สถานการณ์กำลังแรงงานช่วงล๊อกดาวน์ (ไตรมาส 2 ปี 2564)

สถานการณ์การทำงานของกำลังแรงงานอยู่ในวิกฤตซบเซามาอย่างต่อเนื่องยาวนานจากทั้งภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจที่เป็นผลมาจากภาวะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 มาตรการการคุบคุมการแพร่ระบาดมีการปรับเพิ่ม-ลดเงื่อนไขต่าง ๆ ตามสถานการณ์การแพร่ระบาด ภายใต้การควบคุมของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)มาตรการเหล่านี้จำกัดและเพิ่มเติมเงื่อนไขต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน การประกอบอาชีพ และการดำเนินธุรกิจต่าง ๆ ให้ยากลำบากขึ้น รวมไปถึงการงดการดำเนินการกิจการบางประเภทที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดสูง ข้อจำกัดที่เกิดขึ้นดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อการจ้างงานและส่งผลกระทบต่อภาวะการมีงานทำของแรงงานไทย

ผลจากภาวะการแพร่ระบาดและมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดทำให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 1 เป็นร้อยละ 2 ต่อเนื่อง 5 ไตรมาส ตั้งแต่ไตรมาสที่สองปี 2563 จนถึงไตรมาสที่สองของปี 2564 (ตารางที่ 1) และส่งผลให้ชั่วโมงการทำงานลดลงทุกภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 

การจ้างงานหลังจากผ่านช่วงต้นของวิกฤตโควิดช่วงปีแรก การจ้างงานค่อย ๆ ฟื้นตัวกลับมาตามการคาดการณ์ของสำนักวิเคราะห์หลายแห่ง ซึ่งการฟื้นตัวการจ้างงานและภาวะการมีงานทำ เป็นหนึ่งในตัวบ่งชี้สำคัญที่แสดงทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ภาพรวมการจ้างงานในไตรมาสที่สองที่ผ่านมา (ปี 2564) ฟื้นตัวร้อยละ 2  การจ้างงานแรงงานทำงานเต็มเวลา (40+ ชม.ต่อสัปดาห์) ในไตรมาสที่สอง ในภาพรวมฟื้นตัว ร้อยละ 13.7 (Q2 YoY 2563-64) โดยฟื้นตัวสูงสุดในภาคบริการ ภาคเกษตรกรรม และภาคอุตสาหกรรม คิดเป็น ร้อยละ 18 10 และ 6.4 ตามลำดับ (ตารางที่ 2) แนวโน้มการฟื้นตัวการทำงานแสดงให้เห็นชัดเจนมากขึ้นจากสัดส่วนการทำงานแบบหยุดทำงานชั่วคราวและการทำงานไม่เต็มเวลาลดลง ผู้มีงานประจำแต่ไม่ได้ทำงานกลับมาทำงาน ร้อยละ 70.6 ผู้ที่ถูกลดชั่วโมงกาทำงานเหลือ 1-19 ชั่วโมงต่อสัปดาห์มีลดลงร้อยละ 17.8โดยภาพรวมในไตรมาสที่สอง ปี 2564 การฟื้นตัวการจ้างงานเป็นไปในแนวโน้มที่ดี แรงงานกลับมาทำงานเต็มเวลามากขึ้น 

อย่างไรก็ตามภาพรวมการระดับการจ้างงานแรงงานที่ทำงานเต็มเวลายังต่ำกว่าการจ้างงานก่อนเกิดการระบาด (เทียบกับไตรมาสที่ 2 ปี 2562) ถึงร้อยละ 6.3 ตำแหน่งงานประจำมีจำนวนต่ำกว่าภาวะก่อนการระบาดถึง 1.7 ล้านตำแหน่ง การจ้างงานยังไม่กลับสู่สภาพปกติอย่างสมบูรณ์ดีการเปลี่ยนถ่ายรูปแบบการจ้างงานและการเปลี่ยนงานชั่วคราวจากผลกระทบมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดยังเป็นเงื่อนไขหลักสำคัญที่ทำให้การฟื้นตัวการจ้างงานไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้อย่างเต็มที่

ประเด็นที่น่าจับตามองคือการจ้างงานในกลุ่มเยาวชน หรือกลุ่มประชากรแรงงานอายุระหว่าง 15 ถึง 24 ปี การเปลี่ยนแปลงสถานะการจ้างงานหรือการโยกย้ายงานระหว่างภาคอุตสาหกรรมจะอ่อนไหวมากต่อกลุ่มแรงงานอายุน้อยที่เพิ่งจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน และกลุ่มที่เข้าสู่ตลาดแรงงานไม่นาน อยู่ช่วงการจ้างงานในระดับต้น 

นอกจากนี้ภาวะวิกฤตยังมีผลต่อการตัดสินใจในการเข้าสู่ตลาดแรงงานของเยาวชนอย่างมาก กลุ่มประชากรแรงงานอายุ 15-24 ปี เข้าสู่สถานะหางานน้อยลง ในทางกลับกันจำนวนเยาวชนเพิ่มขึ้นในกลุ่มไม่ทำงานแต่มีงานประจำ และกลุ่มไม่หางานทำแต่พร้อมที่จะทำงาน สูงสุดในไตรมาสที่ 2 ปี 2563 จำนวนเยาวชนที่ไม่ทำงานแต่มีงานประจำ ฟื้นตัวกลับในระดับปกติก่อนภาวะวิกฤตในไตรมาสแรกปี 2564 แต่กลุ่มไม่หางานทำแต่พร้อมที่จะทำงานยังอยู่ในระดับสูงกว่าปี 2562 กว่าหนึ่งแสนคนต่อเนื่องกันสามไตรมาส (ตารางที่ 3)

สถานการณ์แรงงานในภาพรวมของประเทศฟื้นฟูได้อย่างรวดเร็วแต่ยังน่าเป็นห่วงในกลุ่มเยาวชน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ได้รับแรงกดดันมากจากการหดตัวของตลาดแรงงานทำให้มีโอกาสในการเข้าถึงการจ้างงานยากกว่าแรงงานทั่วไป กลุ่มที่มีงานทำก็มีโอกาสเปลี่ยนรูปแบบการจ้างงานหรือเปลี่ยนงานมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ กลุ่มแรงงานเยาวชนจึงเป็นกลุ่มที่ควรมีนโยบายสนับสนุนการจ้างงานหรือการพัฒนาทักษะเพื่อส่งเสริมให้ประชากรกลุ่มนี้สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างมีคุณภาพ

หลังจากเริ่มคลายล็อกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องเมื่อต้นเดือนกันยายน และต้นเดือนตุลาคม (1 ก.ย. 2564 และ 1 ต.ค. 2564)  ลดพื้นที่ควบคุมการแพร่ระบาด และมีการผ่อนคลายกิจกรรมบางส่วน ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร สถานศึกษาและกิจการบางประเภทสามารถกลับมาเปิดให้บริการตามปกติโดยมีการจำกัดเงื่อนไขตามรูปแบบการควบคุมโรคแนวใหม่ การผ่อนคลายอย่างต่อเนื่องเป็นสัญญาณที่ดีต่อการฟื้นตัวของการจ้างงาน กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาดำเนินตามปกติมากขึ้น 

หากสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของประเทศคลายตัว ภาพการจ้างงานมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและอาจฟื้นตัวกลับสู่การจ้างงานระดับปกติภายในไม่ช้า ที่น่าเป็นห่วงคือการปรับตัวของแต่ละอุตสาหกรรม เกิดการหดตัว และขยายตัวของอุตสาหกรรมที่จะมีผลต่อตำแหน่งงาน และความต้องการทักษะใหม่ ๆ จากการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมดิจิทัลมากขึ้น รวมไปถึงรูปแบบการดำเนินธุรกิจแบบใหม่ 

ดังนั้นนอกจากการบริหารจัดการการการควบคุมโรคระบาด และการประคับประคองเศรษฐกิจ อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญคือการฟื้นฟูการศึกษาของเยาวชนที่ได้รับความเสียหายจากการหยุดเรียน การเรียนออนไลน์ และภาวะการหลุดจากระบบการศึกษา และทักษะของเยาวชนที่กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงานรวมไปถึงประชากรแรงงานให้สามารถตอบรับกับความต้องการของตลาดแรงงานหลังผ่านพ้นวิกฤต

บทความ โดย รศ.ดร. ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายทรัพยากรมนุษย์ 
สิรวิชญ์ รัตนประทีปทอง นักวิจัย นโยบายทรัพยากรมนุษย์


ผลงานล่าสุดจากทีดีอาร์ไอ