tdri logo
tdri logo
17 มิถุนายน 2022
Read in Minutes

Views

โจทย์ใหญ่ไร้ข้อกำหนด ความปลอดภัยบนท้องถนน หลังปลดล็อกกัญชาเสรี

ภายหลังการปลดล็อกกัญชาจากการเป็นยาเสพติดที่มีผลใช้บังคับอย่างเป็นทางการเมื่อ 9 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา โดยมีการวางเงื่อนไขให้การใช้กัญชาจากการปลดล็อกในครั้งนี้ต้องเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะเท่านั้น และไม่ได้ต้องการให้นำมาใช้เพื่อการสันทนาการแต่อย่างใด ทั้งยังกำหนดความเข้มข้นของสารสำคัญที่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาทอย่างสาร THC หรือ Tetrahydrocannabinol ในกรณีนำกัญชามาใช้เป็นสารสกัดไว้ว่าจะต้องไม่เกินกว่าร้อยละ 0.2 ทำให้กัญชาที่แม้จะเป็นยาเสพติดโดยสภาพ ไม่ถูกถือว่าเป็นยาเสพติดด้วยผลทางกฎหมาย อย่างไรก็ตาม การปลดล็อกในครั้งนี้นำมาซึ่งความกังวลของหลายภาคส่วนว่าผู้ที่บริโภคกัญชาแล้วจะมีผลกระทบต่อความสามารถในการขับขี่ในลักษณะเดียวกับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่เพียงใด และจะซ้ำเติมปัญหาอุบัติเหตุทางถนนนี้ให้ทวีความรุนแรงมากขึ้นหรือไม่ และหากเป็นเช่นนั้นควรจะต้องมีวิธีการป้องกันและรับมือต่อไปอย่างไร

จากผลการศึกษาของต่างประเทศแสดงให้เห็นถึงผลกระทบของการใช้กัญชาต่อความสามารถในการขับขี่ที่แตกต่างและหลากหลาย สำหรับการศึกษาของ National Highway Traffic Safety Administration หน่วยงานของสหรัฐอเมริกา ชี้ว่าความสามารถในการขับขี่อาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณความเข้มข้นของสาร THC ในเลือดและอาจไม่สร้างความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุมากไปกว่าผู้ขับขี่ทั่วไป กล่าวคือ คนที่มีระดับความเข้มข้นของสาร THC ในเลือดระดับเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ไม่แสดงถึงผลกระทบต่อความสามารถในการขับขี่ที่ใกล้เคียงกันแต่อย่างใด ทั้งยังพบว่าสาร THC สามารถตรวจพบในเลือดหลังการใช้กัญชาได้นานหลายวัน และในหลายกรณีนานถึงหลายสัปดาห์ ขณะที่อาจเกิดความมึนเมาหลังใช้เพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น

อย่างไรก็ดี มีผลการศึกษาอีกจำนวนไม่น้อย เช่น ผลการศึกษาของ Godfrey D. Pearlson และคณะ แสดงให้เห็นว่าการใช้กัญชาส่งผลกระทบต่อความสามารถบางอย่างที่สำคัญต่อการขับขี่ได้อย่างชัดเจน แม้ว่าจะน้อยกว่าสารเสพติดชนิดอื่นเมื่อเปรียบเทียบกัน เช่น แอลกอฮอล์ โดยพบว่าการใช้กัญชาอาจกระทบต่อความว่องไวต่อปฏิกิริยาการตอบโต้ การใช้สมาธิในการขับขี่ หรือความสามารถในการรับรู้ เป็นต้น 

ทั้งนี้ ไม่พบข้อมูลสถิติจากแหล่งใดที่แสดงให้เห็นได้ว่าการใช้กัญชาทำให้การเกิดอุบัติเหตุเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสาเหตุอาจจะเพราะยังไม่สามารถหาวิธีที่จะพิสูจน์ถึงความสัมพันธ์ที่แท้จริงระหว่างผลของการใช้กัญชากับความสามารถในการขับขี่ได้จากการศึกษาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงอาจกล่าวได้ว่าความเข้มข้นของสาร THC ที่ตรวจพบในเลือดอาจไม่ได้ส่งผลต่อปัญหาอุบัติเหตุทางถนนโดยตรง แต่ก็ไม่สามารถกล่าวได้ว่าการใช้กัญชาไม่สร้างความเสี่ยงใด ๆ ในการเกิดอุบัติเหตุทางถนนได้เสียทีเดียว 

ในประเทศที่ได้อนุญาตให้ใช้กัญชาได้อย่างเสรี ไม่ได้มีความนิ่งนอนใจกับความเสี่ยงที่อาจเพิ่มขึ้นกับการเกิดปัญหาอุบัติเหตุทางถนนจากการใช้กัญชา

  • อุรุกวัย ถือว่าผู้ขับขี่ที่ตรวจเลือดและพบว่ามีสาร THC มีความบกพร่องในการขับขี่ 
  • สหรัฐอเมริกาทั้ง 50 รัฐได้จัดการกับปัญหาดังกล่าวด้วยวิธีเดียวกันกับปัญหาแอลกอฮอล์ คือการนำกรณีเมากัญชาแล้วขับเข้าสู่ระบบกฎหมายว่าด้วยขับรถภายใต้อิทธิพลของแอลกอฮอล์หรือสารเสพติด (Driving under the influence: DUI) โดยการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวภายใต้แต่ละรัฐมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง โดยแบ่งได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่ 

1) กฎหมายที่ไม่ยอมรับให้มีสาร THC ในผู้ขับขี่ได้เลย (Zero tolerance law) 

2) กฎหมายที่กำหนดให้เป็นความผิดสำหรับการมีความเข้มข้นของสาร THC ในเลือดของผู้ขับขี่ในบางระดับ (Per se law) 

3) กฎหมายที่กำหนดว่าเป็นความผิดจากการพิจารณาว่าผู้ขับขี่ได้รับผลกระทบในการขับขี่จากการใช้กัญชาหรือไม่ และ 

4) กฎหมายที่กำหนดให้มีความเข้มข้นของสาร THC ในเลือดของผู้ขับขี่ได้ไม่เกิน5 ng/mL (Permissible inference law) 

  • สหราชอาณาจักรและแคนาดาที่กำหนดความเข้มข้นของสาร THC ในเลือดของผู้ขับขี่ที่มีได้ไม่เกินกว่า 2 ng/mL และสำหรับเยอรมนีกำหนดให้ผู้ขับขี่สามารถตรวจพบสาร THC ได้ไม่เกิน1 ng/mL แต่จะตรวจเฉพาะในเลือดส่วนเซรั่ม (Blood Serum) เท่านั้น 

ประเด็นผลกระทบของการใช้กัญชาต่อความสามารถในการขับขี่สำหรับประเทศที่ปลดล็อกแล้วนั้น จึงเป็นประเด็นที่ไม่ควรมองข้ามเป็นอย่างยิ่ง แม้จะยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนโดยตรงถึงผลกระทบของการใช้กัญชาต่อสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนน แต่มีผลวิจัยที่ชี้ว่ากัญชาสามารถส่งผลต่อความสามารถบางอย่างที่สำคัญต่อการขับขี่ได้ ประกอบกับข้อแนะนำเรื่องการใช้กัญชาที่เกี่ยวกับการขับรถดังปรากฏในแถลงการณ์มหาวิทยาลัยมหิดลที่ว่า “ผู้ที่ใช้กัญชา ไม่ควรขับรถหรือทำงานกับเครื่องจักรในระยะ 6 ชั่วโมงหลังใช้กัญชา เพราะมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุรุนแรงได้สูง” อย่างไรก็ดี ผลของกัญชา ขึ้นอยู่กับปริมาณสารออกฤทธิ์ที่เสพไป

นอกจากนี้ เนื่องจากการขับสารออกในแต่ละคนแตกต่างกันผลของสารออกฤทธิ์ในแต่ละคนจึงแตกต่างกันไปด้วย จึงเห็นได้ชัดเจนว่าประเทศไทยควรต้องเร่งดำเนินการศึกษาผลกระทบของการใช้กัญชาต่อความสามารถในการขับขี่ เพื่อกำหนดนโยบายให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายจราจรทางบกสามารถใช้เครื่องมือทางกฎหมายเพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากกรณีขับขี่ภายใต้อิทธิพลของกัญชาต่อไป โดยอาจพิจารณากำหนดความเข้มข้นของสาร THC ในเลือดของผู้ขับขี่ในระดับ 0 ng/mL หรือในรูปแบบ Zero tolerance law เพื่อตอกย้ำว่าการขับขี่หลังการใช้กัญชาเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ และควรเตรียมจัดเก็บข้อมูลสถิติอุบัติเหตุที่เป็นผลเกี่ยวเนื่องจากการใช้กัญชาเพื่อนำมาศึกษาและจัดทำนโยบายที่เหมาะสมต่อไป

บทความโดย ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอ ดร. สลิลธร ทองมีนสุข อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิชาการ นโยบายด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอ รัศมีจันทร์ เสาวคนธ์ นักวิจัยนโยบายด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอ

แหล่งที่มาข้อมูล:

  1. NIDA. 2022, April 15. Does marijuana use affect driving?. Retrieved from https://nida.nih.gov/publications/research-reports/marijuana/does-marijuana-use-affect-driving on 2022, June 15.
  2. Governors Highway Safety Association. Drug Impaired Driving. Retrieved from https://www.ghsa.org/state-laws/issues/drug%20impaired%20driving on 2022, June 15.
  3. Compton, Richard P. July 2017. Marijuana-Impaired Driving: A Report to Congress. U.S. Department of Transportation, National Highway Traffic Safety Administration. Retrieved from https://www.nhtsa.gov/sites/nhtsa.dot.gov/files/documents/812440-marijuana-impaired-driving-report-to-congress.pdf on 2022, June 15.
  4. Ingraham, C. 9 February 2015. Stoned drivers are a lot safer than drunk ones, new federal data show. Washington Post. Retrieved from https://www.washingtonpost.com/blogs/wonkblog/wp/2015/02/09/stoned-drivers-are-a-lot-safer-than-drunk-ones-new-federal-data-show/?tid=rssfeed on 2022, June 15.
  5. Pearlson Godfrey D., Stevens Michael C., D’Souza Deepak Cyril. Cannabis and Driving. Frontiers in Psychiatry, 12, 2021. Retrieved from https://www.frontiersin.org/article/10.3389/fpsyt.2021.689444 on 2022, June 15.
  6. EMCDDA. Legal approaches to drugs and driving. Retrieved from https://www.emcdda.europa.eu/publications/topic-overviews/legal-approaches-to-drugs-and-driving/html_en on 2022, June 15.
  7. Organization of American States Inter-American Drug Abuse Control Commission. 2014, November 11. Comparison of Marijuana Laws/Regulations: Colorado, Washington, Uruguay, Oregon, Alaska and District of Columbia on 2022, June 15.
  8. พิทยภูมิ ภัทรนุธาพร. กัญชาทางการแพทย์ ตอนที่ 3. เข้าถึงจาก www.canceralliance.co.th/กัญชาทางการแพทย์-ตอนที-2 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565.

ผลงานล่าสุดจากทีดีอาร์ไอ

นักวิจัย

ดร. สุเมธ องกิตติกุล
รองประธานสถาบัน ดูแลงานด้านการบริหารระบบงานภายใน / ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์
ดร. สลิลธร ทองมีนสุข
นักวิชาการอาวุโส

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด