การทำแท้ง(ไม่)เสรี ศาลสูงสุด และการเมือง ในอเมริกา

เมื่อ 24 มิถุนายน ที่ผ่านมา ศาลสูงสุดหรือศาลฎีกาสหรัฐอเมริกา (Supreme Court of the United States: SCOTUS) พิพากษายกเลิกคำตัดสินคดี Roe v Wade  ที่เคยพิพากษาเมื่อปี 2516 ว่าการทำแท้งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ซึ่งแปลง่ายๆว่าในตอนนั้นการทำแท้งของสตรีสหรัฐฯ ถูกกฎหมาย แต่นับตั้งแต่ 24 มิถุนายน ศกนี้ การทำแท้งขัดรัฐธรรมนูญหรือผิดกฎหมายนั่นเองตามคำพิพากษาของศาลสูงสุด แต่ในระดับมลรัฐต่างๆจะดำเนินการบังคับใช้กฎหมายเมื่อไรหรืออย่างไรก็เป็นเรื่องของแต่ละมลรัฐ

สถาบันกัตต์มาเชอร์ (Guttmacher Institute) ที่สนับสนุนทางเลือกที่ให้สตรีมีสิทธิ์ทำแท้ง ประเมินว่าจะมีรัฐทั้งหมด 26 แห่งซึ่งมักอยู่ทางใต้และตะวันตกตอนกลางหรือเขตมิดเวสต์ เตรียมออกกฎหมายห้ามทำแท้ง นั่นหมายความว่าผู้หญิงหลายล้านคนในอเมริกาที่ต้องการทำแท้งจำเป็นต้องเดินทางข้ามไปยังรัฐที่สิทธิ์การทำแท้งได้รับการคุ้มครอง (บางรัฐที่ยังอนุญาตให้ทำแท้งได้ถูกกฎหมายอย่างรัฐมินนิโซตากำลังเตรียมรับมือกับการหลั่งไหลเข้ามาของผู้ที่ต้องการทำแท้ง)

การกลับลำของศาลสูงสุดมาพิพากษาว่าการทำแท้งผิดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญครั้งนี้ทำให้สตรีวัยเจริญพันธุ์ในอเมริกาออกมาประท้วงอย่างกว้างขวางส่วนใหญ่ตั้งแต่หน้าศาลสูงสุดในวอชิงตันดีซี ในรัฐต่างๆที่กำลังจะห้ามการทำแท้ง และขณะนี้การประท้วงขยายไปจนถึง อังกฤษ ฝรั่งเศส และออสเตรเลีย

รื่องมันยาว ซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับการเมืองของอเมริกาพอสมควรโดยไม่ค่อยเกี่ยวกับนโยบายประชากรสักเท่าไหร่ ผู้เขียนขอค่อยๆไล่เรียงสู่กันฟังย่อๆก็แล้วกัน

อันดับแรก การเมืองในสหรัฐฯแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายใหญ่ๆ คือ ฝ่ายอนุรักษ์นิยม(Conservative) ได้แก่พรรครีพับลิกัน และ ฝ่ายเสรีนิยม (Liberal) ได้แก่พรรคเดโมแครต ซึ่งในเรื่องของการทำแท้ง พรรครีพับลิกันซึ่งเป็นพวกหัวเก่าค้านการทำแท้งเสรี ขณะที่พรรคเดโมแครตเห็นตรงข้ามโดยเชื่อในเรื่องสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์และสิทธิในการทำแท้ง โดยทั้งสองพรรคได้ต่อสู้กันเรื่องนี้มานานหลายสิบปีและคำพิพากษาเมื่อ 24 มิถุนาปีนี้ ก็สะท้อนให้เห็นถึงความขุ่นใจของทั้งสองฝ่ายที่กล่าวหาฝ่ายตรงข้ามว่ามีความคิด”สุดโต่ง” และ “หัวรุนแรง” และ ที่สำคัญคือคำพิพากษาของศาลครั้งนี้จะมีผลกระทบต่อการเลือกตั้งกึ่งวาระ (mid-term election) ของอเมริกาที่จะมาถึงในเดือนพฤศจิกายนนี้

อันดับต่อมา คณะตุลาการในศาลฎีกาก็มี 2 ฝ่ายอย่างเงียบๆ คือฝ่ายอนุรักษ์นิยม และ ฝ่ายเสรีนิยม โดยฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็คือตุลาการที่แต่งตั้งโดยประธานาธิบดีพรรคอนุรักษ์นิยมหรือพรรครีพับลิกันที่เสนอชื่อให้วุฒิสภาแต่งตั้ง และฝ่ายเสรีนิยมก็คือตุลาการที่แต่งตั้งโดยประธานาธิบดีพรรคอนุรักษ์นิยมหรือพรรคเดโมแครต (แต่ก็ไม่เสมอไป สมัยประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน และไอเซ็นฮาว ซึ่งเป็นรีพลับลิกันเคยแต่งตั้งตุลาการที่เป็นเสรีนิยม) ซึ่งกระบวนการคือประธานาธิบดีจะเสนอชื่อให้วุฒิสภารับรอง เมื่อได้รับแต่งตั้งแล้ว ตุลาการดำรงตำแหน่งจนกว่าจะเสียชีวิต ลาออก เกษียณอายุ หรือถูกถอดเพราะมีการฟ้องให้ขับออกจากตำแหน่ง (impeachment) แต่ยังไม่เคยมีตุลาการถูกถอดด้วยวิธีนี้  คณะตุลาการประกอบด้วยประธานศาล (Chief Justice) หนึ่งคน และตุลาการสมทบ (Associate Justice) อีกแปดคน ตุลาการแต่ละคนมีหนึ่งเสียงในการลงคะแนน หลาย ๆ คดีมีการวินิจฉัยด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ ในกรณีที่คะแนนเท่ากัน ประธานศาลจะเป็นผู้ออกเสียงตัดสิน ปัจจุบัน (2565) ศาลฎีกามีตุลาการที่รับการเสนอชื่อแต่งตั้งโดยพรรครีพับลิกัน 6 คน และ โดยพรรคเดโมแครต 3 คน โดยประธานศาลคนปัจจุบันพรรครีพับลิกันเป็นผู้เสนอชื่อแต่งตั้ง

อันดับสาม กฎหมายการทำแท้งในอเมริกาแตกต่างกันในแต่ละรัฐ กฎหมายบางรัฐห้ามทำแท้งโดยไม่ได้กำหนดอายุการตั้งครรภ์เว้นแต่สตรีผู้ตั้งครรภ์จะถึงแก่ชีวิตจากการตั้งครรภ์ บางรัฐอนุญาตให้เลือกวิธียุติการตั้งครรภ์ (elective abortion เนื่องจากความต้องการของมารดาโดยไม่ต้องมีเหตุผลทางการแพทย์)ได้โดยไม่กำหนดอายุครรภ์ การทำแท้งเป็นเรื่องมีการโต้แย้งกันอย่างมากและมีการแบ่งฝ่ายในวัฒนธรรม การเมือง และ สังคมของอเมริกา  ตั้งแต่ปี 2519 (หลังคดี Roe v Wade) พรรครีพับลิกันได้พยายามจำกัดการเข้าถึงการทำแท้งหรือทำให้การทำแท้งเป็นอาชญากรรม ขณะที่พรรคเดโมแครตพยายามปกป้องและสนับสนุนการเข้าถึงการทำแท้งรวมทั้งการเข้าถึงการคุมกำเนิดได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ ในภาพรวมอาจแบ่งแนวคิดการอนุญาตให้ทำแท้งเป็น 2 กลุ่ม คือ “ฝ่ายปกป้องสตรีในการทำแท้ง (pro choice)”ที่เห็นว่าสตรีมีสิทธิที่จะเลือกยุติการตั้งครรภ์ของตนหรือไม่ กับ “ฝ่ายปกป้องชีวิตทารก (pro life)” ที่เห็นว่าทารกในครรภ์มีสิทธิมีชีวิต ความสนับสนุนการทำแท้งในอเมริกาค่อยๆเพิ่มขึ้นหลังคดี Roe v. Wade เมื่อมกราคม 2516 แต่ก็ไม่เพิ่มขึ้นอีกตั้งแต่ปี 2553

คดี Roe v. Wade (โร วี เวด -2516) เป็นคดีประวัติศาสตร์ของศาลสูงสุดสหรัฐที่ตัดสินว่ารัฐธรรมนูญของอเมริกาคุ้มครองเสรีภาพของสตรีที่จะเลือกทำแท้งหรือไม่ คำตัดสินดังกล่าวทำให้ต้องยกเลิกกฎหมายเกี่ยวกับการทำแท้งของรัฐบาลกลางและมลรัฐหลายฉบับ และเป็นจุดที่ทำให้มีการถกเถียงกันอย่างมากมายต่อมาเรื่องการทำแท้งในอเมริกา

ที่เรียกคดีนี้ว่า Roe v. Wade หรือ สั้นๆว่า Roe (ตามข่าวในสื่อต่างๆ) มาจากชื่อสมมติ(ทางกฎหมาย) Jane Roe ที่ใช้เรียกนางนอร์มา แมคคอร์วี ซึ่งอาศัยอยู่รัฐเท็กซัส และต้องการทำแท้งแต่กฎหมายรัฐเท็กซัสถือว่าการทำแท้งผิดกฎหมายยกเว้นกรณีที่รักษาชีวิตผู้เป็นมารดา ส่วนWade นั้นเป็นชื่อ นาย Henry Wade ซึ่งเป็นอัยการอำเภอคู่กรณี ซึ่งศาลชั้นต้นตัดสินให้ Roe ชนะ แต่ Wade อุทธรณ์ศาลสูงสุด

ผลอย่างที่ทราบคือ ศาลสูงสุดตัดสินให้ Roe ชนะด้วยคะแนน 7-2 โดยศาลฯอ้างถึงรัฐธรรมนูญอเมริกา ฉบับปรับปรุงแก้ไขครั้งที่ 14 เรื่อง”สิทธิความเป็นส่วนตัว” (Right to privacy) ซึ่งคุ้มครองสิทธิของสตรีในการทำแท้ง และตัดสินว่าสตรีในสหรัฐอเมริกามีสิทธิพื้นฐานที่จะทำแท้งหรือไม่โดยปราศจากข้อจำกัดของภาครัฐ และยกเลิกการห้ามทำแท้งของรัฐเท็กซัสเนื่องจากผิดรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา คำตัดสินดังกล่าวมีผลให้ต้องยกเลิกกฎหมายการทำแท้งของรัฐบาลกลางและมลรัฐหลายฉบับ และเป็นจุดที่ทำให้มีการถกเถียงกันอย่างมากมายต่อมาเรื่องการทำแท้งในอเมริกา

อันดับสี่ การกลับมาของกฎหมายห้ามทำแท้ง การพิจารณาสิทธิ์การทำแท้งโดยศาลสูงครั้งใหม่เมื่อ 24 มิถุนายน นี้ มีขึ้นเมื่อศาลต้องวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับกฎหมายของรัฐมิสซิสซิบปีที่ห้ามการทำแท้งทุกชนิดหลังจากตั้งครรภ์ 15 สัปดาห์ ซึ่งเป็นเกณฑ์การตั้งครรภ์หลายสัปดาห์ที่เร็วกว่าเกณฑ์ที่เคยถูกระบุในคดี Roe v. Wade เมื่อปี 2516

ในคดีของรัฐมิสซิสซิบปี องค์กรสุขภาพสตรี (Women’s Health Organization) ซึ่งเป็นคลินิกทำเเท้งแห่งเดียวของรัฐ ต้องการให้ศาลพิจารณาความถูกต้องของกฎหมายห้ามทำแท้งของรัฐปี 2561 โดยกล่าวว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวขัดกับการพิจารณาของศาลของรัฐบาลกลางในอดีต (2516)

รัฐมิสซิสซิบปีต่อสู้กลับจนถึงศาลสูงโดยขอให้ศาลพิจารณาคว่ำคำตัดสินในคดี Roe v. Wade และระบุในการยื่นขอพิจารณาคดีว่า “ไม่มีส่วนใด” ในรัฐธรรมนูญอเมริกันที่ “สนับสนุนสิทธิ์การทำแท้ง”

ศาลสูงสุดมีมติ 6-3 รับกฎหมายของรัฐมิสซิสซิปปี้ที่ห้ามทำแท้งหลังจากท้อง 15 สัปดาห์ (โดย 6 เสียง มาจากผู้พิพากษาสายอนุรักษ์นิยม แต่มีมติ 5-4 ต่อประเด็นให้คว่ำคดี Roe (ที่ตัดสินไปเมื่อราว 50 ปีที่แล้วที่ให้การทำแท้งเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ) ที่ประธานศาลเสนอให้พิจารณาแยกออกมาโดยเขาได้ลงมติไม่เห็นด้วยกับการคว่ำการตัดสินคดีเก่าดังกล่าว

อันดับห้า –การเมือง ทันที่ที่ศาลแถลงการณ์ผลการพิพากษา ประธานาธิบดี โจ ไบเดนก็ออกมาแถลงแสดงความผิดหวัง โดยกล่าวว่านี่เป็นวันที่น่าเศร้าสำหรับประเทศ แต่การต่อสู้ยังไม่จบ” และกล่าวว่ารัฐบาลจะดำเนินการทุกอย่างเพื่อปกป้องสิทธิในการทำแท้ง พร้อมกับถือโอกาสหาเสียงโดยเรียกร้องให้ชาวอเมริกันลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งกลางเทอมในเดือนพฤศจิกายนเลือกผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาที่สนับสนุนการใช้สิทธิทำแท้งตามรัฐธรรมนูญ

ต่อมา 2 กรกฎาคม 2565 ประธานาธิบดีไบเดน ออกมากล่าวสำทับว่า “เรื่องนี้ยังไม่จบ” และ เริ่มเร่งทำงานด้านนี้อย่างรวดเร็วรวมทั้งเรียกประชุมผู้ว่าการรัฐเพื่อปกป้องการเข้าถึงการรักษาพยาบาลอนามัยเจริญพันธุ์ ขณะที่นางคามาลา แฮริส รองประธานาธิบดี และนางจิล ไบเดน สตรีหมายเลขหนึ่งก็ออกมาช่วยโวยอีกสองแรง 

อีกมุมหนึ่ง อดีตประธานาธิบดีทรัมป์(พรรครีพับลิกัน) ออกมาฉวยโอกาสหาเสียงเหมือนกันโดยอ้างว่าคำตัดสินของศาลสูงสุดเป็นผลงานของตนว่า “ข้าพเจ้าได้ทำทุกอย่างตามสัญญา รวมทั้งการเสนอชื่อและรับรองตุลาการศาลสูงสุด 3 ท่าน”

ปัจจุบัน พรรคเดโมแครตมีเสียงข้างมากในสภาคองเกรส แต่หลังการเลือกตั้งกลางวาระในเดือนพฤศจิกายนเสียงอาจจะหายไปโดยเสียงของพรรครีพับลิกันเพิ่มขึ้นซึ่งจะช่วยให้พรรครีพับลิกันสามารถออกกฎหมายห้ามทำแท้งของรัฐบาลกลางได้

เรื่องกฎหมายการทำแท้ง(ไม่)เสรียังไม่จบ สิ่งที่ผู้เขียนยังไม่ได้พูดถึงคือเหตุผลของการสนับสนุนหรือคัดค้านกฎหมายการทำแท้งเสรี ซึ่งนอกจากเหตุผลทางการเมืองและความเชื่อเรื่องสิทธิของประชาชน ยังมีเหตุผลทางการแพทย์ และเหตุผลทางด้านเศรษฐศาสตร์ รวมทั้งกฎหมายไทยและอาเซียนเกี่ยวกับการทำแท้งอีกเป็นต้น

ขอผลัดไว้ก่อนครับ

บทความ โดย สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์ 

เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชน คอลัมน์ดุลยภาพดุลยพินิจ เมื่อ 21 กรกฎาคม 2565


ผลงานล่าสุดจากทีดีอาร์ไอ