มหันตภัยของภาวะโลกร้อน (Global warming) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) นับวันจะเป็นเรื่องใกล้ตัวที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การที่โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นมีผลให้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง เกิดภัยธรรมชาติบ่อยขึ้นและรุนแรงมากขึ้น น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ความแปรปรวนของทะเลและมหาสมุทร ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น น้ำท่วม ไฟป่า ความแห้งแล้ง คลื่นความร้อน พายุ ภูเขาไฟระเบิด สึนามิ ฯลฯ ทำให้บ้านเมืองพังทลาย หรือจมน้ำ ผู้คนเสียชีวิตจำนวนมหาศาล สำหรับประเทศไทยพบว่าจะมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้นปีละ 1 องศาเซลเซียส (ปี 2562 อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปี 28.1 องศาเซลเซียส สูงกว่าที่เคยเกิดขึ้นในรอบ 30 ปี 1 องศาฯ) และระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นปีละ 5 มม. รวมทั้งภัยแล้งที่รุนแรงในปี 2553 และน้ำท่วมในปี 2554 และ 2560 รวมทั้งภาวะน้ำท่วมในจังหวัดต่างๆ ในปีนี้
ภาวะโลกร้อน หมายถึงการที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นไม่ว่าจะเป็นอากาศใกล้ผิวโลก หรือน้ำในมหาสมุทร เกิดจากก๊าซบางชนิดสะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศมากเกินความสมดุลเนื่องจากในการอุตสาหกรรมและการดำเนินชีวิตมนุษย์มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งรวมคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ไนตรัสออกไซด์ สาร CFCs (Chlorofluorocarbons) ที่ใช้กับตู้เย็น การรั่วไหลของสารทำความเย็นในระบบปรับอากาศ (R-22) การผลิตพลาสติกและอุตสาหกรรม ที่ต้องใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล (น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน หินน้ำมัน และทรายน้ำมัน) ควันจากโรงงาน จากท่อไอเสีย สเปรย์กระป๋อง การตัดไม้ทำลายป่า ฯลฯ ทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศเพิ่มสูงขึ้นเป็นสาเหตุสำคัญของวิกฤตการณ์โลกร้อน
นอกจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นแล้ว ของที่แถมมาคือมลภาวะทางอากาศ เช่น PM10, PM2.5 ซึ่งเป็นปัจจัยหายนะประการหนึ่ง มีประมาณการว่านับแต่นี้ไปจนถึงปี 2603 จะมีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรเนื่องจากมลภาวะทางอากาศเพิ่มขึ้นห้าเท่า หรือหนึ่งในสามของ ผู้เสียชีวิตทั่วโลกจะมีสาเหตุจากมลภาวะทางอากาศ และจะส่งผลให้เกิดการขาดงานเนื่องจากการเจ็บป่วยโดยเฉลี่ยวันละประมาณ 6 ล้านคน
สรุปแบบง่ายๆ คือ ภาวะโลกร้อนที่กระทบทุกอย่างที่ขวางหน้าล้วนเกิดจากกิจกรรมการบริโภค การประกอบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของมนุษย์ ซึ่งกิจกรรมต่างๆเหล่านี้มีแรงงานเป็นปัจจัยสำคัญ
ดังนั้น ภาวะโลกร้อนจึงสัมพันธ์กับแรงงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้The Global Risks Report 2020 (World Economic Forum) รายงานว่าภายในสิบปีจากนี้ไป ความเสี่ยงสูงสุดในการดำรงชีวิตของคนเราล้วนมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ ทำให้ผลิตภาพแรงงานลดลง และเกิดการอพยพแรงงานโดยไม่สมัครใจ คาดว่าในปัจจุบันงานประมาณ 1.2 พันล้านตำแหน่ง หรือร้อยละ 40 ของแรงงานทั่วโลกประสบกับความเสี่ยงที่เกิดจากความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม คือ แรงงานในประเทศกำลังพัฒนา แรงงานในชนบท คนยากจน ชนพื้นเมือง และกลุ่มด้อยโอกาสต่างๆ ทำให้แรงงานต้องโยกย้ายถิ่นฐานโดยไร้การจัดระเบียบอันเป็นช่องทางของการเกิดแรงงานบังคับและการแสวงประโยชน์โดยไม่ชอบ
แรงงานที่ได้รับผลกระทบมากคือผู้ที่ต้องทำงานกับภาวะเครียดจากความร้อน หรือโรคลมแดด การที่อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นเพิ่มความเสี่ยงให้คนงานกลุ่มนี้จนอาจถึงแก่ชีวิตได้ หากเราไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส (จากอุณหภูมิโลกเฉลี่ย 15 องศาเซลเซียส) ได้ ในปี พ.ศ.2573 ภาวะเครียดจากความร้อนจะเป็นเหตุให้สูญเสียชั่วโมงการทำงานทั่วโลกไปร้อยละ 2.2 หรือเทียบเท่ากับการสูญเสียการทำงานเต็มเวลาจำนวน 80 ล้านตำแหน่ง และเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ 2,400 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้จะสูญเสียชั่วโมงการทำงานร้อยละ 5.3 หรือเทียบเท่ากับการสูญเสียการทำงานเต็มเวลาจำนวน 43 ล้านตำแหน่ง และประเทศในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกจะสูญเสียชั่วโมงการทำงานร้อยละ 4.8 หรือเทียบเท่ากับการสูญเสียการทำงานเต็มเวลาจำนวน 9 ล้านตำแหน่ง
ประชาคมโลกตระหนักถึงปัญหาโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมาไม่ต่ำกว่า 40 ปีแล้วโดยมีการประชุมภูมิอากาศโลกครั้งแรกที่เจนีวาเมื่อกุมภาพันธ์ 2522 ตามด้วยการประชุมระหว่างประเทศอีกหลายครั้ง และในมิถุนายน 2535 ตัวแทนรัฐบาล 154 ประเทศได้ลงนามในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยเป้าหมายสูงสุดคือการรักษาระดับปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศให้คงที่ไม่ให้กระทบภูมิอากาศ หลังจากนั้นมีการประชุมประเทศภาคีอนุสัญญา (ประมาณ 195 ประเทศ) ที่เรียกว่า The Conference of the Parties: COP เพื่อติดตามการดำเนินการตามอนุสัญญา ครั้งแรกที่ เยอรมนี และประชุมติดต่อกันเรื่อยมาแล้ว 25 ครั้ง โดยครั้งหลังสุดคือ COP 26 ที่ประชุมกันที่ กลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เมื่อ 31 ตุลาคม-12 พฤศจิกายนนี้
การรณรงค์ให้เปลี่ยนรูปแบบเศรษฐกิจแบบเดิมๆ ให้เป็นเศรษฐกิจแบบคาร์บอนต่ำ เช่น การลดการใช้ฟอสซิล ปิดเหมืองถ่านหิน ลดการใช้รถยนต์ที่ใช้น้ำมัน หันมาใช้พลังไฟฟ้า พลังลมและแสงอาทิตย์ ฯลฯ จะมีผลต่อตลาดแรงงาน ใน 4 ประเด็น (ก) จะมีอาชีพใหม่เกิดขึ้น (ข) งานบางอาชีพจะถูกแทนที่โดยอาชีพอื่นที่สามารถทำแทนกันได้ (ค) งานบางอาชีพจะหายไป และ (ง) บางอาชีพจะมีการเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน โดย ILO คาดการณ์ว่า การมุ่งไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำจะทำให้งานในเหมืองถ่านหิน งานสกัดทรัพยากรธรรมชาติ และงานในอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมากหายไปประมาณ 6 ล้านตำแหน่ง ในขณะที่การพัฒนาการขนส่งแบบยั่งยืน การวางระบบพลังงานหมุนเวียน และการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน จะทำให้เกิดอาชีพใหม่ประมาณ 24 ล้านตำแหน่ง
สิ่งที่จะเกิดตามมา คือ ช่องว่างด้านทักษะฝีมือของแรงงานในประเทศต่างๆ ดังนั้นภาครัฐจึงต้องมุ่งพัฒนาทักษะฝีมือในอาชีพที่เกิดขึ้นใหม่ให้กับแรงงานของตนเพื่อสร้างโอกาสในการมีงานทำและทำให้การเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงานเป็นไปโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเพื่อพัฒนาแรงงานให้สามารถรองรับอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิต
ประการที่สอง การมุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จะสร้างงานด้านการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ การซ่อมแซม และการวางระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ประมาณ 7-8 ล้านตำแหน่งภายในปี 2573 ซึ่งอาชีพที่เกิดใหม่เหล่านี้ล้วนเป็นงานที่ต้องใช้ทักษะฝีมือปานกลางขึ้นไป
ในประเทศไทยก็มีความตื่นตัวในเรื่องการปรับตัวของแรงงานในอนาคตเมื่อกระบวนการผลิต เศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตต้องมุ่งไปสู่การลดปัญหาภาวะโลกร้อนและปัญหาเศรษฐกิจและสังคมที่ตามมา ตัวอย่างเช่น การศึกษาเบื้องต้นถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อแรงงานในประเทศไทย โดย รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ และ รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ ในปี 2560 โดยได้รับทุนจากมูลนิธิฟรีดริค เอแบรท (FES) ซึ่งได้นำเสนอผลการศึกษาดังกล่าวในการสัมมนาจัดโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ FES ที่กรุงเทพฯเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2560
ผู้อำนวยการ FES กล่าวเปิดสัมมนาว่า การลดภาวะโลกร้อนจะส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานและการจ้างงานทั้งด้านบวกและด้านลบ กล่าวคือการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่ใช้คาร์บอนต่ำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นจะทำให้เกิดตลาดแรงงานใหม่ๆ และเป็นโอกาสสำหรับการจ้างงานขณะที่ยังมีอุตสาหกรรมจำนวนมากที่ใชเทคโนโลยีคาร์บอนเข้มข้นและจากแรงงานจำนวนมากซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือและมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบ เช่น ว่างงานหรือรายได้น้อยลงจึงจำเป็นต้องพูดถึงการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมที่หมายถึงการจ้างงานที่มีคุณค่า
ศ.ดร.นิรมล และ รศ.ดร.กิริยา ได้นำเสนอผลการศึกษาแนวนโยบายภาครัฐไทยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่คาดว่าจะมีผลกระทบต่อแรงงาน และนโยบายภาครัฐด้านแรงงานที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเด็นสำคัญคือเมื่อโลกร้อนและสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนไปได้ส่งผลกระทบต่อแรงงานอย่างไร และรัฐมีนโยบายปกป้องแรงงานอย่างไร เช่น พบว่าภาวะโลกร้อนมีผลกระทบกับรายได้ที่ลดลงของแรงงานภาคเกษตร ซึ่งก็มีข้าวโพด อ้อย ข้าว เมื่อเกิดภัยแล้ง หรือข้าวที่เสียหายเมื่อเกิดน้ำท่วม เช่นน้ำท่วมเมื่อปี 2554 ทำให้แรงงานต้องตกงาน และเมื่ออากาศร้อนแรงงานก็เกิดปัญหาเชื้อโรคต่างๆ เกิดการป่วยทำงานไม่ได้และขาดรายได้ แรงงานทำงานลำบาก ทำงานได้น้อยลง ประสิทธิภาพแรงงานต่ำลง ขณะที่เรือประมงก็มีความเสี่ยงจากงานเมื่อมีสภาพอากาศแปรปรวน ระดับน้ำที่สูงขึ้นและการกัดเซาะชายฝั่งทำให้อาชีพและพื้นที่ทำกินต้องเสียไป และการปลูกพืชก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนไปเพราะอากาศเปลี่ยน สถานที่ท่องเที่ยวก็ถูกกระทบทำให้นักท่องเที่ยวลดลง เป็นต้น
การวิจัยนี้พบว่าเอกชนมีการปรับตัวกันเองในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและกลุ่มยานยนต์ แต่ภาครัฐไม่พบว่ามีแผนหรือนโยบายด้านแรงงานต่อการปรับเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว ในแผนระดับชาติ เช่น แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 (2560-2564) มียุทธศาสตร์หนึ่งที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ คือ ยุทธศาสตร์การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งมี 8 แนวทางการพัฒนา แต่ไม่มีแนวทางใดเกี่ยวข้องกับแรงงานโดยตรง ในระดับปฏิบัติกระทรวงแรงงานมีการแถลงนโยบายบ้าง และมีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานที่ดูแลเรื่องมาตรการในการดูแลคุ้มครองแต่ก็ไม่ได้ทำเรื่องโลกร้อนเป็นการเฉพาะ พบว่ากระทรวงพลังงานมีพันธกิจในการพัฒนาบุคลากร กระทรวงการท่องเที่ยวฯมีเรื่องการท่องเที่ยว โรงแรม และมีแผน กระทรวงเกษตรฯก็มีการทำงานด้านลดภาวะโลกร้อน
ประเด็นสำคัญของงานวิจัยและการสัมมนาครั้งนั้นคือการเปลี่ยนผ่านที่ธรรมต่อแรงงานเมื่อประเทศปรับตัวเพื่อลดภาวะโลกร้อนและมีการปรับตัวของตลาดแรงงานจึงควรมีนโยบาย มาตรการและระบบรองรับการเปลี่ยนผ่านที่เป็นผลดีต่อแรงงาน
ภาวะโลกร้อนกับแรงงานเป็นเรื่องใหญ่ระดับโลกที่ซับซ้อน และละเอียดอ่อนที่ยังมีเรื่องต้องทำอีกมากทั้งภาครัฐและเอกชน เชื่อว่านายกรัฐมนตรีที่กลับจากประชุม COP 26 หลายวันแล้ว น่าจะมีการบ้านมาฝากแน่
บทความ โดย สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์
เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชน คอลัมน์ ดุลยภาพ ดุลยพินิจ เมื่อ 11 พฤศจิกายน 2564
ผลงานล่าสุดจากทีดีอาร์ไอ
- คิดยกกำลังสอง: ทรัมป์ 2.0…หนุนประสิทธิภาพรัฐ ?
- พินิจเศรษฐกิจการเมือง : ช่วยภาคการผลิต…ไม่ติดปัญหาท่วม-แล้ง ภาคอุตสาหกรรม – การท่องเที่ยว
- ขาดระบบเตือนภัย ทำ 3 จังหวัดชายแดนใต้วิกฤต
- การพัฒนาชุดข้อมูลการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Profile) ระดับจังหวัด ใน 15 จังหวัดเป้าหมาย
- คิดยกกำลังสอง : โลกการค้าหัวคะมำ…ทรัมป์ 2.0