รัฐบาลไทยมีนโยบาย ช่วยเหลือผู้พิการหลายนโยบาย อาทิ เบี้ยความพิการ บริการปรับสภาพที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้พิการจำนวนมากที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนคนพิการ หรือกล่าวคือ เกิดการตกหล่นคนพิการ ซึ่งการตกหล่นนี้ส่งผลให้ไม่สามารถเข้าถึงบริการที่ควรจะได้รับ
การสำรวจความพิการ โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2560 พบว่าประเทศไทยมีคนพิการ 3.69 ล้านคน แต่มีเพียง 1.64 ล้านคน หรือร้อยละ 44.4 ของผู้พิการที่พบในการสำรวจเท่านั้นที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ
สาเหตุอันดับหนึ่งของการตกหล่นที่พบจากการสำรวจก็คือ ความพิการของผู้ที่ตกหล่นนั้นไม่เข้าข่ายความพิการที่ขึ้นทะเบียนได้ (ร้อยละ 45.1 ของผู้ตกหล่น) ซึ่งปัญหานี้เกิดจากวิธีการประเมินความพิการของประเทศไทย ที่ไม่สอดคล้องกับหลักการสากลและนิยามของคนพิการที่ได้มีการกำหนดในกฎหมาย
คนทั่วไปมักจะมองความบกพร่องทางร่างกาย เช่น แขนขาด ขาขาด ว่าเป็นสาเหตุหลักที่ส่งผลให้ผู้มีความบกพร่องประสบความยากลำบากในการใช้ชีวิต อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยแวดล้อมอื่นอีกจำนวนมากที่ส่งผลต่อสมรรถภาพของบุคคลในการทำกิจกรรมและการมีส่วนร่วม เช่น ทักษะ อุปกรณ์ช่วยเหลือ ทัศนคติของคนรอบข้าง สถาปัตยกรรม
ดังนั้น ผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกายเหมือนกันสองคน อาจจะมีสมรรถภาพในการใช้ชีวิตไม่เท่ากันก็ได้ เนื่องจากทั้งสองคนนั้นเผชิญกับปัจจัยแวดล้อมที่แตกต่างกัน
แนวคิดเกี่ยวกับความพิการที่เป็นที่ยอมรับกันข้างต้นนี้ได้ถูกสะท้อนในนิยามของคนพิการใน พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ที่ระบุว่า คนพิการหมายถึง “บุคคลซึ่งมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคม เนื่องจากมีความบกพร่อง ประกอบกับอุปสรรค ในด้านต่างๆ”
อย่างไรก็ตาม แม้แนวคิดจะทันสมัยและถูกต้อง แต่ในเชิงปฏิบัติ การประเมินความพิการเพื่อออกบัตรประจำตัวคนพิการในประเทศไทยยังมีความไม่สอดคล้องกับนิยามของคนพิการที่ได้มีการบัญญัติไว้ในกฎหมายข้างต้น ซึ่งนำไปสู่การตกหล่นของคนพิการ โดยการประเมินความพิการ ในประเทศไทยมีอยู่ 2 ปัญหาหลัก ได้แก่
1.การประเมินใช้ความบกพร่อง และโรคเป็นข้อมูลหลักในการตัดสินว่า ผู้เข้ารับการประเมินควรจะได้ขึ้นทะเบียนคนพิการหรือไม่ ถึงจะมีการคำนึงถึง ความสามารถในการปฏิบัติกิจกรรมและมีส่วนร่วมอยู่บ้าง แต่มีผู้ป่วยโรคจิตเวชรุนแรง และผู้เข้ารับการประเมินความพิการทางสติปัญญาเท่านั้นที่จะได้รับการประเมินความสามารถในการทำกิจกรรมและการมีส่วนร่วม
กล่าวคือ มีเฉพาะส่วนผู้เข้ารับการประเมินรายอื่นก็ได้รับการประเมินเพียงความสามารถในการทำกิจกรรมพื้นฐาน เช่น การเดิน การพูด นอกจากนี้ เนื่องจากแพทย์ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ประเมิน ไม่สามารถใช้เวลาประเมินความพิการได้มากนัก เพราะมีภาระงานอย่างอื่นมาก จึงมักใช้ ข้อมูลความบกพร่องหรือโรคมาคาดการณ์ระดับสมรรถภาพในการทำกิจกรรม และการมีส่วนร่วม ซึ่งอาจไม่แม่นยำเพียงพอ
2.การกำหนดให้ผู้ที่สามารถขึ้นทะเบียนเป็นคนพิการได้นั้น ต้องเป็นผู้มีความพิการประเภทใดประเภทหนึ่งจากกลุ่มความพิการ 7 ประเภทตามกฎหมาย อันได้แก่ ความพิการทางการมองเห็น ทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย ทางจิตใจหรือพฤติกรรม ทางสติปัญญา ทางการเรียนรู้ และทาง ออทิสติก อันทำให้ละเลยความพิการประเภทอื่นได้
ปัญหาสองประการข้างต้นส่งผลให้ ผู้ที่ไม่ได้มีความบกพร่องหรือโรครุนแรงในกลุ่มความพิการ 7 ประเภทนั้นไม่สามารถขึ้นทะเบียนคนพิการได้ เช่น ผู้ตาบอดหนึ่งข้างที่ไม่เข้าหลักคุณสมบัติการเป็นผู้พิการทางสายตา ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว สำหรับหลายๆ คน ถึงแม้จะไม่ได้มีความบกพร่องหรือโรครุนแรงในกลุ่มความพิการด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เมื่อรวมผลกระทบจากความบกพร่องหรือโรคหลายอย่างที่มี และผลจากปัจจัยแวดล้อมเข้าด้วยกันแล้ว ความบกพร่องหรือ โรคที่ไม่รุนแรงนั้นสามารถส่งผลให้บุคคลหนึ่ง มีข้อจำกัดในการใช้ชีวิตได้อย่างมาก
เช่น ผู้ตาบอดหนึ่งข้างที่มีความบกพร่องด้านอื่นหรือโรคอื่นร่วมด้วยถึงแม้จะไม่รุนแรง อาทิ โรควิตกกังวลและตื่นตระหนก และเผชิญกับปัจจัยแวดล้อมที่เป็นอุปสรรค อาทิ ไม่มีครอบครัวใกล้ชิดที่สามารถช่วยดูแล ได้ ก็เป็นไปได้ว่าผู้เข้ารับการประเมินคนนี้อาจมีข้อจำกัดในการทำกิจกรรมและมีส่วนร่วม ไม่น้อยไปกว่าผู้ตาบอดสองข้างเลย ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการปรับปรุงวิธีการประเมินความพิการในประเทศไทยเพื่อแก้ไขปัญหาการตกหล่นคนพิการ ดังนี้
1.ควรกำหนดให้ผู้เข้ารับการประเมินทุกคนได้รับการประเมินสมรรถภาพในการทำกิจกรรมและการมีส่วนร่วมโดยอาจกำหนดให้ได้รับการประเมินด้วย ชุดคำถามมาตรฐานเดียวกัน โดยสามารถนำเอาชุดคำถามที่จัดทำโดย WHO อาทิ ICF Checklist หรือ WHODAS 2.0 มาใช้ได้เลยหรือปรับปรุงให้เหมาะสมกับประเทศไทยมากขึ้น เนื่องจากชุดคำถามทั้งสองมีแนวทางในการประเมินความพิการที่กว้างขวางกว่าแนวปฏิบัติของไทยปัจจุบัน ผู้ทำหน้าที่ประเมินสมรรถภาพส่วนนี้อาจเป็นนักสังคมสงเคราะห์ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูอื่นๆ อาทิ นักกิจกรรมบำบัด นักจิตบำบัด
2.ควรใช้ทั้งข้อมูลความบกพร่อง สมรรถภาพในการทำกิจกรรม และสมรรถภาพในการมีส่วนร่วม ในการตัดสินว่าผู้เข้ารับการประเมินเป็นผู้พิการหรือไม่
3.ไม่ควรจำกัดว่าผู้พิการจะต้องมีเพียง 7 ประเภทเท่านั้น กล่าวคือ ผู้เข้ารับ การประเมิน ควรสามารถขึ้นทะเบียนเป็นคนพิการได้หากเป็นผู้ที่มีข้อจำกัดในการทำกิจกรรมและมีส่วนร่วมอย่างมาก และ/หรือมีความบกพร่องทางร่างกายหลายอย่าง โดยอาจจัดให้ผู้พิการกลุ่มนี้เป็น “ผู้พิการประเภทอื่นๆ”
การปรับปรุงแนวทางการประเมินความพิการให้สอดคล้องกับหลักการสากลและนิยามของคนพิการที่ได้มีการกำหนดในกฎหมายนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายและอาจใช้เวลายาวนาน ต้องมีกระบวนการพัฒนาคู่มือประเมินความพิการฉบับใหม่ การปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน การสร้างความเข้าใจกับทั้งเจ้าหน้าที่และสังคม เพื่อทำให้คนพิการทุกคนเข้าถึงบัตรประจำตัวคนพิการ และได้รับบริการส่งเสริมให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ
บทความโดย ภาคภูมิ จตุพิธพรจันทร์ นักวิจัยนโยบายด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง
เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 5 พฤษภาคม 2565
ผลงานล่าสุดจากทีดีอาร์ไอ
- พินิจเศรษฐกิจการเมือง : ปรับจัดเก็บภาษีอย่างไร แก้โจทย์ไทยเหลื่อมล้ำถูกจุด?
- คิดยกกำลังสอง : แบ่งแยกเรื่องเล่า…เท่ากับอยู่คนละโลก
- พินิจเศรษฐกิจการเมือง: สร้างเมืองใหม่…ให้ยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ
- คิดยกกำลังสอง: ทรัมป์ 2.0…หนุนประสิทธิภาพรัฐ ?
- พินิจเศรษฐกิจการเมือง : ช่วยภาคการผลิต…ไม่ติดปัญหาท่วม-แล้ง ภาคอุตสาหกรรม – การท่องเที่ยว