tdri logo
tdri logo
24 พฤษภาคม 2021
Read in Minutes

Views

ข้อเสนอการเชื่อมโยง “มาตรการควบคุมโรค” กับ “มาตรการเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม” เพื่อรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่สามของไทย

ผศ.นพ.บวรศม ลีระพันธ์[1]
ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง [2]
ดร.สมชัย จิตสุชน[3]

การระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่สามของไทย ซึ่งเริ่มขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2564 มีความรุนแรงมากกว่าการระบาดในระลอกแรกเมื่อต้นปี 2563 และระลอกที่สองที่เริ่มเมื่อปลายปี 2563 เป็นอย่างมาก และจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่เห็นแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จในการควบคุมโรคในระลอกนี้ในเร็ววัน ถึงแม้ว่าการระบาดระลอกที่สามเริ่มต้นจากการระบาดแบบกลุ่ม (epidemic cluster) ในสถานบันเทิงในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเป็นหลัก แต่การระบาดระลอกนี้เกิดจากเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์อังกฤษ B.1.1.7 ที่มีความสามารถในการแพร่เชื้อมากกว่าสายพันธุ์เดิมมาก การติดเชื้อจึงแพร่กระจายไปในประชากรกลุ่มต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง และยังคงมีการระบาดแบบกลุ่มอย่างต่อเนื่องในชุมชนเมือง ซึ่งการควบคุมโรคยังคงมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถกักหรือแยกโรคได้อย่างเต็มที่ในบางพื้นที่หรือบางบริบท โดยเฉพาะการระบาดในชุมชนแออัดหรือชุมชนแรงงานข้ามชาติในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

การที่เรายังมีปัญหาในการควบคุมการระบาดในระลอกที่สามนี้ ก่อให้เกิดผลกระทบในหลายด้าน ทั้ง (ก) ผลกระทบด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะความต้องการสถานที่กักแยกโรคและสถานที่รักษาพยาบาลซึ่งเพิ่มสูงขึ้นจนใกล้ถึงขีดจำกัดของระบบบริการสุขภาพของประเทศ (ข) ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ เช่น การควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจของผู้ประกอบการทำให้เกิดการตกงานหรือการขาดรายได้ของประชาชนกลุ่มฐานราก และ (ค) ผลกระทบด้านสังคม เช่น นโยบายปิดโรงเรียนและข้อจำกัดของการเรียนแบบออนไลน์ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความถดถอยด้านการเรียนรู้ของนักเรียนในระยะยาว

การดำเนินนโยบายและมาตรการของรัฐในปัจจุบัน

การที่เรายังไม่ประสบความสำเร็จในการควบคุมโรคในระลอกนี้ ถ้ามองจากภาครัฐ ก็อาจเป็นผลมาจาก 1) การเลือกใช้นโยบายหรือมาตรการควบคุมโรคบางอย่างซึ่งไม่มีประสิทธิผลเต็มที่ หรือไม่ได้ใช้นโยบายหรือมาตรการควบคุมโรคบางประการซึ่งมีข้อมูลเชิงวิชาการที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิผล หรือ 2) การกำหนดนโยบายภาครัฐหรือมาตรการควบคุมโรคที่ดีและครบถ้วนแล้ว แต่การปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวยังคงทำได้อย่างจำกัดในบางบริบท

ในเบื้องต้น เราอาจพิจารณาการดำเนินนโยบายของรัฐบาลไทยในปัจจุบันได้หยาบ ๆ จากการประมวลของกลุ่มนักวิจัยจาก The Oxford COVID-19 Government Response Tracker (OxCGRT) มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ซึ่งเปรียบเทียบนโยบายรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ของรัฐบาล 180 ประเทศทั่วโลก โดยสรุปแยกตามนโยบาย 19 กลุ่มที่แสดงในตารางที่ 1  ซึ่งจากการสรุปของนักวิจัยกลุ่มนี้ บ่งชี้ว่าประเทศไทยมีการดำเนินการด้านการควบคุมการระบาด (containment and closure) ที่ค่อนข้างครบถ้วนและครอบคลุมทุกกลุ่มประชากร แต่ยังขาดมาตรการด้านการปรับระบบสุขภาพ (health systems measures) เช่น มาตรการตรวจและติดตามผู้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในประชากรบางกลุ่ม (เช่น ประชากรในชุมชนแออัดและชุมชนแรงงานข้ามชาติ) และอาจยังมีการดำเนินมาตรการด้านเศรษฐกิจ (economic response) รวมทั้งมาตรการเยียวยาที่ค่อนข้างจำกัด

ตารางที่ 1 สรุปนโยบายรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ของรัฐบาลทั่วโลก จากการสังเคราะห์ของกลุ่มนักวิจัยจาก The Oxford COVID-19 Government Response Tracker (OxCGRT)  

ที่มา: https://www.bsg.ox.ac.uk/covidtracker

นอกจากประเด็นความครบถ้วนของการดำเนินนโยบายทั้ง 19 กลุ่มแล้ว การแยกส่วนของกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายเพื่อจัดการปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รับผิดชอบนโยบายด้านการควบคุมการระบาดและการปรับระบบสุขภาพ แยกส่วนจากกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายและการดำเนินมาตรการเยียวยาด้านเศรษฐกิจและสังคมซึ่งบริหารจัดการโดยศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ก็อาจทำให้การดำเนินมาตรการของ ศบค. และ ศบศ. ไม่สอดคล้องกันหรือยังไม่เสริมกันในแต่ละช่วงเวลา หรือผู้กำหนดนโยบายภาครัฐไม่สามารถใช้มาตรการควบคุมโรคที่มีประสิทธิผลเต็มที่ หรือไม่ได้ออกแบบมาตรการเยียวยาด้านเศรษฐกิจและสังคมที่ช่วยสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคในบางบริบท

ข้อเสนอ

การบูรณาการมาตรการควบคุมโรคและมาตรการลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนและประชาชนให้ความร่วมมือกันปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคให้ได้ประสิทธิผลเต็มที่ นอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิผลและประสิทธิภาพของนโยบายควบคุมโรคซึ่งช่วยลดผลกระทบด้านสาธารณสุขแล้ว ยังอาจช่วยลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมได้ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดผลกระทบด้านสาธารณสุขหรือผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมก่อนแล้วจึงออกมาตรการเยียวยาตามหลัง

ตัวอย่างการเชื่อมโยงมาตรการควบคุมโรคกับมาตรการด้านเศรษฐกิจและสังคม ที่ควรนำมาใช้ในระหว่างการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่สามนี้ได้แก่

  1. การสร้างแรงจูงใจของความร่วมมือในการเข้าตรวจคัดกรอง และการช่วยเหลือผู้ถูกกักตัวและครอบครัว เนื่องจากมาตรการเฝ้าระวังสอบสวนโรคในเชิงรุกมีผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะประชากรกลุ่มเปราะบางในชุมชนแออัดนับล้านคนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เช่น ประชากรกลุ่มดังกล่าวอาจไม่มีแรงจูงใจที่จะร่วมมือในการเข้าตรวจคัดกรอง เพราะกลัวว่าหากพบเชื้อจะต้องถูกกักตัว ซึ่งอาจหมายถึงการขาดรายได้ กระทบต่อการดำเนินชีวิตของตนเองและสมาชิกในครอบครัว ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาความเดือดร้อนทางการเงินให้กับผู้ติดเชื้อที่เป็นลูกจ้างรายวัน แรงงานนอกระบบ และคนฐานราก รัฐควรจ่ายเงินทดแทนขั้นต่ำอย่างน้อยสิบสี่วันหรือตามจำนวนวันที่กักตัวหรือแยกรักษาตัว รวมทั้งมีมาตรการช่วยให้บุคคลและสมาชิกของครอบครัวเหล่านั้นมีงานทำ มาตรการเหล่านี้จะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้คนฐานรากที่เสี่ยงติดเชื้อ เต็มใจเข้ามารับการตรวจและกักตัวมากขึ้น ซึ่งถ้าทำได้และสามารถดำเนินการได้ครอบคลุมพอ ก็น่าจะช่วยบรรลุเป้าหมายลดการแพร่ระบาดให้ลงมาสู่ระดับที่ควบคุมได้ในเร็ววัน เช่น เข้าสู่สถานการณ์ที่มีการติดเชื้อรายใหม่ไม่เกิน 300 รายต่อวันใน กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
  2. การจ้างงานระยะสั้นในกลุ่มคนที่เชื่อมโยงกับพื้นที่การระบาด ควรเน้นการว่าจ้างผู้ประกอบการหรือประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 หรือได้รับผลกระทบจากนโยบายการควบคุมโรคโควิด-19 เช่น สร้างการจ้างงานชั่วคราวให้พนักงานโรงแรม ร้านอาหาร และพนักงานขับรถ ทำหน้าที่ทำอาหารหรือขนส่งอาหารให้กับอาสาสมัครหรือประชาชนในพื้นที่ระบาดซึ่งจำเป็นต้องกักตัวในบ้าน หรือการว่าจ้างงานชั่วคราว ให้ประชาชนกลุ่มที่ตกงานที่มีความพร้อมเข้ารับการฝึกอบรมให้ทำหน้าที่คนดูแลผู้ป่วยติดเตียง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกที่สาม เช่น ผู้ป่วยที่อยู่อาศัยเพียงคนเดียวในบ้าน เพราะญาติผู้ดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิดหรือจำเป็นต้องเข้ารับกักตัวเพื่อสังเกตอาการจนไม่สามารถให้การดูแลผู้ป่วยได้
  3. การสร้างแรงจูงใจในการเข้ารับการฉีดวัคซีนของประชาชน ซึ่งอาจประกอบด้วยทั้งมาตรการเพื่อสร้างแรงจูงใจด้านการเงิน เช่น การให้รางวัลสำหรับผู้เข้ารับการฉีดวัคซีน ซึ่งอาจใช้การสุ่มจาก serial number ของวัคซีนที่ฉีด  และมาตรการเพื่อสร้างแรงจูงใจที่ไม่ใช่การเงิน เช่น การแจกอาหารหรือเครื่องดื่มสำหรับผู้มาเข้ารับการฉีดวัคซีนตามกำหนดที่ลงทะเบียนไว้ล่วงหน้า  

บทสรุป

รัฐบาลสามารถเพิ่มประสิทธิผลในการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 โดยบูรณาการนโยบายและมาตรการควบคุมโรคซึ่งบริหารจัดการโดยศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กับมาตรการช่วยเหลือเยียวยาด้านเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนกลุ่มเปราะบาง ซึ่งบริหารโดยศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ให้สอดคล้องและเสริมกันในแต่ละช่วงเวลา รวมทั้งช่วยปิดช่องว่างของการดำเนินมาตรการควบคุมโรคบางอย่างซึ่งยังไม่มีประสิทธิผลเต็มที่ สร้างแรงจูงใจด้านเศรษฐกิจมีผลต่อการควบคุมโรค ช่วยส่งเสริมการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคสำหรับประชาชนบางกลุ่มหรือบางบริบท โดยเฉพาะการสร้างความร่วมมือในการเข้าตรวจคัดกรอง และการช่วยเหลือผู้ถูกกักตัวและครอบครัว สร้างการจ้างงานระยะสั้นในกลุ่มคนที่เชื่อมโยงกับพื้นที่การระบาด และการสร้างแรงจูงใจในการเข้ารับการฉีดวัคซีนของประชาชน


เอกสารอ้างอิง

  1. Hale T, Angrist N, Goldszmidt R, Kira B, Petherick A, Phillips T, et al. A global panel database of pandemic policies (Oxford COVID-19 Government Response Tracker). Nat Hum Behav [Internet]. 2021;5(4):529–38. Available from: https://doi.org/10.1038/s41562-021-01079-8

[1] ผศ.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ รองผู้อำนวยการศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

[2] ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายด้านสาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

[3] ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)


นอกจากข้อเสนอการเชื่อมโยง “มาตรการควบคุมโรค” กับ “มาตรการเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม”แล้ว ยังมีอีกหลายมาตรการที่ควรดำเนินการอย่างเร่งด่วน ผู้สนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ดังนี้

* อยู่ระหว่างดำเนินการ สามารถติดตามได้ทาง tdri.or.th

นักวิจัย

ดร. สมชัย จิตสุชน
ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง
ดร. วิโรจน์ ณ ระนอง
ผู้อำนวยการวิจัย ด้านสาธารณสุขและการเกษตร

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด