tdri logo
tdri logo
27 มกราคม 2022
Read in Minutes

Views

ปิดช่องโหว่ ‘กบช.’ ลดเสี่ยงแรงงานออกนอกระบบ 

ในปีนี้ประเทศไทยมีความท้าทายหลายประการที่ต้องเตรียมรับมือ หนึ่งใน ความท้าทายนั้นคือ ผู้สูงอายุ จะมีปัญหาเงินไม่พอใช้ จากข้อมูลของ UN world population prospects

จากการประมาณการของผู้เขียน พบว่าในปีนี้ประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาแรกๆ ที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ (Aged society) แล้ว คือมีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปประมาณร้อยละ 20 ของประชากรไทยทั้งหมด

หมายความว่า ผู้สูงอายุแต่ละคนโดยเฉลี่ยจะพึ่งพิงรายได้จากบุตรหลานได้น้อยลง และเมื่อประกอบกับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่มีมูลค่าต่ำกว่าเส้นความยากจน ผู้สูงอายุหลายคนน่าจะประสบปัญหา เงินไม่พอใช้ในยามชรา ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มสูงมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต

เพื่อเป็นแนวทางหนึ่งในการรับมือกับปัญหาดังกล่าว รัฐบาลไทยจึงมีแผนจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) โดยเมื่อพิจารณาจากร่างกฎหมาย กบช.ที่ผ่านการพิจารณาของ ครม.ในเดือน มี.ค.2564 กฎหมายฉบับนี้จะเทียบเท่ากับการบังคับให้แรงงานในระบบทุกคนต้องมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพรองรับ โดยกองทุนดังกล่าวต้องมีโครงสร้างตามที่ กบช.กำหนด

ตัวอย่างเช่น นาย ก.มีเงินเดือน 15,000 บาท ไม่เคยมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในปีแรกที่ กบช.เปิดรับสมาชิกนายจ้างและลูกจ้างจะต้องนำส่งเงินฝ่ายละ 450 บาทต่อเดือน และเพิ่มขึ้นเป็นระยะจนในปีที่ 10 จะต้องนำส่งฝ่ายละ 1,500 บาทต่อเดือนการนำส่งเงินครั้งนี้ไม่รวมกับที่นำส่งกองทุนประกันสังคม

ทั้งนี้ หากลูกจ้างมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่ผ่านเกณฑ์ตามกฎหมายรองรับแล้วก็ไม่จำเป็นต้องสมัครสมาชิก กบช.อีก เมื่ออายุครบ 60 ปี สมาชิก กบช.สามารถเลือกรับบำนาญ 20 ปีหรือบำเหน็จเป็นก้อนเพียงครั้งเดียวได้ จากกลไกข้างต้นการมี กบช.จะเป็นการบังคับแรงงานประมาณ 8 ล้านคนที่เป็นแรงงานในระบบแต่ยังไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพรองรับ ให้ออมเงินและมีเงินใช้ในวัยเกษียณมากขึ้น

แม้กลไก กบช.จะมีเจตนาที่ดีแต่ผลข้างเคียงของนโยบายนี้ คือ การเพิ่มต้นทุนของการอยู่ในระบบของแรงงาน หากอิงจากระบบประกันสังคมไทยที่โดยชื่อแล้วเป็นภาคบังคับ แต่ในทางปฏิบัตินั้นนายจ้างและลูกจ้างยัง “เลือกได้” ว่าจะเข้าระบบหรือไม่

การเพิ่มต้นทุนของ กบช.มีแนวโน้มจูงใจให้บริษัทเอกชนไม่จดทะเบียนลูกจ้างเข้าระบบ หรือจูงใจให้แรงงานบางส่วนหลบหนีออกไปเป็นแรงงานนอกระบบ ปรากฏการณ์เหล่านี้พบได้ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ มีผู้สมทบน้อยกว่าแรงงานในระบบเป็นจำนวนมาก

การที่นายจ้างหรือแรงงานหลบหนีออกนอกระบบ ส่งผลให้แรงงานเหล่านั้นไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ประกันสังคมด้านอื่น อาทิ ประกันว่างงาน ประกันทุพพลภาพ ไปในเวลาเดียวกัน การเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบแรงงานจึงจำเป็นอย่างยิ่งในการป้องกันการหลีกหนีออกนอกระบบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

ผู้เขียนจึงเสนอมาตรการสองประการเพื่อลดทอนปัญหาดังกล่าว ดังนี้

(1) เชื่อมโยงฐานข้อมูลภาษีเข้ากับฐานข้อมูลต่างๆ ในการตรวจสอบรายได้และระบุตัวลูกจ้างให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากจะตรวจสอบการออกนอกระบบของแรงงานได้ดีขึ้นแล้ว ยังช่วยทำให้การขยายความครอบคลุมไปยังผู้รับจ้างอิสระ ในลักษณะใกล้เคียงกันกับระบบ Individual Retire ment Accounts สำหรับผู้รับจ้างอิสระของประเทศชิลี เป็นไปได้มากขึ้น

(2) อำนวยความสะดวกการจดทะเบียนธุรกิจในลักษณะ one stop service เพิ่มเติมจากปัจจุบัน เช่น การเชื่อมโยงข้อมูลการจดทะเบียนพาณิชย์เข้าสู่ข้อมูลของประกันสังคมโดยอัตโนมัติ แม้จะไม่มีการจ้างงานลูกจ้าง ซึ่งจะช่วยให้สำนักงานประกันสังคมมีแหล่งข้อมูลในตรวจสอบแรงงานได้ดีขึ้น ในปัจจุบันการจดทะเบียนพาณิชย์อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ดังนั้น สิ่งที่ต้องพัฒนาควบคู่กันคือการพัฒนาระบบสารสนเทศของ อปท.ให้ได้มาตรฐานสามารถเชื่อมโยงระหว่างกันได้

การเพิ่มประสิทธิภาพเหล่านี้มีเป้าหมายว่า แรงงานทำงานในฐานะลูกจ้างควรจะอยู่ในระบบประกันสังคมทั้งหมด ซึ่งผู้เขียนประเมิน ว่าช่องว่างจากระบบตรวจสอบแรงงานใน ปัจจุบันอาจอยู่ในระดับสูงถึง 7 ล้านคน และถ้ามี กบช. แรงงานกลุ่มนี้อาจจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น การเพิ่มประสิทธิภาพฐานข้อมูลและการตรวจสอบแรงงานจึงจำเป็นอย่างยิ่งเมื่อมี กบช.ในอนาคต

กล่าวโดยสรุป ปี 2565 ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ โดยที่ยังมีปัญหาเงินไม่พอใช้จ่ายในยามชรา นโยบายใหม่ของภาครัฐอย่าง กบช. แม้จะบรรเทาปัญหาสำหรับแรงงานบางส่วนได้แต่ก็เป็นการเพิ่มต้นทุนการอยู่ในระบบไปพร้อมกัน ดังนั้นภาครัฐควรจะเพิ่มประสิทธิภาพฐานข้อมูลและการตรวจสอบแรงงาน เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่แรงงานจะออกนอกระบบ ผู้สูงวัยไทยจะได้มีเงินใช้จ่ายเพียงพอมากขึ้นในยามชรา

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย มาตรการที่ได้ผลในการส่งเสริมการวางแผนทางการเงินของประชากรไทยสำหรับสังคมอายุยืน โดยการสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

บทความ โดย ไตรสรณ์ ถิรชีวานนท์

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 27 มกราคม 2565


ผลงานล่าสุดจากทีดีอาร์ไอ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด