รับชมผ่าน Facebook Live ที่ https://fb.me/e/50WkCRpYN
วันที่ 4 มีนาคม 2567 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดสัมมนาสาธารณะ หัวข้อ “ขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยการยกระดับการศึกษาและกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM)” ที่รร.นิกโก้ แบงคอก พร้อมกับนำเสนอผลการศึกษาวิเคราะห์ความพร้อมและแนวทางการยกระดับกำลังคนด้าน STEM ของประเทศไทย เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการพัฒนากำลังคนด้าน STEM โดยทีมวิจัยทีดีอาร์ไอ ประกอบด้วย ดร. เสาวรัจ รัตนคำฟู ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน นายพงศ์ทัศ วนิชานันท์ นักวิจัยอาวุโส และนายทัฬหวิชญ์ ฐิติรัตน์สกุล นักวิจัยด้านการปฏิรูปการศึกษา ทีดีอาร์ไอ
นอกจากนี้มีการจัดเสวนาเรื่อง “เชื่อมโยงการศึกษาและตลาดแรงงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) ของประเทศไทยอย่างไรให้มีคุณภาพ” โดยผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วยน.ส.จารุนันท์ แก้วทองนาค ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาระบบบริหารงานบุคคล สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ดร.นิติ นาชิต ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาธุรกิจและบริการ รักษาราชการแทนรองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นายสุทธิเกตติ์ ทัดพิทักษ์กุล ที่ปรึกษาด้านการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และดร. สัมพันธ์ ศิลปนาฏ นายกสมาคมสหกิจศึกษาไทย โดยมีดร. เสาวรัจ และนายทัฬหวิชญ์ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
การจัดสัมมนาสาธารณะครั้งนี้ มีขึ้นเพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและประชาชนให้ความสำคัญและตระหนักต่อการพัฒนาการศึกษาและกำลังคนด้าน STEM ของประเทศไทย เพราะเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับความสามารถการแข่งขันของประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูง ซึ่งการที่จะก้าวไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้นั้นจะต้องพัฒนาให้เด็กไทยเข้าถึงการศึกษาคุณภาพสูงได้ รวมไปถึงการฝึกอบรมเพิ่มประสบการณ์ให้กับนักเรียน นักศึกษา และแรงงานในทุกระดับ
สำหรับหัวใจสำคัญของการพัฒนากำลังคนด้าน STEM คือ ห่วงโซ่คุณค่าของการผลิตกำลังคนด้าน STEM และความเชื่อมโยงระหว่างการผลิตกำลังคนด้าน STEM กับภาคเอกชน ซึ่งมีสำคัญต่อการสร้างความพร้อมของกำลังคนด้าน STEM ของไทย แต่ปัจจุบันกลไกดังกล่าวยังไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร โดยในส่วนของห่วงโซ่คุณค่าของการผลิตกำลังคนด้าน STEM พบปัญหาด้านคุณภาพในทุกระดับการศึกษาตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่เด็กไทยอายุ 15 ปีประมาณครึ่งหนึ่งไม่สามารถใช้ความรู้วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มาใช้แก้ปัญหาอย่างง่ายในชีวิตประจำวันได้ซึ่งส่งผลต่อการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น ทำให้การศึกษาระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาบางหลักสูตรในสาขา STEM ยังต้องสอนวิชาปูพื้นฐานใหม่ ทำให้ผู้สำเร็จการศึกษามีแนวโน้มขาดทักษะที่จำเป็นต่อการทำงาน และอาจส่งผลให้ได้รับเงินเดือนแรกเข้าต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
เช่นเดียวกับความเชื่อมโยงของการผลิตกำลังคนด้าน STEM กับภาคเอกชนของไทย ที่พบว่าไม่แข็งแกร่งและไม่เป็นระบบ โดยโรงเรียนอาชีวศึกษาเน้นพัฒนาทักษะเชิงปฏิบัติในห้องเรียน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ใช่ทักษะที่นายจ้างต้องการ เช่นเดียวกับในระดับอุดมศึกษา ที่การสอนส่วนใหญ่ไม่ทันสมัยและไม่ปรับให้ทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งไม่บรรจุวิชาที่จำเป็นต่อการทำงานมากพอจึงทำให้ประสบปัญหา ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมุ่งเน้นพัฒนากำลังคนด้าน STEM ที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศ