ขึ้นทะเบียน สนง.สอบบัญชี เพิ่มคุณภาพระบบควบคุม

บทบาทของการสอบบัญชีในตลาดทุนมีความสำคัญในฐานะผู้จัดทำรายงานทางการเงินที่บ่งบอกสุขภาพของกิจการว่ามีสุขภาพเป็นอย่างไร ซึ่งจะส่งสัญญาณให้กับนักลงทุนในการเลือกลงทุนในกิจการดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้สอบบัญชีไม่ได้แสดง ความเห็นต่อรายงานทางการเงินให้เป็นไป ตามมาตรฐานหรือจริยธรรมการสอบบัญชีแล้วผลกระทบที่เกิดขึ้นก็คือ รายงานทางการเงิน อาจจะไม่สะท้อนสภาพที่แท้จริงของกิจการและส่งผลกระทบให้นักลงทุนได้รับความเสียหายจากการลงทุนในกิจการที่มีปัญหา

ด้วยเหตุดังกล่าวสำนักงาน ก.ล.ต. จึงกำหนดให้ผู้สอบบัญชีของกิจการในตลาดทุน จะต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. โดยกำหนดคุณสมบัติในแง่ของประสบการณ์ทำงานไว้ในระดับสูง โดยจะต้องเป็นผู้สอบบัญชี ระดับหัวหน้าสำนักงานหรือผู้สอบบัญชีระดับหุ้นส่วน ซึ่งเป็นระบบการกำกับดูแลในงานสอบบัญชีในตลาดทุนในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม การมุ่งกำกับดูแลผู้สอบบัญชีเป็นรายบุคคล มีข้อเสียคือ เมื่อเกิดความบกพร่องในงานสอบบัญชีจากการไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานหรือจริยธรรมการสอบบัญชี ความบกพร่องในลักษณะดังกล่าวจะกลายเป็นความบกพร่องเฉพาะส่วนตัวของผู้สอบบัญชีเพียงคนเดียว ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วข้อบกพร่องนั้นอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบควบคุมคุณภาพของสำนักงานสอบบัญชี

ตัวอย่างเช่น ในกรณีผู้สอบบัญชีคนหนึ่ง ของสำนักงานสอบบัญชีไม่ได้ตรวจสอบให้ได้เอกสารหลักฐานที่เชื่อถือได้อย่างเพียงพอ ทำให้แสดงความเห็นต่อรายงานทางการเงิน ผิดพลาด ทั้งๆ ที่ผู้สอบบัญชีจะต้องแสดงความเห็นแบบมีเงื่อนไขหรือมีข้อสังเกตตามมาตรฐานการสอบบัญชี ซึ่งถ้าสำนักงานสอบบัญชี ได้จัดให้มีระบบการควบคุมคุณภาพที่เพียงพอ โดยมีผู้สอบบัญชีอีกคนหนึ่งมาตรวจสอบคุณภาพของงานสอบบัญชีก็จะช่วยป้องกันความผิดพลาดของงานสอบบัญชีได้

อย่างไรก็ตาม กฎหมายที่กำกับดูแลในปัจจุบันมุ่งไปที่ผู้สอบบัญชีเป็นรายบุคคล ทำให้สำนักงานสอบบัญชีอาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับระบบควบคุมคุณภาพเพียงพอ เนื่องจากสำนักงานสอบบัญชีไม่ได้ถูกดึงเข้ามาร่วมรับผิดในข้อบกพร่องของงานสอบบัญชี

นอกจากนี้ ลักษณะการทำงานสอบบัญชีไม่ใช่งานที่จะทำโดยลำพังได้ บทบาทของสำนักงานจึงมีความสำคัญ เพราะไม่เพียงแต่เข้ามาตรวจสอบการทำงานของผู้สอบบัญชี สำนักงานยังต้องเข้ามามีบทบาทในการฝึกอบรม และตรวจสอบคุณภาพการทำงานของบรรดาผู้ช่วยผู้สอบบัญชี ซึ่งสนับสนุนการทำงานของผู้สอบบัญชี ฉะนั้น การที่กฎหมายให้น้ำหนักไปที่ผู้สอบบัญชีเป็นรายบุคคลเพียงอย่างเดียวภาระในการกำกับดูแลไปตกที่ ผู้สอบบัญชีเป็นรายบุคคลแทน

ดังนั้น เพื่อให้การกำกับดูแลการสอบบัญชีของกิจการในตลาดทุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงควรกำกับดูแลควบคู่กันไประหว่างผู้สอบบัญชีและสำนักงานสอบบัญชี เมื่อพิจารณาจากแนวทางการกำกับดูแลที่ดีใน ต่างประเทศ อาทิ สหรัฐ สหราชอาณาจักร และ ออสเตรเลีย ได้ให้ความสำคัญกับการกำกับดูแล สำนักงานสอบบัญชีในตลาดทุนโดยกำหนดให้สำนักงานสอบบัญชีในตลาดทุนจะต้อง ได้รับความเห็นชอบ/ขึ้นทะเบียนจากหน่วยงาน กำกับดูแล

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบมาตรฐาน การควบคุมคุณภาพของสำนักงานสอบบัญชี การกำหนดลักษณะกิจการต้องห้ามมิให้สำนักงานสอบบัญชีให้บริการ และการกำหนด เงื่อนไขเพื่อป้องกันการขัดกันของผลประโยชน์

ด้วยเหตุดังกล่าวการกำหนดให้สำนักงานสอบบัญชีต้องถูกกำกับดูแลโดยสำนักงาน ก.ล.ต. นั้นก็เพื่อให้สำนักงานสอบบัญชีเข้ามา ร่วมรับผิดชอบในความบกพร่องในการสอบบัญชีในตลาดทุนร่วมกับผู้สอบบัญชี เว้นแต่สำนักงานสอบบัญชีจะพิสูจน์ได้ว่าความบกพร่องนั้นเกิดขึ้นจากตัวผู้สอบบัญชี เองโดยสำนักงานไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และการที่จะกำกับดูแลเช่นนั้นได้ก็จำเป็นที่จะ ต้องแก้ไขกฎหมายหลักทรัพย์และตลาด หลักทรัพย์ในปัจจุบัน เพื่อรับรองการให้ความเห็นชอบ/ขึ้นทะเบียนสำนักงานสอบบัญชีในตลาดทุน

กล่าวโดยสรุป การสอบบัญชีไม่สามารถทำได้โดยผู้สอบบัญชีเพียงคนเดียว บทบาทของสำนักงานสอบบัญชีก็มีความสำคัญต่อการสอบบัญชีเป็นอย่างมาก แต่ช่องว่างของกฎหมายในปัจจุบันทำให้สำนักงาน ก.ล.ต.ไม่สามารถเข้าไปควบคุมคุณภาพของสำนักงานสอบบัญชีได้

การแก้ไขกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ให้สำนักงานสอบบัญชีมีส่วน รับผิดชอบ แทนที่จะตกอยู่กับผู้สอบบัญชี เป็นรายบุคคลเพียงอย่างเดียว จึงมีความจำเป็น เพื่อส่งเสริมให้ระบบควบคุมมีคุณภาพ มากยิ่งขึ้น

บทความ โดย เขมภัทร ทฤษฎิคุณ นักวิจัย กฎหมายเพื่อการพัฒนา

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 8 กันยายน 2564

ผลงานล่าสุดจากทีดีอาร์ไอ