ประสบการณ์ต่างประเทศของการระบาด และมาตรการคุมการระบาดไวรัสโควิด-19: 5 ข้อสังเกต 4 บทเรียน 3 ความสำเร็จ 2 จุดเปลี่ยน 1 เปิดเมือง

ชาคร เลิศนิทัศน์ พุทธิพันธุ์ หิรัณยตระกูล
สถาพร น้อยจีน และ สมชัย จิตสุชน

เป็นเวลามากกว่า 3 เดือนแล้ว นับตั้งแต่การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าในเมืองอู่ฮั่น เมืองเอกของมณฑลหูเป่ย์ (Hubei) ประเทศจีน โดยปัจจุบันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าวถูกจัดเป็นโรคที่มีการระบาดกระจายทั่วโลกหรือที่เรียกว่า pandemic ตามการประกาศขององค์การอนามัยโลก เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563 โดยในปัจจุบันได้มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อไปแล้วใน 210 ประเทศ/พื้นที่ทั่วทุกมุมโลก การระบาดมิได้เพียงส่งผลต่อความมั่นคงด้านสาธารณสุขและต่อชีวิตผู้ป่วยเท่านั้น ยังมีผลกระทบต่อความมั่นคงของเศรษฐกิจและสังคมอย่างมากเพราะมาตรการที่ใช้ในการควบคุมการระบาดที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตและการทำธุรกิจอย่างรุนแรง

บทความนี้ จะถอดบทเรียนประสบการณ์ของหลายประเทศโดยเริ่มต้นจากการนำเสนอ “5 ข้อสังเกต” และสรุป “4 บทเรียน” ของประเทศที่มีการระบาดในระดับสูง อะไรคือข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ตามด้วยการพิจารณา “3 ความสำเร็จ” ของประเทศที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ค่อนข้างดีและอาจเป็นตัวอย่างให้ประเทศอื่นดำเนินมาตรการตามได้ “2 จุดเปลี่ยน” แสดงประสบการณ์ที่แสดงว่าเราต้องไม่ประมาทและไม่ชะล่าใจในการควบคุมโรค และประการสุดท้าย “1 เปิดเมือง” คือการใช้เมืองอู่ฮั่น (Wuhan) และหนานจิง (Nanjing) ในจีนเป็นกรณีตัวอย่างของการใช้มาตรการที่เอื้อให้สามารถเปิดเมืองได้อย่างเหมาะสม

“5 ข้อสังเกต”

ในขั้นแรก เราแบ่งกลุ่มประเทศสำหรับการพิจารณาออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก (ก) ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา อิตาลี เยอรมันและอังกฤษ ซึ่งปัจจุบันมียอดผู้ป่วยสะสมสูงมากกว่า 100,000 ราย และในกลุ่มที่สอง (ข) ได้แก่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกงและไต้หวัน โดยมีรายละเอียดเปรียบเทียบดังแสดงในตารางที่ 1 และตั้งข้อสังเกตไว้ 5 ประการดังนี้

ประการแรก ความเร็วของการระบาดมีความแตกต่างกัน ซึ่งสะท้อนผลของประเภทและความทันการณ์ของมาตรการรับมือในช่วงแรก โดยในกลุ่ม (ก) ใช้เวลาในการเพิ่มจำนวนผู้ป่วยสะสมในช่วง 1,000 รายแรก เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 8 วันเท่านั้น แต่ในกลุ่ม (ข) ใช้เวลามากถึง 25 วัน ความแตกต่างดังกล่าวยิ่งชัดเจนมากยิ่งขึ้นเมื่อระยะเวลาของผู้ป่วยสะสมเพิ่มจาก 1,000 คนเป็น 10,000 คน ในกลุ่ม (ก) ใช้เวลาเฉลี่ยเพียง 10 วันเท่านั้น แต่ในกลุ่ม (ข) มีเพียงเกาหลีใต้ประเทศเดียวที่มียอดผู้ติดเชื้อสะสมถึงระดับหนึ่งหมื่นคน และใช้เวลากว่า 1 เดือนกว่ายอดผู้ติดเชื้อสะสมจึงเพิ่มจาก 1,000 คนเป็น 10,000 คน

ประการที่สอง เป็นที่ชัดเจนว่าในกลุ่ม (ก) เป็นพื้นที่ในยุโรปและอเมริกาเหนือ ในขณะที่ประเทศในกลุ่ม (ข) อยู่ในทวีปเอเชีย ซึ่งมีพื้นฐานทางวัฒนธรรมการใช้ชีวิตที่ค่อนข้างแตกต่าง เช่น ไม่ทักทายด้วยการสัมผัสใกล้ชิดกันมากเท่าชาวตะวันตก ชาวญี่ปุ่นเองก็มีนิสัยรักความสะอาดและใส่หน้ากากในที่สาธารณะเป็นทุนเดิม เป็นต้น

ประการที่สาม อัตราการเสียชีวิตของกลุ่มประเทศ (ก) สูงกว่ากลุ่ม (ข) อย่างชัดเจน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว อย่างอิตาลีและอังกฤษที่มีอัตราการตายมากกว่าร้อยละ 13

ประการที่สี่  ความเข้มข้นของมาตรการเว้นระยะทางสังคมที่ค่อนข้างรุนแรงจะอยู่ในกลุ่มประเทศ (ก) เป็นส่วนมาก โดยในกลุ่ม (ข) มีแนวทางในการใช้มาตรการที่เข้มข้นน้อยกว่าภายใต้สถานการณ์การระบาดที่มีความรุนแรงที่แตกต่าง

ประการสุดท้าย ไทยถือได้ว่าประสบความสำเร็จทั้งในด้านการชะลอการระบาด โดยใช้เวลาถึง 63 วันก่อนที่ยอดผู้ติดเชื้อสะสมจะขึ้นถึง 100 คน ในขณะที่อัตราการตายก็ค่อนข้างต่ำ

จากข้อสังเกตเบื้องต้น เราลองมาดูว่าสามารถถอดบทเรียน ที่จะเป็นประโยชน์อย่างไรได้บ้าง

“4 บทเรียน”

ปัจจุบัน ปัญหาการแพร่ระบาดในกลุ่ม (ก) ยังอยู่ในขั้นวิกฤต เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตนั้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและอยู่ในสิบประเทศแรกของโลกที่มีผู้ป่วยสะสมสูงที่สุดในโลก[1] โดยเป็นที่น่าสังเกตว่าแม้ประเทศเหล่านี้จะดำเนินมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมในลักษณะเดียวกันหรือกระทั่งเข้มข้นกว่ากลุ่มประเทศเอเชีย (ข) ทั้งการระงับการเดินทาง การห้ามการชุมนุม ตลอดจนคำสั่งห้ามออกจากที่พักอาศัย แต่ผลของการแพร่ระบาดยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อพิจารณาการดำเนินมาตรการของแต่ละพื้นที่โดยละเอียด จะพบ 4 บทเรียนที่สำคัญจากประเทศกลุ่มนี้

บทเรียนที่ 1 ความรวดเร็วและการให้ความร่วมมือของประชาชนในการใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมมีผลต่อแนวโน้มการระบาด เช่น การดำเนินมาตรการในอิตาลีนั้น ถึงแม้มีการกำหนดมาตรการออกมาเพื่อจัดการปัญหาตั้งแต่ช่วงแรกของการระบาดแต่มาตราการเหล่านั้นใช้เฉพาะจุดหรือพื้นที่ชายแดนเท่านั้น แต่ในส่วนอื่นของประเทศกลับไม่ได้มีการกำหนดมาตรการที่ชัดเจนสำหรับการป้องกัน ซ้ำร้ายประชาชนก็ไม่ได้ตระหนักเกี่ยวกับความร้ายแรงของปัญหาเช่นกัน[2] เช่นเดียวกันมาตรการตรวจเชื้อ ติดตาม และกักกันตัว (test, trace, and isolate) หากทำช้าก็ส่งผลให้การคุมการระบาดไม่ประสบความสำเร็จ ดังเช่นกรณีของอิตาลีที่แม้ปัจจุบันจะมียอดการตรวจเชื้อสูงกว่า หนึ่งล้านเคส หรือคิดเป็นประมาณ 20,000 คนต่อประชากรหนึ่งล้านคน แต่ในช่วงต้นเดือนมีนาคมได้มีการตรวจไปเพียงประมาณสองหมื่นเคสเท่านั้น ในขณะที่เกาหลีใต้ได้ตรวจเชื้อไปมากกว่า 100,000 เคส ในห้วงเวลาเดียวกัน และไม่เพียงอิตาลี ประเทศที่มียอดการติดเชื้อสูงล้วนมีการตรวจเชื้อน้อยกว่าเกาหลีใต้ในช่วงต้นของการระบาด ดังแสดงในรูปที่ 1

รูปที่ 1 ยอดสะสมการตรวจเชื้อโควิด-19

ที่มา: https://ourworldindata.org/covid-testing ณ วันที่ 16 เมษายน 2563

อัตราการตายที่สูงนอกจากเกิดจากโครงสร้างอายุของประชากรแล้ว ยังเกิดจากการปล่อยให้อัตราการระบาดเป็นไปอย่างรวดเร็วจนส่งผลให้ขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น จำนวนแพทย์ที่ไม่เพียงพอ จำนวนเตียงต่อประชากรน้อยเกินไป

บทเรียนที่ 2 ในช่วงต้นของการแพร่ระบาด การใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ไม่ได้มาตรฐานเพียงพอในการตรวจหาเชื้อไวรัส เช่น กรณีสหรัฐอเมริกา[3] และสเปน[4] ทำให้ไม่สามารถตรวจหาผู้ติดเชื้อได้อย่างถูกต้อง ส่งผลทำให้ปัญหาการแพร่ระบาดเข้าขั้นวิกฤตมากขึ้น และยังทำให้บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อจนซ้ำเติมปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์

บทเรียนที่ 3 ปัญหาด้านการสื่อสารนโยบายหรือมาตรการที่บังคับใช้ ปัญหานี้เกิดขึ้นทั้งระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลท้องถิ่นและระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นผลให้มาตรการหรือนโยบายที่ประกาศใช้ประสบปัญหาในการปฏิบัติจนทำให้ประสิทธิภาพลดลงและไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชน โดยปัญหาที่กล่าวนี้เกิดในทั้งประเทศสหรัฐอเมริกา อิตาลี สเปนและฝรั่งเศส[5]

บทเรียนที่ 4 ขาดการป้องกันปฏิกิริยาของประชาชนต่อมาตรการควบคุม เช่น กรณีประเทศอิตาลี เมื่อรัฐบาลวางแผนเรื่องมาตรการเข้มข้นในการปิดเมืองทางตอนเหนือของประเทศ แต่แผนการดังกล่าวรั่วไหลก่อนที่จะประกาศจริงทำให้ประชาชนในพื้นที่แพร่ระบาดพากันอพยพออกมาและกระจายออกไปทั่วประเทศ จนเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วไปในทุกพื้นที่ในช่วงเวลาต่อมา[6] ประการนี้ประเทศไทยก็มีปัญหาเช่นกันในช่วงที่มีการประกาศปิดหรือลดระดับกิจกรรมในกิจการ 34 ประเภทในเขตกรุงเทพมหานคร โดยไม่มีมาตรการป้องกันการเดินทางออกจากเมืองหลวง

“3 ความสำเร็จ”

ในทางตรงกันข้าม ความสำเร็จของการดำเนินมาตรการของบางประเทศในกลุ่ม (ข) อาทิ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง ถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการควบคุมการระบาดโควิด-19 ความสำเร็จของสี่ประเทศนี้ไม่ได้จำกัดแค่ในแง่ของจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม (ดังเช่นกรณีไต้หวันที่ยังคงมียอดสะสมไม่ถึง 500 ราย) แต่ยังครอบคลุมถึงการชะลอของการแพร่ระบาดอย่างในฮ่องกง หรือ การหยุดยั้งอัตราการเร่งของจำนวนผู้ติดเชื้อ (flattening the curve) ดังตัวอย่างในเกาหลีใต้ที่สามารถลดจำนวนผู้ป่วยใหม่จากเดิมที่เคยพบอยู่สูงสุด 851 รายต่อวันให้เหลือเพียงไม่กี่สิบรายอย่างต่อเนื่อง และสุดท้ายในแง่ของการควบคุมอัตราเสียชีวิตของสิงคโปร์ ที่อยู่เพียงร้อยละ 0.2 เท่านั้น

เราอาจสรุปปัจจัยแห่งความสำเร็จได้ 3 ประการคือ

ความสำเร็จที่ 1 การมีระบบควบคุมโรคติดต่อที่เข้มแข็ง

ข้อสังเกตหนึ่งที่น่าสนใจคือ ประเทศในกลุ่ม (ข) หลายประเทศเคยมีประสบการณ์ต่อสู้กับการแพร่ของไวรัสโคโรน่า เช่น ไต้หวัน สิงคโปร์ และฮ่องกงต่อสู้กับ SARS  ในปี 2002/3 และ เกาหลีใต้ต่อสู้กับ MERS ในปี 2015 ทำให้รัฐบาลของทั้งสามตระหนักถึงความสำคัญในการเตรียมระบบรองรับการควบคุมโรคติดต่อ มีการลงทุนในเรื่องที่จำเป็น เช่น ห้องตรวจเชื้อ อุปกรณ์การตรวจเชื้อ เป็นต้น ประชาชนเองก็มีความตระหนักต่อความรุนแรงของปัญหาตั้งแต่ต้นและให้ความร่วมมือดี ทำให้สามารถออกมาตรการต่าง ๆ ได้ทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ

ความสำเร็จที่ 2 การตรวจ ติดตาม และกักกัน อย่างรวดเร็ว ครอบคลุม และมีประสิทธิภาพ

มาตรการตรวจเชื้อ ติดตาม และกักกันตัว (test, trace, and isolate) ในช่วงต้นของการระบาดได้รับการพิสูจน์ว่ามีส่วนช่วยอย่างมาก ประเทศอย่างเกาหลีใต้ ฮ่องกงและสิงคโปร์ ล้วนตรวจเชื้อไปแล้วเกินกว่า 10,000 คน ต่อจำนวนประชากรหนึ่งล้านคน ตั้งแต่ในช่วงแรกของการระบาด เกาหลีใต้ยังได้เพิ่มการตรวจหาภูมิคุ้มกัน (antibody) ที่ให้ผลลัพธ์ได้ภายใน 10 นาที นอกเหนือจากการตรวจแบบหาเชื้อแบบมาตรฐาน (RT-PCR) และมีมาตรการรถตรวจโควิดเคลื่อนที่ซึ่งทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการตรวจอย่างแพร่หลาย[7]

การติดตามตัวนั้นต้องใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยอย่างมาก ตัวอย่างเช่นเกาหลีใต้ใช้ข้อมูลการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในการติดตามประวัติการเดินทางภายในประเทศของผู้ติดเชื้อ[8]  การตรวจและติดตามเชิงรุกสามารถทำให้เกาหลีใต้แยกตัวผู้ป่วยออกจากสังคมได้ทันเวลา

ส่วนไต้หวัน เป็นตัวอย่างความสำเร็จที่แม้ไม่ได้มีการตรวจเชื้อมากนัก แต่ใช้การกักบริเวณผู้มีความเสี่ยงอย่างได้ผลจนสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ดี โดยที่รัฐบาลจะมีการติดต่อสอบถามความเป็นอยู่ของผู้ถูกกักบริเวณอยู่เป็นรายวัน หรือแม้กระทั่งมีอำนาจในการติดตามบุคคลที่ถูกสั่งกักบริเวณผ่านสัญญาณโทรศัพท์มือถือ[9] ซึ่งหากพบว่ามีการออกนอกสถานที่หรือปิดเครื่องโทรศัพท์โดยไม่ได้รับอนุญาต ตำรวจในพื้นที่จะเข้ามาเยี่ยมพบภายใน 15 นาที พร้อมบทลงโทษปรับเงินสูงสุด 1 ล้านบาทสำหรับผู้ฝ่าฝืน[10] เป็นผลให้ประชาชนให้ความร่วมมือในเรื่องนี้เป็นอย่างดี

ความสำเร็จที่ 3 การสื่อสารที่โปร่งใสและชัดเจน

แม้มาตรการจะถูกออกแบบมารัดกุมแค่ไหนก็สามารถล้มเหลวได้ หากปราศจากการปฏิบัติตามของประชาชน ดังนั้นมาตรการที่สิงค์โปรให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ คือ การสื่อสารของภาครัฐที่จะต้องโปร่งใส แม่นยำ และชัดเจน ทั้งในเรื่องวิธีดูแลสุขอนามัยที่ถูกต้องและมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมที่รัฐบาลเตรียมจะประกาศใช้ เพื่อสร้างความตระหนักถึงสถานการณ์แต่ไม่ก่อให้เกิดความตระหนกแก่ประชาชนซึ่งนำพาไปสู่ร่วมมือระหว่างภาครัฐและประชาชน ส่วนเกาหลีใต้ได้มีการส่งข้อความ SMS[11] ผ่านทางโทรศัพท์มือถือแจ้งกรณีการติดเชื้อในแต่ละวัน และเส้นทางการเดินทางของผู้ป่วย เพื่อให้ประชาชนสามารถวินิจฉัยได้ว่าตนอยู่ในกลุ่มเสี่ยงในการติดเชื้อหรือไม่    

“2 จุดเปลี่ยน”

ในบางกรณี ความสำเร็จในการควบคุมการระบาดอาจเป็น “ภาพลวงตา” ได้ เพราะสถานการณ์อาจเปลี่ยนพลิกได้ทุกเมื่อ ตัวอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในช่วงแรกถูกมองว่าสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ดี เพราะมีการคุมเข้มคนเข้าเมืองในพื้นที่เสี่ยงตั้งแต่เนิ่น ๆ ผนวกกับปัจจัยทางวัฒนธรรม เช่น การทักทายโดยไม่สัมผัสกัน หรือ การรักษาสุขอนามัยของคนญี่ปุ่นเป็นทุนเดิม ทว่ารัฐบาลญี่ปุ่นกลับชะล่าใจ ไม่เน้นการตรวจติดตามเชิงรุกเหมือนเกาหลีใต้ แถมยังไม่มีการบังคับใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมที่เข้มงวดมาทดแทน ส่งผลให้ญี่ปุ่นเริ่มมีผู้ติดเชื้อรายวันหลัก 100 ราย เป็นเวลาต่อเนื่องนับตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน จนท้ายที่สุดรัฐบาลญี่ปุ่นต้องประกาศคำสั่งภาวะฉุกเฉินในโตเกียวและอีก 6 จังหวัดใหญ่ในวันที่ 7 เมษายน[12] และขยายออกเป็นทั่วประเทศในวันที่ 16 เมษายน[13] ทั้งที่เพิ่งประกาศก่อนหน้าไม่ถึงสองสัปดาห์ว่าไม่จำเป็น[14] อีกหนึ่งตัวอย่างคือ ประเทศสิงคโปร์ ประเทศที่มีการคุมเข้มทั้งในเรื่องการตรวจติดตาม และ มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมที่สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาด ก็เริ่มพบการแพร่กระจายกลุ่มใหม่ในช่วงต้นเดือนเมษายน จนทำให้มียอดสะสมเกิน 3,000 ราย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการระบาดในชุมชนคนงานต่างชาติ[15] โดยคนงานเหล่านี้อาศัยอยู่ในที่พักอย่างแออัด จนทำให้เกิดการระบาดรอบใหม่ในที่สุด และยังกลายเป็นประเด็นทางสังคมว่าด้วยความไม่เท่าเทียมกันของการปฏิบัติต่อคนสิงคโปร์และต่อแรงงานต่างชาติอีกด้วย

จุดเปลี่ยนของทั้งสองประเทศจึงเป็นอุทาหรณ์ว่าทุกพื้นที่ทั่วโลกไม่อาจนิ่งนอนใจได้จนกว่าจะมีการคิดค้นวัคซีนและผลิตส่งให้นานาประเทศในจำนวนมากได้สำเร็จ ทุกประเทศจึงต้องพร้อมรับมือกับการกลับมาระบาดใหม่แม้จะดูเหมือนสามารถควบคุมหรือชะลอได้แล้วในบางขณะ

“1 เปิดเมือง”

เนื่องจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมก่อให้เกิดต้นทุนทางเศรษฐกิจมหาศาล หลายประเทศจึงเริ่มคิดถึงการ ‘เปิดเมืองใหม่’ หรือ re-opening ที่ต้องมีความสมดุลระหว่างการทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนสามารถดำเนินต่อไปได้ และ การควบคุมการระบาดไม่ให้ขยายวงมากเกินไปหรือไม่ให้กลับมาระบาดใหม่จนระบบสาธารณสุขรองรับไม่ไหว มีคนตายจำนวนมาก จนในที่สุดก็ต้องกลับมาปิดเมืองกันอีก ในที่นี้จะเสนอตัวอย่างของการเปิดเมืองอย่างระมัดระวังของจีน โดยใช้การเปิดเมืองอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเมืองอู่ฮั่นและหนานจิงเป็นกรณีศึกษา

ภายหลังการปิดเมืองเป็นเวลาเกือบ 3 เดือน นับตั้งแต่การเริ่มต้นแพร่ระบาดในเดือนช่วงกลางเดือนธันวาคมปีที่แล้ว สถานการณ์ของโรคระบาดภายในเมืองอู่ฮั่นดีขึ้นมาก[16] โดยในรอบ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยรายใหม่เพียง 3 รายและไม่มีผู้เสียชีวิตเลยนับแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา[17] ดังนั้นทางการจีนจึงได้ประกาศเปิดเมืองอู่ฮั่นอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ในวันที่ 8 เมษายน โดยได้แบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ระยะ[18]

ระยะแรก คือ การออกมาตรการในช่วงก่อนการเปิดเมืองอย่างเป็นทางการ (ก่อนวันที่ 8 เมษายน) โดยในช่วงปลายเดือนมีนาคม ทางการได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง มีการอนุญาตให้ประชาชนเดินทางเข้าออกเมืองอู่ฮั่นและมณฑลหูเป่ย์ เป็นรายกรณี พร้อมทั้งอนุญาตให้เปิดห้างสรรพสินค้า สถานบันเทิงและสวนสนุกแบบเปิดที่อากาศมีการถ่ายเทสะดวก ซึ่งเป็นผลให้ผู้คนสามารถออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านได้

ระยะที่สอง คือ มาตรการสำหรับรองรับการเปิดเมืองอย่างเป็นทางการ (หลังวันที่ 8 เมษายน) โดยเน้นการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการป้องกันและควบคุมโรค ผ่านการพัฒนาแอปพลิเคชัน อาลีเปย์ (Alipay) และ วีแชต (WeChat) ที่จะระบุที่อยู่ ประวัติการเดินทาง ประวัติทางการแพทย์ของเจ้าของโทรศัพท์และแสดงผลของบุคคลนั้นและจะสร้าง QR code สามสถานะได้แก่ สีเขียว หมายถึงสามารถเดินทางได้ตามปกติ สีเหลือง ต้องกักตัวเองอีก 7 วัน และสีแดงต้องกักตัวเอง 14 วัน โดยจะอนุญาตให้เฉพาะผู้มีผล QR Code เป็นสีเขียวเท่านั้นให้สามารถเดินทางระหว่างเมือง เดินทางในระบบขนส่งสาธารณะ เข้าสถานที่ทำงาน หน่วยธุรกิจ หน่วยงานผลิตต่าง ๆ เช่น โรงงาน ห้างสรรพสินค้า และร้านอาหาร เป็นต้น

ถึงแม้สถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีมากขึ้นประกอบกับมาตรการที่ผ่อนคลาย แต่มาตรการบางอย่างยังคงมีการบังคับใช้อย่างเข้มงวด เช่น การตรวจวัดอุณหภูมิ การบังคับใส่หน้ากากอนามัย การบันทึกประวัติการเข้าออกสถานที่ การปิดสถานศึกษา การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ นอกจากนั้นประชาชนอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป จะยังคงไม่ได้รับอนุญาตในการเดินทางหรือโดยสารรถสาธารณะ ซึ่งกลุ่มมาตรการดังกล่าวสะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจและสังคมกลับมาขับเคลื่อนได้โดยเร็ว

ในกรณีเมืองหนานจิง แม้จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อน้อยกว่าอู่ฮั่นมาก คือไม่ถึง 100 คน แต่มีมาตรการจำนวนมากที่สามารถนำมาปรับใช้กับการเปิดเมืองอย่างระมัดระวังได้ เช่น การป้องกันการสัมผัสจุดเสี่ยง (มีทิชชูให้ใช้กดปุ่มลิฟต์ เน้นการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ไม่ใช้เงินสด) การปฏิเสธหรือจำกัดการให้บริการกับลูกค้าที่ไม่ใส่หน้ากากหรือมี QR code ที่ระบุว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง นั่งทานอาหารต้องห่างกันและไม่หันหน้าหากัน แท็กซี่มีพลาสติกกั้นระหว่างด้านหน้า (คนขับ) และด้านหลังรถ (ผู้โดยสาร) มีการฉีดพ่นฆ่าเชื้อในรถวันละ 3 ครั้ง มีแอปพลิเคชันที่บอกให้รู้ว่าบริเวณใดเป็นจุดเสี่ยง และกั้นบริเวณนั้นไม่ให้คนเข้าออกมากเกินควร การทำงานในที่ทำงานต้องระมัดระวังอย่างมาก เช่น ต้องมีหน้ากาก ถุงมือใช้ครั้งเดียว วัดอุณหภูมิพนักงานและบันทึกทุกวัน พนักงานต้องบอกว่า ไปกินข้าวที่ไหน พบใคร เดินทางมาอย่างไร หลายคนเอาข้าวกลางวันจากบ้านมาทาน เพราะเชื่อว่าไม่ปลอดภัยถ้าจะไปซื้อกินและต้องเจอคนและสัมผัส การกักกันตัวก็ทำอย่างเข้มข้นโดยลดการสัมผัสระหว่างผู้ถูกกักกันและผู้ให้บริการเช่น จะวางข้าวไว้ให้หน้าประตูห้อง เป็นต้น

ตลอดช่วงระยะเวลาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มาตรการที่แตกต่าง หลากหลายถูกนำมาทดลองและปรับใช้ในหลายพื้นที่ทั่วโลก ซึ่งมีทั้งที่เป็นบทเรียนให้พื้นที่อื่นต้องเพิ่มความระมัดระวัง ไม่ประมาทในการแพร่ระบาด หลายพื้นที่เป็นตัวอย่างของความสำเร็จบางพื้นที่มีจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สามารถเรียนรู้และป้องกัน และบางพื้นที่เป็นตัวอย่างในการปรับเปลี่ยนมาตรการให้เหมาะสมเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี

ประเทศไทยควรเรียนรู้และประยุกต์ใช้บทเรียนความล้มเหลว มาตรการที่ประสบความสำเร็จที่หลากหลายภายใต้สถานการณ์การระบาดที่แตกต่างกัน โดยต้องคำนึงถึงความแตกต่างในบริบทของแต่ละประเทศที่กล่าวถึงข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นระบบการเมืองการปกครอง วัฒนธรรม เป็นต้น เพื่อให้สามารถเลือกใช้มาตรการ ‘เปิดเมือง’ ที่เหมาะสมกับบริบทของไทยได้ โดยอาจปรับใช้แยกตามพื้นที่ แยกตามประเภทกิจกรรม และแยกตามห้วงเวลา รวมทั้งมีการประเมินผลอย่างเป็นระบบและปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมยิ่งขึ้นได้ตลอดเวลา  


[1] https://www.worldometers.info/coronavirus/

[2] https://www.theguardian.com/commentisfree/2020/mar/20/coronavirus-italy-lessons-countries-crisis-information#maincontent

[3] https://www.japantimes.co.jp/news/2020/03/28/world/why-america-most-coronavirus-cases/#.XpZZCPgzZPZ

[4] https://www.reuters.com/article/health-coronavirus-spain-factbox/timeline-how-the-coronavirus-spread-in-spain-idUSL8N2BO4TL

[5] https://www.theguardian.com/world/2020/mar/26/spain-coronavirus-response-analysis

[6] https://www.nytimes.com/interactive/2020/04/05/world/europe/italy-coronavirus-lockdown-reopen.html

[7] https://www.asiatechdaily.com/korea-firm-covid-19-testing-kit/

[8] https://www.nature.com/articles/d41586-020-00740-y

[9] https://www.gpsworld.com/19-countries-track-mobile-locations-to-fight-covid-19/

[10] https://taiwantoday.tw/news.php?unit=2,6,10,15,18&post=173589

[11] https://www.voanews.com/science-health/coronavirus-outbreak/south-korea-shows-world-how-slow-spread-coronavirus?fbclid=IwAR1HFuo8QT-UMhrfoWWOfu_QitvxGmqHb9yESpl84GVhnHq-6kbPMd4IFr0

[12] https://japantoday.com/category/national/Abe-to-declare-state-of-emergency-for-Tokyo-6-prefectures

[13] https://asia.nikkei.com/Politics/Japan-extends-emergency-nationwide-ahead-of-Golden-Week

[14] https://www.bloomberg.com/news/articles/2020-04-02/japan-not-yet-ready-to-declare-virus-emergency-abe-says

[15] http://www.socialhot24.com/news105933.html

[16] https://www.theguardian.com/world/2020/apr/07/liberation-as-wuhans-coronavirus-lockdown-ends-after-76-days

[17] https://www.nytimes.com/2020/03/01/business/china-coronavirus-surveillance.html

[18] http://www.hubei.gov.cn/zhuanti/2020/gzxxgzbd/zxtb/202003/t20200324_2189256.shtml


หมายเหตุ: บทความนี้เป็นหนึ่งในผลงานโครงการศึกษาผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19: กลไกการรับมือและมาตรการช่วยเหลือ โดยการสนับสนุนของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ภายใต้แผนงาน economic and social monitor เพื่อการจัดทำรายงานสถานการณ์และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม

ข้อเสนอนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ “TDRI Policy Series on Fighting Covid-19”

ท่านสามารถ อ่าน TDRI Policy Series on Fighting Covid-19 (โดย คลิกชื่อบทความ)

1รัฐต้องทุ่มเททรัพยากรเพื่อแก้วิกฤตการณ์โควิด-19 และลดความเดือดร้อนของประชาชนให้ครอบคลุมและตรงจุด
2Fit-to-fly ไม่ช่วยกันโควิด-19 ซ้ำเพิ่มภาระคนไทยในต่างแดน
3ระวังความรุนแรงในโรคระบาด เมื่อ “บ้าน” อาจไม่ใช่ที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
4เราไม่ทิ้งกัน แต่มาตรการช่วยเหลือแรงงานนอกระบบรอบแรก รัฐทิ้งใครไว้เบื้องหลังหรือไม่?
5เปิดเมืองอย่างไรให้เศรษฐกิจขยับและคุมการระบาดได้
6แลไปข้างหน้า: ชีวิต (ใหม่?) ของคนไทยหลัง 30 เมษา 63
7ครัวเรือนเกษตร เมื่อไรจะได้รับการเยียวยา? ฝ่ามรสุมราคาพืชผลตกต่ำ ภัยแล้งและโควิด-19
8วิกฤตโควิด-19 รัฐต้องเร่งลดช่องว่างดิจิทัล เพื่อความเท่าเทียมในห้องเรียนออนไลน์