tdri logo
tdri logo
11 สิงหาคม 2023
Read in Minutes

Views

การประเมินผลงานของรัฐบาลประยุทธ์ 2 และข้อเสนอแนะทางนโยบายต่อรัฐบาลใหม่

การประเมินผลงานของรัฐบาลประยุทธ์ 2

และข้อเสนอแนะทางนโยบายต่อรัฐบาลใหม่

คณะผู้ประเมินจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

ท่ามกลางสถานการณ์การจัดตั้งรัฐบาลในขณะนี้ที่ยังมีความไม่แน่นอนหลายประการ มีสิ่งหนึ่งที่แน่นอนคือ รัฐบาลใหม่ที่จะตั้งขึ้นมามีโจทย์ท้าทายมากมายที่รออยู่ ด้วยเหตุนี้ทีดีอาร์ไอจึงได้ประเมินผลงานของรัฐบาลประยุทธ์ 2 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการระบุโจทย์ท้าทาย และเพื่อนำเสนอข้อเสนอแนะทางนโยบายต่อรัฐบาลใหม่

รัฐบาลประยุทธ์ 2 จัดตั้งขึ้นหลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 ต่อเนื่องจากรัฐบาลประยุทธ์ 1 โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยหนึ่งจากการให้ความเห็นชอบของรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และวุฒิสภาซึ่งมีอำนาจในการให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรีจากบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560  โดยรัฐบาลประยุทธ์ 2 ยังคงบริหารประเทศภายใต้วิสัยทัศน์ที่มุ่งสร้างความ “มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน” เช่นเดียวกับรัฐบาลประยุทธ์ 1

ในช่วง 4 ปีของรัฐบาลประยุทธ์ 2 เกิดเหตุการณ์สำคัญคือ การระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นวิกฤติสุขภาพและวิกฤติด้านเศรษฐกิจ มีผลทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 79.9 ในช่วงต้นของรัฐบาลเป็นร้อยละ 86.9 เมื่อสิ้นปี 2565 (ก่อนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะใช้คำจำกัดความใหม่) และทำให้หนี้สาธารณะสูงขึ้นจากร้อยละ 41 ในช่วงต้นของรัฐบาลเป็นร้อยละ 61.6 ของ GDP เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการที่รัฐบาลมีโครงการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤติโควิด-19 อีกส่วนหนึ่งเกิดจากการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่หลายโครงการและการดำเนินนโยบายอื่นๆ ของรัฐบาล

รายงานฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของซีรีย์ “ข้อสังเกตนโยบายช่วงเลือกตั้งและประเมินผลงานรัฐบาล-ผู้ว่าฯ” ที่คณะผู้วิจัยจาก ทีดีอาร์ไอ ได้นำเสนอต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การประเมินผลงาน 5 ปี รัฐบาลประยุทธ์ 1 (เผยแพร่เมื่อกรกฎาคม 2562) การประเมินผลงานกลางเทอมรัฐบาลประยุทธ์ 2: การควบคุมการระบาดของโควิด-19 และการบริหารจัดการวัคซีน (เผยแพร่เมื่อกรกฎาคม 2564) ตลอดจนการประเมินผลงานผู้ว่าฯ อัศวินและข้อเสนอแนะสำหรับผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ (เผยแพร่เมื่อเมษายน 2565) โดยรายงานนี้มุ่งประเมินผลงานของรัฐบาลประยุทธ์ในด้าน “มั่งคั่งและยั่งยืน” แต่ไม่รวมด้านความ “มั่นคง” ซึ่งคณะผู้ประเมินไม่มีความถนัด

ทั้งนี้ การประเมินให้ความสำคัญต่อสิ่งที่ผู้ประเมินเห็นว่าเป็นนโยบายหลัก (Flagship) ของรัฐบาล ทั้งในด้านความมั่งคั่ง ซึ่งรวมถึง เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาภาคเกษตร การปฏิรูปการศึกษา และการแก้ปัญหาแรงงาน  ตลอดจนในด้านความยั่งยืน ซึ่งรวมถึงการคุ้มครองทางสังคม การต่อต้านคอร์รัปชัน และการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ    อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดด้านเวลาและความถนัดของทีมผู้ประเมินทำให้ไม่สามารถประเมินผลการดำเนินงานของรัฐบาลในอีกหลายประเด็นที่มีความสำคัญ ซึ่งองค์กรอื่นๆ และภาคสังคมควรร่วมกันประเมินต่อไป

การประเมินผลงานนี้มุ่งหวังเพื่อเสนอให้รัฐบาลใหม่ รัฐสภา พรรคการเมือง องค์กรต่างๆ และประชาชนให้การสนับสนุนในการสานต่อนโยบายที่เราเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศ ริเริ่มนโยบายที่สมควรทำแต่ยังไม่ได้ทำ และยกเลิกนโยบายที่ดำเนินการอยู่ที่ก่อให้เกิดปัญหา

 

ประเมินนโยบาย 2 ด้าน 10 นโยบาย ส่งต่อรัฐบาลใหม่

บทส่งท้าย

ตลอดระยะเวลา 4 ปี รัฐบาลประยุทธ์ 2 ได้สร้างผลงานที่สำเร็จออกมาเป็นรูปธรรมไว้หลายด้าน และดำเนินโครงการจำนวนหนึ่งที่มีประโยชน์ต่อประเทศ ซึ่งสมควรได้รับการสานต่อ

ในทางกลับกัน รัฐบาลก็ดำเนินนโยบายอีกหลายด้านที่ไม่ประสบความสำเร็จ หรือแม้กระทั่งก่อให้เกิดปัญหา ซึ่งเกิดขึ้นจากทั้งความเข้าใจผิด การกำหนดนโยบายโดยไม่ผ่านการปรึกษาหารืออย่างรอบด้าน การรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางแทนที่จะกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่น การใช้กลไกของระบบราชการและรัฐวิสาหกิจเป็นหลักในการขับเคลื่อนนโยบายทั้งที่มีประสิทธิภาพต่ำ ตลอดจนการที่นโยบายของรัฐบาลได้รับอิทธิพลจากกลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่ม นโยบายเหล่านี้สมควรได้รับการทบทวนและปรับปรุงให้ดีขึ้น หรือแม้กระทั่งยกเลิกไปโดยรัฐบาลใหม่

 

คณะผู้ประเมิน

คณะผู้ประเมินประกอบไปด้วยบุคคลซึ่งเรียงรายชื่อตามตัวอักษรดังต่อไปนี้คือ กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์, กัญจน์ จิระวุฒิพงศ์, กิรติพงศ์ แนวมาลี, ชาริกา ชาญนันทพิพัฒน์, ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร, ธิปไตร แสละวงศ์, นิพนธ์ พัวพงศกร, พงศ์ทัศ วนิชานันท์, วิโรจน์ ณ ระนอง, สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์, สมชัย จิตสุชน, สุเมธ องกิตติกุล และเสาวรัจ รัตนคำฟู

 

หมายเหตุ

นักวิจัยในคณะผู้ประเมินบางคนมีส่วนร่วมในการนำเสนอ หรือให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายบางอย่าง ซึ่งภายหลังนำไปสู่การนำไปปฏิบัติของรัฐบาล   นโยบายดังกล่าวรวมถึงนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา การทำ “กิโยตินกฎระเบียบ” (Regulatory Guillotine) การจัดทำการศึกษาเพื่อยกร่าง พ.ร.บ. กฎหมายเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม และการร่วมยกร่าง พ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565

1. ผลงานของรัฐบาลด้านความ “มั่งคั่ง”

การพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

การพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นนโยบายหลักของรัฐบาลประยุทธ์ 2 ในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve industries) ต่อเนื่องจากร้ฐบาลประยุทธ์ 1 โดยโครงการที่มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญมีหลายโครงการ เช่น การพัฒนากำลังคนระดับสูงเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย และการพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์แม่นยำ ตลอดจนการดึงดูดการลงทุนมายังพื้นที่ EEC โดยรวม ในขณะที่หลายโครงการยังไม่มีความคืบหน้านัก เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ และการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve)

ในส่วนของการพัฒนากำลังคนระดับสูง สำนักงาน EEC ได้สนับสนุนการพัฒนากำลังคนที่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ โดยส่วนที่ปรากฏว่ามีความก้าวหน้ามากคือ หลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้น (Type B) ซึ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมขั้นสูง โดยสถานประกอบการได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมไม่เกินร้อยละ 50 และสามารถนำค่าใช้จ่ายในส่วนของตนไปลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 2.5 เท่า  ทั้งนี้จนถึงเดือนกรกฎาคม 2565 มีบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมกว่า 9.6 พันคน

ในส่วนของการพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์แม่นยำ สำนักงาน EEC ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และกิจการร่วมค้าไทยโอมิกส์ในการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม (Whole Genome Sequencing) คนไทยจำนวน 5 หมื่นคนเพื่อสร้างฐานข้อมูลทางพันธุกรรมของคนไทยเพื่อการศึกษาวิจัยและสนับสนุนการพัฒนาแนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรคให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล โดยจนถึงเดือนมีนาคม 2566 มีการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมไปแล้วกว่า 1 หมื่นตัวอย่าง

อย่างไรก็ตาม มีหลายโครงการที่ยังไม่มีความคืบหน้านัก ทั้งที่มีความสำคัญสูงในระดับเป็น “เรือธง” เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ (Flagship project) เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางขนส่งทางบกและทางอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งมีความล่าช้ากว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้มาก

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินระหว่างสนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิและอู่ตะเภา ได้ลงนามสัญญาร่วมลงทุนแล้วเมื่อเดือนตุลาคม 2562 และเดิมคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2567 ต่อมาเลื่อนการเปิดเป็นปี 2569 และล่าสุดเลื่อนการเปิดไปอีกถึงปี 2571 โดยยังไม่ได้เริ่มการก่อสร้างเลย ซึ่งช้ากว่ากำหนดเดิมไปอย่างน้อย 4 ปี และช้ากว่าการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงจีน-ลาว ซึ่งได้เริ่มการก่อสร้างเมื่อปี 2559 และสามารถเปิดให้บริการได้ตั้งแต่ปลายปี 2564 แล้ว แม้ช่วงเวลาในการก่อสร้างมีปัญหาการระบาดของโควิด-19 ก็ตาม

เช่นเดียวกันกับโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก  ซึ่งเดิมตั้งเป้าหมายเปิดให้บริการเฟสแรกได้ในปี 2567 ก็เลื่อนออกมาเป็นปี 2570  ในขณะที่โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F ก็ก่อสร้างล่าช้าจนไม่น่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ตามกำหนดในปี 2568 อย่างไรก็ตาม โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ได้ดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว และคาดว่าน่าจะเปิดท่าเรือก๊าซ (ส่วนที่ 1) ได้ภายในปี 2570 ตามที่กำหนด

ในด้านการดึงดูดการลงทุน โดยภาพรวมพื้นที่ EEC สามารถดึงดูดการลงทุนได้มากจนอาจเกิดการกระจุกตัวของการลงทุนในพื้นที่เมื่อเทียบกับการลงทุนทั้งประทศ โดยในช่วงปี 2562-2565 มีมูลค่าการลงทุนของโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC รวม 8.7 แสนล้านบาท หรือร้อยละ 45 ของการลงทุนที่ได้รับการส่งเสริมทั้งหมดของบีโอไอในช่วงเวลาดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) ยังเกิดขึ้นไม่มากนัก โดยในช่วงปี 2562-2565 ประเทศไทยมีมูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้งในและนอกพื้นที่ EEC 1.2 ล้านล้านบาท (ร้อยละ 61ของการลงทุนที่ได้รับการส่งเสริมทั้งหมดของบีโอไอ) อย่างไรก็ตามการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายกว่าร้อยละ 80 ยังเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายเดิม (Existing S-Curve) ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 24) ยานยนต์และชิ้นส่วน (ร้อยละ 22) ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (ร้อยละ 15) การเกษตรและแปรรูปอาหาร (ร้อยละ15) ขณะที่การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) ยังมีสัดส่วนต่ำมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (ร้อยละ 0.3) และอุตสาหกรรมอากาศยาน (ร้อยละ 0.8) เราจึงอาจกล่าวได้ว่า EEC ช่วยต่อยอดอุตสาหกรรมเป้าหมายเดิม แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ให้แก่ประเทศไทย

รัฐบาลใหม่ควรสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ EEC ไปต่อเนื่อง แต่ควรทบทวนอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ให้สอดคล้องกับผลการดำเนินงานที่ผ่านมาและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ให้เหมาะสม ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ โดยหากจะมีการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ก็ควรเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศโดยดำเนินการอย่างโปร่งใส  รัฐบาลยังควรยกระดับการพัฒนากำลังคนทักษะสูง โดยให้เงินอุดหนุนบางส่วนในการฝึกอบรมแก่สถานประกอบการ และกระตุ้นให้มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของรัฐในพื้นที่ร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรในสาขาที่หลากหลายมากขึ้น เนื่องจากหลักสูตรส่วนใหญ่ในปัจจุบันกระจุกตัวในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต

นอกจากนี้ รัฐบาลใหม่ควรเร่งแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ EEC อย่างจริงจัง เพื่อผลักดันให้เกิดการลงทุนอย่างรับผิดชอบและสอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยใช้ฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องจนเกิดประสิทธิผล

ที่สำคัญ รัฐบาลควรใช้การพัฒนาพื้นที่ EEC เป็นต้นแบบในการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบในการออกใบอนุญาตต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน และขยายผลไปสู่การปฏิรูปกฎระเบียบในการประกอบธุรกิจของประเทศในวงกว้าง

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม

รัฐบาลประยุทธ์ 2 ได้มีลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมต่อเนื่องจากรัฐบาลประยุทธ์ 1 ทั้งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออกและภูมิภาคอื่นๆ  แม้ว่าสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 จะทำให้การดำเนินโครงการมีความล่าช้า ทั้งการอนุมัติโครงการและการก่อสร้าง แต่รัฐบาลก็สามารถผลักดันโครงการบางส่วนให้เกิดความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งรวมถึงโครงการรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่เริ่มเปิดให้บริการทั้งสายสีแดงและสายสีเหลือง รวมถึงสายสีชมพูที่กำลังจะเปิดให้บริการในอนาคตอันใกล้ และการอนุมัติเส้นทางรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทางได้แก่เส้นทางเด่นชัย-เชียงราย และบ้านไผ่-นครพนม

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่สามารถผลักดันโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมที่สำคัญอีกอย่างน้อย 4 โครงการดังต่อไปนี้ให้สำเร็จลุล่วงไปได้

  1. การก่อสร้างรถไฟทางคู่ ซึ่งเกิดความล่าช้ามากโดยเฉพาะอย่างยิ่งการก่อสร้างทางช่วงมาบกระเบา-จิระ ซึ่งทำให้เส้นทางรถไฟทางคู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เสร็จสิ้นไปมากแล้วไม่สามารถใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ
  2. โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งเกิดความล่าช้าในการประมูล นอกจากนี้การดำเนินงานให้เกิดตั๋วร่วมและค่าโดยสารร่วมของระบบขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพและปริมณฑลยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร ทำให้ประชาชนต้องแบกรับค่าโดยสารราคาแพง และระบบขนส่งมวลชนที่ลงทุนไปไม่ได้ถูกใช้อย่างคุ้มค่า
  3. โครงการระบบขนส่งมวลชนในส่วนภูมิภาค ซึ่งยังไม่เกิดขึ้น รวมทั้งโครงการรถรางในจังหวัดขอนแก่นที่ภาคธุรกิจและเทศบาลหลายแห่งได้พยายามผลักดันมานาน เนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในส่วนของงบลงทุน
  4. โครงการระบบขนส่งในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน ที่ยังไม่มีการเริ่มต้นก่อสร้างเลย ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

รัฐบาลใหม่ควรดำเนินการดังต่อไปนี้ ประการแรก ควรเร่งรัดการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เร่งรัดการจัดซื้อหัวรถจักรและขบวนรถเพื่อให้บริการรถไฟสำหรับขนส่งผู้โดยสารและสินค้า และเร่งรัดการออกกฎหมายการขนส่งทางราง เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาร่วมให้บริการเดินรถไฟได้

ประการที่สอง ควรเร่งแก้ไขปัญหาการประมูลสัญญาสัมปทานสายสีส้ม และเร่งรัดให้เกิดค่าโดยสารร่วมทั้งระบบรถไฟฟ้าและรถโดยสารประจำทาง เพื่อให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายน้อยลงในการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ประการที่สาม ควรเร่งแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค กระจายอำนาจและสนับสนุนด้านการเงินให้ท้องถิ่นสามารถให้บริการขนส่งสาธารณะในพื้นที่ของตนได้

การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล  

รัฐบาลประยุทธ์ 2 ได้ประกาศให้ความสำคัญต่อการพัฒนา “เศรษฐกิจดิจิทัล” และ “บริการรัฐบาลดิจิทัล” ทั้งนี้เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของประเทศ ปฏิรูปการบริหารจัดการของภาครัฐ และยกระดับทักษะของคนไทย ผลงานที่สำคัญของรัฐบาลประกอบไปด้วยการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับคือ พ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 และพ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ตลอดจนกฎหมายลำดับรองต่างๆ ซึ่งรวมถึง พ.ร.ฎ. การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 และพ.ร.ฎ. จัดตั้งสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2566

การปรับปรุงกฎระเบียบดังกล่าวอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ช่วยให้อันดับ E-government Development Index (EDGI) ของประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากอันดับที่ 73 ในปี 2561 เป็นอันดับที่ 57 ในปี 2563 และอันดับที่ 55 ในปี 2565 อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ที่ออกมาในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ 2 ยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรมนัก อาทิ

  • การบังคับใช้ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ซึ่งออกมาในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ 1 เพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนได้ถูกเลื่อนออกไป 2 ครั้ง ครั้งละ 1 ปี ทำให้สามารถบังคับใช้อย่างเต็มที่เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 จากเดิมที่ควรจะสามารถใช้ได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 ส่วนหนึ่งเพราะรัฐบาลตั้งคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลขึ้นมาล่าช้า ทำให้การออกกฎหมายลำดับรองล่าช้าและสร้างความไม่ชัดเจนในการปฏิบัติตามกฎหมาย อีกส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่พร้อมปฏิบัติตามกฎหมายของหน่วยงานรัฐเอง นอกจากนี้ รัฐบาลยังจัดทำ (ร่าง) พ.ร.ฎ. กำหนดลักษณะกิจการหรือหน่วยงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ให้นำ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ 2562 บางส่วนมาใช้บังคับ ซึ่งหากประกาศใช้ จะกระทบต่อการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลทั้งในภาครัฐและเอกชน
  • การบังคับใช้ พ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ซึ่งกำหนดให้หน่วยงานรัฐต้องรับคำขอและการติดต่อที่ประชาชนส่งมาทางอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนแจ้งผลการพิจารณา ออกใบอนุญาตหรือออกเอกสารอื่นๆ ให้ประชาชนทางอิเล็กทรอนิกส์ ยังมีผลจำกัดอยู่มาก เนื่องจากมีหน่วยงานรัฐขนาดเล็กจำนวนมากที่ยังไม่มีความพร้อมในการปฏิบัติตามกฎหมาย
  • พ.ร.ฎ. การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 น่าจะไม่มีประสิทธิผลมากนักในการกำกับธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ก่อปัญหาผูกขาดและเอาเปรียบผู้ประกอบการรายย่อย เนื่องจากมีข้อกำหนดเพียงบางประเด็น เช่น ให้แพลตฟอร์มดิจิทัลต้องแจ้งการประกอบธุรกิจให้หน่วยงานรัฐทราบ ตลอดจนแจ้งข้อกำหนดและเงื่อนไขการให้บริการ เป็นต้น ในขณะที่การกำกับดูแลอย่างเต็มรูปแบบต้องใช้ร่าง พ.ร.บ. เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นผลจากการศึกษาของคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน

นอกจากนี้ในช่วงของรัฐบาลประยุทธ์ 2 ยังเกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดการประชุมและการทำงานออนไลน์ในวงกว้าง ตลอดจนมีการใช้แอปพลิเคชันและบริการต่างๆ โดยเฉพาะ “พร้อมเพย์” ที่ได้พัฒนาขึ้นก่อนหน้าอย่างก้าวกระโดด  นอกจากนี้รัฐบาลยังได้จัดให้มีแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม”  และ เป๋าตัง” เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในช่วงที่โควิด-19 ระบาด

อย่างไรก็ตาม บริการรัฐบาลดิจิทัลของรัฐบาลประยุทธ์ 2 ประสบปัญหาที่หน่วยงานรัฐแต่ละแห่งต่างพัฒนาบริการของตนโดยไม่เชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่น จึงไม่มีลักษณะของ One-stop service อย่างแท้จริง แม้จะมีความพยายามพัฒนาแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” สำหรับประชาชนทั่วไป และ “Bizportal” สำหรับธุรกิจขึ้นเป็นแกนกลาง แต่ก็ยังไม่สามารถบูรณาการบริการต่างๆ ของหน่วยงานรัฐทั้งหลายได้อย่างครบถ้วน   นอกจากนี้ ยังเกิดปัญหาจากการมีแอปพลิเคชันของภาครัฐจำนวนมากที่ใช้งานไม่ได้ หรือให้บริการซ้ำซ้อนกัน ซึ่งทำให้เกิดความสับสนของประชาชน  การสำรวจเบื้องต้นพบว่า หน่วยงานภาครัฐได้พัฒนาแอปพลิเคชันต่างๆ ขึ้นมาถึงประมาณ 300 แอปพลิเคชัน ยิ่งไปกว่านั้นแอปพลิเคชันของหน่วยงานรัฐแห่งเดียวก็ยังให้ประชาชนลงทะเบียนซ้ำหลายรอบ ซึ่งทำให้เกิดภาระที่ไม่จำเป็น

รัฐบาลใหม่ควรดำเนินการดังต่อไปนี้ หนึ่ง พัฒนาบริการรัฐบาลดิจิทัลเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ด้วยการบูรณาการบริการของหน่วยงานรัฐทั้งหลายเข้าด้วยกัน โดยยึดประชาชนผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง  สอง เร่งออก พ.ร.บ. เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม เพื่อให้สามารถกำกับดูแลธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลได้อย่างเต็มที่โดยเร็ว  สาม เร่งพัฒนาขีดความสามารถของหน่วยงานรัฐให้สามารถให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ประชาชน และคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนตามที่กฎหมายกำหนด

การพัฒนาภาคเกษตร

รายงานผลการดำเนินงานของรัฐบาลประยุทธ์ 2 ปีที่ 1-3 (พ.ศ. 2562-2565) ระบุว่าการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและพัฒนานวัตกรรมเป็นหนึ่งใน 12 เรื่องเร่งด่วนของรัฐบาล  เช่นเดียวกับรัฐบาลอื่นๆ ที่ผ่านมารัฐบาลประยุทธ์ 2 ให้ความสำคัญต่อการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรมากกว่าการพัฒนานวัตกรรมและเพิ่มผลิตภาพของภาคเกษตร

โครงการที่รัฐบาลให้ความสำคัญมากที่สุดคือ การช่วยเหลือเกษตรกร  6 โครงการ ได้แก่ โครงการประกันรายได้เกษตรกรที่ปลูกพืช 5 ชนิด (ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด ยางพารา และปาล์ม) และสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการทำนา ซึ่งใช้เงินงบประมาณรวม 158,626 ล้านบาท[1]ในปี 2565-2566 (สูงกว่างบประมาณกระทรวงเกษตรฯ 111,185 ล้านบาท) จุดแข็งของโครงการดังกล่าวคือ เกษตรกรที่ลงทะเบียนได้รับเงินอุดหนุนโดยตรงเข้าบัญชีที่ธกส. ทำให้มีการรั่วไหลน้อย และน่าจะมีทุจริตน้อยกว่าโครงการจำนำข้าวทุกเม็ด เนื่องจากรัฐไม่ได้เข้าแทรกแซงการค้าสินค้าเกษตร  นอกจากนี้เมื่อราคาตลาดสูงกว่าราคาประกัน รัฐก็ไม่ต้องจ่ายเงินช่วยเหลือในโครงการประกันรายได้ เช่น ในปี 2563/64 ไม่มีการจ่ายเงินชดเชยให้ชาวสวนปาล์ม ส่วนปี 2564/65 และ 2565/66 ก็ไม่มีการชดเชยให้เกษตรกรสวนปาล์ม มันสำปะหลังและข้าวโพด

อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวมีจุดอ่อนคือ ประการแรก มีเกษตรกรบางส่วนจดทะเบียนเกินโควตาที่รัฐบาลกำหนด เช่น โครงการประกันรายได้ชาวนาจะให้เงินชดเชยไม่เกิน 14-30 ไร่ต่อรายขึ้นกับประเภทข้าวที่ปลูก ในขณะที่โครงการสนับสนุนค่าบริการและพัฒนาคุณภาพข้าวจะให้เงินช่วยเหลือไม่เกิน 20 ไร่ เกษตรกรบางรายซึ่งมีที่ดินเกิน 20 ไร่จึงแตกครอบครัวเพื่อให้ได้การอุดหนุนเพิ่มขึ้น และมีบางคนนำที่ดินที่ใช้เพื่อการอื่นมาจดทะเบียน ทั้งนี้เพราะหน่วยงานรัฐไม่ได้ตรวจสอบอย่างจริงจัง ประเด็นนี้ถูกหยิบยกมาอภิปรายในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แต่ไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจัง จึงมีครัวเรือนเกษตรกรที่ได้รับการอุดหนุนมากเกินไป

ประการที่สอง มีการอุดหนุนชาวนา 2 โครงการที่ซ้ำซ้อนกันคือ โครงการประกันรายได้และโครงการสนับสนุนค่าบริหารและพัฒนาคุณภาพผลผลิต โดยการกำหนดราคาประกันของโครงการแรกรวมต้นทุนการผลิตและบวกกำไรให้ส่วนหนึ่งไปแล้ว แต่โครงการที่สองกลับเพิ่มเงินช่วยเหลือต้นทุนอีกไร่ละ 1,000 บาท ซึ่งเกิดจากพรรคประชาธิปัตย์และพรรคพลังประชารัฐต่างหาเสียงด้วยนโยบายที่ต่างกัน เมื่อมาเป็นรัฐบาลร่วมกัน จึงดำเนินการทั้งสองนโยบายตามที่หาเสียงโดยไม่ได้บูรณาการกัน ทำให้เกิดภาระการคลังสูงเกินความจำเป็น

ประการที่สาม เงินอุดหนุนเกษตรกรที่ปลูกพืช 5 ชนิดไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดินแต่ใช้เงินนอกงบประมาณขนาดใหญ่ ซึ่งจะกลายเป็นภาระของประชาชนในอนาคต โดยรัฐบาลให้ ธกส. จ่ายไปก่อนเพื่อไม่ให้ปรากฏในตัวเลขหนี้สาธารณะ ซึ่งเป็นการผิดวินัยทางการคลัง

ประการสุดท้าย หากเงินอุดหนุนดังกล่าวทำให้เกษตรกรปรับปรุงผลิตภาพการผลิต ทั้งเกษตรกรและประเทศก็จะได้ประโยชน์ แต่ผลการวิจัยของทีดีอาร์ไอชี้ว่า การอุดหนุนเกษตรกรโดย “ไม่มีเงื่อนไข” ทำให้เกษตรกรขาดแรงจูงใจในการปรับตัว ดังนั้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาผลผลิตข้าวต่อไร่ของไทยจึงไม่เพิ่มขึ้นและยังต่ำกว่าของกัมพูชา บังคลาเทศ ปากีสถาน เนปาล และอินเดีย

รัฐบาลประยุทธ์ มีนโยบายที่อาจช่วยพัฒนาผลิตภาพของภาคเกษตร 4 นโยบายคือ (ก) การฝึกอบรมพัฒนาการเรียนรู้และสร้างเครือข่าย young smart farmers ไม่ต่ำกว่า 18,215 ราย ซึ่งยังไม่เห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน (ข) การส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่จำนวน 2,313 แปลง โดยสนับสนุนการรวมกลุ่มของเกษตรกรรายเล็ก ซึ่งอาจทำให้เกิดการประหยัดของขนาด (economies of scale) แต่มีข้อเสียที่เกษตรกรบางกลุ่มไม่ได้นำเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่ได้รับแจกไปใช้ประโยชน์ (ค) การจัดทำระบบแผนที่เกษตร (agri-map) เพื่อให้เกษตรกรใช้ประโยชน์จากข้อมูลดิจิทัล ซึ่งยังไม่ประสบความสำเร็จ โดยมียอดการเข้าดูเพียง 767,698 ครั้งนับตั้งแต่เริ่มดำเนินการในปี 2562  (ง) การพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นนุ่มและส่งเสริมให้ชาวนาปลูกข้าวพันธุ์พื้นนุ่ม ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จ เพราะชาวนาเขตลุ่มเจ้าพระยาจำนวนมากหันไปใช้พันธุ์ข้าวที่ลักลอบนำเข้าจากเวียดนาม ซึ่งให้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่าและเป็นพันธุ์อายุสั้น 90 วัน เหมาะกับการทำนาปรังในพื้นที่ที่เสี่ยงน้ำท่วม

รัฐบาลใหม่ควรให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นต่อการยกผลิตภาพของภาคเกษตร ซึ่งเป็นแนวทางเดียวในการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน โดยการนำเทคโนโลยีที่ช่วยลดแรงงาน เพิ่มผลผลิตและลดการใช้น้ำและทรัพยากรต่างๆ ให้เกิดผลสำเร็จจริง โดยวิเคราะห์จุดอ่อนของโครงการต่างๆ ที่ดำเนินมาและแก้ไขจุดอ่อนเหล่านั้น แทนการริเริ่มโครงการใหม่โดยไม่ได้ถอดบทเรียนที่ผ่านมา  นอกจากนี้การให้การอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรของรัฐบาลควรใช้เงินงบประมาณอย่างโปร่งใส หลีกเลี่ยงการใช้เงินนอกงบประมาณ และกำหนดเงื่อนไขความช่วยเหลือของภาครัฐให้เกษตรกรต้องปรับปรุงผลิตภาพในการผลิต ใช้น้ำชลประทานอย่างประหยัด ลดการใช้สารเคมีและการเผาเศษวัสดุการเกษตรในไร่นา

[1] เงินชดเชยจริงน่าจะต่ำกว่าวงเงินงบประมาณ เพราะราคามันสำปะหลัง ปาล์มและข้าวโพดสูงกว่าราคาประกัน นอกจากนี้ยังมีนโยบายคู่ขนานที่ให้สินเชื่อรวบรวมและเก็บสต๊อกแก่สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการ และการส่งออก อีก 29,622 ล้านบาทในปี 2565/66

การปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน

การประเมินผลนโยบายด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานของรัฐบาลประยุทธ์ 2 จะพิจารณาจาก 2 เป้าหมายหลักคือ การยกระดับคุณภาพการศึกษาเพื่อสร้างทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 และการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยวิเคราะห์จากรายงานผลการดำเนินงานของรัฐบาล และการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการในระหว่างปี 2562-2566

การยกระดับคุณภาพการศึกษาควรเริ่มจากการพัฒนาหลักสูตรแกนกลางให้ทันสมัยมากขึ้น เนื่องจากหลักสูตรแกนกลางในปัจจุบันถูกใช้มาตั้งแต่ปี 2551 หรือผ่านมาแล้วเกือบ 15 ปี จึงค่อนข้างล้าสมัยและไม่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้สมรรถนะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 โดยควรปรับไปสู่หลักสูตรอิงสมรรถนะ (Competency-based Curriculum) ทั้งนี้ในช่วงแรก รัฐบาลประยุทธ์ 2 ได้พยายามพัฒนาหลักสูตรในลักษณะดังกล่าว แต่ดำเนินการได้อย่างล่าช้า และภายหลังเมื่อมีการพัฒนากรอบหลักสูตรบางส่วนขึ้นมา ฝ่ายการเมืองกลับห้ามนำหลักสูตรไปใช้ ซึ่งทำให้ประเทศเสียโอกาสในการปรับหลักสูตรการศึกษาให้ทันสมัย

ในด้านทรัพยากรทางการศึกษา รัฐบาลประยุทธ์ 2 ได้ปฏิรูปการจัดสรรทรัพยากรบางส่วนแต่ยังไม่รอบด้าน โดยในด้านบุคลากร คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้ปรับเกณฑ์อัตรากำลังครูให้อิงกับภาระงานสอนมากขึ้น และปรับเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะที่เอื้อให้รับผิดชอบต่อผลลัพธ์ที่เกิดกับผู้เรียนมากขึ้น แต่ยังไม่ได้พัฒนาครูให้สามารถตอบโจทย์การสอนเพื่อสร้างทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 มากนัก  ส่วนในด้านงบประมาณ รัฐบาลได้ปรับอัตราเงินอุดหนุนรายหัวให้สอดคล้องกับต้นทุนการจัดการศึกษาที่เพิ่มขึ้น เช่น ปรับค่าไฟฟ้าและค่าครองชีพ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีหลังจากที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาตลอด 13 ปี อย่างไรก็ตาม การจัดสรรเงินอุดหนุนยังไม่สะท้อนต้นทุนการจัดการศึกษาให้แก่นักเรียนที่มีความต้องการพิเศษที่สูงกว่าทั่วไป เช่น นักเรียนพิการเรียนรวม และเด็กด้อยโอกาส เป็นต้น  นอกจากนี้ รัฐบาลยังไม่มีนโยบายการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กที่ชัดเจน ซึ่งทำให้การจัดการศึกษามีต้นทุนสูง แต่มีปัญหาด้านคุณภาพ

รัฐบาลประยุทธ์ 2 ยังได้สานต่อนโยบาย “พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” ที่ริเริ่มขึ้นในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ 1 โดยผ่อนคลายกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการศึกษา ซึ่งช่วยกระจายอำนาจให้โรงเรียนมีอิสระในการจัดการศึกษาและใช้นวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อสร้างทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ให้แก่ผู้เรียนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้การดำเนินงานตลอด 4 ปีที่ผ่านมาเริ่มเห็นสัญญาณบวกในบางด้าน เช่น ครูเห็นความสำคัญของการพัฒนาวิชาชีพมากขึ้น นักเรียนมีความสุขในการเรียนมากขึ้นและนักเรียนกลุ่มเรียนอ่อนเข้าใจในการเรียนมากขึ้น แม้ผลในการยกระดับผลสัมฤทธิ์โดยรวมจะยังไม่ชัดเจนนัก

ในด้านการป้องกันการละเมิดสิทธิเสรีภาพของนักเรียน แม้กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศห้ามลงโทษนักเรียนด้วยความรุนแรงและยกเลิกระเบียบทรงผมนักเรียน แต่ยังมีเหตุการณ์ครูกล้อนผมนักเรียนเพราะผมยาว หรือด่าทอนักเรียนด้วยถ้อยคำรุนแรงดังปรากฏเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง

สำหรับนโยบายลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รัฐบาลประยุทธ์ 2 ได้สนับสนุนให้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดสรรเงินทุนเพิ่มเติมแก่นักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษ 3,000 บาทต่อคนต่อปี เพื่อลดการออกกลางคันของนักเรียนกลุ่มดังกล่าว  นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถกู้เงินเพื่อเรียนรู้ทักษะในสาขาวิชาที่ขาดแคลน และยกระดับทักษะของตนผ่านหลักสูตรระยะสั้นได้  อย่างไรก็ตามการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวโดยผ่อนปรนเงื่อนไขการกู้ยืมจะทำให้เกิดปัญหาความยั่งยืนของกองทุนในอนาคต ทำให้รัฐบาลอาจต้องเพิ่มเงินให้แก่กองทุนในอีก 5 ปีข้างหน้า

รัฐบาลใหม่ควรดำเนินการดังต่อไปนี้ ประการที่หนึ่ง เร่งปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานให้อิงกับสมรรถนะโดยเร็ว โดยอาจขยายผลการทดลองนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาและถอดบทเรียนเพื่อนำไปใช้ทั่วประเทศ ประการที่สอง ปรับระบบการบริหารทรัพยากรด้านการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยกำหนดเป้าหมายการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กที่ชัดเจน ประการที่สาม ประกาศนโยบายป้องกันการละเมิดสิทธิเสรีภาพของนักเรียนและไม่ยอมรับความรุนแรงในสถานศึกษา ตลอดจนวางกลไกป้องกันการฝ่าฝืนเช่น จัดระบบรับเรื่องร้องเรียน  ประการที่สี่ ปรับปรุงการบริหาร กยศ. ให้มีความยั่งยืนทางการเงินมากขึ้น เช่น ใช้มาตรการสะกิดพฤติกรรม (behavioral nudge) ให้ผู้กู้เงินชำระเงินคืนโดยเร็ว เป็นต้น

2. ผลงานของรัฐบาลด้านความ “ยั่งยืน”

การแก้ปัญหาคอร์รัปชัน

รัฐบาลประยุทธ์ 2 กำหนดให้การต่อต้านทุจริตเป็นวาระแห่งชาติตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ  20 ปี ด้วยงบประมาณด้านต่อต้านทุจริตรวม 1.5 หมื่นล้านบาทในปี 2563–2566 ในขณะที่อันดับภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (CPI) ของไทยกลับลดลงจากที่ 96 จาก 180 ประเทศในปี 2560 อยู่ที่อันดับ 101 ในปี 2565 จึงกล่าวได้ว่า งบประมาณที่ใช้จ่ายไปไม่สามารถลดการทุจริตอย่างได้ผล

รัฐบาลประยุทธ์ 2 มีผลงานแก้คอร์รัปชันเป็นรูปธรรม 2 เรื่อง ได้แก่ การปฏิรูปจัดซื้อจัดจ้างให้โปร่งใส และการ “กิโยตินกฎระเบียบ” (Regulatory Guillotine) ซึ่งเป็นการปฏิรูปกฎระเบียบครั้งใหญ่เพื่อลดดุลพินิจของเจ้าหน้าที่อันเป็นต้นตอสำคัญของคอร์รัปชัน

ในด้านหนึ่งรัฐบาลประยุทธ์ 2 ได้ดำเนินการปฏิรูปการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้โปร่งใส โดยร่วมมือกับองค์กรภาคสังคมและภาคธุรกิจขยายการใช้มาตรการ “ข้อตกลงคุณธรรม” (Integrity Pact) เพื่อตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐที่มีมูลค่าสูงเพิ่มเติมจากรัฐบาลประยุทธ์ 1 เพิ่มอีก 66 โครงการ รวมมูลค่างบประมาณ 4.16 แสนล้านบาท การศึกษาของทีดีอาร์ไอพบว่า โครงการก่อสร้างของรัฐมูลค่าสูงโดยทั่วไปมีส่วนต่างของราคากลางและราคาที่ผู้ชนะการประมูลเสนอเพียงร้อยละ 0.5 แต่โครงการก่อสร้างที่มีลักษณะคล้ายกันแต่เข้าร่วมในข้อตกลงคุณธรรม ซึ่งมีผู้สังเกตการณ์เข้ามาตรวจสอบร่าง TOR และการเสนอราคามีส่วนต่างดังกล่าวร้อยละ 7.5

นอกจากนี้รัฐบาลประยุทธ์ 2 ยังสานต่องานกิโยตินกฎระเบียบของรัฐบาลประยุทธ์ 1 ซึ่งจะช่วยลดดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐในการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจต่างๆ และช่วยลดการคอร์รัปชันได้ (ดูรายละเอียดในหัวข้อการกิโยตินกฎระเบียบ)

อย่างไรก็ตามรัฐบาลประยุทธ์ 2 ไม่ได้แสดงถึงความพยายามในการปฏิรูปตำรวจและกองทัพซึ่งถูกตั้งคำถามด้านความโปร่งใสอยู่บ่อยครั้งเมื่อเกิดข่าวอื้อฉาว  ทั้งที่การปฏิรูปตำรวจเป็นวาระสำคัญตั้งแต่รัฐบาลประยุทธ์ 1 ซึ่งได้เสนอร่าง พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติเพื่อกำจัดการซื้อขายตำแหน่ง และร่าง พ.ร.บ. การสอบสวนคดีอาญาเพื่อให้งานสอบสวนและการทำสำนวนคดีเป็นอิสระจากกัน รัฐบาลประยุทธ์ 2 ใช้เวลาเกือบ 2 ปีทบทวนร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับอีกครั้งกว่าจะเสนอต่อรัฐสภาได้ในกลางปี 2565 สุดท้ายแล้วมีเพียงร่าง พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติผ่านรัฐสภาได้ในปลายปี 2565 การดำเนินการในรัฐบาลประยุทธ์ 2 จึงยังไม่ได้นำไปสู่การปฏิรูปตำรวจอย่างแท้จริงเนื่องจากขาดการปฏิรูปกระบวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีการถ่วงดุลอำนาจและตรวจสอบได้ ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นรัฐบาลปล่อยให้เกิดกรณีทุจริตที่มีนายตำรวจพัวพันหลายกรณี อาทิ กรณี “ตั๋วช้าง” ส่วยรถบรรทุก และกรณีเครือข่ายเว็บพนันออนไลน์

ในทำนองเดียวกัน รัฐบาลประยุทธ์ 2 ยังไม่แสดงถึงความพยายามที่จะปฏิรูปกองทัพให้มีความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ เช่น กองทัพขอผ่อนผันไม่เข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรมในโครงการจัดซื้ออาวุธ และเกิดข่าวการยักยอกเบี้ยเลี้ยงกำลังพล และการคุกคามทหารผู้เปิดโปงทุจริต

รัฐบาลใหม่ควรขยายผลข้อตกลงคุณธรรมให้ครอบคลุมโครงการจัดซื้อจัดจ้างในวงกว้างขึ้น โดยเฉพาะโครงการที่มีมูลค่าสูง มีความเสี่ยงทุจริตสูงหรือต้องจัดซื้อจัดจ้างอย่างเจาะจง อาทิ งานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การจัดซื้ออาวุธและการจัดซื้อยาเวชภัณฑ์  นอกจากนี้รัฐบาลใหม่ควรเร่งปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวกับการขออนุญาตจากหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะการขออนุญาตก่อสร้าง

ประการสุดท้าย รัฐบาลใหม่ควรเร่งสะสางปัญหาที่ค้างคาจากรัฐบาลประยุทธ์ 2 โดยเร่งปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เช่น ร่าง พ.ร.บ. การสอบสวนคดีอาญา และออกกฎหมายลูกของ พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ เพื่อทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจโปร่งใสขึ้น และควรเร่งปฏิรูปการใช้งบประมาณของกองทัพให้สามารถตรวจสอบได้

การคุ้มครองทางสังคม

ผลงานที่เด่นชัดที่สุดด้านการคุ้มครองทางสังคม (social protection) ของรัฐบาลประยุทธ์ 2 คือการช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ประสบปัญหาจากการระบาดของโควิด-19 โดยสามารถลดผลกระทบทางลบต่อประชาชนจำนวนมากได้ ดังเห็นได้จากสัดส่วนคนจนร้อยละ 6.8 ในปี 2563 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.3 ในปี 2562 ไม่มากนัก ทั้งที่เศรษฐกิจหดตัวอย่างรุนแรง ซึ่งทำให้การจ้างงานและรายได้ของประชาชนลดลงอย่างมาก โดยรัฐบาลใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการส่งความช่วยเหลือและกระจายเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพกว่าในอดีต

อย่างไรก็ตามหากประเมินจากการริเริ่มนโยบายการให้ความคุ้มครองทางสังคมในระดับโครงสร้างแล้ว อาจกล่าวได้ว่ารัฐบาลประยุทธ 2 ไม่มีความโดดเด่นแต่อย่างใด โดยความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นเล็กน้อยน่าจะเป็นผลงานของหน่วยราชการที่ดำเนินการตามแผนที่มีอยู่แล้วมากกว่าการผลักดันจากฝ่ายการเมือง เช่นการเพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันสังคมโดยเพิ่มเงินทดแทนกรณีขาดรายได้จากการทุพพลภาพ และการเพิ่มการจ่ายเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อคลอดบุตร เป็นต้น

การขาดนโยบายความคุ้มครองทางสังคมเชิงรุกยังเห็นได้จากความล่าช้าของการขยายความครอบคลุม (coverage) และความเพียงพอ (adequacy) ของสวัสดิการต่างๆ ซึ่งจะมีผลทำให้ประชาชนไม่สามารถรับมือกับความเสี่ยงต่างๆ ในอนาคต รวมทั้งการที่ประเทศเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว โดยน่าจะมาจาก 2 สาเหตุ คือประการแรก รัฐบาลอาจกังวลต่อภาระงบประมาณที่จะเพิ่มขึ้นจากการให้สวัสดิการประชาชน แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็ไม่ได้พยายามจัดเก็บรายได้ให้มากขึ้น  ประการที่สอง รัฐบาลเน้นแนวคิดในการให้สวัสดิการแบบเจาะจงเฉพาะกลุ่ม เช่นผู้มีรายได้น้อยและคนจน กลุ่มเกษตรกร แรงงานนอกระบบบางกลุ่ม (คล้ายกับการเน้นแนวทางแก้ปัญหาความยากจนแบบมุ่งเป้า) โดยใช้เครื่องมือหลักคือ “โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” รวมทั้งการไม่ขยายโครงการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ซึ่งริเริ่มในรัฐบาลประยุทธ์ 1 ให้เป็นสวัสดิการแบบถ้วนหน้า ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้มุ่งแก้ปัญหาพื้นฐานของการให้สวัสดิการแบบเจาะจงคือ การตกหล่นคนจน (exclusion errors) ซึ่งมีสูงถึงร้อยละ 51% ในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และร้อยละ 30 ในโครงการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ทั้งที่ประสบการณ์ทั่วโลกชี้ให้เห็นว่านโยบายแบบเจาะจงจะมีปัญหาการตกหล่นคนจนในสัดส่วนสูงเกือบทั้งหมด

รัฐบาลใหม่ควรดำเนินการดังต่อไปนี้ ประการแรก ควรจัดสวัสดิการที่ผสมผสานอย่างเหมาะสมระหว่างสวัสดิการเฉพาะกลุ่มและสวัสดิการถ้วนหน้า โดยสวัสดิการที่สำคัญต่อการดูแลประชาชนและสามารถพัฒนาคนในอนาคตควรเป็นสวัสดิการถ้วนหน้า เพราะประเทศไม่สามารถแบกรับค่าเสียโอกาส (opportunity cost) จากปัญหาการตกหล่นที่เรื้อรัง เช่นการพัฒนาเด็กปฐมวัย การเพิ่มศักยภาพของแรงงานนอกระบบ และการดูแลผู้ป่วยติดเตียง ส่วนสวัสดิการที่สำคัญน้อยกว่าอาจสามารถช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มได้เพื่อประหยัดงบประมาณ หรือใช้ทั้งสองแนวทางร่วมกันในบางสวัสดิการ ดังข้อเสนอล่าสุดของธนาคารโลกที่ให้เพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็น 2,000 บาทเฉพาะผู้สูงอายุที่จนที่สุดร้อยละ 20 แล้วปรับลดลงตามระดับรายได้ที่สูงขึ้น โดยทุกคนยังได้เบี้ยยังชีพนี้อย่างถ้วนหน้าแต่ได้ไม่เท่ากันขึ้นกับฐานะทางเศรษฐกิจ

ประการสอง รัฐบาลใหม่ควรเพิ่มประสิทธิภาพการแก้ปัญหาความยากจนและให้สวัสดิการแบบมุ่งเป้า โดยอาจเรียนรู้แนวทางของประเทศจีนที่ใช้ฐานข้อมูลคนจนหรือผู้สมควรได้รับสวัสดิการระดับพื้นที่ที่ถูกต้องตามหลักสถิติ ซึ่งแม่นยำกว่าการใช้แนวทางให้คนจนมาแจ้งว่าตัวเองจน โดยใช้ข้อมูลชุดนี้ในการจัดสรรงบประมาณกระจายตามพื้นที่ (เช่นระดับจังหวัด ระดับอำเภอหรือตำบล) แล้วใช้กลไกรัฐบาลท้องถิ่นหรือชุมชนในการกระจายงบประมาณไปสู่คนจนหรือผู้สมควรได้รับสวัสดิการต่อไป เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาจากการให้คนจนมาจดทะเบียนซึ่งมีความคลาดเคลื่อนมากจากปัญหา “คนจนไม่จด คนจดไม่จน” ทั้งนี้รัฐบาลอาจพัฒนา “แผนที่ความยากจน” ต่อยอดจากที่สำนักงานสถิติแห่งชาติเคยจัดทำมาเพื่อเป็นฐานข้อมูลในการกระจายงบประมาณดังที่กล่าวข้างต้น

ประการสาม รัฐบาลใหม่ควรหลีกเลี่ยงนโยบายที่อาจก่อให้เกิดผลเสียระยะยาวต่อระบบความคุ้มครองทางสังคม เช่น นโยบาย “ขอเลือก ขอคืน และขอกู้” ของรัฐบาลประยุทธ 2 ที่ให้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมสามารถนำเงินกรณีชราภาพออกมาใช้ก่อนบางส่วน ซึ่งผิดหลักการประกันสังคมและจะทำให้ประชาชนสูงอายุไม่มีเงินบำนาญเพียงพอในอนาคต

การแก้ปัญหาแรงงาน

การประเมินนโยบายด้านแรงงานของรัฐบาลประยุทธ์ 2 จะเน้น 3 ด้านที่สำคัญคือ ค่าจ้างแรงงาน  สวัสดิการและการคุ้มครองแรงงาน และนโยบายแรงงานข้ามชาติในกลุ่มทักษะสูงและกลุ่มทักษะปานกลาง-ต่ำ ซึ่งผลของการดำเนินนโยบายโดยรวมยังไม่ประจักษ์ชัด ทำให้ทั้งศักยภาพและคุณภาพชีวิตของแรงงานไม่แตกต่างจากก่อนที่รัฐบาลนี้เข้ามาบริหารประเทศ

ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งปี 2562 พรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นแกนนำของรัฐบาลเสนอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท และสูงสุดเป็น 425 บาทต่อวัน  ในช่วงที่บริหารประเทศ รัฐบาลประยุทธ์ 2 ได้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 2 ครั้งในปี  2562 และ 2565 ซึ่งทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำถูกปรับขึ้นเป็น 328-354 บาทในแต่ละพื้นที่ หรือเพิ่มโดยรวมประมาณร้อยละ 2.6 ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 3.6 ต่อปีในช่วงเดียวกันและต่ำกว่าที่หาเสียงไว้มาก ทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบันไม่สามารถช่วยให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีลูกจ้างอีกจำนวนมากที่ได้รับค่าจ้างที่แท้จริงต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่กำหนด เนื่องจากนายจ้างเอาค่าใช้จ่ายอื่น ๆ มารวมอยู่ในค่าจ้างขั้นต่ำด้วย

นอกจากนี้ การดูแลสวัสดิการและการคุ้มครองแรงงานของรัฐบาลก็เป็นไปในเชิงรับ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาการระบาดของโควิด-19  โดยมาตรการที่ออกมาส่วนใหญ่มุ่งลดผลกระทบโดยเฉพาะจากการว่างงานในภาคบริการ เช่น การจ่ายสิทธิประโยชน์จากการไม่สามารถทำงานในกรณีต่าง ๆ  โดยจนถึงเดือนเมษายน 2566 สำนักงานประกันสังคมได้จ่ายเงินดังกล่าวไปแล้วกว่า 18 ล้านครั้งคิดเป็นเงินประมาณ 42,000 ล้านบาท  แม้การดำเนินงานดังกล่าวถือว่าเป็นผลงานของสำนักงานประกันสังคม แต่ก็ควรให้เครดิตแก่รัฐบาลด้วยในฐานะที่เป็นผู้อนุมัติ  นอกจากมาตรการดังกล่าวแล้ว โครงการส่วนใหญ่ของรัฐบาลในด้านสวัสดิการและการคุ้มครองแรงงานก็เน้นการฝึกอบรมทักษะแรงงาน ซึ่งยังไม่เห็นผลสำเร็จที่ชัดเจน และยังไม่เห็นนโยบายในเชิงรุกของรัฐบาลในการนำแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบเพื่อให้ได้รับสวัสดิการและการคุ้มครองตามกฎหมาย

รัฐบาลประยุทธ์ 2 มีนโยบายแรงงานข้ามชาติซึ่งสามารถจำแนกเป็น 2 กลุ่มตามทักษะคือกลุ่มทักษะสูงและกลุ่มทักษะปานกลาง-ต่ำ   การเกิดโรคระบาดโควิด-19 เป็นโอกาสที่ทำให้แรงงานกลุ่มทักษะสูงสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้โดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะด้านดิจิทัล โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้บีโอไอออกวีซ่าผู้พำนักระยะยาว (LTR) อายุ 10 ปีแก่ 4 กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้มีความมั่งคั่งสูง ผู้เกษียณอายุ ผู้ที่ต้องการทำงานจากประเทศไทยและผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ โดยลดภาระในการรายงานตัวจากทุก 90 วันเหลือเพียงรายงานปีละครั้งและอำนวยความสะดวกต่างๆ   จนถึงเดือนมิถุนายน 2566 มีแรงงานทักษะสูง (ผู้ที่ต้องการทำงานจากประเทศไทยและผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ) สนใจสมัครขอวีซ่าดังกล่าวมากว่า 1,600 คน  นโยบายดังกล่าวถือเป็นความริเริ่มที่ดีแม้จะยังห่างไกลจากเป้าหมายในการดึงดูดคนต่างชาติทั้ง 4 กลุ่มให้ได้ 1 ล้านคนใน 5 ปี และจำนวนแรงงานต่างชาติทักษะสูงโดยรวมยังอยู่ที่ระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 คือประมาณ 47,000 คน

ส่วนนโยบายแรงงานต่างชาติกลุ่มทักษะปานกลาง-ต่ำซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านนั้น รัฐบาลยังไม่ได้บริหารจัดการให้ดีขึ้น โดยยังไม่มีนโยบายระยะยาวที่ชัดเจน แต่ใช้แนวทางการผ่อนผันการใช้แรงงานต่างชาติต่อเนื่องไปเมื่อครบกำหนดแต่ละครั้ง   นอกจากนี้ การบริหารจัดการแรงงานต่างชาติในช่วงโควิด-19 ก็เป็นไปอย่างโกลาหล ทำให้ในปัจจุบันก็ยังไม่สามารถนำแรงงานกลุ่มนี้กลับมาสู่ระดับก่อนหน้าได้

รัฐบาลใหม่ควรดำเนินนโยบายดังต่อไปนี้  ประการแรก รัฐบาลควรกำหนดกรอบอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป้าหมายที่ต้องการโดยให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อและผลิตภาพแรงงาน และปรับขึ้นอย่างเป็นระยะเช่น ทุกปี หรือทุก 2 ปี เพื่อสร้างหลักประกันว่าแรงงานจะได้รับค่าจ้างในระดับที่เหมาะสม และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบการบังคับใช้ค่าจ้างขั้นต่ำในสถานประกอบการต่าง ๆ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กที่มีการจ้างงานอย่างไม่เป็นทางการ ตลอดจนอาจพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นรายชั่วโมงเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ลูกจ้าง

ประการที่สอง รัฐบาลใหม่ควรดำเนินนโยบายในเชิงรุกในการนำแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบเพื่อให้ได้รับสวัสดิการและการคุ้มครองตามกฎหมาย  ประการที่สาม รัฐบาลใหม่ควรสานต่อนโยบายการดึงดูดแรงงานต่างชาติทักษะสูงและเร่งรัดให้เกิดผลสำเร็จ ควบคู่ไปกับการกำหนดนโยบายแรงงานต่างชาติทักษะปานกลาง-ต่ำในระยะยาวให้ชัดเจน โดยมุ่งให้ประเทศไทยพึ่งพาแรงงานกลุ่มนี้ลดลงในอนาคต จากการยกระดับภาคการผลิตของไทยให้ใช้เครื่องจักรและระบบอัตโนมัติมากขึ้น

นโยบายด้านสุขภาพ  

นโยบายสุขภาพของรัฐบาลประยุทธ์ 2 ส่วนใหญ่เป็นนโยบายที่ต่อเนื่องจากรัฐบาลก่อนๆ รวมรัฐบาลประยุทธ์ 1 และมีนโยบายบางส่วนที่เสนอและดำเนินการโดยหน่วยงานที่มีหน้าที่เฉพาะ เช่น สปสช. ที่เพิ่มบริการการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) และให้ผู้ป่วยบางโรคสามารถไปรับยาที่ร้านขายยา และเพิ่มทางเลือกในการใช้เครื่องล้างไตทางช่องท้องอัตโนมัติ (APD) ที่บ้าน นอกจากนี้รัฐบาลยังคงสนับสนุนนโยบาย medical hub ให้โรงพยาบาลเอกชนรับคนไข้ต่างชาติเข้ามารักษาในประเทศไทย ส่วนนโยบายใหม่ที่เป็นของรัฐบาลนี้เองคือนโยบายกัญชา ที่เริ่มจากการใช้กัญชาทางการแพทย์ทั่วประเทศในปี 2562 และนำไปสู่การเปิดเสรีกัญชาเมื่อกลางปี 2565 จากภาวะสุญญากาศด้านกฎหมาย จนต้องกลับมากำหนดให้ช่อดอกกัญชาให้เป็นสมุนไพรควบคุมเมื่อปลายปี 2565

ตั้งแต่ต้นปี 2563 เวลาส่วนใหญ่ของรัฐบาลประยุทธ์ 2 ใช้ไปกับการรับมือกับการระบาดของโควิด-19 โดยรัฐบาลใช้แนวทางการควบคุมการระบาดแบบรวมศูนย์โดยการตั้ง ศบค. ซึ่งมีฝ่ายความมั่นคงกำหนดทิศทางและมีอำนาจมาก แต่การรับมือส่วนใหญ่เป็นแบบตั้งรับ และไม่ได้เน้นการบริหารความเสี่ยงโดยเฉพาะในการจัดหาวัคซีน ซึ่งหลังจากที่เห็นว่าไทยควบคุมการระบาดได้ดีในปีแรก ก็เลือกที่จะไม่จองซื้อวัคซีนจาก COVAX ในปี 2563 โดยมีแนวคิดที่จะจองซื้อวัคซีนที่ไทยรับจ้างผลิตจำนวนหนึ่งที่จะเริ่มออกมากลางปี 2564 แล้วรอซื้อวัคซีนที่คาดว่าราคาจะถูกลงมากหลังจากนั้น ซึ่งเป็นแนวคิดที่ตรงกันช้ามกับประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ที่แย่งกันจองซื้อวัคซีนเกินจำนวนที่ต้องใช้เพราะเห็นว่าการฉีดวัคซีนโดยเร็วที่สุดเป็นยุทธศาสตร์หลักที่คุ้มค่า เพราะจะช่วยให้ประเทศพ้นจากการระบาดของโควิด-19 และสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้เร็วที่สุด

ไทยประสบความสำเร็จตามเป้าหมายในการรับจ้างผลิตวัคซีนไวรัลเวคเตอร์ออกมาได้ในกลางปี 2564 แต่ก็ยังจองซื้อวัคซีนในปริมาณที่น้อย ทำให้ฉีดวัคซีนได้ช้ากว่าประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่ และในจำนวนที่ไม่เพียงพอกับความต้องการในครึ่งปีหลังของปี 2564 และก่อนหน้านั้นก็ต้องซื้อวัคซีนเชื้อตายจากจีนที่มีประสิทธิภาพต่ำในราคาสูง ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบในด้านลบมากดังที่ “รายงานการประเมินผลงานกลางเทอมรัฐบาลประยุทธ์ 2: การควบคุมการระบาดของโควิด-19 และการบริหารจัดการวัคซีน” ได้เคยตั้งข้อสังเกตเอาไว้

ผลลัพธ์ของการรับมือโควิด-19 ของไทยตั้งแต่ปลายปี 2563 เป็นต้นมาไม่ได้แตกต่างจากประเทศอื่นมากนัก โดยมีการระบาดต่อเนื่องแล้วรุนแรงขึ้นมากในช่วงกลางปี 2564 จากสายพันธุ์เดลต้า และเกิดการระบาดรวดเร็วมากในช่วงต้นปี 2565 จากสายพันธุ์โอมิครอน หลังจากนั้นไทยก็ลดระดับการรับมือโควิด-19 ให้เป็นโรคประจำถิ่นตั้งแต่กลางปี 2565 แต่โดยรวมแล้วประเทศไทยรับมือกับโควิด-19 ในภาพรวมได้ไม่ดีนัก ทำให้มีผลกระทบทางอ้อมที่รุนแรง ทั้งนี้เมื่อเทียบยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 จากรายงานในช่วง 3 ปี (2563-2565) ที่ประมาณ 34,000 คน กับยอดผู้เสียชีวิตทั้งหมดที่เพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ย 5 ปีก่อนหน้า ประเทศไทยมียอดผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นมาในช่วง 2563-2565 สูงถึง 2.3 แสนคน (หรือเกือบ 7 เท่าของยอดรายงานผู้เสียชีวิตจากโควิด-19)[2]

ในช่วงท้ายรัฐบาลของรัฐบาลประยุทธ 2 มีข่าวแพทย์ลาออกจากภาครัฐจำนวนมาก ซึ่งสะท้อนปัญหาการขาดแคลนบุคลากรเรื้อรังในระบบสุขภาพของรัฐ ความขาดแคลนนี้ยังถูกซ้ำเติมจากนโยบายส่งเสริมการรับผู้ป่วยต่างประเทศเข้ามารักษาในประเทศไทย ซึ่งเป็นนโยบายที่รัฐบาลประยุทธ 2 ดำเนินต่อเนื่องจากหลายรัฐบาลก่อนหน้า ในที่ขณะที่ยังไม่สามารถเพิ่มจำนวนบุคลากรด้านสุขภาพในภาครัฐให้เพียงพอกับความต้องการได้

รัฐบาลใหม่ควรทบทวนนโยบายกัญชาโดยสร้างกลไกควบคุมที่รัดกุมและโปร่งใส เพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่อาจเป็นอันตรายต่อเยาวชน สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุและผู้ขับขี่ยานพาหนะ ไม่ให้ได้รับกัญชาจากอาหารโดยไม่รู้ตัว  นอกจากนี้รัฐบาลใหม่ควรลดการส่งเสริมการนำเข้าผู้ป่วยจากต่างประเทศให้มารักษาพยาบาลในประเทศไทย หากยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาภาระงานของบุคลากรด้านสุขภาพในภาครัฐให้ลุล่วงไปได้

ที่สำคัญ รัฐบาลใหม่ควรยกระดับศักยภาพของระบบสุขภาพของประเทศในระยะยาว ให้สามารถรับมือกับโรคอุบัติใหม่ โรคอุบัติซ้ำ และอุบัติภัยต่างๆ โดยพัฒนาหน่วยงานหลักที่ติดตามปัญหาเหล่านี้อย่างต่อเนื่องและสั่งสมความรู้ทั้งด้านวิชาการและนโยบาย เพื่อให้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น หน่วยงานดังกล่าวจะสามารถยกระดับขึ้นมาเป็นฝ่าย “เสนาธิการ” ให้แก่ฝ่ายนโยบายได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องตั้งโครงสร้างชั่วคราวที่ขาดความพร้อมในการรับมือปัญหาในเชิงรุกอย่างที่ผ่านมา

[2] องค์การอนามัยโลก (WHO) เรียกตัวเลขการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นมาว่า “การตายส่วนเกิน (excess death)” และแนะนำให้ใช้เป็นตัวชี้วัดผลกระทบรวมจากโควิด-19 ที่รวมผลกระทบทางอ้อมและตัวเลขที่รายงานไม่ครบเอาไว้ด้วย

การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

            การประเมินนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลประยุทธ์ 2 จะพิจารณาจาก 2 เรื่องหลักคือ นโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5

รัฐบาลประยุทธ์ 2 ได้ให้คำมั่นของประเทศไทยในที่ประชุม COP26 เมื่อปี ค.ศ. 2021 โดยประกาศเป้าหมายที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2065 และจะเร่งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ (Nationally Determined Contribution: NDC) จากการลดการปล่อยลงร้อยละ 20-25 เป็นร้อยละ 30-40 เมื่อเทียบกับแนวโน้มการปล่อยตามปกติภายในปี ค.ศ. 2030

นอกจากนี้รัฐบาลยังได้จัดทำยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ (LT-LEDS) ซึ่งวางเส้นทางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยใช้มาตรการต่าง ๆ โดยในทางปฏิบัติ รัฐบาลได้ดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจผ่านกลไก T-VER  นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังได้เห็นชอบร่างพ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อสนับสนุนให้ภาคส่วนต่าง ๆ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

อย่างไรก็ดี เป้าหมายและยุทธศาสตร์ด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของรัฐบาลยังขาดความชัดเจนมาก ทั้งในด้านการใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เพื่อจูงใจให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการแก้ไขปัญหากฎระเบียบด้านการซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งเป็นอุปสรรคในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด และการสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงเทคโนโลยีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในราคาเหมาะสม

ในส่วนของการปรับตัวเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังเน้นการสร้างความตระหนักรู้และสนับสนุนการปรับตัวในระดับพื้นที่นำร่องเท่านั้น โดยยังขาดการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบสูงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น แรงงานที่ทำงานกลางแจ้ง และกลุ่มที่ผลกระทบจากนโยบายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น แรงงานในอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง และผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีรายได้น้อย

รัฐบาลใหม่ควรมีนโยบายดังต่อไปนี้ ประการแรก ควรเร่งนำกลไกราคาคาร์บอนมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นภาษีคาร์บอนหรือตลาดคาร์บอนภาคบังคับ ประการที่สอง ควรเร่งปลดล็อคกฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะการเปิดให้เกิดการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดแบบ peer-to-peer ประการที่สาม ควรสนับสนุนการเข้าถึงเงินทุนและเทคโนโลยีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในราคาที่เหมาะสม ประการที่สี่ ควรปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เข้มข้นมากขึ้น ทั้งในส่วนของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการสนับสนุนการปรับตัวของประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ประการที่ห้า ควรเร่งสร้างความตระหนักรู้ต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในส่วนของปัญหา PM2.5 รัฐบาลประยุทธ์ 2 ได้กำหนดให้การจัดการปัญหาดังกล่าวเป็นวาระแห่งชาติ และได้จัดทําแผนปฏิบัติการในการแก้ไขปัญหามาตั้งแต่ปี 2562  นอกจากนี้รัฐบาลยังตั้งคณะทำงานวิชาการเฉพาะกิจเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดการไฟป่าและการเผาในที่โล่งเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยใช้ข้อมูลอย่างเป็นระบบ ทำให้ทราบอย่างชัดเจนว่าการเผาฟางและตอซังข้าวเป็นต้นเหตุอันดับสำคัญ  รองลงมาคือข้าวโพด ส่วนอ้อยมีสัดส่วนที่น้อยกว่าที่เข้าใจ

คณะทำงานดังกล่าวได้เสนอแนะนโยบายที่เป็นรูปธรรมในมิติต่างๆ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงการร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าว  โดยรวมแล้ว รัฐบาลยังเน้นจัดการปัญหาเฉพาะหน้าในแต่ละปี โดยไม่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ในส่วนของเมืองใหญ่เช่นกรุงเทพมหานคร รัฐบาลมีมาตรการเฉพาะหน้าต่างๆ เช่น ห้ามรถบรรทุกเข้าเขตเมืองในชั่วโมงเร่งด่วน กวดขันและตรวจจับควันดำ ล้างถนนและฉีดละอองน้ำบนยอดตึกซึ่งไม่ใช่มาตรการที่ได้ผล  ส่วนในพื้นที่ชนบท รัฐบาลมีมาตรการห้ามเผาป่าและเศษวัสดุทางการเกษตรในบางช่วง

จุดอ่อนสำคัญของการแก้ไขปัญหานี้คือรัฐบาลไม่มีนโยบายแก้ไขปัญหาในระยะกลางและระยะยาวอย่างจริงจัง ทั้งการจัดการกับรถยนต์เก่าโดยเฉพาะรถบรรทุกและรถโดยสารประจำทางที่ปล่อยไอเสียเกินมาตรฐานยูโร 3 และการให้เกษตรกรเลิกเผาเศษวัสดุทางการเกษตร โดยสนับสนุนการใช้เครื่องจักรในการเก็บเกี่ยวหรือจัดการเศษวัสดุทางการเกษตร  นอกจากนี้ รัฐบาลยังไม่ได้บัญญัติกฎหมายที่สามารถเอาผิดกับผู้ที่ก่อมลพิษข้ามพรมแดนในลักษณะของกฎหมาย Transboundary Haze Pollution Act ของสิงคโปร์

รัฐบาลใหม่ควรดำเนินนโยบายที่มีประสิทธิผลมากขึ้นในการแก้ไขปัญหา PM2.5 โดยดำเนินการดังนี้ ประการแรก ควรเร่งจัดการกับรถยนต์เก่าโดยเฉพาะรถบรรทุก รถโดยสารประจำทางโดยเฉพาะรถโดยสารของ ขสมก. โดยสนับสนุนให้เจ้าของรถปรับเปลี่ยนมาใช้รถที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น รถยนต์ไฟฟ้าหรือรถที่มีมาตรฐานการระบายไอเสียระดับยูโร 5 หรือยูโร 6 ขึ้นไป โดยให้มาตรการจูงใจเช่นสิทธิในการลดหย่อนภาษี

ประการที่สอง ควรสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงเครื่องจักรทางการเกษตรหรืออุปกรณ์ในการจัดการเศษวัสดุทางการเกษตร เพื่อลดการเผา รวมถึงสร้างอาชีพทางเลือกแก่ผู้ที่เผาป่าเพื่อทำการเกษตรหรือเก็บของป่า

ประการที่สาม ควรกำหนดให้ผู้ประกอบการขนาดใหญ่เปิดเผยข้อมูลการผลิตฝุ่น PM2.5 ตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อสร้างแรงกดดันทางสังคมให้ลดการก่อมลพิษ และควรปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อลดการผลิตฝุ่น PM2.5 ที่มาจากแหล่งกำเนิดในประเทศและจากประเทศเพื่อนบ้าน

บทส่งท้าย

ตลอดระยะเวลา 4 ปี รัฐบาลประยุทธ์ 2 ได้สร้างผลงานที่สำเร็จออกมาเป็นรูปธรรมไว้หลายด้าน และดำเนินโครงการจำนวนหนึ่งที่มีประโยชน์ต่อประเทศ ซึ่งสมควรได้รับการสานต่อ

ในทางกลับกัน รัฐบาลก็ดำเนินนโยบายอีกหลายด้านที่ไม่ประสบความสำเร็จ หรือแม้กระทั่งก่อให้เกิดปัญหา ซึ่งเกิดขึ้นจากทั้งความเข้าใจผิด การกำหนดนโยบายโดยไม่ผ่านการปรึกษาหารืออย่างรอบด้าน การรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางแทนที่จะกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่น การใช้กลไกของระบบราชการและรัฐวิสาหกิจเป็นหลักในการขับเคลื่อนนโยบายทั้งที่มีประสิทธิภาพต่ำ ตลอดจนการที่นโยบายของรัฐบาลได้รับอิทธิพลจากกลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่ม นโยบายเหล่านี้สมควรได้รับการทบทวนและปรับปรุงให้ดีขึ้น หรือแม้กระทั่งยกเลิกไปโดยรัฐบาลใหม่

คณะผู้ประเมิน

คณะผู้ประเมินประกอบไปด้วยบุคคลซึ่งเรียงรายชื่อตามตัวอักษรดังต่อไปนี้ คือ กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์, กัญจน์ จิระวุฒิพงศ์, กิรติพงศ์ แนวมาลี, ชาริกา ชาญนันทพิพัฒน์, ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร, ธิปไตร แสละวงศ์, นิพนธ์ พัวพงศกร, พงศ์ทัศ วนิชานันท์, วิโรจน์ ณ ระนอง, สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์, สมชัย จิตสุชน, สุเมธ องกิตติกุล และเสาวรัจ รัตนคำฟู

หมายเหตุ

นักวิจัยในคณะผู้ประเมินบางคนมีส่วนร่วมในการนำเสนอ หรือให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายบางอย่าง ซึ่งภายหลังนำไปสู่การนำไปปฏิบัติของรัฐบาล   นโยบายดังกล่าวรวมถึงนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา การทำ “กิโยตินกฎระเบียบ” (Regulatory Guillotine) การจัดทำการศึกษาเพื่อยกร่าง พ.ร.บ. กฎหมายเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม และการร่วมยกร่าง พ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565

นักวิจัย

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด