ผลิตภัณฑ์กัญชากับความเสี่ยงทางสุขภาพ

หลังจากรัฐบาล ปลดล็อก “กัญชง- กัญชา” ทำให้ประชาชนสามารถปลูกพืชนี้ได้ในครัวเรือน และเชิงพาณิชย์ได้ แต่รู้หรือไม่ว่าหากใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไปอาจมีความเสี่ยงและเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้

แม้ว่า “กัญชา” จะเป็นคำเพียงคำเดียว แต่เมื่อพิจารณาในแง่ของผลิตภัณฑ์ที่ใช้กัญชาเป็นส่วนประกอบจะพบว่าผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง สามารถจำแนกออกได้เป็นกลุ่มย่อยๆ แยกตามความเสี่ยง ได้ดังนี้

1.กัญชง และกัญชาในผลิตภัณฑ์ของใช้และการดูแลสุขภาพ

ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มของใช้และการดูแลสุขภาพเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการนำเอาส่วนประกอบของกัญชงหรือกัญชามาใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิต ซี่งมักจะมีการใช้สาร CBD และมีสาร THC ที่ต่ำมาก (น้อยกว่า 0.2%) จึงมีแนวโน้มที่จะมีความเสี่ยงต่ำในแง่ของการเป็นสารเสพติด

อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงจากการใช้ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ ยังคงมีอยู่และจะเป็นเรื่องของการแพ้ผลิตภัณฑ์ในลักษณะเดียวกับคนที่แพ้อาหารทะเล แพ้น้ำตาลแลคโตส เป็นต้น ซึ่งเป็นความแพ้ที่เกิดขึ้นเฉพาะบุคคล

2.ผลิตภัณฑ์กัญชาที่ใช้ในการรักษาทางการแพทย์

ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้จะถูกผลิตขึ้นโดยสูตรที่เฉพาะและได้รับรองทางการแพทย์เพื่อใช้ในการรักษาโรค เช่น น้ำมันกัญชาที่ใช้หยอดใต้ลิ้น หรือกลุ่มยาตำรับกัญชา เช่น น้ำมันนวด สเปรย์ ยาหม่อง (ผู้เขียนแยกการเสพดอกกัญชาออกเป็นอีกหนึ่งหมวดต่างหาก)

แม้ว่าผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้จะถูกควบคุมโดยเข้มงวดเพราะเป็นการใช้งานในทางการแพทย์ แต่ในปัจจุบัน สรรพคุณของกัญชาในการรักษาทางการแพทย์ยังมีความไม่ชัดเจนในหลากหลายแง่มุม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องของสรรพคุณในการรักษาว่าสามารถนำไปใช้ในการรักษาโรคใดได้บ้าง รวมทั้งในส่วนที่เป็นการรักษาแบบทางเลือกทำให้เกิดความเสี่ยงในแง่มุมของข่าวลวง หรือ เฟคนิวส์ เช่น เรื่องผลประโยชน์ของกัญชาที่ถูกประโคมข่าวให้มีสรรพคุณที่ไปไกลเกินกว่าที่ทางการแพทย์รับรอง หรือ มีการให้ความเห็นโดยอ้างอิงจากประสบการณ์ส่วนตัวมากกว่าหลักฐานการวิจัยทางการแพทย์ เป็นต้น

3.ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบ

การใช้ส่วนประกอบของกัญชาในอาหาร สามารถแยกออกได้เป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่

3.1 การใช้ส่วนประกอบของกัญชามาผลิตอาหาร

ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้จะหมายถึง การนำเอาส่วนประกอบของกัญชาในรูปแบบของวัตถุดิบ นำเอามาใช้ในการเป็นส่วนประกอบของอาหาร ซึ่งมีทั้งส่วนที่เป็นวัตถุดิบ และส่วนที่เป็นสินค้าขั้นกลาง (เครื่องปรุง น้ำสกัดเข้มข้น)

ความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ แยกได้เป็น กลุ่มที่ใช้กัญชาในรูปแบบของวัตถุดิบ พบว่าในช่วงแรกของการเปิดเสรีกัญชา มีผู้ประกอบการที่นำเอาส่วนประกอบของกัญชามาใช้ในการประกอบอาหารโดยขาดความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการประกอบอาหารอย่างปลอดภัย เช่น การใช้ดอกในกระบวนการผลิต ซึ่งดอกกัญชาจะมีปริมาณ THC ที่สูงมาก และเกินกว่าที่อนุญาตให้ใช้ได้ในตามกฎหมาย และการบริโภคกัญชาไม่ได้ทำให้มีความรู้สึกติดได้โดยง่ายแบบยาเสพติดบางประเภท และการบริโภคกัญชาที่มีสาร THC สูงเกินขนาดยังให้ประสบการณ์ในแง่ลบต่อการบริโภค ทำให้แทนที่จะเป็นการดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาเป็นลูกค้าประจำ จะกลายเป็นเสียลูกค้าไม่กลับมาทานที่ร้านอีกเช่นเดียวกัน การใช้ใบกัญชามาทำก๋วยเตี๋ยว แม้ว่ากระทรววงสาธารณสุขจะให้คำแนะนำว่าการใช้ใบกัญชาในการประกอบอาหารไม่ควรจะใช้เกิน 1-2 ใบ ต่อเมนู และไม่ควรทานเกิน 2 เมนูต่อวัน แต่ในทางปฏิบัติ กลับพบว่า กระบวนการผลิตจะมีความซับซ้อนมากกว่านั้น เช่น การใช้กัญชาในก๋วยเตี๊ยว จะมีการลวกใบลงในน้ำ ซึ่งปริมาณสาร THC จะถูกสกัดลงไปในน้ำก๋วยเตี๊ยวทำให้น้ำก๋วยเตี๋ยวที่ผ่านการลวกใบหลายๆ ครั้งจะมีปริมาณสาร THC คงค้างในน้ำซุปที่สูงมาก จึงเกิดเป็นปัญหาทางด้านสุขภาพได้เช่นเดียวกัน

นั่นคือ การใช้กัญชาในรูปแบบของวัตถุดิบยังคงมีปัญหาในด้านการขาดความรู้ในตำราอาหารและการใช้ส่วนประกอบของกัญชาเข้ามาประกอบอาหารที่เหมาะสม

อีกกลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่มที่ใช้กัญชาในรูปแบบของสินค้าขั้นกลาง พบว่า แม้ว่าในส่วนประกอบของสินค้าขั้นกลางจะมีปริมาณสาร THC ในระดับที่เหมาะสม แต่เมื่อมีการใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารจะไม่สามารถควบคุมปริมาณสาร THC ในสินค้าขั้นสุดท้ายได้ จึงเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดการบริโภคสาร THC เกินความเหมาะสมเช่นเดียวกัน

3.2 อาหารสำเร็จรูปที่มี่ส่วนผสมของกัญชา ซึ่งอยู่ในผลิตภัณฑ์ที่ถูกดูแลภายใต้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกผลิตโดยธุรกิจที่มีแบรนด์ หรือ ตราสินค้า และมีการยี่นขออนุมัติการผลิตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ก่อนการวางขายในตลาด ทำให้ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้มีการควบคุมคุณภาพในการผลิตให้เป็นไปตามกฎหมาย อย่างไรก็ดี การควบคุมการบริโภคสาร THC เกินขนาดยังคงใช้รูปแบบเดียวกันกับการโฆษณาเครื่องดื่มชูกำลัง ที่ว่า “ห้ามดื่มเกินวันละ 2 ขวด โปรดสังเกตคำเตือนบนฉลากก่อนดื่มทุกครั้ง” นั่นก็คือ ผู้บริโภคจะต้องให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพด้วยตนเอง โดยการบริโภคสาร THC ในระดับที่เหมาะสม และต้องอ่านความเสี่ยงต่างๆ ที่เขียนไว้ตามฉลาก

3.3 อาหารสำเร็จรูปที่มี่ส่วนผสมของกัญชา แต่อยู่นอกเหนือจากการควบคุมของรัฐ

ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ หมายถึง ผลิตภัณฑ์เช่น เยลลี่ บราวนี่ คุ๊กกี้ ที่มีการนำเอาส่วนประกอบของกัญชาเข้ามาใช้ โดยมุ่งเน้นให้เกิดอาการ “ไฮ” หรือ “เมา” โดยเน้นให้มีปริมาณสาร THC ในระดับที่สูง

ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาวะมากที่สุด เนื่องจากปริมาณสาร THC มักจะเกินกว่าที่แพทย์แนะนำ และกระบวนการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายจะดูดซึมที่ตับ ซึ่งจะใช้เวลานานกว่าที่ร่างกายจะรับรู้ ซึ่งเมื่อเทียบกับการเสพโดยตรงซึ่งจะเห็นผลเกือบจะทันที การรับประทานและดูดซึมทางร่างกายด้วยความล่าช้าจะทำให้ผู้เสพไม่ทราบได้ว่าร่างกายได้รับสารเกินขนาดไปเรียบร้อยแล้ว

วัตถุดิบในการผลิตมักจะเป็นเศษที่เหลือจากการผลิตดอกกัญชา จึงมีคุณภาพสอดคล้องกับวัตถุดิบที่ทางผู้ผลิตได้รับมา หากเป็นร้านที่ได้รับอนุญาตให้ขายโดยภาครัฐ มักจะซื้อกัญชาที่มีคุณภาพสูง ก็มักจะมีวัตถุดิบที่ดีตามไปด้วย ในทางตรงกันข้าม ร้านที่เปิดข้างทาง หรือการทำกินกันเองก็มีความเสี่ยงที่จะพบวัตถุดิบที่ไม่ดี

4. กัญชาที่ใช้เสพ

กลุ่มสุดท้ายจะเป็นดอกกัญชาที่ขายเพื่อใช้ในการเสพโดยตรง โดยในแง่ของกระบวนการผลิต ร้านค้าที่ได้รับใบอนุญาตจากภาครัฐจะคัดเลือกดอกกัญชาที่มีคุณภาพมากกว่าร้านค้าที่เปิดขายโดยไม่มีใบอนุญาต หรือเป็นการขายข้างทาง เนื่องจากผู้บริโภคสามารถรับรู้ถึงคุณภาพของดอกกัญชาได้โดยตรง ข้อมูลจากการสัมภาษณ์พบว่าร้านค้าเกือบทั้งหมดมีพื้นที่ผลิตเป็นของตนเอง โดยเลือกพื้นที่ผลิตที่มีคุณภาพสูง เช่น ในเขตภาคเหนือ

ในทางตรงกันข้าม ร้านค้าที่เปิดขายโดยไม่มีใบอนุญาตจะมีความเสี่ยงในเรื่องของคุณภาพของดอกกัญชา ซึ่งมีทั้งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น พวกโลหะหนัก และที่ผสมสารเสพติดอื่นๆ เช่น เห็ดเมา ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอาการหลอนได้

อนึ่ง บทความนี้ มีเป้าประสงค์เพื่อที่จะสะท้อนถึงความเสี่ยงที่แตกต่างกันของผลิตภัณฑ์กัญชา โดยไม่ได้มีเป้าหมายในการสนับสนุนให้มีการบริโภคกัญชาแต่อย่างใด

บทความโดย : ดร. นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส ทีมนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวมและเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ ทีดีอาร์ไอ

ข้อเขียนนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาองค์ความรู้ทางด้านเศรษฐกิจเพื่อรองรับการปลดล็อกกัญชาของภาครัฐ: ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ด้านกฎหมาย และภาษีสรรพสามิต ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

เผยแพร่ครั้งแรก : เว็บไซต์ Post Today วันที่ 31 ตุลาคม 2566