“ตบมือข้างเดียวไม่ดัง” ปมแรงงานต่างด้าว-คนข้ามแดนผิดกฎหมาย เหตุโควิดแพร่กระจายรอบสอง

รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์

ในช่วงเดือนสิงหาคม 2563 ผู้เขียนได้เคยให้สัญญาณกับรัฐบาลเตรียมความพร้อมรับมือปัญหาแรงงานบางส่วนที่กลับมาจากประเทศเพื่อนบ้านและถ้าดูแลไม่ดีแรงงานที่กลับเข้ามานี้จะทำให้เกิดการระบาดรอบสองซึ่งข้อเสนอเดิม[1] มีสาระสำคัญ คือ เจ้าหน้าที่รัฐต้องระมัดระวังการลักลอบเข้ามาทำงานของแรงงานต่างด้าวโดยไม่ผ่านการตรวจโควิด-19 และการเตรียมพร้อมรับการกักตัวแรงงาน โดยหาแนวทางจูงใจให้นายจ้างมีพื้นที่กักตัวลูกจ้าง หรือ Organizational Quarantine (OQ) ก่อนนำเข้าแรงงานกลับเข้ามาทำงาน แต่ต้องไม่สร้างภาระแก่นายจ้างมากเกินไป 

ข้อเสนอ คือ ให้แรงจูงใจนายจ้างโดยลดค่าดูแลกักตัวลูกจ้างจากประมาณ 1,600 บาท เหลือประมาณ 1,000 บาทต่อคนต่อวัน และให้คู่สามีภรรยาอยู่ด้วยกันได้

จากข้อเสนอนี้ที่ผ่านมาพบว่า มีการตั้ง Local Quarantine (LQ) ในบริเวณชายแดนภาคใต้ แต่สำหรับค่าดูแลในส่วนนั้น ยังไม่มีข้อมูลว่าทางราชการได้มีการนำข้อเสนอแนะไปพิจารณาหรือไม่

ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 ก็เกิดความหละหลวมปล่อยให้มีการลักลอบเข้ามาทำงานของแรงงานต่างด้าวโดยไม่ผ่านการตรวจโควิด-19  ส่งผลกระทบเกิดการระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรง (Super spreader) ในเขตที่มีแรงงานต่างด้าวอยู่อย่างหนาแน่น คือ จังหวัดสมุทรสาคร รวมไปถึงการลักลอบข้ามแดนของกลุ่มคนทำงานในสถานบันเทิง และผู้เล่นพนันในฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลลุกลามมาจนถึงทุกวันนี้

ผลที่เกิดขึ้นสะท้อนว่าแนวทางปฏิบัติไม่ได้เป็นไปในทิศทางที่คาดหวังไว้ กล่าวคือ ถ้าดูแลชายแดนอย่างจริงจังกว่านี้ มีความเข้มงวดจริงจังปฏิบัติตามกฎหมายทั้งกับนายจ้างและนายหน้า “เถื่อน” ผู้นำพาแรงงานผิดกฎหมายเข้ามา และถ้าไม่มีพวก “ผีพนัน” ก็จะไม่เกิด Super spreader อีกรอบ เป็นปัญหาให้เกิดความสูญเสียทางด้านทรัพยากรในการควบคุมการระบาดและเกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาลหลายแสนล้านบาท

ปัญหาเรื่องการระบาด โควิด-19 รอบนี้เกิดขึ้นทั้งในส่วน กลุ่ม “ที่ทำธุรกิจสีเทา” หรือธุรกิจใต้ดินที่อาศัยนายหน้าเถื่อน (คนต่างด้าว) และผีพนัน (คนไทย) ที่ไม่ใช้ช่องทางทำสัมมาอาชีพตามปกติ กอรปกับความเห็นแก่ได้ของเจ้าพนักงานและผู้บังคับใช้กฎหมายที่สมประโยชน์ร่วมด้วย ทำให้เกิดช่องโหว่การระบาดอย่างรุนแรงในรอบสอง

เรื่องของแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเป็นเรื่องที่เกิดในสภาวะ “ตบมือข้างเดียวไม่ดัง” คือ มีนายจ้างบางคนยอมเสี่ยงใช้คนผิดกฎหมายมาทำงานเพื่อแลกกับค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าการนำเข้าตามปกติ (ซึ่งมีต้นทุนไม่ต่ำกว่า 3-4 หมื่นบาทต่อคนต่อการเข้ามาทำงาน 2 ปี) คือจ่ายเพียงประมาณ 6,000-10,000 บาทต่อคน และไม่ต้องจ่ายค่าตรวจโรค ค่า Work permits ค่าประกันสังคม ขณะที่แรงงานต่างด้าวเองไม่ต้องจ่ายเงินค่านายหน้าหลายหมื่นบาทดังได้กล่าวมาแล้ว

ธุรกิจสีเทาสนับสนุนแรงงานผิดกฎหมายนี้เกิดจากตัวกลาง 2 ฝ่ายคือ นายหน้าเถื่อนและเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลกฎหมายในทุกระดับ “ถ้าเป็นภาวะไม่เกิดโรคระบาดโควิด-19 คงไม่มีปัญหาอะไร ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ปิดเงียบแต่คราวนี้ความมา “แดง” ตรงที่คนต่างด้าวผิดกฎหมายที่ลักลอบนำพาเข้ามาอยู่ปนเปกับเพื่อนฝูง ญาติพี่น้องอย่างแออัด ขาดสุขอนามัยในชุมชนต่างด้าว” นำเอาโควิด-19ที่ติดมาเข้ามาด้วย ซึ่งคาดว่าเป็นเชื้อไวรัส โควิด-19สายพันธุ์ใหม่ที่สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วทั้งในหมู่คนไทยที่เกี่ยวข้องกับคนงานต่างด้าวที่ติดเชื้อดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม แรงงานต่างด้าวที่ยังอยู่ในไทย แต่ไม่ได้จดทะเบียนและได้รับการผ่อนผันให้อยู่ถึงเดือนมกราคม 2564 คนกลุ่มนี้จะไม่มีนายจ้าง เรื่องนี้ทางรัฐบาลได้มีมติ ครม. เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 “ผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติอยู่ในราชอาณาจักรได้ทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส” ระลอกใหม่ โดยใช้ ม.17 ของ พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ให้คนต่างด้าวรวมถึงผู้ติดตาม ซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าวอยู่ในไทยได้ตามสิทธิของบิดาหรือมารดา โดยเริ่มนับตั้งแต่ 15 มกราคม 2564 เป็นต้นไป

คชจ.ต่างด้าวจดทะเบียนรอบใหม่ อีกเรื่องใหญ่ที่จะตามมา

ความห่วงใยกลุ่มแรงงานต่างด้าวอยู่อย่างผิดกฎหมายจะได้รับการขึ้นทะเบียนประวัติจึงไม่ใช่ประเด็นอีกต่อไป แต่จะเป็นประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนรอบใหม่ ที่ต้องมีการตรวจคัดกรองโควิด-19 และโรคต้องห้ามตามวิธีการกระทรวงสาธารณสุข (ประกันสุขภาพ 2 ปี) ต้องทำให้เสร็จภายใน 13 เมษายน 2564 และต้องขออนุญาตทำงานต่อกรมการจัดหางานภายใน 13 กันยายน 2564 ซึ่งค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมอนุญาตทำงาน ค่าตรวจคัดกรองโควิด-19 ค่าตรวจโรคต้องห้าม ค่าประกันสุขภาพ ค่าจัดทำปรับปรุงทะเบียนประวัติ และออกบัตรประจำตัวคนไม่มีสัญชาติไทย รวมค่าใช้จ่ายประมาณ 8,000 ถึง 10,000 บาท ซึ่งคนงานเหล่านี้ยังไม่ได้ทำงานและไม่มีเงินสำรองจ่าย จะเกิดปัญหาเรื่องการจดทะเบียนครั้งนี้

ค่าธรรมเนียมต่างๆ ของแรงงานต่างด้าว
ที่ต้องเตรียมเป็นค่าใช้จ่าย
บาท
– ค่าคำร้องขออนุญาตทำงาน100
– ค่าตรวจสุขภาพ 2 ปี1,000
– ค่าลงตราวีซ่า/ปี1,900
– ค่าตรวจโควิด-19 ยังไม่ทราบต้องจ่ายหรือไม่
– ค่าใบอนุญาตทำงาน 2 ปี1,800
– ค่าประกันสุขภาพ 2 ปี1,200
– ค่าปรับปรุงทะเบียนประวัติ80
– หลักประกันในการนำแรงงานต่างด้าวเข้าประเทศ1,000
รวม7,080

แรงงานที่ได้รับจดทะเบียนเป็นกรณีพิเศษ น่าจะมีจำนวนนับแสนคน โดยในขณะนี้แรงงานกลุ่มนี้กำลังเดือดร้อนเรื่องปัจจัยสี่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนหลังจากพวกเขาได้รับการผ่อนผันให้ได้รับการจดทะเบียนตามมติ ครม.เมื่อ วันที่ 29 ธันวาคม 2563

ผู้เขียนมีข้อเสนอที่เห็นว่าควรคิดพิจารณา เพื่อเตรียมรับมือให้ทันกับสถานการณ์ดังกล่าว สำหรับกลุ่มแรงงานที่รอการจดทะเบียนเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งจะมีการ “เปลี่ยนนายจ้าง/อาชีพ/พื้นที่” ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ดังนี้

1) จากการประมาณการณ์ค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนใหม่ข้างต้นประมานคนละ 10,000 บาท จะมีรายการไหนบ้างที่สามารถลดหย่อนหรือไม่เก็บจากแรงงานต่างด้าวที่ต้องจดทะเบียนใหม่ (ปลอดจากโควิด-19 แล้ว) และเพิ่งได้สิทธิ์ลงทะเบียนให้ทำงานได้

2) จะทำอย่างไรให้พวกเขาสามารถได้งานมีนายจ้างโดยเร็ว เพื่อให้นายจ้างช่วยออกค่าใช้จ่ายให้ก่อนแล้วหักเงินเดือนภายหลัง กรมการจัดหางานน่าจะช่วย Matching แรงงานกับนายจ้างให้ได้ เช่น ผ่านระบบไทยมีงานทำ และการประชาสัมพันธ์ให้เข้มข้นตั้งแต่บัดนี้

3) เพื่อความอยู่รอดในช่วงเปลี่ยนผ่านที่นายจ้างยังต้องการใช้แรงงานต่างด้าวและแรงงานต่างด้าวต้องการนายจ้าง แรงงานต่างด้าวต้องกินต้องใช้ทุกวัน (พวกเขาไม่ได้รับการเยียวยาหรือลดภาระใดๆเหมือนคนไทย) ต้องช่วยกันให้ความช่วยเหลือปัจจัยสี่ ค่ากินอยู่ชั่วคราว ค่าที่พักพิง จนกว่าจะได้รับการจดทะเบียนครบถ้วนสมบูรณ์

เจ้าของสถานประกอบการ นายจ้าง ภาคประชาสังคม NGOs และผู้ต้องการให้ความช่วยเหลือทั่วไปสามารถช่วยเหลือพวกเขาที่อยู่ในไทยอยู่แล้วได้ หากคนกลุ่มนี้ต้องกลับประเทศด้วยเหตุปัจจัยที่กล่าวมา สถานประกอบการจะต้องใช้จ่ายอย่างน้อย 3-4 หมื่นบาทต่อแรงงาน 1 คนที่จะนำเข้ามาตาม MOU ช่วงหนึ่งเดือนนี้จึงเป็นโอกาสทองของนายจ้างที่ต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวโดยแท้

อ่านบทความวิเคราะห์ฉบับเต็มได้ที่นี่


[1] ผลกระทบของ Covid-19 ที่มีผลต่อการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย