เปิดข้อเสนอเชิงนโยบาย “ขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยการยกระดับการศึกษาและกำลังคนด้าน STEM”

วันที่ 4 มีนาคม 2567 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดสัมมนาสาธารณะ หัวข้อ “ขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยการยกระดับการศึกษาและกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM)” ที่รร.นิกโก้ แบงคอก โดยคณะผู้วิจัยทีดีอาร์ไอ ได้นำเสนอผลการศึกษาวิเคราะห์ความพร้อมและแนวทางการยกระดับกำลังคนด้าน STEM ของประเทศไทย เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการพัฒนากำลังคนด้าน STEM ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา

ระดับอุดมศึกษา

ผลวิจัยชี้บัณฑิตใหม่ด้าน STEM พบปัญหาทั้งปริมาณ-คุณภาพ

ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ทีดีอาร์ไอ ระบุว่า ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนว่าความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยลดลง ซึ่งเป็นเหตุผลที่จะต้องมีการขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยการยกระดับการศึกษาและกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หรือ STEM เพราะการศึกษาจากทั่วโลกระบุชัดว่า STEM  เป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาประเทศ

ดร.เสาวรัจ กล่าวว่า ล่าสุดในปี 2564 ประเทศไทยมีจำนวนบัณฑิตใหม่ที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาด้าน STEM น้อยกว่าแสนคน และมีแนวโน้มลดลงในแทบทุกสาขา โดยในภาพรวมจำนวนบัณฑิตใหม่ด้าน STEM ลดลงจาก 1.15 แสนคนในปี 2560 เหลือ 0.99 แสนคนในปี 2564  ซึ่งสาขาที่มีแนวโน้มของจำนวนบัณฑิตลดลงมากคือ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เกษตรศาสตร์ วนศาสตร์ และการประมง วิทยาศาสตร์ชีวภาพ และวิทยาศาสตร์กายภาพ

ดร.เสาวรัจ ระบุว่า ในทางตรงข้ามประเทศไทยมีจำนวนและสัดส่วนนักศึกษาเข้าใหม่ STEM เพิ่มขึ้น โดยในปี 2564 จำนวนนักศึกษา STEM เข้าใหม่ มีมากกว่า 1.4 แสนคน คิดเป็นสัดส่วน 35 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนนักศึกษาเข้าใหม่ทั้งหมด โดย สาขา STEM ที่นิยมเรียนมากที่สุดคือ วิศวกรรมศาสตร์ ขณะที่สาขาที่มีนักศึกษาเข้าใหม่ลดลงมากที่สุดคือ วิทยาศาสตร์กายภาพ และเกษตรศาสตร์ วนศาสตร์ และการประมง

“ประเทศไทยมีปัญหาด้านกำลังคน STEM ในระดับอุดมศึกษาทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยในเชิงปริมาณ บางสาขามีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงาน เช่น พยาบาลศาสตร์ ขณะที่ในบางสาขามีปริมาณมากกว่าความต้องการ เช่น สาขาเกษตรศาสตร์ วนศาสตร์ และการประมง และหลักสูตรบริหารธุรกิจ สาขา ICT ส่วนในเชิงคุณภาพพบปัญหาการลาออกกลางคันของนักศึกษาสาขา STEM และความไม่สอดคล้องในประเด็นต่างๆ ทั้งวุฒิการศึกษาไม่สอดคล้องกับระดับทักษะของงาน สาขาการศึกษาไม่สอดคล้องกับสาขางานที่ทำ และช่องว่างของทักษะ หรือทักษะที่มีอยู่ต่ำกว่าทักษะของงานที่กำหนด” ดร.เสาวรัจ ระบุ

ชง 5 ข้อเสนอเร่งแก้ปัญหา เน้นผลิตบัณฑิตตามความต้องการตลาด แนะ อว.ทำแผนพัฒนาทักษะด้าน STEM ในระดับอุดมศึกษา

ดร.เสาวรัจ กล่าวว่า คณะผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อการศึกษาในระดับอุดมศึกษา 5 ข้อประกอบด้วย 1.สนับสนุนการผลิต การรักษา และพัฒนากำลังคนในสาขาที่ขาดแคลนอย่างตรงจุด 2.สนับสนุนการยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมายอย่างจริงจังและต่อเนื่องผ่าน 4 นโยบายหลัก เพื่อยกระดับโครงสร้างตลาดแรงงาน ที่มุ่งเน้นงานทักษะ STEM ขั้นสูง 3. มหาวิทยาลัยควรจัดทำระบบเฝ้าระวังความเสี่ยง (Early Warning System) สำหรับนักศึกษาที่มีแนวโน้มลาออกกลางคัน ตลอดจนจัดหาบริการสนับสนุนและให้คำปรึกษาแบบครบวงจร รวมทั้งจัดหาทุนการศึกษาและให้ความช่วยเหลือทางการเงิน เพื่อแก้ไขปัญหาการออกกลางคัน 4. สถาบันการศึกษาควรเน้นการเชื่อมโยงกับภาคเอกชน เพื่อพัฒนาคุณภาพและปรับทักษะของบัณฑิตให้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ควรสนับสนุนเชิงนโยบายผ่านสถาบันพี่เลี้ยงและสนับสนุนงบประมาณโดยผูกกับผลลัพธ์ รวมทั้งจัดทำและเผยแพร่ผลลัพธ์เชิงประจักษ์ของโครงการ และ 5. กระทรวง อว. ควรมีระบบประเมินทักษะที่ต้องการเป็นประจำรายปี รายสาขาอุตสาหกรรม และจัดทำแผนพัฒนาทักษะกำลังคนด้าน STEM รวมทั้งส่งเสริม Reskill/ Upskill อย่างต่อเนื่อง

ระดับอาชีวศึกษา

หลักสูตรอาชีวะ ไม่ตอบโจทย์เอกชน ผลสอบมาตรฐานวิชาชีพไม่เป็นที่ยอมรับ

นายทัฬหวิชญ์ ฐิติรัตน์สกุล นักวิจัยด้านการปฏิรูปการศึกษา ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงการศึกษาในระดับอาชีวะ ว่า อาชีพ STEM มีความต้องการแรงงานที่จบจากการศึกษาอาชีวะ แต่ปรากฎว่ามีผู้จบการศึกษาอาชีวะสาย STEM เพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ได้ทำงานสาย STEM ทั้งที่มีรายได้และความก้าวหน้าสูงกว่าอาชีพสายอื่น ซึ่งมีสาเหตุมาจากปัญหาสำคัญ คือ หลักสูตร ปวช. ที่ผ่านมา ยังไม่ให้ความสำคัญกับการปูพื้นฐานนักเรียนเท่าที่ควร ซึ่งนักเรียนสายอาชีพเข้าเรียนด้วยพื้นฐานที่ต่ำกว่าสายสามัญ ในขณะเดียวกันคณะผู้วิจัยยังพบว่าหลักสูตรที่มีการได้พัฒนาขึ้นจากส่วนกลาง ไม่ตอบโจทย์ภาคเอกชนทั้งความเข้นข้นและตัวเนื้อหาที่เรียน     นอกจากนี้ระบบประกันคุณภาพของอาชีวศึกษายังไม่สะท้อนคุณภาพผู้เรียนและสถาบันการอาชีวศึกษาได้เท่าที่ควร ทั้งผลการสอบมาตรฐานวิชาชีพที่ไม่ได้เป็นที่ยอมรับของสถานประกอบการ และ สภาวะการมีงานทำที่ไม่มีการติดตามอย่างเป็นระบบ ขณะเดียวกันครูที่สอนอาชีวะซึ่งควรเป็นผู้มีประสบการณ์จริงจากการทำงาน แต่ด้วยระบบการผลิตและคัดเลือกครูที่เป็นอยู่ ยังไม่ให้ความสำคัญกับครูที่มีประสบการณ์ภาคปฏิบัติ อีกทั้งไม่มีการลงทุนเพื่อยกระดับคุณภาพครุภัณฑ์การศึกษาเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้นักเรียนไม่ได้ฝึกกับอุปกรณ์ที่ทันสมัย ประเด็นสุดท้ายในเรื่องของการจัดการระบบอาชีวศึกษาทวิภาคีซึ่งจะเอื้อให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ทำงานจริง แต่ปรากฎว่าไม่สามารถขยายผลได้เท่าที่ควร เนื่องจากขาดทั้งระบบประกันคุณภาพ ตำแหน่งฝึกงานทักษะสูงมีน้อยและตัวนักเรียนเองก็ไม่มีความพร้อม

แนะยกระดับคุณภาพอาชีวศึกษา ปรับระบบประกันคุณภาพ ตั้งสถาบันวิชาชีพผลิตครูอาชีวะ

นายทัฬหวิชญ์ กล่าวถึงข้อเสนอ 5 ข้อที่สามารถดำเนินการใน 2 ระยะเพื่อยกระดับคุณภาพอาชีวศึกษา โดยระยะสั้นคือ 1. ปรับหลักสูตร ปวช. ให้น้ำหนักกับวิชาพื้นฐานมากขึ้น โดยพัฒนาให้อิงกับสายอาชีพมากขึ้น ซึ่งในช่วงต้นปี 2567 คณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้เริ่มปรับหลักสูตรใหม่ เพิ่มทั้งความยืดหยุ่นให้ตอบโจทย์ภาคเอกชนได้ดีขึ้น ส่วนวิชาพื้นฐานทั้ง คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ถูกปรับให้อิงกับการเรียนสายอาชีพมากยิ่งขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นสัญญาณที่ดี 2. ปรับระบบประกันคุณภาพการศึกษา โดยดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินมาตรฐานวิชาชีพ และมีการติดตามสภาวะการมีงานทำอย่างเป็นระบบ 3. ครุภัณฑ์ต้องทันสมัยอยู่เสมอซึ่งควรจัดสรรงบประมาณเพื่อซ่อมแซม ลงทุนเพิ่มอย่างเป็นระบบ

ส่วนในระยะยาว มีข้อเสนอดังนี้ 1. จัดตั้งสถาบันวิชาชีพครูอาชีวศึกษา เพื่อวางแผนผลิตและพัฒนาครูอาชีวศึกษา รวมถึงเป็นตัวเชื่อมระหว่างภาคธุรกิจและภาครัฐ เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงมากขึ้น และ 2.จัดตั้งกองทุนอาชีวทวิภาคี เพื่อระดมทรัพยากรจากภาคเอกชน พร้อมทั้งวางระบบอาชีวศึกษาทวิภาคีให้บริหารอย่างมีประสิทธิภาพ ขยายผลได้

การศึกษาขั้นพื้นฐาน

ห่วงการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่แข็งแรง ทำเด็กความรู้ไม่พอเรียนต่อ

นายพงศ์ทัศ วนิชานันท์ นักวิจัยอาวุโสด้านการปฏิรูปการศึกษา ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การวิจัยของทีดีอาร์ไอที่ผ่านมาบ่งชี้ว่า ปัญหาหนึ่งของห่วงโซ่คุณค่าการผลิตและพัฒนากำลังคนด้าน STEM เกิดจากการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ไม่แข็งแรง ซึ่งเด็กกลุ่มนี้มีพื้นฐานความรู้ไม่พอต่อการเรียนต่อ ทีมผู้วิจัยจึงมุ่งหาทางออกโดยถอดเงื่อนไขความสำเร็จของประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงและมีคะแนนสอบ PISA วิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นลำดับต้นๆของโลก 3 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ ฟินแลนด์ และอังกฤษ ซึ่งพบว่าการสอนให้เด็กมีทักษะด้าน STEM สามารถทำได้ทั้งการสอนเป็นรายวิชา และการสอนแบบบูรณาการข้ามศาสตร์ แต่สิ่งสำคัญก็คือระบบการศึกษาต้องเอื้อให้ครูนำสถานการณ์จริงมาสอนในห้องเรียนได้ โดยมีเงื่อนไขสำคัญ 4 ประการ คือ 1.มีกลไกลดความล่าช้าในการตัดสินใจปรับปรุงหลักสูตรชาติให้ทันสมัยอย่างสม่ำเสมอ  2.ระบบการศึกษาต้องเอื้อให้โรงเรียนมีอิสระในการบริหารทรัพยากรสำหรับการสอน 3.มีกลไกสร้างความรับผิดรับชอบต่อเป้าหมายการเรียนรู้ในหลักสูตร และ4.ออกแบบระบบย่อยต่างๆในระบบการศึกษาทั้งเรื่องหลักสูตร บริหารบุคคล และประกันคุณภาพ ให้มีความสอดคล้องกัน

“ระบบการศึกษาไทยมีช่องว่างที่ต้องพัฒนาหลายจุด เพราะยังขาดกลไกที่จะส่งเสริมให้มีการปรับหลักสูตรให้ทันโลกอยู่เสมอ เห็นได้จากการที่ไทยไม่มีการปรับหลักสูตรแบบปรับใหญ่มาเป็นเวลา15 ปีแล้ว ทำให้เป้าหมายการเรียนรู้ในปัจจุบันไม่เอื้อให้เด็กเกิดสมรรถนะหรือคิดขั้นสูงได้มากนัก แม้ว่ากระทรวงศึกษาธิการเปิดโอกาสให้โรงเรียนบริหารโครงสร้างเวลาเรียนเต็มที่ แต่ในทางปฏิบัติกลับพบปัญหาเรื่องการสื่อสารทำให้โรงเรียนไม่กล้าดำเนินการ อีกทั้งยังขาดการประกันคุณภาพผู้เรียนและคุณภาพครูที่ดี เนื่องจากแต่ละระบบยังไม่เชื่อมต่อกัน ส่งผลให้ระบบการศึกษาไทยขาดกลไกรับผิดรับชอบ” นายพงศ์ทัศระบุ

นายพงศ์ทัศ ระบุด้วยว่า อย่างไรก็ตามมีโรงเรียนบางแห่งสามารถก้าวข้ามความท้าทายได้ เช่น กลุ่มโรงเรียนที่เน้นวิทย์-คณิต แต่การขยายผลจากตัวอย่างที่ดีนี้ยังทำได้ยาก เพราะผู้สำเร็จการศึกษาระดับม. 3 และ ม.6 ของโรงเรียนกลุ่มนี้ มีจำนวนไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนนักเรียนสังกัดสพฐ.ทั้งหมด นอกจากนี้โรงเรียนเหล่านี้มีลักษณะพิเศษต่างจากโรงเรียนปกติ เช่น มีการคัดเลือกเด็กเก่งมาเข้าเรียนและใช้มีต้นทุนจัดการศึกษาสูงกว่าโรงเรียนรัฐปกติมากกว่า 10 เท่าตัว

6 ข้อเสนอแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน เอื้อนร.เรียนต่อด้าน STEM

นายพงศ์ทัศ กล่าวถึงข้อเสนอเชิงนโยบาย 6 ข้อในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ว่า เพื่อให้การศึกษาขั้นพื้นฐานได้เตรียมความพร้อมเด็กให้มีทักษะพื้นฐานที่พร้อมเรียนต่อในด้าน STEM จะต้องมีการดำเนินการดังนี้ 1 .ในระยะสั้น สพฐ. ต้องเร่งสื่อสารเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างเวลาเรียนให้โรงเรียนมีความกล้ามากขึ้น โดยอาจนำตัวอย่างโรงเรียนที่น่าสนใจมากใช้เป็นกลยุทธ์การสื่อสารเพื่อเสริมความมั่นใจ  2. ที่ผ่านมาเห็นสัญญาณจากสพฐ.ในการลดภาระงานธุรการให้แก่โรงเรียนแล้ว แต่ยังสามารถทำได้มากขึ้นด้วยการทบทวนเกณฑ์การรายงานของสำนักต่างๆในสพฐ. รวมถึงหน่วยงานภายนอก เพื่อบูรณการการรายงานผลทั้งหมดเข้าด้วยกันให้ได้มากที่สุด

3 .ส่วนในระยะยาวเสนอให้มีการสร้างกลไกปรับหลักสูตรให้ทันสมัยอยู่ตลอด โดยอาจจำเป็นต้องระบุในกฎหมายให้มีการทบทวนเพื่อปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยไม่ควรเกิน 10 ปี  4.ส่งเสริมการผลิตครู STEM ระบบปิด โดยขยายผลจากโครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.) พร้อมปรับเกณฑ์การบริหารบุคลากรให้ส่งเสริมการพัฒนาวิชาชีพครูมากขึ้น 5.รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการจัดสรรงบเพื่อส่งเสริมด้าน STEM เช่น การปรับหลักสูตรให้ทันสมัย วางแผนผลิตครู และทบทวนสูตรจัดสรรงบประมาณของโรงเรียนให้เพียงพอต่อการจัดสอนด้าน STEM และ6.พัฒนาการทดสอบระดับชาติให้เน้นประเมินสมรรถนะหรือการคิดขั้นสูง พร้อมกับนำมาใช้เป็นการสอบไล่เมื่อจบช่วงชั้นเพื่อประกันคุณภาพผู้สำเร็จการศึกษา ที่สำคัญต้องมีการสื่อสารให้สังคมเข้าใจเรื่องการประเมินในทางสร้างสรรค์ มุ่งเน้นการประเมินเพื่อพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่การตัดสินว่าผ่านหรือไม่ผ่าน หรือ ให้คุณให้โทษ

ทั้งนี้งานสัมมนาสาธารณะครั้งนี้ยังมีการจัดเสวนาเรื่อง “เชื่อมโยงการศึกษาและตลาดแรงงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) ของประเทศไทยอย่างไรให้มีคุณภาพ” โดยผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วยน.ส.จารุนันท์ แก้วทองนาค ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาระบบบริหารงานบุคคล สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ดร.นิติ นาชิต ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาธุรกิจและบริการ รักษาราชการแทนรองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นายสุทธิเกตติ์ ทัดพิทักษ์กุล ที่ปรึกษาด้านการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และดร. สัมพันธ์ ศิลปนาฏ นายกสมาคมสหกิจศึกษาไทย โดยมีดร. เสาวรัจ  และนายทัฬหวิชญ์ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

สำหรับการจัดสัมมนาสาธารณะนี้ มีขึ้นเพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและประชาชนให้ความสำคัญและตระหนักต่อการพัฒนาการศึกษาและกำลังคนด้าน STEM ของประเทศไทย เพราะเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับความสามารถการแข่งขันของประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูง ซึ่งการที่จะก้าวไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้นั้นจะต้องพัฒนากำลังคนด้าน STEM ที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศ

เอกสารประกอบการนำเสนอ

รับชมย้อนหลัง คลิก