เส้นทางพลังงานสะอาด ไม่เพิ่มต้นทุนไฟฟ้า

COP27 หรือการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 ปิดฉากไปแล้ว ซึ่งจุดยืนของประเทศไทยก็ยังคงเดิม ตามที่ประกาศไว้ในการประชุม COP26 เมื่อปีที่แล้ว

ในช่วงปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ปรับปรุงยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ (LT-LEDS) ให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ในการประชุม COP26 เช่น ปรับเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด (Peak year) ให้เร็วขึ้น จากเดิมกำหนดไว้ที่ปี 2030 เป็น 2025 (เร็วขึ้น 5 ปี)

รวมทั้งปรับเป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนให้เร็วขึ้น จากเดิมกำหนดไว้ที่ปี 2065 เป็นภายในปี 2050 (เร็วขึ้น 15 ปี) ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและส่งสัญญาณว่าประเทศไทยมีความจริงจังและให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคพลังงานเป็นภาคที่มีบทบาทสำคัญในการบรรลุเป้าหมายข้างต้น

เนื่องจากเป็นภาคที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจก) มากที่สุด และมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีและทางเลือกในการลดคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าภาคส่วนอื่น ดังนั้น การปรับเป้าหมายและแผนปฏิบัติการในภาคพลังงานให้เข้มข้นขึ้น จึงจำเป็นอย่างมากในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว

หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในภาคพลังงานดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ต่างๆ เพื่อนำมาใช้พิจารณาประกอบการปรับแผนและยุทธศาสตร์ระยะยาว ให้สามารถบรรลุเป้าหมายที่มีความท้าทายมากขึ้น โดยแผนพลังงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ แผนพลังงานชาติ แผน PDP, AEDP, EEP, gas and oil plan 2018 ซึ่งต้องปรับเป้าหมายให้มีความเข้มข้นขึ้น และสอดรับกับยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศด้วย

หนึ่งในการศึกษาที่มีความเกี่ยวข้องและอาจช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐในการปรับแผนต่างๆ คือ การศึกษาภายใต้โครงการพลังงานสะอาด เข้าถึงได้ และมั่นคงสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (CASE) ซึ่งได้ศึกษา เส้นทางลดคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคพลังงาน พบว่าประเทศไทยต้องเร่งลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์โดยรวมในภาคพลังงานให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

อีกทั้งพบว่าประเทศไทยสามารถ บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในภาคพลังงานได้ โดยใช้เทคโนโลยีพลังงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน และไม่ทำให้ต้นทุนภาคการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้น โดยแต่ละภาคส่วนควรมุ่งเน้นมาตรการดังต่อไปนี้

ภาคการผลิตไฟฟ้า ต้องเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้สูงกว่า 77% ในอีก 15 ปีข้างหน้า โดยเน้นเทคโนโลยีจากลมและแสงอาทิตย์ และทยอยปลดถ่านหินออกจากระบบไฟฟ้า มาตรการนี้ จำเป็นต้องอาศัยการลดอุปสรรคด้าน กฎระเบียบและต้นทุนทางการเงินในการติดตั้งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน

การเพิ่มความยืดหยุ่นในระบบไฟฟ้า ทั้งในด้านการทำสัญญาซื้อขายและการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ระบบกักเก็บพลังงานเข้ามาใช้ นอกจากนี้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องควรจะวางแผนลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างครอบคลุม เช่น มีนโยบายที่ชัดเจนให้ตลาดแรงงาน สามารถเตรียมตัวล่วงหน้าได้และมีมาตรการช่วยเหลือแรงงานที่อาจได้รับผลกระทบ

ภาคอุตสาหกรรม (ความร้อน) ต้องเพิ่ม สัดส่วนการใช้ไฟฟ้าในกระบวนการผลิตให้สูงกว่า 50% ในอีก 15 ปีข้างหน้า และเลิกใช้ ถ่านหินภายในปี 2050 ซึ่งต้องอาศัยมาตรการจูงใจให้อุตสาหกรรมเปลี่ยนเทคโนโลยี เช่น ปั๊มความร้อนแบบไฟฟ้า ส่งเสริมธุรกิจประหยัดพลังงาน การบังคับใช้มาตรฐานประสิทธิภาพพลังงาน ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีชีวมวล และไฮโดรเจน ทดแทนการใช้ถ่านหินในการผลิตความร้อนในภาคอุตสาหกรรม

ภาคขนส่ง ในอีก 15 ปีข้างหน้าต้องทำให้ 100% ของรถยนต์ที่จำหน่ายเป็นยานยนต์ไฟฟ้า ควบคู่กับการเปลี่ยนรูปแบบการเดินทาง จากรถส่วนตัวเป็นรถสาธารณะ และจากถนนสู่ระบบรางที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ซึ่งการดำเนินงานขับเคลื่อนในส่วนนี้ต้องอาศัยมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าทั้งด้านอุตสาหกรรมและในฝั่งของผู้บริโภค การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะและระบบราง รวมไปถึงมาตรการจูงใจให้ผู้บริโภคเปลี่ยนจากยานยนต์สันดาปภายในมาเป็นยานยนต์พลังงานสะอาด เมื่อพิจารณาในส่วนของต้นทุนการผลิตไฟฟ้า พบว่าหากระบบไฟฟ้าดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Cost optimization) และอาศัยเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน ประกอบกับสมมติฐานที่ต้นทุนของเทคโนโลยีหลักอย่างโซลาร์และแบตเตอรี่มีแนวโน้มที่จะลดลง การบรรลุเป้าหมายตามแนวทางที่เสนอนี้จะไม่ทำให้ต้นทุนในภาคการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้น

การศึกษาของ CASE ชี้ว่ารัฐจำเป็นต้องปรับแผนพลังงานปัจจุบันให้เข้มข้นและชัดเจนมากกว่าในปัจจุบัน ซึ่งสอดคล้องกับเสียงสะท้อนจากวิทยากรในงานเสวนา “ทบทวนคำสัญญาผู้นำไทยกับความเป็นไปได้สู่เวที COP27” เมื่อ พ.ย.ที่ผ่านมา โดย ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ เสนอให้ภาครัฐ เพิ่มสัดส่วนของพลังงานสะอาดจากในแผนเดิม จัดการการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคอุตสาหกรรมให้ชัดเจน ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เร่งสร้างทางรถไฟฟ้ารางคู่ ส่งเสริมผู้ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าใช้เอง

ขณะที่ “อาทิตย์ เวชกิจ” จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เรียกร้องให้ภาครัฐปรับยกระดับเป้าหมายพลังงานสะอาดให้เข้มข้นขึ้นโดยเร็ว เพื่อมิให้อุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่เกี่ยวข้องกับคาร์บอน

ด้วยแนวโน้มโลกที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประเทศไทยหลีกเลี่ยง การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไม่ได้ ประเทศไทยจึงควรตัดสินใจและเร่งดำเนินการมาตรการต่างๆ ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านโดยเร็ว

เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยเอง และรักษาฐานการผลิตของธุรกิจต่างชาติ รวมไปถึง ยกระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อชีวิตของคนไทยทุกคน หากเริ่มทำช้า ประเทศจะยิ่งเสียโอกาส

แม้ว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานสะอาดต้องมีต้นทุน มีผู้ที่ได้และเสียประโยชน์ ผู้กำหนดนโยบายจึงต้องชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ที่จะได้และต้นทุนที่ต้องจ่ายให้รอบคอบ โดยการศึกษาของ CASE แม้จะสามารถตอบคำถามเพียงส่วนหนึ่งของสมการนี้

แต่ชี้ให้เห็นว่าเส้นทางความเป็นกลางทางคาร์บอนในภาคพลังงานสามารถบรรลุได้ โดยไม่เพิ่มต้นทุนไฟฟ้า นั่นแปลว่าผลกระทบ ของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานต่อต้นทุนการผลิตหรือค่าครองชีพจะมีไม่มากนัก ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี

จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อมูลจากการศึกษานี้จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้กำหนดนโยบายเพื่อนำไปใช้ในการประกอบการตัดสินใจและไม่ประเมินบทบาทของภาคพลังงานในการช่วยลดก๊าซเรือนกระจกต่ำเกินไปเหมือนที่ผ่านมา

บทความ โดย สิริภา จุลกาญจน์ และ วิชสิณี วิบุลผลประเสริฐ

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพลังงานสะอาด เข้าถึงได้ และมั่นคง สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (CASE) ดำเนินการโดยองค์กรความ ร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และองค์กรเชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศ สนับสนุนโดยกระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK)

เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2565


ผลงานล่าสุดจากทีดีอาร์ไอ