สื่อ VS แพลตฟอร์ม งานผลิตข่าวมีราคาที่ต้องจ่าย

การเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อเป็นความท้าทายที่สื่อมวลชนทั่วโลกต้องเผชิญ เมื่อผู้บริโภคมีพฤติกรรมเสพข่าวและข้อมูลผ่าน “แพลตฟอร์มดิจิทัล”


สื่อมวลชนรวมถึงคนทำคอนเทนต์ในฐานะผู้ผลิตข่าว จำเป็นต้องพึ่งพาแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อให้ได้อัตราการมองเห็น (Eyeballs) เพิ่มขึ้น แต่การพึ่งพาแพลตฟอร์มทำให้ ผลตอบแทน ทั้งยอดการเข้าถึงและเม็ดเงินกลับตกไม่ถึงผู้ผลิตข่าวเท่าที่ควร ขณะที่แพลตฟอร์มกลับได้รายได้จากค่าโฆษณาเพิ่มขึ้น หลายฝ่ายกังวลว่าจะนำไปสู่แรงจูงใจ ในการผลิตเนื้อหาต่างๆ ที่ลดน้อยลงหรือคุณภาพต่ำลง


ในหลายประเทศจึงมีความพยายามรักษาสมดุลอำนาจในการเจรจาต่อรอง ค่าตอบแทนเนื้อหาข่าว ระหว่างธุรกิจสื่อกับธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล ด้วยการ ออกกฎหมายให้แพลตฟอร์มดิจิทัล ดำเนินการเจรจาค่าตอบแทนเนื้อหาข่าวกับผู้ผลิตข่าว

ออสเตรเลียเป็นประเทศแรกๆ ที่ประกาศใช้ News Media Bargaining Code ในปี 2564 โดยกำหนดให้ผู้ผลิตข่าวมีหน้าที่ยื่นเสนอเจรจาค่าตอบแทนการให้บริการกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม แต่จากนั้นไม่นานทางแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ อย่าง Meta (Facebook) ได้แสดงการ ต่อต้าน โดยประกาศปิดกั้นผู้ใช้งาน จนทำให้ชาวออสเตรเลียไม่สามารถรับข่าวสารในแพลตฟอร์มนี้ประมาณ 3 เดือน

ส่วน Google เคยประกาศว่าจะนำเครื่องมือการค้นหาออก แต่ภายหลัง Google ได้เปิดตัว News Showcase ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มใหม่ที่จัดทำขึ้นเพื่อให้ผู้ผลิตและองค์กรข่าวสามารถเข้ามาร่วมเป็น “พันธมิตรทางธุรกิจ” ในการนำเสนอข่าวลงในแพลตฟอร์ม โดย Google จะจ่ายค่าตอบแทนให้พันธมิตรในลักษณะของ “ค่าเผยแพร่เนื้อหาข่าว” แทนการเสียค่าตอบแทนจากการเข้าไปชมลิงก์ที่อยู่ในเครื่องมือการค้นหา

ในปัจจุบัน Google และ Meta ยินยอมเจรจาร่วมกับผู้ผลิตข่าวทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก โดยบรรลุข้อตกลงประมาณ 30 ฉบับ ทั้งในเขตเมืองและภูมิภาค มีการประเมินว่ากฎดังกล่าว ส่งผลให้ Google และ Meta จ่ายเงินให้กับผู้ผลิตข่าวไปแล้วมากกว่า 200 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (AUD) นอกจากนี้ยังสร้างงานมากกว่า ร้อยตำแหน่งให้กับองค์กรข่าวรายใหญ่
  

อย่างไรก็ตาม  ภายหลังที่บังคับใช้ กฎหมาย 1 ปี ออสเตรเลียได้ทบทวนกฎหมายและพบช่องว่างที่สำคัญ คือการขาดความโปร่งใสในข้อตกลง เนื่องจากเงื่อนไข และจำนวนเงินของค่าตอบแทนจะถูก เก็บไว้เป็นความลับ จึงไม่มีความแน่นอน ว่าค่าตอบแทนที่ได้รับมีความเป็นธรรม หรือไม่

อีกทั้งองค์กรข่าวขนาดเล็กที่มีรายได้ต่ำกว่า 150,000 AUD ต่อปี ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งทำให้มีข้อวิพากษ์วิจารณ์เรื่องของความไม่เท่าเทียมในการประกอบธุรกิจ

แคนาดา ออกกฎหมาย Online News Act ฉบับใหม่ เพื่อแก้ไขความไม่สมดุลในตลาดสื่อดิจิทัล โดยกำหนดให้แพลตฟอร์มขนาดใหญ่ต้องเจรจาค่าตอบแทนอย่าง “เป็นธรรม” และ “โปร่งใส” กับผู้ผลิตข่าว โดยรายละเอียดมีความแตกต่างกับกฎหมายของออสเตรเลียบางประการเพื่อแก้ไขปัญหาด้านความโปร่งใส

หน่วยกำกับแพลตฟอร์มออนไลน์ของแคนาดา สามารถกำหนดให้แพลตฟอร์มเข้าเจรจาภายใต้กฎการต่อรองได้ภายใต้เงื่อนไขที่แน่นอน และเลือกใช้รูปแบบการอนุญาโตตุลาการแบบข้อเสนอสุดท้าย (final offer arbitration) ซึ่งจะเปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายเสนอตัวเลขค่าตอบแทนที่เห็นว่าเหมาะสม และอนุญาโตตุลาการต้องเลือกข้อเสนอใดข้อเสนอหนึ่ง อันจะเป็นการกระตุ้นให้ ทั้งสองฝ่ายเสนอข้อตกลงที่ยุติธรรมตั้งแต่เริ่มต้น

ทั้งนี้ องค์กรตรวจสอบงบประมาณอิสระของรัฐสภาแคนาดา พบว่า ผู้ผลิตข่าว ในแคนาดารวมกันอาจรับเงินได้มากถึง 329 ล้านดอลลาร์แคนาดา (CAD) ต่อปีจากแพลตฟอร์มดิจิทัล แต่ทว่าหลังจากกฎหมายของแคนาดาผ่านออกมาแล้วก็มีปฏิกิริยาตอบกลับจากแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นที่ออสเตรเลีย โดย Google และ Meta ประกาศว่าจะจำกัดการเข้าถึงเนื้อหาข่าวสำหรับผู้ใช้ ชาวแคนาดา

หลายฝ่ายเห็นว่าหากไม่มีการตรากฎหมายในลักษณะนี้ ก็ไม่มีทางเลยที่ธุรกิจแพลตฟอร์มรายใหญ่อย่าง Facebook หรือ Google จะลงมาเจรจากับผู้ผลิตข่าว กฎหมายจึงมีความสำคัญเพื่อปรับสมดุล ของอำนาจต่อรองเจรจาค่าตอบแทนที่ ผู้ผลิตข่าวสมควรได้รับ และจะส่งผลเป็นแรงกระตุ้นให้มีการสร้างสรรค์เนื้อหาใหม่ต่อไป

แต่ในทางกลับกันหลายฝ่ายกังวลว่ากฎหมายลักษณะนี้เป็นการแทรกแซงการแข่งขันเสรี และอาจทำให้ผู้ผลิตเนื้อหา ไม่ปรับตัวเข้ากับช่องทางการเผยแพร่เนื้อหาใหม่ รวมไปถึงอาจมองได้ว่าแพลตฟอร์มเป็นเพียงช่องทางหนึ่งในการเผยแพร่เนื้อหาและข่าวสารเท่านั้น

อีกทั้งจากประสบการณ์ของออสเตรเลียและแคนาดาพบว่า การนำกฎเกณฑ์ลักษณะนี้มาใช้อาจส่งผลให้แพลตฟอร์มเลือกที่จะไม่ให้บริการในประเทศที่บังคับใช้กฎหมาย หรือปิดกั้นข่าวที่มีแหล่งที่มาจากประเทศ ที่มีการบังคับใช้กฎเหล่านี้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนเข้าถึงข่าวได้น้อยลง อันจะลดประโยชน์ของข่าวต่อสังคมลงตามไปด้วย

นอกจากออสเตรเลียและแคนาดาแล้วยังมีอีกหลายประเทศกำลังออกกฎหมายในลักษณะนี้ด้วย เช่น สหรัฐอยู่ระหว่าง การจัดทำ Journalism Competition and Preservation Act และสหราชอาณาจักรที่กำลังร่าง Special Market Status legislation

อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ยังมีข้อ ถกเถียงถึงข้อดีข้อเสียของการออกกฎหมายนี้ เป็นวงกว้าง ซึ่งอาจจะยังไม่เห็นข้อสรุปและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น

ดังนั้น ประเทศไทยอาจต้องรอดูประสิทธิผลของประเทศที่ทำการบังคับใช้กฎหมายลักษณะดังกล่าว เพื่อพิจารณาว่าแนวทางใดเข้ากับเรา โดยอาจพิจารณาเปรียบเทียบกับทางเลือกอื่นในการดำเนินนโยบายเพื่อแก้ปัญหานี้ เพื่อให้ส่งผลดี ต่อสังคมและสอดคล้องกับบริบทของประเทศไทยมากที่สุด

บทความโดย สลิลธร ทองมีนสุข นภสินธุ์ คามะปะโส ฉัตรฑริกา นภาธนาพงศ์  สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 13 ก.ค. 2566