กัญชาเพื่อการแพทย์และสุขภาพ : ทางออก ทางเลือก หรือ ทางตัน?

นับเป็นเวลากว่าพันปีที่มนุษย์รู้จักว่ากัญชาเป็นพืชที่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท และมีการใช้กัญชาทั้งเป็นยาและเพื่อนันทนาการ ขณะเดียวกันการที่กัญชามีฤทธิ์เสพติดทำให้ประเทศต่างๆ จัดกัญชาเป็นยาเสพติดมานานนับศตวรรษ รวมทั้งประเทศไทยตั้งแต่ 90 ปีก่อน (ปี 2477) หลังจากนั้นชาวไทยก็เคยได้เห็นผลกระทบของกัญชาต่อกลุ่มทหารอเมริกันในช่วงสงครามเวียดนามด้วย

แต่การที่กัญชามักไม่ได้มีพิษรุนแรงมากเท่ายาเสพติดส่วนใหญ่ ทำให้หลายสิบประเทศอนุญาตให้ใช้กัญชาในทางการแพทย์ในช่วงทศวรรษเศษที่ผ่านมา และมีบางประเทศ (รวมทั้งไทย) อนุญาตให้ใช้เพื่อนันทนาการในบางระดับ 

ในประเทศไทย รัฐบาลที่แล้วเริ่มอนุญาต (และสนับสนุน) ให้ใช้กัญชาเพื่อการแพทย์และการวิจัยเมื่อต้นปี 2562 หลังจากนั้นก็ปลดล็อกมากขึ้นจนเหลือเพียงควบคุมช่อดอก เมล็ด และสารสกัดกัญชาที่มีสาร THC เกิน 0.2% เมื่อปลายปี 2563

จากนั้นเมื่อกลางปี 2565 ก็ถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด ก่อนที่จะหันกลับมาควบคุมเฉพาะช่อดอกกัญชาในปลายปี 2565 ซึ่งในช่วงดังกล่าวมีผลการสำรวจพบว่าผู้ใช้หรือลองใช้กัญชาเพื่อนันทนาการเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวเทียบกับผู้ที่ใช้กัญชาตามแพทย์สั่ง

ผลการศึกษาวิจัยในต่างประเทศพบว่าถึงแม้สารสกัดจากกัญชา (หรือสารสังเคราะห์เลียนแบบสารในกัญชา) จะมีประโยชน์ในการรักษาบางโรค/อาการ โดยเฉพาะลมชักสองกลุ่มที่ดื้อยาอื่น อาการคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด และเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยในการดูแลแบบประคับประคองในช่วงท้ายของชีวิต แต่ก็มักจะมียาอื่นที่ได้ผลดีและมีความเสี่ยงและผลข้างเคียงที่น้อยกว่า อีกทั้งหลายตัวมีต้นทุนและราคาต่ำกว่ายากัญชาด้วย จึงแทบไม่มีสถาบันการแพทย์ในประเทศใดที่แนะนำให้ใช้กัญชาเป็นวิธีการรักษาหลัก หรือแนะนำให้ใช้กัญชาเป็นยาตัวแรกในการรักษาโรคใด  

ในประเทศไทยแม้ว่าผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ในช่วงรัฐบาลที่แล้วจะผลักดันการใช้กัญชาอย่างแข็งขัน รวมทั้งกำหนดเป้าหมายเรื่องกัญชาไว้ในตัวชี้วัดของกระทรวงฯ ด้วย แต่ก็น่าจะส่งผลต่อการรักษาและจ่ายยาของแพทย์แผนปัจจุบันไม่มาก

แพทย์แผนปัจจุบันในโรงพยาบาลสังกัด สธ. ส่วนใหญ่ก็ยังคงจ่ายยากัญชาตามแนวทางที่กำหนดโดยราชวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการจ่ายยากัญชาเพื่อบรรเทาอาการปวดและนอนไม่หลับของคนไข้ไมเกรน มะเร็ง หรือในการรักษาแบบประคับประคองสำหรับผู้ป่วยในช่วงท้ายของชีวิต และรักษาโรคลมชักที่ดื้อยา

ข้อมูลจากระบบคลังข้อมูลสุขภาพ (HDC) ของสธ.ตั้งแต่ต.ค.2563 ถึงมี.ค. 2567 บ่งชี้ว่า 9 ใน 10 ของผู้ป่วยที่ได้รับยาหรือน้ำมันกัญชาจากสถานพยาบาลสังกัด สธ. เป็นผู้ป่วยที่มารับการรักษาจากแพทย์แผนไทย ซึ่งส่วนใหญ่จ่ายกัญชาเพื่อรักษาอาการนอนไม่หลับ ปวด และภาวะแข็งตัวของหลอดเลือดที่ทำให้กล้ามเนื้อแข็งเป็นก้อน

ขณะที่โรคอื่นที่มีการอ้างว่ากัญชารักษาได้ เช่น อัลไซเมอร์ พาร์กินสัน ลมชักชนิดอื่น การเจ็บปวดฉับพลัน ต้อในตา เบาหวาน ความดัน มะเร็ง จิตเภท และนอนไม่หลับนั้น ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานจากงานวิจัยเพียงพอที่จะแนะนำให้ใช้กัญชาในการรักษาหรือป้องกัน

โดยเฉพาะอาการนอนไม่หลับที่เหมือนจะกลายเป็นข้อบ่งชี้หลักของการจ่ายยากัญชาในไทย ทั้งแพทยสภาและราชวิทยาลัยของไทยรวมไปถึงองค์กรการแพทย์ในต่างประเทศไม่ได้แนะนำให้ใช้ เพราะเป็นห่วงว่าจะเกิดปัญหาความทนยา (Drug Tolerance) ที่ทำให้ต้องใช้ยากัญชาในปริมาณที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนอาจนำไปสู่การเสพติดกัญชาในระยะยาว

ถึงแม้ว่าจะมีแพทย์แผนไทยบางรายยืนยันว่ากัญชารักษาอาการนอนไม่หลับได้ผลดีและไม่ค่อยมีปัญหาการเสพติด แต่ก็ยังไม่มีผลงานวิจัยและการทดลองทางคลินิกที่มีคุณภาพสูงที่สามารถนำมารับรองประสิทธิผลและความปลอดภัยของการรักษาอาการนอนไม่หลับด้วยกัญชาในระยะยาว ขณะเดียวกันมีรายงานกรณีที่ผู้ใช้น้ำมันกัญชาเพื่อช่วยการนอนหลับไประยะหนึ่งแล้วมักต้องใช้ในปริมาณที่เพิ่มขึ้นถึงจะช่วยให้นอนหลับได้เหมือนเดิม

ด้านความปลอดภัย นอกจากการใช้กัญชาจะเพิ่มความเสี่ยงในการเสพติดกัญชาและอาจกระตุ้นให้เกิดโรคจิตเภทโดยเฉพาะกับเยาวชนแล้ว กัญชายังเป็นพืชที่ดูดโลหะหนักจากดินเข้ามาได้มากกว่าพืชทั่วไปมาก ทำให้กัญชาที่ปลูกกันเอง (รวมทั้งที่ปลูกแบบอินทรีย์) มีความเสี่ยงที่จะปนเปื้อนโลหะหนักในระดับที่อาจเป็นอันตรายได้  ทำให้มาตรการที่ให้ประชาชนปลูกและใช้กัญชาเป็นสมุนไพรอาจกลายเป็นมาตรการที่ก่อพิษภัยด้านสุขภาพในระยะยาว โดยเฉพาะในกรณีที่อาจมีประชาชนจำนวนมากที่ทำตามคำแนะนำนี้โดยไม่ได้รับการถ่ายทอดความรู้และข้อควรระวังที่ครบถ้วน

คณะผู้วิจัยทีดีอาร์ไอ มีข้อเสนอแนะว่าทั้งนโยบายกัญชาและการกำหนดตัวชี้วัดด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับกัญชา ควรพิจารณาจากบริบทใหญ่ที่ยึดประโยชน์ด้านสุขภาพของประชาชนทั้งประเทศเป็นหลัก ไม่ใช่เลือกใช้มาตรการเพื่อผลักดันให้ใช้สารหรือยากลุ่มใดเพิ่มขึ้น  

ทั้งนี้รัฐควรพัฒนาระบบติดตามประเมินผลกระทบจากนโยบายกัญชาและการใช้กัญชาทั้งเพื่อการแพทย์และเพื่อนันทนาการ รวมทั้งการทดลองทางคลินิกในการใช้ยากัญชารักษาโรคหรืออาการที่มีบุคลากรทางการแพทย์ไทยบางรายระบุว่ากัญชาใช้ได้ผลดีกว่ายาแผนปัจจุบัน (เช่น ช่วยการนอนหลับ) อย่างเป็นระบบที่รัดกุมและมีความน่าเชื่อถือในทางวิชาการ

นอกจากนี้ก็ควรพัฒนาศูนย์ศึกษาวิจัยพืชและยาสมุนไพรที่สามารถพิสูจน์คุณสมบัติและทดลองยากัญชาและยาสมุนไพรตัวอื่นที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์การแพทย์และหลักฐานเชิงประจักษ์  และสนับสนุนการขยายการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ที่ลงทุนกับกัญชาไปใช้วิจัยและพัฒนาพืชสมุนไพรและพืชเสพติดชนิดอื่นด้วย เพื่อที่วงวิชาการของไทยจะได้มีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับคุณสมบัติของกัญชาและพืชเสพติดอื่นในทางการแพทย์โดยมีหลักฐานการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่รัดกุมมารับรอง

ที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ รัฐบาลควรยุติมาตรการที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน เช่นการสนับสนุนให้ประชาชนปลูกกัญชาเพื่อนำมาใช้เป็นสมุนไพรในครัวเรือน  และควรเฝ้าระวังและควบคุมการโฆษณาประชาสัมพันธ์ข้อมูลด้านกัญชา พืชสมุนไพร และพืชเสพติดอื่นๆ ที่ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่เพียงพอมายืนยันสรรพคุณที่โฆษณา รวมทั้งควบคุมโฆษณาที่เกินความจริงที่อาจมาจากบางธุรกิจด้วย   

บทความโดย ดร. วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัย ด้านสาธารณสุขและการเกษตร และ วุฒิพงษ์ ตุ้นยุทธ์ นักวิจัยนโยบายด้านสาธารณสุขและการเกษตร ทีดีอาร์ไอ

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานวิจัย เรื่อง “แผนงานวิจัยการประเมินสถานการณ์และจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม จากกัญชาและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง” สนับสนุนโดยคณะกรรมการกำกับทิศทางการวิจัยประเด็นปัญหาวิกฤติสำคัญของประเทศ เรื่องกัญชา สกสว. และ วช.


บทความที่เกี่ยวข้อง

“กัญชาไทย…จะไปทางไหน?” : ทีดีอาร์ไอ เปิดผลประเมินทางสุขภาพ-เศรษฐกิจ-สังคม หลังปลดล็อกกัญชา 2 ปี พร้อมข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

กัญชาเสรีที่ (ไม่) มีอยู่จริง

พ.ร.บ.กัญชาฯ ต้องไม่คลุมเครือ