กฎหมายตีตรา ตีค่า ‘Sex Worker’

ภาพผู้คนในโลกออนไลน์สวมสะบัดส่าหรี เป็นกระแสทันทีหลังจากภาพยนตร์ของประเทศอินเดีย “คังคุไบ หญิงแกร่งแห่งมุมไบ” ออกฉายสู่สายตาคนไทย ภาพยนตร์แนวอาชญากรรมชีวประวัตินี้ได้เล่าเรื่องราวการต่อสู้ของหญิงชื่อว่า คังคุไบ กฐิยาวาฑี เธอเป็นตัวแทนของผู้ค้าบริการทางเพศ หรือ “Sex worker” ที่เรียกร้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสะท้อนให้เห็นถึง คุณค่าของทุกอาชีพที่ควรเท่าเทียมกัน

ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้เพียงสร้างกระแสการแต่งกายเลียนแบบคังคุไบ แต่ทำให้ผู้ชมได้ตั้งคำถามถึงสิทธิและปัญหาการคุ้มครอง Sex worker โดยเฉพาะในประเทศไทยที่กฎหมายด้านการปราบปรามการค้าประเวณี ที่เป็นปัญหามาอย่างยาวนาน ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงแม้พลวัตของสังคมได้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้วก็ตาม

Sex Worker ในประเทศไทยยังคงต้องเผชิญผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการห้ามการค้าประเวณี ทั้งการถูกล่อลวง การบังคับให้ขายบริการทางเพศ การใช้ความรุนแรงต่อผู้ให้บริการทางเพศ หรือแม้แต่การถูกตีตราให้เป็น “อาชญากร” โดยกฎหมาย

1.การค้าบริการทางเพศ กับผลต่อเศรษฐกิจโดยรวม

ในปัจจุบัน ประเทศไทยไม่มีการจัดทำสถิติจำนวนผู้ให้บริการทางเพศอย่างเป็นทางการ แต่จากการสำรวจของเว็บไซต์ Havocscope ที่สำรวจสถิติในธุรกิจสีเทาของโลก พบว่าในปี 2558 มีจำนวนผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมการให้บริการทางเพศทั่วโลกประมาณ 13.8 ล้านคน และประเทศไทย มีผู้ให้บริการประมาณ 2.5 แสนคน หรือ คิดเป็นอันดับ 8 ของโลก

ผลการสำรวจยังชี้ว่าอุตสาหกรรมทางเพศในประเทศไทยสร้างรายได้ประมาณ 6.4 พันล้านดอลลาร์ต่อปี แต่การค้าบริการทางเพศในไทยเป็นอาชีพในระบบเศรษฐกิจใต้ดิน (Underground Economy) ไม่ถูกนำไปคิดคำนวณในจีดีพี จึงเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่ถูกนับรวมในระบบเศรษฐกิจ แต่ในทางกฎหมายผู้ประกอบอาชีพให้บริการทางเพศนั้นถูกนับรวมในฐานะอาชญากรที่รัฐสามารถจับกุมเอาผิดได้

2.กฎหมายการค้าบริการทางเพศ สร้างต้นทุนมากกว่าผลกำไร

ปัจจุบัน กฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องกับการค้าบริการทางเพศ มีทั้งบทบัญญัติที่มุ่งแก้ไขปัญหาการค้าบริการทางเพศโดยตรงและโดยอ้อม โดยมีแนวคิดว่าการค้าบริการทางเพศ หรือการค้าประเวณีเป็นอาชญากรรม (Criminalization) โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 ที่กำหนดความผิดอาญาและกำหนดโทษสำหรับ Sex worker ในหลายกรณีไว้ เช่น การติดต่อชักชวนเพื่อการค้าประเวณี (หาลูกค้า) การโฆษณาการค้าประเวณี เป็นต้น เจตนารมณ์ของกฎหมายที่เน้นเพียงการลงโทษผู้ให้บริการทางเพศ ส่งผลให้พนักงานเจ้าหน้าที่มุ่งแต่จะบังคับใช้ กฎหมายกับผู้ให้บริการทางเพศ โดยในช่วง  ม.ค.-มิ.ย.2564 พบการดำเนินคดีผู้ให้บริการ ทางเพศ 4 คดีเท่านั้น ซึ่งอาจไม่ตรงกับจำนวน ผู้ให้บริการทางเพศที่มีในปัจจุบัน

อีกทั้งการกำหนดความผิดทางอาญาแก่ผู้ให้บริการทางเพศได้สร้างต้นทุนจำนวนมากในการดำเนินคดีและการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งจำนวนเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไปดำเนินการจับกุม รวมถึงระยะเวลาของกระบวนการในการดำเนินคดีทางกฎหมาย และยัง เปิดโอกาสให้เกิดการทุจริตรับสินบนหรือการใช้อำนาจในทางที่ไม่ชอบ

3.บทเรียนจากต่างประเทศ : มุมมองต่ออาชีพ Sex worker ที่ต่างจากไทย

กลับไปที่เรื่องราวของคังคุไบในประเทศ อินเดีย มีพัฒนาการการจัดการอาชีพการค้าบริการทางเพศที่น่าสนใจ โดยกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าประเวณีของอินเดียแม้จะมีวัตถุประสงค์ในการขจัดการค้าประเวณีให้หมดไป แต่ไม่ได้กำหนดให้ทุกการกระทำผิดกฎหมาย และมีนโยบายการจ้างงานหรือการสนับสนุนด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือสนับสนุนให้ Sex worker เลิกประกอบอาชีพ

อีกประเทศที่น่าสนใจคือฝรั่งเศส มีแนวคิดกำจัดการค้าประเวณีเช่นเดียวกับประเทศไทย แต่ฝรั่งเศสไม่ได้มอง Sex worker เป็นผู้กระทำความผิด แต่เป็นเหยื่อที่ต้องได้รับการช่วยเหลือทางด้านสังคมและการเงิน

สำหรับประเทศที่มีแนวคิดการ จดทะเบียนการค้าประเวณีให้เป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย ล้วนมีเจตจำนง ที่คล้ายคลึงกัน คือ สิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพ แม้รัฐอาจไม่สนับสนุนแต่ไม่ขัดขวาง เว้นแต่เกินขอบเขตไปสู่ การค้ามนุษย์ที่นับเป็นอาชญากรรมที่ยอมรับ ไม่ได้

เช่น เยอรมนีออกกฎหมายการคุ้มครอง Sex worker โดยอนุญาตให้ประกอบอาชีพค้าประเวณีด้วยความสมัครใจ และได้รับการรับรองคุ้มครองจากหน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้ Sex Worker ต้องลงทะเบียน การค้าประเวณีกับรัฐ และเสียภาษีให้แก่รัฐในหมวดภาษีเงินได้สำหรับงานอิสระ เช่นเดียวกับประเทศสิงคโปร์ที่กำหนดให้การค้าประเวณีไม่เป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่กำหนดเขตพื้นที่ในการให้บริการและห้ามเป็นเจ้าของสถานบริการ เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

4.แนวทางต่อไปในการขับเคลื่อนเพื่อคุ้มครอง Sex worker

รัฐควรพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี โดยทบทวนตั้งแต่เจตนารมณ์ของกฎหมาย เนื่องจากการลดปริมาณของผู้ค้าประเวณีสามารถทำได้หลายรูปแบบ โดยไม่ต้องยึดโยงอยู่กับโทษทางอาญาและตีตราให้คนเป็นอาชญากรเท่านั้น ควรเปิดกว้างว่าเครื่องมือที่นำมาแก้ไขปัญหาอาชญากรรมไม่ได้มีแค่กฎหมายเพียงอย่างเดียว
อีกทั้งควรเป็นบุคคลที่รัฐจะมุ่งคุ้มครองและให้การช่วยเหลือสภาพความเป็น อยู่และความปลอดภัย ยกระดับมาตรฐาน ด้านสุขภาพเพื่อเสริมสร้างทางเลือกให้กับบุคคลเหล่านี้ในการตัดสินใจที่จะประกอบอาชีพ

นอกจากนี้ รัฐควรเริ่มจากการจัดเก็บข้อมูลสถิติอย่างเป็นทางการ เนื่องจากในปัจจุบัน Sex worker ไม่ได้มีเพียงกลุ่มผู้หญิงเท่านั้น แต่จำนวนมากที่เป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ยังคงประสบปัญหาและออกมาเรียกร้องสิทธิเหล่านี้

จะเห็นได้จากในงาน Bangkok Naruemit Pride 2022 ซึ่งนอกเหนือไปจากประเด็นการสมรสเท่าเทียม หรือการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศแล้ว สิทธิของ Sex worker เป็นประเด็นที่ LGBTIQA+ ให้ความสำคัญเช่นกัน สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปมากและกฎหมายไม่ได้ยึดโยงอยู่กับศีลธรรมในทุกเรื่องอีกต่อไป

อุตสาหกรรมการค้าประเวณีในไทยก็เช่นกัน ที่ไม่ควรถูกจำกัดในมุมมืดและถูกตีกรอบด้วยศีลธรรมเท่านั้น รัฐควรทบทวนนโยบายเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยในการประกอบอาชีพ สุขภาวะทางเพศของ Sex Worker รวมทั้งการช่วยพัฒนาทักษะที่หลากหลาย เพื่อเพิ่มทางเลือกในการประกอบอาชีพในระยะยาว

บทความโดย ฉัตรฑริกา นภาธนาพงศ์  และ รัศมีจันทร์ เสาวคนธ์

เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 16 มิถุนายน 2565


ผลงานล่าสุดจากทีดีอาร์ไอ