ดร.ยงยุทธ มองปัญหาน่าห่วง เด็กจบใหม่ว่างงานสะสม ซ้ำการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวช้า

“ดร. ยงยุทธ” ห่วงแนวโน้ม จ้างงานภาคเกษตรลด ขณะแรงงานไร้ทักษะเคลื่อนย้าย ประกอบอาชีพอื่นลำบาก

ด้านตัวแทนภาคเกษตรระบุแนวโน้มรายได้หดตัวต่อเนื่อง วอนรัฐเพิ่มความสามารถในการทำอาชีพเสริม เข้าสู่งานภาคบริการอุตสาหกรรม ด้านผู้นำแรงงานชี้สินค้าราคาแพง แรงงานหลายกลุ่มรายได้ไม่พอใช้

จากข้อมูลที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)หรือสภาพัฒน์ แถลงถึงภาวะสังคมไทย ไตรมาสที่ 2 ปี 2560 โดยชี้ถึงภาวะการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ลดลง หลังการลงทุนของภาคเอกชนขยายตัวช้า รวมถึงแนวโน้มการจ้างงานภาคเกษตรที่จะหดตัวในไตรมาส 3- 4 จากผลผลิตล้นตลาดและปัญหาน้ำท่วม นั้น

ดร. ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงภาวะการว่างงานของบัณฑิตจบใหม่ ที่พอใจกับการไม่มีงานทำ ว่าเรื่องนี้ถือว่าอยู่ในระดับอันตราย เพราะแนวโน้มของคนว่างงานโดยเฉพาะในระดับปริญญาตรี เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนจากทัศนคติของการเลือกงานทำ ซึ่งความน่ากลัวของภาวะว่างงานของคนกลุ่มนี้ มาจากสาเหตุของ ตลาดแรงงานในบ้านเรา ไม่สามารถรับนักศึกษาที่เพิ่งจบใหม่ได้ทั้งหมด จึงเกิดปัญหาสะสมการว่างงานของแรงงานกลุ่มนี้มาโดยตลอด

ดร. ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)


โดยพบข้อเท็จจริงของภาคอุตสาหกรรม ที่ไม่สามารถรับแรงงานที่มีการศึกษาสูงได้ทั้งหมด ที่ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง เพราะ ค่าแรงสูง และยังไม่ถึงเวลาต้องใช้ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตที่ใช้เทคโนโลยี แต่สิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมขาดแคลนกลับเป็นแรงงานระดับอนุปริญญา หรือ ปวส. และหลายคนที่ทำงานอยู่ในตอนนี้ ยอมรับใช้วุฒิต่ำกว่าที่เรียนมา ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก ในด้านความสูญเปล่าของบุคลากรที่ผลิตออกมา

ทั้งหมดนี้ ประเด็นใหญ่อยู่ที่อุปสงค์แรงงานปรับตัวช้า เนื่องจากประเทศไทยยังไม่พัฒนา ยังเป็นอุตสาหกรรมประกอบ ไม่ใช่อุตสาหกรรมที่ผลิตด้วยนวัตกรรมของตัวเราเอง ทำให้การจ้างงานจึงเกิดขึ้นกับแรงงานที่ไม่ได้ใช้ทักษะสูง คนที่จบสูง จึงไม่สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ทั้งหมด

นักศึกษาจบใหม่ปฏิเสธงานบริการ

ตลาดแรงงานที่รองรับจึงอยู่ในภาคบริการ แต่กลุ่มนักศึกษาที่จบใหม่มักมีอคติกับลักษณะงานของภาคบริการ หรือการเสิร์ฟอาหาร รับใช้ลูกค้า และไม่ค่อยอดทนกับงาน แม้จะจบด้านการท่องเที่ยวและโรงแรม จะพบว่า จบมาแล้วทำงานเพียง 30% ซึ่งกลายเป็นปัญหาของความไม่สอดคล้องของทักษะของแรงงาน กับความต้องการของตลาด

ดร. ยงยุทธ กล่าวว่า ขณะนี้ อุตสาหกรรมในประเทศกำลังปรับเปลี่ยนไปสู่ยุค 4.0 การเปลี่ยนกระบวนการผลิตไปสู่การใช้เทคโนโลยี เกิดการปรับคนเก่าออกแต่ไม่ยอมรับคนใหม่เข้ามาแทนที่ เพื่อรอคอยการใช้แรงงานที่มีทักษะสูงขึ้นไปอีกระดับ ทำให้คนที่ว่างงานหรือคนกลุ่มเดิมที่เคยมีงานทำ จำเป็นต้องหาทางเพิ่มทักษะให้กับตนเองมีความรู้หลายๆ ด้าน เช่น การเรียนภาษาเพิ่ม แต่ต้องดูตามทิศทางของตลาดแรงงานด้วย เพื่อทำตัวให้ได้เปรียบกว่าคนอื่น

ภาพรวมเศรษฐกิจดี-จีดีพีขยายตัว

ในส่วนของการจ้างของแรงงานนอกภาคเกษตรที่ลดลง ซึ่ง สศช.ระบุว่ามีสาเหตุมาจากการลงทุนของภาคเอกชน ขยายตัวช้านั้น ดร. ยงยุทธ กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องที่น่าห่วง โดยเฉพาะการลงทุนจากต่างประเทศ เนื่องจาก ความมั่นใจการลงทุน ไม่ฟื้นตัวมาเป็นระยะหนึ่งแล้ว เพราะนักลงทุนต่างชาติ จะดูจากความมั่นคงภายในประเทศ ตราบใดที่บ้านเรายังไม่มีการเลือกตั้ง หรือยังไม่มีความเป็นประชาธิปไตย นักลงทุนอาจคลางแคลงใจได้

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของ สศช.ที่แถลงถึงภาวะสังคมไทย ไตรมาสที่ 2 ปี 2560 ก็ถือได้ว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจไทย กระเตื้องขึ้น นับตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ ที่มีตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ เริ่มที่ระดับ 0.8% แล้วขยับตัวเป็น 2%กว่าๆ แล้วค่อยๆ ขยายตัวมาที่ระดับ 3.7%

ราคาสินค้าเกษตรยังคงตกต่ำ

ทั้งนี้ การเติบโตจำเป็นต้องยืนอยู่บน 2 พื้นฐาน โดยเฉพาะฐานการส่งออกที่เป็นพื้นฐานที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ แต่กลับเติบโตช้ามาก ซึ่งอาจเนื่องจาก ตลาดต่างประเทศ หดตัวแต่ที่สำคัญอยู่ที่ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง และการหันไปหาตลาดใหม่ก็มีความยากลำบากมากขึ้น จึงทำให้เป็นเหตุให้เศรษฐกิจโตช้าแล้วลุกลามไปยังการจ้างงาน กระทบต่อการบริโภคไปโดยปริยาย เพราะคนในประเทศไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอย

“เราจะเห็นได้ว่า ความมั่นใจในการบริโภคของผู้บริโภคก็ยังไม่ดี ราคาสินค้าเกษตรก็ยังตกต่ำ ทำให้ยังมีปัญหามากในด้านการบริโภค”

แนะคนไทยอดทน-รอดูผลงานรัฐ

ดร. ยงยุทธ กล่าวว่า คนไทยจำเป็นต้องอดทนกับภาวะดังกล่าว เพื่อรอให้การขับเคลื่อนจากการลงทุน ที่ยังไม่เติบโตเท่าที่ควร ฉะนั้น จึงเหลือฐานของการใช้จ่ายของภาครัฐ (government spending) ซึ่งเงินส่วนนี้ก็มีขอบเขตจากจำนวนงบประมาณที่ประกาศใช้ แม้จะมีมูลค่ามหาศาลจากโครงการต่างๆ แต่ effective spending มีไม่มาก ตราบใดที่ยังไม่ปักธงก่อสร้าง การหมุนเงินก็ยังไม่เกิด การทำงานก็ยังไม่เกิด

ซึ่งรัฐบาลเองก็พยายามดึงเงินส่วนนี้ให้มีมากขึ้น ซึ่งอัตราส่วนของหนี้สาธารณะก็จะขยับ เพิ่มขึ้น แม้จะยังไม่อันตราย แต่ก็ต้องกู้ เพราะฐานภาษีในปัจจุบันเริ่มลดลง ทำให้การเก็บภาษีไม่ได้ตามเป้า เพราะคนไม่จับจ่ายใช้สอย ภาษีที่เกิดจากแวตจึงเก็บได้ไม่มาก

“เราคงต้องจับตาดูแนวทางของรัฐบาล ที่พยายามดูแลการใช้จ่ายของภาครัฐ หากสามารถนำเงินมาหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้เร็วเพียงใด การจ้างงานมีการกระจายตัวดี ภาคเศรษฐกิจก็น่าจะดีขึ้น”

ห่วงภาคเกษตรไร้ทางหารายได้

ดร. ยงยุทธ กล่าวถึงแนวโน้มการจ้างแรงงานภาคเกษตร ว่าในภาพรวมการจ้างงานภาคเกษตรลดลงต่อเนื่องมา 2-3 ปี เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ทำให้รายได้ไม่เพียงพอยังชีพและเกษตรต้องหาอาชีพเสริม อย่างไรก็ตามจะเห็นว่าการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการเพิ่มขึ้น ภาพที่เห็นในภาคเกษตรจึงเป็นเพียงการเคลื่อนย้ายแรงงานไปสู่ภาคอื่นหรือเป็นการเปลี่ยนงาน พบเห็นได้ในภาคเหนือและอีสาน ที่รายได้จากการเกษตรมีไม่ถึง 50% ส่วนอีกเกือบ 60 % เป็นการทำงานนอกฟาร์ม แต่การเคลื่อนย้ายแรงงานก็มีข้อจำกัด เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่มีความรู้ไม่มาก จึงมีเฉพาะงานที่ไม่ได้ใช้ทักษะสูง ซึ่งในอนาคตการเพิ่มผลิตภาพของแรงงานกลุ่มนี้จะเป็นเรื่องยาก รวมไปถึงการขยับรายได้
สินค้าแพงทำรายได้ไม่เพียงพอ

ขณะที่นายชาลี ลอยสูง ประธานกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่าเมื่อมองถึงภาวะการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น ยอมรับภาพรวมเศรษฐกิจมหภาคของประเทศดีขึ้นระดับหนึ่ง แต่ลึกๆ แล้วเศรษฐกิจพื้นล่างยังมีปัญหาอยู่การใช้จ่ายของภาคประชาชนยังต้องเจอกับสินค้าราคาแพง แรงงานบางกลุ่มยังมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย แม้ภาคส่งออกไปได้สวยแต่ตัวอื่นยังมีปัญหา

ส่วนการจ้างงานที่ลดลง โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง และการเกษตร เชื่อว่าเป็นไปตามฤดูกาล ในภาวะที่ฝนตกหนักทำให้แรงงานที่รับเงินค่าจ้างรายวันต้องหยุดงาน ยิ่งส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของประชาชน ทั้งๆ ที่ ความเป็นจริง ภาคการก่อสร้างน่าจะเป็นส่วนที่มีการจ้างงานดีที่สุด เพราะรัฐบาล มีโปรเจคขนาดใหญ่จากโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานมากมาย ที่ต้องมาหยุดชะงักในช่วงฤดูฝน ทั้งนี้ อยู่ที่ว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาตัวเลขการตกงานเหล่านี้อย่างไร

วอนรัฐบาลสร้างโอกาสเกษตรกร

ด้านแหล่งข่าวภาคเกษตรกรรมภาคอีสาน ระบุว่าปัจจุบันการจ้างงานด้านการเกษตรที่ ลดลงทำให้เกษตรกรมีรายได้ไม่เพียงพอ แม้ว่าในบางพื้นที่จะมีการส่งเสริมให้ทำอาชีพเสริม เช่นการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย แต่ด้วยสภาพ ภูมิอากาศที่ไม่อำนวย ทั้งฝนตกน้ำท่วม และฝนแล้งในบางฤดู ก็ยังทำให้เกษตรกรประสบปัญหาอย่างมากในเรื่องรายได้
ขณะที่การจะเคลื่อนย้ายไปรับจ้างในงานด้านอื่น เกษตรกรส่วนใหญ่ก็มีความรู้ไม่มาก ดังนั้นอยากเรียกร้องถึงรัฐบาลให้เข้ามาดูแลเกษตรกรที่แนวโน้มรายได้ถดถอยลงเรื่อยๆ โดยอาจให้ความรู้เพื่อสามารถประกอบ อาชีพอื่นๆ อย่างเช่น งานที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ซึ่งมีแนวโน้มเติบโต รวมทั้งงานบางอย่างในภาคอุตสาหกรรม หรือเข้ามาดูกลไกด้านราคาสินค้าเกษตรอย่างจริงจังกว่าที่ผ่านมา ให้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพได้


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 6 กันายน 2560 ใน กรุงเทพธุรกิจ “จี้ดูแลจ้างงานภาคเกษตรเคลื่อนย้ายสู่’งานบริการ'”