ฮาวทูทิ้ง: ทิ้งหน้ากากอนามัยอย่างไรให้ปลอดภัยกับสังคมและสิ่งแวดล้อม

กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์
วิชสิณี วิบุลผลประเสริฐ

ความต้องการใช้หน้ากากอนามัยในช่วงโควิด-19 เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว

หน้ากากอนามัยจัดเป็นวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้สำหรับการป้องกันสิ่งปนเปื้อนทั้งอนุภาคขนาดใหญ่และขนาดเล็กเข้าสู่ร่างกายของแพทย์และคนไข้ผ่านทางระบบทางเดินหายใจ โดยส่วนใหญ่ หน้ากากอนามัยจะถูกใช้โดยศัลยแพทย์ ทันตแพทย์ เทคนิคการแพทย์และสัตวแพทย์ ระหว่างการวินิจฉัย ผ่าตัดหรือเมื่อจำเป็นต้องรักษาผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้เพื่อป้องกันการติดต่อของเชื้อโรคทั้งในรูปแบบของเหลว เช่น น้ำลาย น้ำเหลือง และเลือด หรือละอองปนเปื้อนเชื้อซึ่งสามารถแพร่กระจายเข้าสู่ร่างกายผ่านทางปากและจมูก

ท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ความต้องการใช้หน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว เพราะนอกจากหน้ากากอนามัยจะถูกใช้ทางการแพทย์ในปริมาณที่มากขึ้นเพื่อรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 แล้ว ประชาชนทั่วไปยังมีความต้องการใช้หน้ากากอนามัยมากขึ้นเพื่อป้องกันเชื้อไว้รัสโควิด-19 อีกด้วย โดยหากใช้วิธีการประมาณการแบบหยาบๆ โดยกำหนดให้ปริมาณการผลิตหน้ากากอนามัยในประเทศอยู่ที่ 1.56 ล้านชิ้น/วัน[1] ทั้งในช่วงก่อนและหลังมีการระบาดของโรคโควิด-19 (ซึ่งไม่นับรวมการเพิ่มกำลังการผลิตของโรงงานที่ผลิตหน้ากากอนามัยเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19) ซึ่งจากจำนวนนี้ มีการจัดสรรหน้ากากอนามัยจำนวน 0.8 ล้านชิ้น/วัน ให้กับสถานพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์และที่เหลืออีก 0.76 ล้านชิ้น/วัน ให้กับประชาชนทั่วไป

ถ้าตั้งสมมติฐานว่าในช่วงก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประชาชนทั่วไปไม่มีความต้องการใช้หน้ากากอนามัย มีแต่บุคลากรทางการแพทย์ที่ใช้ ดังนั้น ปริมาณความต้องการใช้หน้ากากอนามัยในช่วงก่อนมีโควิด-19 อยู่ที่ประมาณ 0.8 ล้านชิ้น/วัน ในขณะที่ ปริมาณความต้องการใช้หน้ากากอนามัยในช่วงหลังมีโควิด-19 อยู่ที่ 1.56 ล้านชิ้น/วัน[2] เนื่องจากประชาชนหันมาสวมใส่หน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้น เพราะหวาดกลัวการระบาดของโรคโควิด-19 จะเห็นว่าความต้องการใช้หน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว นั่นหมายความว่าในแต่ละวันปริมาณขยะที่เกิดจากหน้ากากอนามัยที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งมีจำนวนมากขึ้นด้วยเช่นกัน

หน้ากากอนามัยเป็นขยะติดเชื้อ ถ้าทิ้งและกำจัดไม่ถูกต้องอาจรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อมได้

หน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วจัดได้ว่าเป็นขยะติดเชื้อ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธีเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วปนเปื้อนด้วยเสมหะ น้ำลาย น้ำมูกของบุคคลผู้ใช้ และอาจยังปนเปื้อนเชื้อโรคจากบุคคลที่ป่วยหรือผู้เป็นพาหะนำโรคได้ ถ้าหากหน้ากากอนามัยเหล่านี้ไม่ได้รับการคัดแยกอย่างถูกวิธี ถูกทิ้งปะปนกับขยะชุมชน จะส่งผลให้พนักงานที่ทำหน้าที่เก็บขนขยะมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อโควิด-19 และเมื่อขยะถูกนำไปกำจัดด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง เช่น เทกองกลางแจ้ง ก็อาจเพิ่มโอกาสที่เชื้อไวรัสโควิด-19 จะแพร่กระจายไปยังคนในชุมชนทั้งทางน้ำและทางอากาศ นอกจากหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของพนักงานเก็บขยะและคนในชุมชนแล้ว ปริมาณขยะหน้ากากอนามัยแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งที่จัดการไม่ถูกต้องยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมได้ เนื่องจากหน้ากากอนามัยมีองค์ประกอบที่ผลิตจากวัสดุที่ย่อยสลายยาก เช่น พอลิโพรไพลีน (Polypropylene : PP) ซึ่งเป็นพลาสติกชนิดหนึ่ง ที่นำมาขึ้นรูปให้เป็นเส้นใยสังเคราะห์ แล้วทอให้เป็นแผ่น รวมไปถึงลวดสำหรับปรับให้เข้ากับโครงจมูกก็ทำมาจากแผ่นพลาสติกขนาดเล็ก หรือลวดโลหะอลูมิเนียม ซึ่งเป็นส่วนประกอบของหน้ากากอนามัย

จีนและฮ่องกงประสบปัญหาการกำจัดขยะติดเชื้อจากสถานการณ์โควิด-19 แล้ว

หลายประเทศที่เริ่มมีการระบาดของโรคโควิด-19 ก่อนประเทศอื่นๆ เช่น ประเทศจีนและฮ่องกง พบว่าเริ่มประสบปัญหาในการกำจัดขยะติดเชื้อแล้ว โดยในฮ่องกง เมื่อประชาชนจำนวนมากสวมใส่หน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้น เนื่องจากหวาดกลัวการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างไรก็ดี หลังจากถูกใช้งานแล้ว หน้ากากเหล่านี้ถูกทิ้งอย่างไม่ถูกต้อง ส่งผลให้มีขยะหน้ากากอนามัยจำนวนมากลอยมาติดบริเวณชายหาดหมู่เกาะโซโค ของฮ่องกง ขยะดังกล่าวเป็นภัยคุกคามต่อระบบนิเวศของหมู่เกาะโซโค

การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ยังส่งผลให้ประเทศจีนต้องเผชิญกับปัญหาขยะหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วและขยะติดเชื้อที่เกิดจากสถานพยาบาลจำนวนมาก การที่ประเทศจีนมีเตาเผาขยะติดเชื้อไม่เพียงพอสำหรับกำจัดขยะเหล่านี้อย่างถูกวิธี และมีเตาเผาขยะติดเชื้อจำนวนหนึ่งซึ่งสร้างขึ้นสำหรับจัดการกับขยะติดเชื้อในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรค SARs ใกล้สิ้นสุดอายุการใช้งาน ส่งผลให้มีความจำเป็นต้องกำจัดขยะติดเชื้อเหล่านี้อย่างไม่ถูกวิธี อีกทั้งทำให้ประชาชนและพนักงานเก็บขนขยะมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อจากมูลฝอยติดเชื้อเหล่านี้อีกด้วย

ในกรณีของเมืองอู่ฮั่น ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ปริมาณมูลฝอยติดเชื้อที่เกิดขึ้นในแต่ละวันสูงถึง 200 ตัน ซึ่งมากกว่าศักยภาพในการรองรับของเตาเผาขยะติดเชื้อถึง 4 เท่าตัว[3] ส่งผลให้มีมูลฝอยติดเชื้อจำนวนมากที่ไม่ได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธี เพิ่มความเสี่ยงทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมภายในเมืองอู่ฮั่น

หน้ากากอนามัยเป็นขยะติดเชื้อ จึงต้องมีการคัดแยกจากขยะทั่วไปเพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี

เนื่องจากหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วเป็นขยะติดเชื้อ จึงมีความจำเป็นต้องคัดแยกหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วออกจากขยะมูลฝอยทั่วไป พร้อมทั้งต้องเก็บขนไปยังสถานที่สำหรับกำจัดมูลฝอยติดเชื้อที่มีเตาเผา
อุณหภูมิสูงตามแนวทางที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงว่าด้วยการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ. 2545 ไม่ใช่ดำเนินการแบบขยะชุมชน ซึ่งจะทำให้เกิดการแพร่กระจายและติดเชื้อไวรัสได้มากขึ้น

กฎกระทรวงว่าด้วยการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ. 2545 ได้ระบุถึงแนวทางในการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อไว้ 3 แนวทาง ได้แก่ การใช้เตาเผา การนึ่งฆ่าเชื้อด้วยไอน้ำ และการทำลายเชื้อด้วยความร้อน ในกรณีที่กำจัดมูลฝอยติดเชื้อในเตาเผา ได้มีการกำหนดให้ใช้เตาเผาที่มีห้องเผามูลฝอยติดเชื้อและห้องเผาควัน การเผามูลฝอยติดเชื้อให้เผาที่อุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 760 องศาเซลเซียส และในการเผาควันกำหนดให้เผาด้วยอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 1,000 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ ในการเผาจะต้องมีการควบคุมมาตรฐานอากาศเสียที่ปล่อยออกจากเตาเผาด้วย สำหรับการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อด้วยวิธีการทำลายเชื้อด้วยไอน้ำหรือความร้อน จะต้องดำเนินการให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานทางชีวภาพ โดยจะต้องมีประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ไวรัส และปรสิต ที่อยู่ในมูลฝอยติดเชื้อทั้งหมด

ความสามารถในการเก็บขนและจัดการขยะติดเชื้อที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะเพียงพอต่อการจัดการขยะติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หรือไม่

เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีแนวโน้มที่รุนแรงและขยายวงกว้างมากขึ้น ปริมาณการใช้หน้ากากอนามัยและอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ ทั้งถุงมือทางการแพทย์ ชุดป้องกันเชื้อโรค (PPE) ฯลฯ เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยอุปกรณ์เหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการจัดการเหมือนมูลฝอยติดเชื้อ คำถามที่เกิดขึ้นตามมาคือศักยภาพในการรองรับของบริการเก็บขนและกำจัดมูลฝอยติดเชื้อที่มีอยู่ในปัจจุบันจะสามารถรองรับได้หรือไม่ และถ้าขยะหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วไม่ได้ถูกคัดแยกออกมาแต่ถูกทิ้งปะปนกับขยะชุมชนอื่นๆ ทางภาครัฐจะดำเนินการอย่างไร  

เนื่องด้วยการเก็บขนและการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อจำเป็นต้องเป็นไปตามที่กฎกระทรวงได้กำหนดไว้ ดังนั้น การคำนึงถึงความสามารถในการรองรับ (Capacity) ของหน่วยงานที่รับเก็บขนมูลฝอยติดเชื้อและหน่วยงานที่รับกำจัดมูลฝอยติดเชื้อเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง สำหรับการเก็บขนมูลฝอยติดเชื้อ พบว่าปัจจุบันทั่วประเทศมีบริษัทเอกชนจำนวน 25 ราย และมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 10 ราย ที่รับเก็บขนมูลฝอยติดเชื้อ โดยมีการนำระบบ Manifest System มาใช้ในการควบคุมและกำกับดูแลการเก็บขนมูลฝอยติดเชื้อจากแหล่งกำเนิดไปยังแหล่งกำจัด

สำหรับการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อในปัจจุบัน พบว่ามีการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ ณ แหล่งกำเนิดจำนวน 67 แห่ง ซึ่งสามารถจำแนกเป็นการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อโดยใช้เตาเผา 61 แห่ง และเครื่องมือสำหรับนึ่งฆ่าเชื้อโดยใช้ไอน้ำร้อนและแรงดันสูง (Autoclave) จำนวน 6 แห่ง สำหรับมูลฝอยติดเชื้อที่ไม่ได้รับการกำจัด ณ แหล่งกำเนิด จะถูกเก็บขนไปกำจัดในเตาเผามูลฝอยติดเชื้อ[4] โดยแบ่งเป็นเตาเผามูลฝอยติดเชื้อของเอกชนจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ บริษัทโชติฐกรณ์ พิบูลย์ จำกัด (40 ตัน/วัน) บริษัท ที่ดินบางปะอิน (8 ตัน/วัน) และบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด (40 ตัน/วัน)   สำหรับเตาเผามูลฝอยติดเชื้อขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีจำนวน 7 แห่ง ได้แก่ อบจ. นนทบุรี (7.2 ตัน/วัน) อบจ. ระยอง (3.6 ตัน/วัน) เทศบาลนครอุดรธานี (7.2 ตัน/วัน) เทศบาลนครยะลา (อยู่ระหว่างการปรับปรุง) เทศบาลเมืองน่าน (4.8 ตัน/วัน) เทศบาลเมืองวารินชำราบ (8.4 ตัน/วัน) และเทศบาลเมืองภูเก็ต (3 ตัน/วัน)

มาตรการของไทยในปัจจุบันเน้นให้ความรู้เรื่องการทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วอย่างถูกวิธี

มาตรการที่ภาครัฐดำเนินการอยู่ในปัจจุบันเน้นการสร้างความตระหนักและให้ความรู้กับประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับวิธีการทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วอย่างถูกวิธี โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงกรุงเทพมหานครได้ออกมาประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับประชาชนว่าสามารถทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วอย่างถูกวิธีได้อย่างไร โดยแนะนำให้ประชาชนนำหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วบรรจุใส่ถุงที่ปิดสนิท มัดปากถุงให้แน่น พร้อมติดหน้าถุงว่า “หน้ากากอนามัย” เพื่อให้รถเก็บขนขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเก็บขนไปกำจัด นอกจากนี้ ทางกรุงเทพมหานครจัดให้มีถังรองรับหน้ากากอนามัย (ถังสีแดง) เฉพาะในจุดที่ทางกรุงเทพมหานครกำหนด เช่น สำนักงานเขตทั้ง 50 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร 11 แห่ง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เป็นต้น

มาตรการของจีนค่อนข้างเข้มข้นและจูงใจให้คนคัดแยกและทิ้งอย่างถูกวิธี

หากพิจารณามาตรการของประเทศจีนเกี่ยวกับการจัดการขยะหน้ากากอนามัย พบว่ารัฐบาลจีนได้ใช้มาตรการที่เข้มข้นในการจัดการกับผู้ที่ทิ้งหน้ากากอนามัยและขยะติดเชื้ออื่นๆ แบบผิดวิธีควบคู่ไปกับมาตรการทางสังคมซึ่งจูงใจให้คนคัดแยกและทิ้งขยะเหล่านี้อย่างถูกต้อง โดยรัฐบาลจีนได้กำหนดให้ตั้งถังขยะพิเศษในชุมชนทุกแห่งและออกข้อกำหนดให้ประชาชนนำหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วพับใส่ถุงพลาสติกและทิ้งลงในถังขยะพิเศษสีแดงเท่านั้น โดยที่ทิ้งขยะทุกแห่งจะมีกล้อง CCTV บันทึกตลอดเวลา โดยในกรณีของเมืองเชี่ยงไฮ้ หากประชาชนทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วไม่ตรงกับถังที่กำหนดจะถูกปรับ[5] ครั้งละ 200 หยวน หรือ 1,000 บาท แต่ในกรณีของร้านค้า จะถูกปรับครั้งละไม่เกิน 50,000 หยวน หรือ 250,000 บาท

นอกเหนือจากเงินค่าปรับแล้ว มาตรการลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนซึ่งชาวเซี่ยงไฮ้หลายคนกังวลคือการถูกตัดคะแนนความน่าเชื่อถือทางสังคม (Social Credit Rating) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลติดตามพฤติกรรมทางการเงินและทางสังคมของประชาชนชาวเซี่ยงไฮ้ ที่บ่งบอกถึงระดับความน่าเชื่อถือ (Trustworthiness) ผู้ที่มีคะแนนความน่าเชื่อถือต่ำจะถูกกีดกันจากการเข้าเรียนในโรงเรียนเอกชน การเข้าทำงานในสถานที่ทำงานที่ดี รวมถึงถูกกีดกันจากการเข้าใช้ประโยชน์พื้นที่สาธารณะบางแห่ง เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นมาตรการทางสังคมที่มีผลต่อแรงจูงใจในการคัดแยกและทิ้งขยะให้ถูกต้องของชาวเมืองเซี่ยงไฮ้    สำหรับขยะติดเชื้อที่ผ่านการคัดแยกแล้ว จะมีเจ้าหน้าที่ของเมืองที่แต่งชุด PPE ป้องกันตัวเองอย่างดีมาทำการเก็บขนทุกวันพร้อมกับทำการพ่นแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรคที่ถังขยะทุกครั้งก่อนนำส่งเตาเผาขยะของเมืองต่อไป

ไทยควรใช้มาตรการเชิงรุกที่เข้มข้นขึ้น โดยประชาสัมพันธ์และขอความร่วมมืออย่างจริงจัง

ประเทศไทยควรใช้มาตรการเชิงรุกที่เข้มข้นขึ้น โดยประชาสัมพันธ์และขอความร่วมมืออย่างจริงจังให้คนคัดแยกและทิ้งหน้ากากอนามัยให้ถูกวิธี รวมทั้งจัดตั้งถังขยะติดเชื้อให้เพียงพอ นอกจากนี้ ควรใช้สื่อในการรณรงค์ที่มีเนื้อหาที่เข้าใจง่ายและสามารถเข้าถึงคนจำนวนมาก ทุกเพศ ทุกวัย เพื่อขอความร่วมมือให้ประชาชนทั่วไปช่วยกันแยกหน้ากากอนามัยใช้แล้วออกจากขยะครัวเรือนประเภทอื่น พร้อมทั้งพับหน้ากากอนามัย ใส่ถุงที่ปิดสนิท มัดปากถุงให้แน่น และเขียนหรือติดหน้าถุงว่า “หน้ากากอนามัย” เพื่อให้รถเก็บขนขยะมูลฝอยของสำนักงานเขต (พื้นที่กรุงเทพมหานคร) หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเก็บขนไปกำจัดอย่างถูกวิธีต่อไป

สำหรับถังรองรับหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว (ถังสีแดง) ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรเพิ่มจำนวนถังสีแดง และควรเลือกจุดตั้งถังที่สะดวกสำหรับประชาชน เป็นสถานที่ที่คนทั่วไปต้องไปหรือผ่านอยู่แล้ว เพื่อไม่ต้องเพิ่มภาระหรือต้นทุนให้กับประชาชนในการนำขยะหน้ากากอนามัยไปทิ้ง     ในส่วนของหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน สถานประกอบการและอาคารชุดจำเป็นต้องจัดให้มีถังขยะสำหรับทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วโดยเฉพาะ และติดสัญลักษณ์รูปภาพข้อความที่สื่อถึงหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว ควรวางไว้ในจุดรวบรวมที่สามารถเห็นได้ชัดเจน ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับการทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วในองค์กรต่อเนื่อง สื่อสารเกี่ยวกับจุดที่ตั้งถังขยะ และแสดงแผนผังหรือรูปภาพแสดงวิธีการทิ้งที่ถูกต้องไว้บริเวณที่ตั้งถังขยะ 

สำหรับประชาชนทั่วไปที่ยังไม่ได้ป่วยจากโรคโควิด-19 ทางภาครัฐสามารถรณรงค์ให้คนเหล่านี้หันมาใช้หน้ากากผ้าที่สามารถใช้ซ้ำได้ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณขยะหน้ากากอนามัย รวมถึงลดภาระของระบบเก็บขนและกำจัดขยะติดเชื้อไปได้มาก

หมายเหตุ: ผู้เขียนขอขอบคุณ รศ.ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา สำหรับข้อแนะนำในการเขียนบทความ และขอบคุณคุณปริญญารัตน์ เลี้ยงเจริญและคุณณัฐพร บุตรโพธิ์ ที่ช่วยในการรวบรวมข้อมูล


[1] ที่มา https://news.thaipbs.or.th/content/289780 และ https://thestandard.co/where-are-the-hygiene-masks-distributed/

[2] หมายเหตุ การประมาณการดังกล่าวเป็นเพียงการประมาณการขั้นต่ำ ซึ่งอาจจะต่ำกว่าปริมาณที่แท้จริงเนื่องจากมีข้อจำกัดด้านการผลิตหน้ากากอนามัย (Supply Constraint)

[3] ที่มา https://www.scmp.com/comment/opinion/article/3074162/disposal-face-masks-and-medical-waste-crisis-making

[4] ที่มา สถานการณ์และนโยบายการจัดการมูลฝอยติดเชื้อของ กทม.

[5] ที่มา https://www.bbc.com/news/world-asia-china-48847062

ข้อเสนอนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ “TDRI Policy Series on Fighting Covid-19”

ท่านสามารถ อ่าน TDRI Policy Series on Fighting Covid-19 (โดย คลิกชื่อบทความ)

1รัฐต้องทุ่มเททรัพยากรเพื่อแก้วิกฤตการณ์โควิด-19 และลดความเดือดร้อนของประชาชนให้ครอบคลุมและตรงจุด
2Fit-to-fly ไม่ช่วยกันโควิด-19 ซ้ำเพิ่มภาระคนไทยในต่างแดน
3ระวังความรุนแรงในโรคระบาด เมื่อ “บ้าน” อาจไม่ใช่ที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
4เราไม่ทิ้งกัน แต่มาตรการช่วยเหลือแรงงานนอกระบบรอบแรก รัฐทิ้งใครไว้เบื้องหลังหรือไม่?
5เปิดเมืองอย่างไรให้เศรษฐกิจขยับและคุมการระบาดได้
6แลไปข้างหน้า: ชีวิต (ใหม่?) ของคนไทยหลัง 30 เมษา 63
7ครัวเรือนเกษตร เมื่อไรจะได้รับการเยียวยา? ฝ่ามรสุมราคาพืชผลตกต่ำ ภัยแล้งและโควิด-19
8วิกฤตโควิด-19 รัฐต้องเร่งลดช่องว่างดิจิทัล เพื่อความเท่าเทียมในห้องเรียนออนไลน์
9ประสบการณ์ต่างประเทศของการระบาดและมาตรการคุมการระบาดไวรัสโควิด-19: 5 ข้อสังเกต 4 บทเรียน 3 ความสำเร็จ 2 จุดเปลี่ยน 1 เปิดเมือง