ต่อยอด ‘SME’ ให้โต ด้วยข้อมูลที่ไม่ใช่การเงิน

ยศ วัชระคุปต์

เอสเอ็มอี มีความสำคัญมากแค่ไหน อาจลองดูว่า ในชีวิตประจำวันเราได้ ข้องเกี่ยวกับสินค้า-บริการการผลิต จากเอสเอ็มอีบ้างหรือไม่

ข้อมูลในปี 2563 พบว่าประเทศไทยมี Small and Medium Enterprises (SME) หรือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จำนวน 3 ล้านกว่าราย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 99.8 ของจำนวนวิสาหกิจทั้งประเทศ มีความสำคัญไม่ใช่เพียงเข้าถึงผู้บริโภค-ผู้รับบริการในทุกพื้นที่ แต่ยังมีการจ้างงานกว่า 12 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 82.2 ของการจ้างงานทั้งประเทศ และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจจำนวน 6,551,718 ล้านบาท คิดเป็น สัดส่วนร้อยละ 42.2 จีดีพี

เมื่อธุรกิจเอสเอ็มอีอยู่รอด ภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่แท้จริง (Real Sector) ก็จะอยู่รอดได้เช่นกัน แต่เอสเอ็มอีไทยอาจไม่สามารถอยู่รอดได้ง่าย ซึ่งไม่ใช่เพราะไม่มีศักยภาพ แต่สภาพแวดล้อมไม่เอื้อให้เกิดการต่อยอด เติบโต

โดยเฉพาะเมื่อติดปัญหา ด้านการเงิน เพราะขาดโอกาสได้มาซึ่ง สินเชื่อ เนื่องจากการประเมินความน่าเชื่อถือ ต่อเอสเอ็มอีในประเทศไทย เน้นให้ความสำคัญกับข้อมูลด้านการเงินเป็นหลัก ซึ่งตามเกณฑ์การประเมินดังกล่าว เอสเอ็มอีมักมีงบการเงินไม่น่าเชื่อถือ ขาดระบบบัญชีที่ดี และไม่มีการเก็บเอกสารการค้าอย่างเป็นระบบ เกณฑ์ประเมินนี้จึงมีความไม่เหมาะสมกับบริบทและคุณลักษณะของเอสเอ็มอี

การศึกษาการกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ ที่ถือเป็นช่องทางระดมทุนที่สำคัญที่สุดสำหรับเอสเอ็มอีไทยในปี 2556 พบว่า เอสเอ็มอี มียอดการกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์รวม4 ล้านล้านบาท และมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในอัตราเฉลี่ยที่สูงกว่าร้อยละ 10 ต่อปี อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันเอสเอ็มอีของไทยส่วนใหญ่ยังมีปัญหาไม่สามารถใช้บริการทางการเงินของสถาบันการเงินในระบบได้เท่าที่ควร

สินเชื่อเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอีต่อยอดของธนาคารพาณิชย์ในช่วงปี 2557-2561 มีแนวโน้ม ลดลง และมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 34-35 และเมื่อพิจารณาสัดส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอีต่อยอดสินเชื่อรวมพบว่า ของไทยอยู่ที่ระดับร้อยละ 50.5 ในปี 2560 ซึ่งยังน้อยเมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศ หากเกณฑ์การประเมินสำหรับ เอสเอ็มอีถูกจำกัดตัวชี้วัดความน่าเชื่อถือด้วยข้อมูลทางการเงินเท่านั้น เอสเอ็มอีไทย จะขาดโอกาสต่อยอดธุรกิจ

ดังนั้น เพื่อขยายศักยภาพให้กับเอสเอ็มอี เพิ่มแต้มต่อในการเข้าถึงแหล่งเงินสำหรับต่อยอดธุรกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จึงได้เสนอนำข้อมูล ตัวชี้วัดข้อมูลด้านที่ไม่ใช่การเงิน (nonfinancial data) หรือข้อมูลเชิงคุณภาพ 4 ส่วนมาพิจารณาเพิ่มเติม ได้แก่ (1) ข้อมูลด้านกิจการ/สถานประกอบการ เช่น ระดับการศึกษา ประสบการณ์ทำงาน สุขภาพ เครือข่าย การพัฒนาบุคลากร (2) ด้านการตลาด เช่น ส่วนแบ่งตลาด/อันดับในตลาด ช่องทาง การขาย (3) ด้านการผลิตสินค้า/บริการ เช่น การทำวิจัยและพัฒนา และการยื่นขอทรัพย์สิน ทางปัญญา และ (4) ด้านข้อมูลอื่นๆ เช่น ข้อมูลดิจิทัล

แนวทางนี้มีหลายหน่วยงานเก็บข้อมูลอยู่บ้าง แต่ยังไม่มีการทำอย่างเป็นระบบและไม่ถูกให้ความสำคัญมากเท่าข้อมูลการเงิน ต่างจากในหลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ที่ได้ ใช้ข้อมูลที่ไม่ใช่การเงินถึงร้อยละ 75 มาพิจารณาให้คะแนนความน่าเชื่อถือและต่อยอด ธุรกิจเอสเอ็มอีในกลุ่มสตาร์ทอัพ

สำหรับประเทศไทย ผลการศึกษาพบว่ามีความเป็นไปได้หากแก้ไขอุปสรรคและข้อจำกัด ดังนี้

  • ข้อจำกัดในการเรื่องข้อมูลเอสเอ็มอี ทำให้ไทยยังไม่มีฐานข้อมูลเอสเอ็มอี ที่ผ่านมา การเก็บข้อมูลของเอสเอ็มอียังกระจายตัวอยู่ตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ โดยบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) ซึ่งเป็น หน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นมาเป็นการเฉพาะสำหรับเก็บข้อมูลพฤติกรรมการเงินของบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล แต่ข้อมูลที่เก็บได้ก็ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นเอสเอ็มอีหรือไม่

ส่วนแหล่งทุนประเภทธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะ และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) นั้น แม้ว่าสามารถระบุว่าเป็นผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีได้ แต่มีข้อมูลเฉพาะเอสเอ็มอีที่มาขอใช้บริการเท่านั้น อีกทั้งหน่วยงานต่างๆ ที่มีข้อมูลไม่ได้มีการแชร์ข้อมูลกัน จึงเป็น ข้อจำกัดในการสร้างฐานข้อมูลเอสเอ็มอี ระดับประเทศของไทย ในขณะที่กรณีศึกษาในต่างประเทศมีระบบฐานข้อมูลระดับประเทศ อันได้แก่ FIBEN ของประเทศฝรั่งเศส CRD ของประเทศญี่ปุ่น และ KED ของประเทศเกาหลีใต้

  • เมื่อการเก็บข้อมูลกระจัดกระจาย ทำให้เกิดปัญหาที่สองตามมาคือ ทำให้แต่ละหน่วยงานทำการประเมินความน่าเชื่อถือของ เอสเอ็มอีได้เฉพาะกลุ่มที่มีข้อมูล นี่คือปัญหาที่ประเทศไทยควรมีหน่วยงานประเมินความน่าเชื่อถือของเอสเอ็มอีเป็นการเฉพาะ
  • ขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ ถึงแม้ว่าสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจะเป็นหน่วยงานหลักที่สนับสนุนเอสเอ็มอี แต่เนื่องจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในระดับไมโครมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 85.7 ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และกลุ่มนี้ไม่ค่อยเข้าสู่ระบบ จึงเป็นข้อจำกัดในการระบุเป้าหมาย ส่งผลให้ความช่วยเหลือของภาครัฐอาจไม่ครอบคลุมไปถึงได้
  • อีโคซิสเต็มของประเทศไทยไม่จูงใจให้เอสเอ็มอีเข้าสู่ระบบ เช่น การออกนโยบายที่จะนำจำนวนธุรกรรมออนไลน์ มาใช้ในการประเมินภาษีของกรมสรรพากร ทำให้เอสเอ็มอีลังเลที่จะใช้อีเพย์เมนท์ เนื่องจากกังวลในการเสียภาษีและยังคงซื้อขาย ด้วยเงินสด อันเป็นอุปสรรคต่อการนำข้อมูลด้านที่ไม่ใช่การเงินมาใช้ประเมินความน่าเชื่อถือ ของเอสเอ็มอี

แน่นอนว่าตัวชี้วัดด้านการเงิน (financial data) ย่อมมีความเหมาะสมมากกว่าในการนำมาคิดประเมินอันดับความน่าเชื่อถือของเอสเอ็มอี แต่ในความเป็นจริง เอสเอ็มอี (โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา) ไม่ได้มีความพร้อม ทางด้านข้อมูลและบัญชีทางการเงินถึงขนาดที่จะสามารถนำมาวิเคราะห์ความ น่าเชื่อถือ ด้วยเหตุนี้ ข้อมูลด้านที่ไม่ใช่ การเงิน (non-financial data) จึงเข้ามา มีบทบาทสำคัญในการที่จะเสริมหนุนให้เอสเอ็มอีมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 8 เมษายน 2564


ยศ วัชระคุปต์

นักวิจัยอาวุโส นโยบายด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง มีความสนใจและเชี่ยวชาญในด้านสวัสดิการ หลักประกันทางสังคมและสุขภาพ การส่งเสริมศักยภาพกลุ่มเปราะบาง รวมทั้งศักยภาพทางเศรษฐกิจของกลุ่ม SME

ผลงานล่าสุดจากทีดีอาร์ไอ