tdri logo
tdri logo
15 มิถุนายน 2023
Read in Minutes

Views

ยกเครื่องสลากกินแบ่งรัฐบาล : เพิ่มเงินออมคนไทยยามเกษียณ

คนไทยกับการเสี่ยงโชคเป็นสิ่งที่คู่กัน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของความสุข สนุก ตื่นเต้น ที่เกิดจากการเสี่ยงโชคหรือความหวังที่จะเปลี่ยนชีวิตด้วยเงินรางวัล และหนึ่งในการเสี่ยงโชคที่ได้รับความนิยมจากคนไทยมากที่สุดและมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น คือการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล

ผลการศึกษาของศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงให้เห็นว่าในปี 2564 ตลาดสลากกินแบ่งมีมูลค่าหมุนเวียนรวมต่อปีเกือบ 1.4 แสนล้านบาท โดยเฉพาะในกลุ่มวัยแรงงาน มีผู้ซื้อเพิ่มถึง 7 เปอร์เซ็นต์นับตั้งแต่ปี 2562 ในขณะที่ข้อมูลการสำรวจสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนไทย ชี้ให้เห็น ว่าครัวเรือนรายได้น้อยมีสัดส่วนการซื้อสลากมากกว่าครัวเรือนรายได้สูง ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนถึงความหวังในการยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจของครัวเรือนในระยะเวลาอันสั้น

ในช่วงเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2556-2565) ความนิยมในการซื้อสลากทำให้รัฐบาลมีรายได้สุทธิ (รายได้ การขายหักด้วยเงินรางวัลจ่ายออก) มากกว่า 3.36 แสนล้านบาท ซึ่งหมายความว่าเงินของประชาชนผู้ซื้อสลากจะเหลือในกระเป๋าน้อยลง อันหมายถึงการออมของประชาชนจะน้อยลงด้วย
          

การซื้อสลากกินแบ่งจึงส่งผลเสียต่อการออมของคนไทย ท่ามกลางภาวะที่การออมอาจไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายเกษียณของคนไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนไทยที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ไม่ดีอยู่แล้วซึ่งมีสัดส่วนการซื้อสลากมากกว่าครัวเรือนฐานะดี ยิ่งทำให้ปัญหานี้น่าเป็นห่วงมากขึ้น
          

เนื่องจากสลากกินแบ่งเป็นการพนันรูปแบบหนึ่ง สิ่งที่หลายคนอยากเห็นคือ ความต้องการซื้อสลากของคนมีน้อยลงเพื่อให้คนมีเงินเหลือเก็บมากขึ้น และไม่สนับสนุนให้เพิ่มการพนันรูปแบบใหม่หรือรางวัลจูงใจที่ใหญ่ขึ้น พร้อมทั้งบังคับควบคุมราคาขายตามกฎหมายกำหนดแต่ข้อเสนอเหล่านี้มีปัญหาในทางปฏิบัติมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นเพราะการเปลี่ยนความนิยมของสลากกินแบ่ง หรือรายได้ของรัฐบาลจากช่องทางนี้ก็ยังคงมีความจำเป็น
          

ดังนั้น คณะผู้วิจัยทีดีอาร์ไอ จึงมีข้อเสนอแนวทางยกระดับสลากที่จะช่วยแก้โจทย์ดังกล่าว โดยประชาชนยังซื้อสลากตามความต้องการเดิมหรือมากกว่าเดิม รัฐบาลจะไม่เสียรายได้ และยังช่วยเพิ่มการออมของผู้ซื้อ (หรือชดเชยการออมที่ลดลง) ได้ด้วย
          

ที่ผ่านมามีพรรคการเมืองใหญ่เคยนำเสนอแนวคิดคล้ายกันนี้ในช่วงการเลือกตั้งในชื่อ “นโยบายสลากการออมแห่งชาติ” ผ่านการออกสลากชนิดใหม่ควบคู่สลากกินแบ่งรัฐบาล โดยเป็นการเก็บรักษาเงินต้นของผู้ซื้อและคืนให้กับผู้ซื้อพร้อมดอกเบี้ยในยามเกษียณผ่านการลงทุนในกองทุนการออมแห่งชาติ
          

ทั้งนี้ เงินรางวัลของสลากการออมจะได้มาจากดอกเบี้ยของการลงทุนเช่นเดียวกัน แต่ข้อเสนอนี้น่าจะยังสุ่มเสี่ยงต่อการที่ส่งเสริมให้คนซื้อหวยมากขึ้น เพราะมีการออกสลากชนิดใหม่โดยไม่ลดจำนวนสลากเก่า อีกทั้งการออมสลากใหม่ก็ยังอาจเจอปัญหาเรื่องการขายเกินราคาอย่างไม่เป็นธรรมของสลากกินแบ่งระบบปัจจุบันเช่นเดิม
          

ทีดีอาร์ไอจึงมีข้อเสนอที่คำนึงถึงปัญหาข้างต้นและช่วยป้องกันเงินหายไปจากระบบ เพราะมีผู้ขายสลากเกินราคาไปพร้อมกันด้วย

ข้อเสนอนี้มี 4 องค์ประกอบ คือ (ก) ไม่ต้องมีการออกสลากชนิดใหม่ (ข) ประชาชนซื้อสลากในราคาใกล้เคียงกับราคาตลาดในปัจจุบัน ซึ่งสองข้อนี้ส่งผลให้ไม่มีการซื้อหวยมากกว่าปัจจุบัน (ค) รัฐบาลมีรายได้เท่าเดิม (ง) ประชาชนมีเงินออมเพิ่มขึ้น โดยการนำส่วนต่างของราคาสลากขายปลีกกับราคาที่รัฐบาลได้รับมาเป็นเงินออมให้กับผู้ซื้อ


ตัวอย่างรูปธรรมคือ สมมติว่าปัจจุบันราคาขายสลากที่ประชาชนจ่ายตามท้องตลาดคือ 105 บาท ในขณะที่รัฐบาลขายที่ราคา 80 บาท (ซึ่งในส่วนของ 80 บาทนี้รัฐบาล ได้แบ่งเป็นกำไรให้กับผู้ขายรายย่อย จำนวน 9.60 บาท) จากนั้นรัฐบาลนำส่วนต่าง  25 บาท (105 ลบด้วย 80 บาท) ต่อใบ มาเป็นเงินออมของผู้ซื้อ โดยรัฐบาลโอนเข้าบัญชีพิเศษให้

เงินดังกล่าวจะถูกนำไปจัดสรรลงทุน และคืนให้เมื่อยามเกษียณ หรือสะสมครบจำนวน หรือเวลาตามที่กำหนด พร้อมผลตอบแทนจากการลงทุน ข้อเสนอนี้ทั้งรัฐและผู้ขายสลากรายย่อยยังคงได้รับรายได้เท่าเดิม เพียงแต่เป็นการโอนกำไรส่วนเกินของพ่อค้าคนกลางมาเป็นเงินออมของผู้ซื้อนั่นเอง

ตัวเลขตามตัวอย่างนี้ จะสามารถสร้างเงินออมให้กับประชาชนได้อย่างน้อย 5,000 ล้านบาทต่อเดือน (เก็บออมใบละ 25 บาท เดือนละ 2 งวด งวดละ 100 ล้านใบ) หากประชาชนซื้อสลากงวดละ 4 ใบทุกงวด ผู้ซื้อจะมีเงินออม ณ สิ้นปีอย่างน้อย 2,400 บาท และถ้าซื้อต่อเนื่องเป็นเวลา 30 ปีจนเกษียณ จะสร้างเงินสะสมกว่า 1.17 แสนบาท จากเงินต้นเพียง 72,000 บาท (ผลตอบแทน 3% ต่อปี และผู้ออมไม่มีการถอนเงิน) ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาเงินออมยามเกษียณไม่เพียงพอได้อย่างมาก โดยเฉพาะครัวเรือนรายได้น้อยที่นิยมซื้อสลากกินแบ่งเป็นประจำ

ข้อเสนอดังกล่าวจึงเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มที่ต้องการเสี่ยงโชคอยู่แล้ว แต่กลุ่มที่ต้องการออมจะไม่เลือกซื้อสลากดังกล่าว เพราะจะได้รับเงินออมไม่เต็มจำนวน จึงไม่เป็นการสร้างผู้เสี่ยงโชครายใหม่

ผลพลอยได้อีกประการหนึ่งคือ คนไทยอาจเล่นหวยใต้ดินน้อยลงและหันมาซื้อสลากกินแบ่งมากขึ้นเพราะได้รับเงินออมส่วนนี้ แม้จะไม่ชัดเจนว่าทำให้การซื้อหวยโดยรวม (ทั้งบนดินและใต้ดิน) ลดลงหรือไม่ แต่อย่างน้อยก็ไม่น่าจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาสลากยังคงเท่ากับที่ประชาชนมีการซื้อตามท้องตลาด


เพื่อให้ข้อเสนอนี้เกิดประโยชน์สูงสุด การจำหน่ายสลากกินแบ่ง “ทั้งหมด” ควรซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ เช่น “เป๋าตัง” เพื่อให้สามารถทราบว่าเงินออมนี้เข้าบัญชีผู้ซื้อได้โดยตรง และสามารถคุมราคาขายได้เท่าที่กำหนด (เช่น 105 บาทตามตัวอย่าง) หรือในกรณีที่สลากกระดาษยังเป็นที่นิยม การทำ QR Code บนสลากยังเป็นอีกทางเลือกเพื่อให้ผู้ซื้อสแกนและได้รับเงินออมโอนเข้าบัญชีที่ตั้งไว้พิเศษเพื่อการนี้ (คล้ายกับ “สแกนเก็บ” ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลที่มีในปัจจุบัน )

รวมทั้งต้องกำหนดแนวปฏิบัติในการนำเงินออมที่มีออกมาใช้ก่อนเกษียณ ซึ่งอาจทำได้ภายใต้เงื่อนไขที่เข้มงวดเพื่อไม่ให้มีการนำเงินออมไปใช้มากไปหรือเร็วไปจนกระทบวัตถุประสงค์การเพิ่มการออมเพื่อการเกษียณ

ท้ายที่สุด ข้อเสนอข้างต้นจึงเป็นหนึ่งในวิธีการสร้างการออมให้เกิดขึ้นพร้อมกับพฤติกรรมการเสี่ยงโชคของคนไทย และแน่นอนว่าข้อเสนอนี้จะทำให้ผู้ค้าคนกลางที่ได้กำไรเกินควรเสียประโยชน์ แต่เรื่องนี้ก็น่าจะเป็นนโยบายของภาครัฐในการกำจัดการค้ากำไรเกินควรอยู่แล้ว

หากทำตามข้อเสนอนี้ประชาชนส่วนใหญ่ (ไม่ว่าจะเป็นผู้ซื้อสลากหรือผู้ไม่ได้ซื้อ) ก็คงสนับสนุน ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลมีอำนาจต่อรองทางการเมืองต่อกลุ่มผลประโยชน์เหล่านี้ต่อไปในอนาคตได้อีกด้วย

บทความโดย ชาคร เลิศนิทัศน์

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 1 มิ.ย. 2566


ผลงานล่าสุดจากทีดีอาร์ไอ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด