ในงานสัมมนา ภาพอนาคตในปี 2035 : ที่ดิน พลังงาน และน้ำในประเทศไทย จัดโดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ประเมินภาพในอนาคตของเศรษฐกิจไทยในปี 2035 หรือปี พ.ศ.2578 ประเทศไทยมีทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจใน 4 รูปแบบและมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ “แตกต่างกัน” ขึ้นอยู่กับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆ
ใน 4 รูปแบบที่มีการวิเคราะห์ความเป็นไป ได้แก่
1.ประเทศไทยสามารถประสบความสำเร็จในการยกระดับการพัฒนาประเทศด้วยการผลักดันนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยสามารถยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมในการผลิตได้ตามที่รัฐบาลวางเป้าหมายไว้จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัวเฉลี่ย 4.69% โดยมีจีดีพีภาคเกษตรขยายตัวเฉลี่ย 4.74% และจีดีพีภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเฉลี่ย 6.02%
2.กรณีที่ประเทศไทยไม่สามารถปรับเปลี่ยนการพัฒนาประเทศได้ และมีการพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบเดียวกับในอดีตในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา (Business As Usual:BAU) จีดีพีของไทยจะมีการขยายตัวเฉลี่ย 2.54% ลดลงจากปัจจุบันที่ขยายตัวในระดับ 3 – 3.5% โดยเป็นการขยายตัวของจีดีพีภาคเกษตรเฉลี่ย 1.09% และจีดีพีภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเฉลี่ย 2.93% โดยสาเหตุที่เศรษฐกิจในแบบจำลองนี้มีแนวโน้มขยายตัวลดลง เนื่องจากมี ข้อจำกัด ในเรื่องของแรงงาน และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่เป็นข้อจำกัดของการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป
3.กรณีที่เศรษฐกิจไทยมีการปรับโครงสร้างการผลิตไปสู่การผลิตแบบอุตสาหกรรมแบบเข้มข้นตัวอย่างคล้ายกับการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศเกาหลีใต้ จีดีพีจะขยายตัวเฉลี่ย 3.95% โดยจีดีพีภาคอุตสาหกรรมจะขยายตัวเฉลี่ย 6.35% ส่วนจีดีพีภาคเกษตรขยายตัวเฉลี่ยเพียง 0.98%
และ 4.กรณีที่ประเทศไทยใช้นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจที่เน้นการเติบโตของภาคเกษตรและภาคบริการในรูปแบบใกล้เคียงกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งจีดีพีโดยรวมจะขยายตัวเฉลี่ย 2.87% โดยจีดีพีภาคเกษตรจะขยายตัวสูงถึง 6.36% ขณะที่จีดีพีภาคอุตสาหกรรมจะขยายตัว 2.56% ส่วนจีดีพีภาคบริการจะขยายตัวได้ 2.28%
นอกจากนี้ ยังได้ประมาณการภาพอนาคตของการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด คาดว่าในระยะ 20 ปีข้างหน้าจีดีพีจะเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3.73 – 3.85% ต่อปี โดยผลิตภาพแรงงานของแต่ละสาขาจะเพิ่มขึ้นอย่างไม่เท่ากัน ได้แก่ ภาคเกษตรจะปรับเพิ่มขึ้น 2.53 – 2.8% ต่อปี ภาคอุตสาหกรรมจะปรับเพิ่มขึ้น 3.74 – 4.08% ต่อปี ภาคขนส่งปรับเพิ่มขึ้น 3.36 – 3.49% ต่อปี และภาคบริการปรับเพิ่มขึ้น 4.28 – 4.57% ต่อปี
ส่วนการปรับเปลี่ยนแรงงานรายสาขาคาดว่าแรงงานในภาคบริการจะเพิ่มขึ้นมากที่สุดในอัตรา 3.04 – 3.85% ต่อปี รองลงมาคือแรงงานภาคขนส่ง 1.72 – 2.16% ต่อปี แรงงานภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 1.11 – 1.48% ส่วนแรงงานต่างด้าวจะเข้ามาทดแทนแรงงานไทยได้เพียง 50-54% เท่านั้น
สำหรับในส่วนของการคาดการณ์ภาพของทรัพยากรน้ำในปี 2035 ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่าในระยะ 20 ปีข้างหน้าพบว่า ความต้องการน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของเมือง โดยความต้องการใช้น้ำต่อหัวประชากรในเขต กทม.และปริมณฑล (นครหลวง) อยู่ที่ 452 ลูกบาศก์เมตรต่อคนต่อปี ขณะที่ในภูมิภาคมีความต้องการใช้น้ำอยู่ที่ 339.84 ลูกบาศก์เมตรต่อคนต่อปี โดยหากมีการบริหารน้ำอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น คาดว่าในเมืองใหญ่อย่าง กทม.และเทศบาลเมืองต่างๆอาจมีการใช้น้ำต่อหัวลดลงตามแนวโน้มการเติบโตของประชากรที่ลดลงช้าๆ
ด้านความต้องการใช้น้ำในภาคธุรกิจคาดว่า ความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นในบางพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าใน 20 ปีนักท่องเที่ยวจะเพิ่มเป็น 50 – 60 ล้านคน ปัจจุบันการใช้น้ำจืดในพื้นที่ชายทะเลอยู่ที่ 500 ลิตรต่อคนต่อวัน ส่วนในพื้นที่อื่นๆอยู่ที่ 350 ลิตรต่อคนต่อวันซึ่งหากนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นต้องเตรียมการรองรับในส่วนนี้ด้วย
สำหรับความต้องการน้ำของโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) อาจมีปัญหาการแย่งชิงน้ำกันระหว่างภาคเศรษฐกิจ คือน้ำเพื่อการเกษตร น้ำเพื่อการท่องเที่ยวและน้ำเพื่ออุตสาหกรรม เนื่องจากในปัจจุบันการเก็บน้ำในภาคตะวันออกทำได้เพียง 12% ในขณะที่ความต้องการน้ำเพิ่มขึ้น 6-7% ต่อปี ส่วนความต้องการน้ำเพื่อสนับสนุนโครงการอีอีซีขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าจะมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นอีกเท่าใดมีเพียงการประมาณการของกรมชลประทานที่คาดว่าภาคตะวันออกจะมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นอีก 600 ล้านลูกบาศก์เมตร
แผนของกรมชลประทาน ระบุว่า สามารถจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมได้อีกประมาณ 300 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ดังนั้นในเรื่องนี้รัฐบาลควรสนับสนุนให้มีการศึกษาความต้องการน้ำภาคตะวันออกและในพื้นที่อีอีซีในเชิงลึกเพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบายที่เหมาะสม เช่น การใช้เทคโนโลยี หรือการซื้อน้ำจากต่างประเทศ
สำหรับประเด็นการเก็บค่าน้ำหรือค่าใช้น้ำในภาคเกษตร ดร. นิพนธ์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าวเนื่องจากน้ำเป็นทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดควรใช้ให้มีคุณค่าซึ่งการจัดเก็บไม่ได้จัดเก็บในอัตราที่สูงแต่เป็นการจัดเก็บเพื่อให้เกษตรกรเกิดความตระหนักและใช้น้ำอย่างประหยัด
ดร. อุชุก ด้วงบุตรศรี อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวถึงภาพอนาคตการเกษตรและการใช้ที่ดินของประเทศในระยะ 20 ปี ข้างหน้าว่าการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรจะลดลงจาก 138 ล้านไร่ในปี 2557 เหลือ 122 – 132 ล้านไร่ภายในปี 2030 หรือลดลงประมาณ 12% โดยที่ดินจะถูกนำไปใช้เป็นที่อยู่อาศัยและรองรับการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินของประเทศจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ได้แก่ การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อการเพาะปลูกมากขึ้น การบังคับใช้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่กำลังอยู่ในการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และพ.ร.บ.เช่าที่ดินเพื่อการเกษตรฉบับใหม่ ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) รวมทั้งการขยายตัวของชุมชนเมือง อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวที่จะมีผลโดยตรงต่อการขยายตัวของพื้นที่เกษตร
ดร. วิชสิณี วิบุลผลประเสริฐ นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวถึง แนวโน้มของความต้องการพลังงานของประเทศไทยในอีก 20 ปีข้างหน้าว่า การใช้พลังงานของประเทศโดยรวมมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น 0.5 – 5% ต่อปีขึ้นอยู่กับการเพิ่มการใช้เทคโนโลยีพลังงานที่มีความเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งปัจจัยเรื่องการใช้เทคโนโลยีใหม่จะมีผลทำให้การใช้และความต้องการพลังงานเปลี่ยนแปลงไปจากในปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง เช่น การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า อาจจะทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนจากประเทศผู้นำเข้าน้ำมันดิบ มาเป็นการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือถ่านหินเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar PV) และการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) ก็อาจทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าเปลี่ยนเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ามากขึ้น และทำให้การผลิตไฟฟ้าจากฟอสซิลในส่วนของที่อยู่อาศัยลดน้อยลง
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 9 กันยายน 2560 ในชื่อ เปิด 4 โมเดลเศรษฐกิจ อนาคตไทยปี 2030