้าที่ลงทะเบียนในเว็ปไซต์ weed.in.th ซึ่งเป็นเว็ปไซต์ที่ให้ข้อมูลร้านค้าที่ขายกัญชาและผลิตภัณฑ์กว่า 6,250 ร้าน แต่หากเปรียบเทียบข้อมูลร้านค้าที่สำรวจในระดับพื้นที่จริง คณะผู้วิจัย พบว่าจำนวนร้านค้าที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจจะมากกว่าที่ลงทะเบียนไว้ถึง 3 เท่า! นั่นหมายถึง มีร้านค้ากัญชาที่อยู่ในประเทศไทยอาจจะมากถึงระดับหลักหมื่นร้านค้าเลยทีเดียว
ในด้านหนึ่ง ร้านค้าเหล่านี้เป็นตัวสะท้อนขนาดของเศรษฐกิจกัญชาที่เติบโตขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งการมีร้านค้าจำนวนมากย่อมส่งผลกระทบทางด้านสังคมต่อประชาชนโดยทั่วๆ ไปมากขึ้นเช่นเดียวกัน และจากข้อมูลสำรวจของคณะผู้วิจัยพบว่า ร้านค้าเหล่านี้จำนวนมากมีเจ้าของเป็นคนต่างชาติ จึงทำให้ผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจบางส่วนไม่ได้ตกอยู่กับคนไทยแต่อย่างใด
ในส่วนของผลกระทบทางด้านสังคม ผู้เขียนพบว่ามีประเด็นปัญหาทางด้านสังคมอย่างน้อย 4 ประเด็นที่น่ากังวลใจได้แก่
หนึ่ง ปัญหาเยาวชนใช้ผลิตภัณฑ์กัญชา ซึ่งพบว่าการใช้กัญชาในหมู่เยาวชนอาจจะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของสมอง จึงควรที่จะต้องมีกลไกการป้องกันไม่ให้เยาวชนซึ่งมีความอยากทดลองเข้ามาใช้
สอง ปัญหาคุณภาพของกัญชา ซึ่งพบว่าในปัจจุบันการปลูกกัญชาที่ทำได้อย่างเสรี ทำให้เกิดกัญชาที่มีคุณภาพต่ำมากยิ่งขึ้น กัญชาที่มีคุณภาพต่ำจากกระบวนการผลิตจะมีความเสี่ยงที่จะปกเปื้อนสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้
สาม ปัญหาการใช้กัญชาผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งพบว่าการใช้กัญชาที่มีคุณภาพมักจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและต่อสังคมในระดับที่ต่ำกว่า การใช้กัญชาร่วมกับการดื่มสุรา การเสพยาบ้า หรือ การผสมเห็ดเมา ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการคลุ้มคลั่ง จิตหลอน มากกว่าปกติ
สี่ ปัญหากัญชาที่ก่อความรำคาญกับผู้อื่น ซึ่งเกิดขึ้นได้ตั้งแต่กระบวนการผลิต ไปจนถึงกลิ่นควันจากการเสพกัญชาที่ส่งผลกระทบต่อเพื่อนบ้าน
กล่าวโดยสรุป ผู้เขียนพบว่าการปลดล็อกกัญชา ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับกัญชามีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งในด้านหนึ่งก็เป็นประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ และมีประโยชน์ทำให้ผู้ที่ต้องการใช้กัญชาเพื่อการักษาสามารถเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลกระทบทางด้านสังคมก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
ผู้เขียนจึงอยากเสนอให้มีการพัฒนากลไกการสร้างเสริมสุขภาพเพื่อคุ้มครองประชาชนจากการปลดล็อก “กัญชา” เพื่อที่จะทำให้ประเทศได้รับประโยชน์จากกัญชามากที่สุด ในขณะเดียวกันก็ลดทอนผลกระทบที่เกิดขึ้นทางสังคมให้ลดน้อยลงให้ได้มากที่สุด
บทความโดย : ดร. นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส ทีมนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวมและเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ ทีดีอาร์ไอ
ข้อเขียนนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาองค์ความรู้ทางด้านเศรษฐกิจเพื่อรองรับการปลดล็อกกัญชาของภาครัฐ: ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ด้านกฎหมาย และภาษีสรรพสามิต ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
เผยแพร่ครั้งแรก : เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 23 พฤศจิกายน 2556