อีกเพียงก้าวเดียว หญิงไทย ‘ฝากท้องคลอด’ ฟรี

การดูแลชีวิตคนตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ผ่านการฝากท้องและคลอดบุตรที่มีคุณภาพ เป็นกระบวนการที่มีความสำคัญมาก เพราะจะทำให้เกิดการตรวจพบ การป้องกันและการรักษาความผิดปกติต่างๆ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของชีวิต

นับเป็นเรื่องดีที่ประเทศไทยมีระบบสวัสดิการด้านสุขภาพทั้ง 3 ระบบหลัก คือ ข้าราชการ ประกันสังคม และบัตรทอง ให้การดูแลค่าใช้จ่ายกรณีฝากท้องและคลอดบุตร จนคนไทยเกือบทั้งหมดมีสิทธิรับบริการ ขั้นพื้นฐานได้ฟรี เรียกได้ว่า “คนไทยฝากท้อง คลอดลูกฟรี” เป็นเป้าหมายที่ใกล้สู่ความเป็นจริงมากแล้ว

สิทธิเบื้องต้น คนไทย “ทุกคน” มีสิทธิเลือกฝากท้องฟรี 5 ครั้งที่สถานพยาบาลของรัฐ ตามโครงการ “ฝากครรภ์ทุกที่ฟรีทุกสิทธิ” ของ สปสช. ขณะที่ในส่วนของการคลอดบุตร หากเป็น “ข้าราชการ” หรือเป็นผู้มีสิทธิ “บัตรทอง” สามารถคลอดบุตรได้ฟรีที่สถาน พยาบาลของรัฐ เพียงแค่แสดงบัตรประชาชนต่อเจ้าหน้าที่ฯ (รวมถึงเอกชนบางแห่งที่มีข้อตกลงกับหน่วยงานที่บริหารเงินทุนของระบบสวัสดิการข้าราชการและบัตรทอง)

ขณะที่ผู้ประกันตน “กองทุนประกันสังคม” จะต้องสำรองจ่ายค่าคลอดไปก่อน แต่สามารถนำหลักฐานมาเบิกเงินค่าบริการทางการแพทย์กรณีคลอดบุตรจากประกันสังคมได้ 15,000 บาท (เหมาจ่าย) และเบิกค่าฝากท้องเพิ่มได้อีก 1,500 บาท ยังไม่รวมเงินชดเชยการหยุดงานและเงินสงเคราะห์บุตร ซึ่งทั้ง 2 ก้อนหลังเป็นเงินที่คนในระบบบัตรทองและข้าราชการไม่ได้รับ

แน่นอนว่าการให้สิทธิคลอดบุตรของระบบข้าราชการและระบบบัตรทองไม่ได้ฟรี ในทุกกรณี เพราะมีเงื่อนไขสำคัญคือ การจำกัด สถานพยาบาลรับบริการที่เกือบทั้งหมดเป็นของรัฐ แต่อย่างน้อยหญิงมีครรภ์ใน 2 ระบบก็มีสิทธิเลือกรับ “บริการขั้นพื้นฐาน” ได้ฟรี โดยไม่ต้องสำรองจ่าย คือ สามารถคลอดบุตร ด้วยวิธีธรรมชาติได้ จะผ่าคลอดได้ในกรณีมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ได้พักฟื้นในห้องปกติ ได้อย่างน้อย 48 ชั่วโมงหลังคลอด รับยาบำรุง ขั้นพื้นฐาน และรับการช่วยเหลือกรณีมีภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ขณะคลอด

แต่หากต้องการรับบริการที่มากกว่ากำหนด ก็ถือว่าเป็นการตัดสินใจเลือกที่จะจ่ายค่าบริการด้วยตนเอง เช่น ต้องการรับบริการที่สถานพยาบาลเอกชน การพักฟื้นในห้องพิเศษ รวมถึงการเลือกที่จะคลอดด้วยวิธีการผ่าท้องโดยไม่มีข้อบ่งชี้ว่าจำเป็น

ในกรณีของผู้ประกันตนประกันสังคม ที่แม้จะต้องสำรองจ่ายไปก่อน แต่สิทธิประโยชน์กรณีคลอดบุตรที่เบิกได้ก็มีมูลค่าสูงกว่ามูลค่าเฉลี่ยของบริการขั้นพื้นฐาน ผลการสำรวจในการวิจัยพบว่า ผู้ประกันตนฯ พอใจกับการเบิกเงินค่าคลอดแบบเหมาจ่าย มากกว่าให้กองทุนประกันสังคมจ่ายตรงให้สถานพยาบาล โดยการจ่ายให้ผู้ประกันตนนี้ ทำให้ผู้ประกันตนมีสิทธิเลือกสถานพยาบาลได้อย่างเสรี ไม่ถูก จำกัดสถานพยาบาลที่เข้ารับบริการว่าจะต้อง เป็นสถานพยาบาลของรัฐเท่านั้น จึงเป็นการสร้างความสะดวกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ประกันตนที่ทำงานในสถานประกอบการเอกชน ซึ่งมักจะไม่สะดวกเข้าฝากท้องในเวลาราชการ

แต่การต้องสำรองจ่ายค่าบริการก่อน แล้วจึงนำหลักฐานมาเบิก ทำให้สิทธิส่วนนี้ ที่แม้เหมือนจะฟรีแต่ก็ยังไม่ฟรีจริง อีกทั้งจำนวนเงินเหมาจ่าย 15,000 บาทที่ได้รับนั้น ผลสำรวจพบว่าอาจจะไม่เพียงพอสำหรับกรณีผ่าคลอด ยังไม่รวมถึงโรคและภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งจะก่อปัญหากับผู้ประกันตนฯ ที่ตั้งครรภ์โดยไม่มีรายได้หรือเงินเก็บมากพอ

เพื่อให้ผู้ประกันตนฯ สามารถมี สิทธิคลอดบุตรได้ฟรี และยังคงได้รับ สิทธิประโยชน์ที่มีมูลค่าสูงกว่าบริการขั้น พื้นฐาน และยังคงสามารถเลือกสถานพยาบาลได้อย่างเสรี จึงขอเสนอแนวทางการดำเนินการ 3 ประการ คือ

  1. ยกเลิกระบบสำรองจ่าย และหันมาใช้ระบบจ่ายออนไลน์แทน ซึ่งประกันสังคมประสบความสำเร็จแล้วในกรณีการจ่ายค่าทันตกรรมผ่านระบบ SSO Connect โดยสามารถกำหนดวงเงินให้แก่ผู้ประกันตนฯ ได้ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 28 ของการตั้งครรภ์ แม้เกิดการแท้งบุตร หลังสัปดาห์ที่ 28 สิทธิประโยชน์ส่วนนี้ก็เป็นสิทธิที่ประกันสังคมกำหนดให้เบิกได้อยู่แล้ว
  2. ทำให้สิทธิการรักษาโรคขณะตั้งครรภ์ และการรักษาภาวะแทรกซ้อน เป็นสิทธิรักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลคู่สัญญาต้องดูแล ผู้ประกันตนฯ หากสามารถทำได้ ด้วยระบบการย้ายสถานพยาบาลในปัจจุบัน ผู้ประกันตนฯ จะมีทางเลือกที่จะรับบริการในสถานพยาบาลที่ตนไม่ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายส่วนนี้
  3. เพิ่มวงเงินให้เพียงพอในกรณีที่ ผู้ประกันตนฯ ต้องผ่าคลอด เนื่องจาก “มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์” ซึ่งผลการวิเคราะห์ทางการเงินพบว่าอยู่ในขอบข่ายที่น่าจะสามารถทำได้ ทั้งนี้ อาจต้องพิจารณาปัจจัยการเงินอื่นๆ ประกอบ โดยเฉพาะสถานการณ์ปัจจุบันที่ประกันสังคมประกาศปรับลดอัตราเงินสมทบเข้ากองทุนจนส่งผลต่อรายได้กองทุนเป็นอย่างมาก

โดยภาพรวม แม้การคุ้มครองกรณี ฝากท้องและคลอดบุตรของระบบสวัสดิการด้านสุขภาพทั้ง 3 ระบบหลักจะยังมีข้อจำกัดต่างๆ แตกต่างกันออกไป แต่ก็เป็นที่น่าชื่นชมว่าทั้ง 3 ระบบได้มีการพัฒนาประเด็นนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการขยายขอบเขตสวัสดิการและ สิทธิประโยชน์ ไปพร้อมกับการพัฒนาระบบเบิกจ่ายต่างๆ จะเป็นการพัฒนาอีกก้าวสำคัญและหากสามารถดำเนินการได้สำเร็จ ก็จะทำให้ เป้าหมาย “คนไทยฝากท้องคลอดลูกฟรี” กลายเป็นจริงได้เสียที

บทความโดย วุฒิพงษ์ ตุ้นยุทธ์

เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 18 พฤศจิกายน 2564


ผลงานล่าสุดจากทีดีอาร์ไอ