ชี้วัดความยั่งยืนองค์กร ด้วยเกณฑ์ประเมินที่มีคุณภาพ

ภาคธุรกิจกำลังก้าวเข้าสู่ยุคที่ผลประกอบการทางด้านการเงินไม่ใช่เป้าหมายหลักเพียงอย่างเดียว แต่ “ความยั่งยืนองค์กร” หรือที่เรียกกันว่า “ESG” ที่ย่อมาจาก Environmental Social และ Governance ได้กลายมาเป็นประเด็นที่องค์กรหันมาให้ความสำคัญมากขึ้น

จากการสำรวจการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนในดัชนี SET100 ตั้งแต่ปี 2558-2564 โดยทีมวิจัยทีดีอาร์ไอ พบว่าบริษัทจากกลุ่มตัวอย่างมีแนวโน้มการเปิดเผยข้อมูล ESG มากขึ้น

เนื่องจาก “ความยั่งยืนองค์กร” ได้ถูกนับรวมเป็นหนึ่งในเกณฑ์การตัดสินใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กรอย่างนักลงทุน และยังกลายมาเป็นเงื่อนไขการให้สินเชื่อไปจนถึงการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างองค์กรและสังคม โดยข้อมูลด้านความยั่งยืนองค์กรยังถูกใช้ในการประเมินให้เรตติ้งและรางวัลจากสถาบันต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศจนสิ่งนี้ได้กลายเป็นสิ่งบ่งชี้ความสำเร็จผ่านการประชาสัมพันธ์ภายนอกและเป็นเครื่องมือใช้สื่อสารภายในองค์กรเพื่อให้เกิดเป้าหมายร่วมด้านความยั่งยืนมากขึ้น

ในอีกด้านหนึ่งความสำเร็จที่ได้มาจากการได้รับเรตติ้ง รวมถึงรางวัลด้านความยั่งยืนต่างๆถูกตั้งคำถามมากขึ้นว่า ผลการประเมินที่ดี หรือรางวัลด้านความยั่งยืนที่องค์กรได้รับมีความสอดคล้องมากน้อยเพียงใดกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนองค์กรอย่างแท้จริง ไปจนถึงการตั้งคำถามเกี่ยวกับคุณภาพและแหล่งที่มาของข้อมูลหากผลการประเมินสอดคล้องกับการดำเนินก็ย่อมจะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับทั้งองค์กรและเกณฑ์การประเมินนั้นๆด้วย

รางวัลบริษัทที่มีจริยธรรมมากที่สุดในโลกโดย Ethisphere เป็นหนึ่งในรางวัลด้านความยั่งยืนที่ถูกตั้งคำถาม โดยในปีนี้มีองค์กร 136 แห่งจาก 20 ประเทศทั่วโลกที่ได้รับรางวัลดังกล่าว ซึ่งถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับการประเมินผลในหลายประเด็น เช่น กรณีที่ Elbit Systems of America ได้รับรางวัลข้างต้นถึง 6 ครั้ง ทั้งๆ ที่อยู่ในเครือของ Elbit Systems จากประเทศอิสราเอล ที่ส่งมอบอาวุธเพื่อใช้ทำสงคราม

นอกจากนี้ Ethisphere ยังเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมประเมินที่ค่อนข้างสูงจากองค์กรที่เข้าร่วมประเมินเพื่อรับรางวัล โดยมีค่าเข้าร่วมอยู่ที่ 3,500-4,500 ดอลลาร์ และค่านำตรารางวัลไปใช้อยู่ที่ 35,000 ดอลลาร์ ทำให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อนของสถาบันประเมิน

โดยทั่วไปการประเมินความยั่งยืนและรางวัลความยั่งยืนองค์กรจากสถาบันต่างๆ อาจมีความแตกต่างในแง่วัตถุประสงค์ เช่น การประเมินเพื่อคัดเลือกบริษัทเข้าในดัชนี Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) การประเมิน THSI สำหรับหุ้นไทยเพื่อให้ได้ ESG Ratings หรือการประเมินโดย EcoVadis เกี่ยวกับความยั่งยืนในห่วงโซ่คุณค่าขององค์กร เป็นต้น

ในด้านของรางวัลเกี่ยวกับความยั่งยืนที่เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นก็มีวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย เช่น รางวัล SET Sustainability Awards ที่คัดเลือกบริษัทที่ได้ ESG Ratings ตามเกณฑ์มาพิจารณาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อตัดสินให้รางวัล หรือรางวัล SEAL Business Sustainability Awards ที่มีการให้รางวัลในด้านนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือด้านผลิตภัณฑ์ และบริการที่ยั่งยืน เป็นต้น

นอกจากนี้แต่ละสถาบันมีวิธีการประเมินที่แตกต่างกันอย่างบางสถาบันหรือบางระบบอาจใช้ข้อมูลที่องค์กรเป็นผู้เปิดเผย (Self-report) ซึ่งอาจทำให้ข้อมูลที่เป็นผลกระทบเชิงลบไม่ถูกผนวกไปกับการประเมิน หรือรางวัลบางระบบยังขาดการแจกแจงวิธีการประเมินอย่างชัดเจน หรือสาธารณชนอาจไม่สามารถเข้าถึงเกณฑ์การประเมินอย่างละเอียดทำให้การตีความผลการประเมินที่ออกมาเป็นตัวเลข หรือค่าการประเมินหนึ่งค่าไม่ได้ถูกมองในรายละเอียดว่า ESG ประเด็นด้านใดที่องค์กรดำเนินการได้ดีและประเด็นใดที่ยังต้องปรับปรุง

อย่างไรก็ตาม การประเมินอาจมีข้อจำกัดในด้านการนำข้อมูลผลกระทบเชิงลบจากองค์กรเข้ามาผนวกในการประเมิน บางสถาบันประเมินมีความพยายามแก้ไขข้อจำกัดดังกล่าว เช่น การประเมินเพื่อคัดเลือกองค์กรเข้าดัชนี DJSI มีการผนวกการวิเคราะห์ข้อมูลจากสื่อและจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Media & Stakeholder Analysis : MSA) เข้ากับแบบประเมิน ESG ด้วย โดย MSA จะใช้ตรวจข่าวเสียหายของบริษัทหากพบข่าวเสียหายทางผู้ประเมินก็จะขอข้อมูลจากองค์กรเกี่ยวกับการรับมือการบริหารความเสี่ยงต่อประเด็นดังกล่าวและมีการติดตามผลอย่างต่อเนื่องด้วย

ทางสหภาพยุโรป (EU) ก็เล็งเห็นความสำคัญของข้อมูลเรตติ้ง ESG และได้ออกกฎกำกับดูแลการทำเรตติ้ง ESG ของสถาบันที่ให้เรตติ้งที่จัดตั้ง/ดำเนินการอยู่ใน EU ว่าต้องได้รับการอนุมัติจาก European Securities and Markets Authority (ESMA) หรือหน่วยงานกำกับหลักทรัพย์ของยุโรปเพื่อสร้างความโปร่งใสเกี่ยวกับวิธีการประเมิน ถ้าเรตติ้งออกมาเป็นตัวเลขเดียวที่มีการคำนวณประเด็นด้าน ESG มิติต่างๆเข้าด้วยกันต้องทำการแจงน้ำหนักที่ให้แต่ละมิติอย่างชัดเจน

รวมทั้งกิจการอื่นๆของสถาบันที่ให้เรตติ้งต้องมีการแยกส่วนจากกิจกรรมประเมินเรตติ้งอย่างชัดเจนเพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจเกิดขึ้น หากไม่ดำเนินการตามระเบียบจะมีค่าปรับที่มีมูลค่าสูงถึง 10% ของรายได้สุทธิซึ่งกฎที่ออกมานี้อาจยกระดับผลประเมินเรตติ้ง ESG ให้อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับการประเมินความน่าเชื่อถืออย่าง Credit Rating เลยทีเดียว

การเคลื่อนไหวของ EU อาจไม่ได้ขจัดข้อจำกัดของผลประเมินความยั่งยืนองค์กร หรือความไม่สอดคล้องกันของเรตติ้งแต่ละสถาบันประเมินให้หมดไปได้ แต่ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการประเมินและการให้น้ำหนักแต่ละประเด็นด้าน ESG อาจช่วยให้ผู้ใช้ข้อมูลเข้าใจข้อมูลเหล่านี้ดีขึ้น รวมถึงทำให้ประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้ประเมินมีความชัดเจนขึ้น เพราะบางสถาบันที่มีการประเมินหรือจัดทำเรตติ้ง ESG ก็มีบริการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเกณฑ์การประเมินด้วย

ดังนั้น ผู้รับรู้และผู้ใช้ข้อมูลเรตติ้ง ESG หรือรางวัลด้าน ESG ต่างๆขององค์กรต้องมองในรายละเอียดของเกณฑ์การประเมินความน่าเชื่อถือของสถาบันที่ประเมินมากขึ้นกว่าการมองเพียงแค่ผลการประเมินที่ออกมาเป็นตัวเลข/ตัวอักษร หรือรางวัลหนึ่งๆ เท่านั้น รวมไปถึงการหาข้อมูลจากแหล่งอ้างอิงอื่นๆเพิ่มเติม เพื่อให้แน่ใจว่ามีการพิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้านเพื่อช่วยกันผลักดันให้การประเมินและการให้เรตติ้ง รางวัล มีความน่าเชื่อถือ มิเช่นนั้นแล้วการประเมินและให้เรตติ้ง รางวัล ESG จะกลับกลายเป็นการประเมินเพียงผิวเผินไม่ยั่งยืนเสียเอง

บทความโดย ดร. ชาริกา ชาญนันทพิพัฒน์ นักวิชาการ ด้านการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน และ ขจรพงศ์ ประศาสตรานุวัตร นักวิจัยทีมการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน ทีดีอาร์ไอ

เผยแพร่ครั้งแรก : นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 4 เมษายน 2567