ความเป็นไปได้ในการสร้างระบบคุ้มครองแรงงานของอาเซียน

ปี2015-07-16

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีจำนวนประชากรและกำลังแรงงานมากถึง 600 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20 ของกำลังแรงงานทั้งหมดของโลก โดยในปี พ.ศ. 2554 พบว่ามีแรงงานสัญชาติอาเซียนที่เคลื่อนย้ายไปทำงานในต่างประเทศมีจำนวนสูงถึง 12.8 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 6 ของจำนวนแรงงานต่างชาติทั่วโลก โดยในจำนวนนี้เป็นการเคลื่อนย้ายภายในภูมิภาคอาเซียนถึง 3.9 ล้านคน จากตัวเลขดังกล่าวจะเห็นได้ว่าความท้าทายของการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนที่ไทยและประเทศเพื่อนบ้านต้องเตรียมรับมือนั่น คือ การหลั่งไหลของแรงงานหลากหลายสาขาอาชีพจากความคล่องตัวในการเคลื่อนย้ายไปทำงานในประเทศอาเซียนได้มากขึ้น การมีฐานข้อมูลระบบการคุ้มครองแรงงานโดยไม่เลือกปฏิบัติจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่ทุกประเทศต้องร่วมมือและปฎิบัติในทิศทางเดียวกัน

ภาพข่าวงาน
ภาพงานสัมมนา: การพัฒนาระบบการคุ้มครองแรงงานเพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีอาเซียน

นายวรานนท์ ปีติวรรณ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวในการสัมมนาเรื่อง “การพัฒนาระบบการคุ้มครองแรงงานเพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีอาเซียน: การจัดทำฐานข้อมูลระบบการคุ้มครองแรงงานของประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียน” ว่า การเปิดประชาคมอาเซียนในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า คือ ความท้าทายที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจะต้องมีมาตรการรับมือกับการเคลื่อนย้ายแรงงาน รวมถึงการแก้ปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาการค้ามนุษย์ ปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย ปัญหาแรงงานเด็ก เป็นต้น ซึ่งปัญหาดังกล่าวจะต้องได้รับการแก้ไข ดังนั้นการมีฐานข้อมูลระบบการคุ้มครองแรงงาน เพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานของประชากรอาเซียนและแนวทางในการเตรียมพร้อมจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่ประเทศไทยต้องรับมือ ทั้งในเรื่องกฎหมายแรงงานและสวัสดิการของแรงงาน ต้องปรับปรุงแก้ไขให้เป็นสากลมากยิ่งขึ้นเพื่อรองรับแรงงานในประเทศและแรงงานประเทศเพื่อนบ้านให้อยู่ในบริบทกฎหมายที่มีความเป็นธรรมมากที่สุด และเตรียมความพร้อมสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปลายปีนี้

ด้าน ดร.บุญวรา สุมะโน นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยเปิดเผยผลการศึกษา “โครงการพัฒนาระบบการคุ้มครองแรงงานเพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีอาเซียน: การจัดทำฐานข้อมูลระบบการคุ้มครองแรงงานของประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียน 9 ประเทศ” โดยศึกษากฎหมายแรงงานของแต่ละประเทศในอาเซียนพบว่า หลายประเทศในอาเซียนมีการปรับปรุงกฎหมายแรงงานให้ทันสมัยมากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาประสิทธิภาพแรงงาน รวมถึงการเพิ่มสิทธิและสวัสดิการสังคมในด้านต่างๆ มากขึ้นตามหลักสากลที่องค์กรแรงงานระหว่างประเทศไอแอลโอ (International Labor Organizationหรือ ILO) กำหนด

ยกตัวอย่างเช่น ในส่วนของอัตราค่าจ้างพบว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนหลายประเทศได้มีการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้เหมาะสมกับอัตราค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ด้วยข้อจำกัดในด้านการบังคับใช้กฎหมายแรงงานอันเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจ เช่น อัตราการว่างงาน และระดับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศสภาพการเมืองที่ไม่เอื้อให้เกิดการรวมตัวกันของแรงงานและสหภาพแรงงานเพื่อสร้างอำนาจการต่อรองกับนายจ้าง สภาพสังคมที่มีค่านิยมหลีกเลี่ยงความขัดแย้งและไม่เผชิญหน้า รวมถึงข้อจำกัดของหน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการให้สิทธิและสวัสดิการแรงงานในสถานประกอบการ จึงทำให้การคุ้มครองแรงงานในประเทศอาเซียนหลายประเทศยังไม่ได้ประสิทธิภาพตามเป้าหมายที่วางไว้

ดร.บุญวรา ยังกล่าวอีกว่า ผลการวิจัยยังพบความแตกต่างของประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีความหลากหลายสูง ทั้งระบบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม จึงทำให้มาตรฐานด้านการคุ้มครองของไอแอลโอที่แต่ละประเทศรับเอามาใช้นั้น มีรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามบริบทของประเทศนั้นๆ จึงเป็นความท้าทายของประเทศอาเซียนที่ต้องจะหาจุดสมดุลระหว่างการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยการเปิดเสรีภายใต้ประชาคมอาเซียน กับการให้สิทธิและสวัสดิการแก่แรงงานซึ่งเป็นทั้งปัจจัยการผลิตทางเศรษฐกิจ และคนกลุ่มใหญ่ในประเทศ จึงเป็นความท้ายทายของประเทศสมาชิกอาเซียนที่จะต้องร่วมกันทำให้ประเด็นด้านการคุ้มครองแรงงานได้รับการดำเนินการอย่างจริงจังในประชาคมอาเซียน ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีเจ้าภาพในการดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน

ด้านนางสุนี ไชยรส รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) มองว่า เรื่องความเหลื่อมล้ำในการคุ้มครองแรงงานทั้งในและนอกระบบ หรือความเหลื่อมล้ำของแรงงานระหว่างประเทศเป็นสิ่งที่ภาครัฐและภาคเอกชนไม่ควรมองข้าม ดังนั้นการออกแบบกฎหมายและสวัสดิการสังคมที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องที่ต้องมีการหารือกันในระดับประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยให้ข้อเสนอว่า การสร้างกลไกคุ้มครองสิทธิคนทำงานในอาเซียน ต้องยกระดับจากกฎหมายแรงงานเป็นกฎหมายที่คุ้มครองคนทำงาน เพื่อให้ทุกคนที่อยู่ในวัยทำงานได้รับการคุ้มครองและดูแลอย่างเท่าเทียมตามมาตรฐานที่เหมาะสม ขณะเดียวกันต้องจัดตั้งกรรมการหรือผู้เชี่ยวชาญตามหลักสากลของไอแอลโอเข้ามาดูแลการบังคับใช้กฎหมายแรงงานของประเทศสมาชิกให้เป็นเอกภาพเดียวกัน

เช่นเดียว นายถิรภาพ ฟักทอง อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การผลักดันการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานจะต้องมีการคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงในทุกๆด้านอย่างการย้ายถิ่นของแรงงานระยะสั้นหรือแรงงานทักษะต่ำ โดยเฉพาะแรงงานเพศหญิง เนื่องจากกฎหมายของอาเซียนและในระดับโลกยังไม่มีการคุ้มครองแรงงานในกลุ่มนี้อย่างชัดเจนนัก ดังนั้นการกำหนดนโยบายใดๆจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลงานวิจัยเหล่านี้มากขึ้น เพื่อสามารถออกแบบกฎหมายที่คุ้มครองแรงงานของประเทศสมาชิกได้ครอบคลุมและทั่วถึง

ด้าน ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า กฎหมายแรงงานและการคุ้มครองแรงงานของประเทศไทยในปัจจุบันนั้นยังไม่ครอบคลุมมากนัก เนื่องจากยังให้ความสำคัญกับการดูแลแรงงานในระบบจำนวน 14 ล้านคน แต่ในทางกลับกันแรงงานนอกระบบที่มีประมาณ 24 – 25 ล้านคน รวมถึงแรงงานภาคเกษตรและแรงงานที่ไม่มีรายได้ชัดเจน ยังไม่มีกฎหมายมารองรับแรงงานนอกระบบเหล่านี้ จึงมีข้อเสนอแนะว่า ภาครัฐควรออกกฎหมายเพื่อเข้ามาดูแลแรงงานนอกระบบเหล่านี้ด้วย ขณะเดียวประเทศสมาชิกอาเซียนควรมีการเร่งรัดการเจรจาหารือร่วมกันในเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับการดูแลแรงงานต่างด้าวและแรงงานอพยพ เพื่อแก้ปัญหาและวางนโยบายในการดูแลแรงงานต่างด้าวและผู้อพยพที่เข้ามาเป็นแรงงานให้เป็นไปอย่างมีทิศทาง โดยเชื่อว่าหากมีกฎหมายที่ชัดเจนมารองรับจะทำให้การเปิดประชาคมอาเซียนในส่วนของการเคลื่อนย้ายแรงงานจะเป็นไปอย่างมีกรอบระเบียบและมีแบบแผนมากขึ้น