ทีดีอาร์ไอ ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมฯ จัดงานสัมมนาสาธารณะ “ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จุดสมดุลเพื่อสังคมและเศรษฐกิจ” ผลศึกษาชี้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ฯ ไม่ทำให้อุบัติเหตุ – เด็กดื่มลดลง เหตุแก้ไม่ตรงจุด สร้างต้นทุนทางสังคม 1.7 แสนล้าน เสนอแก้กฎหมาย 3 ประเด็น
วันที่ 9 เมษายน 2567 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดงานสัมมนาสาธารณะ “ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จุดสมดุลเพื่อสังคมและเศรษฐกิจ” พร้อมกับนำเสนอผลการศึกษา เรื่องการทบทวนนโยบายและมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อการส่งเสริมสมดุลด้านการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างยั่งยืน ที่รร.ดิเอ็มเมอรัล กทม.
ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ ระบุว่า อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สร้างรายได้จากการขายให้กับเศรษฐกิจเกือบ 6 แสนล้านบาท และภาครัฐมีรายได้จากภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปีละ 1.5 แสนล้านบาท แต่อีกด้านหนึ่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ได้สร้างต้นทุนทางสังคมไม่ต่ำกว่า 1.7 แสนล้านบาท ซึ่งจากการประเมินต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์จากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยปี 2564 พบว่าส่งผลกระทบต่อต้นทุนด้านสุขภาพมากที่สุด ในสัดส่วนถึง 55 % คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 9.4 หมื่นล้านบาท รองลงมาคือ ผลกระทบจากปัญหาอุบัติเหตุทางถนน 31 % กว่า 5.3 หมื่นล้านบาท ตามด้วยผลกระทบจากปัญหาการบาดเจ็บต่างๆ 10 % คิดเป็น 1.7 หมื่นล้านบาท และผลกระทบจากปัญหาอาชญากรรม 4 % คิดเป็น 7 พันล้านบาท
ดร.นิพนธ์ ระบุว่า แม้ที่ผ่านมาภาครัฐได้ประกาศใช้พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นมาเพื่อควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งเพื่อการบำบัดรักษาหรือฟื้นฟูสภาพผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อช่วยลดปัญหาและผลกระทบทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวได้บังคับใช้มาเป็นเวลากว่า 15 ปีแล้ว แต่การกำกับดูแลยังแก้ไม่ตรงจุด ทำให้ปัญหาทั้งอุบัติเหตุและการเข้าถึงเครื่องดื่มของเด็กและเยาวชนอายุ 15-19 ปีไม่ลดลง อีกทั้งจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเมาแล้วขับมีแนวโน้มสูงเพิ่มขึ้น
พบร้านค้า 30 % ในเมืองใหญ่ขายเหล้าให้เด็กต่ำกว่า 20 ปี
“ทีมวิจัยได้ลงพื้นที่สำรวจร้านค้า และผู้บริโภคใน กรุงเทพและปริมณฑล รวมทั้งเมืองใหญ่อย่างขอนแก่น เชียงใหม่ และภูเก็ต พบว่ามีร้านค้าถึง 30 % ที่ขายเหล้า-เบียร์ ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี และยังพบด้วยว่ามีการขายเหล้า-เบียร์ใกล้สถานศึกษากว่า 23 % ขณะเดียวกันพบข้อมูลที่น่าสนใจ ว่า เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ร้านของชำมากที่สุด คิดเป็น 36 % ตามมาติดๆคือ ร้านสะดวกซื้อ 35 % ซื้อที่ร้านอาหาร 26 % และซื้อทางออนไลน์ 3 %” ดร.นิพนธ์ระบุ
แก้กฎหมายเน้นคุ้มครองเยาวชน ใช้ยาแรงเพิ่มโทษหากขายให้เด็กต่ำกว่า 20 ปี
ด้านน.ส.ธารทิพย์ ศรีสุวรรณเกศ นักวิจัยอาวุโส ด้านนโยบายการกำกับดูแลที่ดี ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า คณะผู้วิจัยได้วิเคราะห์และทบทวนกฎหมาย นโยบาย มาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงศึกษาผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายจากผู้มีส่วนได้เสีย ประกอบกับการเปรียบเทียบการกำกับดูแลตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในต่างประเทศ จนได้ข้อสรุปและนำมาจัดทำเป็นข้อเสนอ โดยเห็นว่าควรปรับปรุงกฎหมาย ใน 3 ประเด็น ดังนี้ ข้อเสนอที่หนึ่ง มุ่งเน้นการปกป้องและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากพบว่า ในกลุ่มของนักดื่มหน้าใหม่ เป็นเด็กอายุ 15-19 ปี ถึง 30 % ดังนั้นต้องมีการแก้ไขมาตรา 32 พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 โดยโฆษณาได้แต่ห้ามโฆษณาที่เจาะจงเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ห้ามมีป้ายโฆษณาใกล้โรงเรียนในระยะ 1 กม., ห้ามโฆษณาผ่านสื่อกระแสหลักตามช่วงเวลาที่กสทช.กำหนด, ห้ามโฆษณาผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยแพลตฟอร์มต้องมีหน้าที่ในการจำกัดเนื้อหาการโฆษณาที่เจาะจงกับเด็ก, ห้ามโฆษณาที่อวดอ้างสรรพคุณ โดยกำหนดขอบเขตเนื้อหาที่สามารถใช้โฆษณาให้ชัด เช่น ห้ามโฆษณาที่เชื่อมโยงกับการดื่มแอลกอฮอล์ว่าเป็นการช่วยเพิ่มความสามารถในการทำงาน หรือประสบความสำเร็จทางสังคม หรือเกี่ยวโยงกับสมรรถภาพทางเพศ, ห้ามโฆษณาที่บอกสรรพคุณว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีคุณสมบัติในการรักษาโรค หรือทำให้สดชื่น สงบ หรือเป็นหนทางไปสู่การยุติความขัดแย้ง
เพิ่มบทลงโทษกรณีขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ซึ่งมีทั้งมาตรการระงับกิจการชั่วคราว โดยบทลงโทษนี้ระดับความหนักเบาหรือจะถูกระงับกิจการจำนวนกี่วันนั้นขึ้นอยู่กับระดับความเสียหาย แต่หากพบว่ามีการกระทำผิดซ้ำควรพิจารณายกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการ รวมทั้งเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี และเพิ่มช่องทางการรับแจ้งออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน คล้ายแอปพลิเคชัน Traffy Fondue (แพลตฟอร์มสำหรับสื่อสารปัญหาของเมืองระหว่างประชาชนและหน่วยงานที่รับผิดชอบ)
ยกเลิกสินบนรางวัล ห่วงใช้ประโยชน์ในทางที่ผิด
สำหรับข้อเสนอที่ 2 ลดปัญหาการบังคับใช้กฎหมายในทางที่ผิด ทีดีอาร์ไอมีข้อเสนอให้ยกเลิกสินบนรางวัล เนื่องจากการดำเนินคดีตั้งแต่ปี 2561-2565 ส่วนมากเป็นการฝ่าฝืนโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ได้มีความเสี่ยงที่เจ้าหน้าที่จะได้รับอันตรายจากการปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด นอกจากนี้แม้ว่าสินบนรางวัลอาจสร้างแรงจูงใจให้มีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิด แต่อาจมีการใช้ประโยชน์ในทางที่ผิด
เมาแล้วขับตัดแต้มใบขับขี่ให้หนัก – ทบทวนเปิดผับถึงตี 4 หลังพบสถิติอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น
ขณะที่น.ส.ณิชมน ทองพัฒน์ นักวิจัยอาวุโสด้านนโยบายด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ส่วนข้อเสนอที่ 3 มุ่งเน้นการลดผลกระทบเชิงลบทางสังคม หนึ่งในวัตถุประสงค์ของกองทุน สสส. คือ ส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพในประชากรทุกวัยตามนโยบายสุขภาพแห่งชาติ ดังนั้น ควรเพิ่มภารกิจให้กองทุน สสส. สนับสนุนการใช้จ่ายเงินกองทุนจากการ Earmark tax (กองทุนเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ) สำหรับเป็นงบประมาณเพิ่มเติมในการทำงานเพื่อลดปัญหาผลกระทบเชิงลบทางสังคมที่มีสาเหตุมาจากการดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะเป็นการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดสุราเรื้อรัง ช่วยเหลือและเยียวยา “ผู้บาดเจ็บ ผู้เสียชีวิต และครอบครัว” จากอุบัติเหตุดื่มขับ รวมไปถึงสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อตั้งจุดตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี
นอกจากนี้ ในระยะยาวควรมีปรับแนวทางการกำหนดค่าเสียหายในทางแพ่งเพื่อชดเชยแก่ผู้เสียหายอย่างเป็นธรรมและสะท้อนมูลค่าทางเศรษฐกิจของผู้เสียหายอย่างแท้จริง โดยเฉพาะในกรณีอุบัติเหตุ “เมาแล้วขับเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย”
ขณะเดียวกัน เพื่อป้องปรามการ “ดื่มขับ” ควรต้องปรับเกณฑ์การตัดแต้มใบขับขี่เพื่อคัดกรองผู้ที่ดื่มขับออกจากถนนให้เร็วขึ้น โดยควรปรับเกณฑ์การตัดแต้มใบขับขี่เป็นขั้นบันไดตามปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด และตัดแต้มเพิ่มขึ้นหากกระผิดซ้ำ, ควรเก็บข้อมูลระดับแอลกอฮอล์กับการเกิดอุบัติเหตุ เพื่อศึกษาเพิ่มเติมในการกำหนดแนวทางการตัดแต้มตามระดับแอลกอฮอล์, ปรับแนวทางการตั้งด่านจุดตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วม และทบทวนมาตรการเปิดผับถึงตี 4 เพื่อลดผลกระทบจากอุบัติเหตุดื่มขับ
“ภายหลังจากมีการขยายเวลาปิดให้บริการผับถึงตี 4 ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. ปี2566 มีข้อมูลจากกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค ที่ได้ติดตามข้อมูลเฝ้าระวังการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุดื่มขับ พบแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น 21% โดยอัตราผู้ขับขี่ที่ดื่มขับแล้วเกิดอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มขึ้นเกือบทุกช่วงเวลา โดยเฉพาะในช่วงตี 4- ตี 5 ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 16% นอกจากนี้ยังพบว่าเกิดความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อประชาชนทั่วไปที่เริ่มทำกิจกรรมทางสังคมในช่วงเวลาตี 4-ตี 5 ดังนั้นการขยายเวลาโดยไม่มีการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดพอ มีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุจากการดื่มขับที่ทำให้เกิดความสูญเสียสูง และควรมีการทบทวนมาตรการดังกล่าว” นักวิจัยทีดีอาร์ไอระบุ
หลายมุมมองร่วมถกเสวนามาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์
นอกจากนี้ยังมีการจัดเวทีเสวนา “มาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์…ประเทศไทยไปต่ออย่างไร?” โดยผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ ,นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.พรรคก้าวไกล รศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล อ.ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , น.ส.เขมิกา รัตนกุล นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย, น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล อนุกรรมการด้านอาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค ,ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ประธานเครือข่ายงดเหล้า ,รศ.ดร.วิทย์ วิชัยดิษฐ นักวิชาการ ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา , และตัวแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คือ พ.ต.ท.เอกกมล พรชูเกียรติ และพ.ต.อ.จักรกริศน์ โฉสูงเนิน ดำเนินรายการโดยนายพีระพงษ์ เตชะทัตตานนท์ นักจัดการด้านข้อมูลสื่อสารความรู้ DataHatch