ปิดเรียนนานไป ได้ไม่คุ้มเสีย
เป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้ว ที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้นักเรียนหลายล้านคนไม่ได้ไปโรงเรียน ในระหว่างนี้ งานวิจัยจำนวนมากเริ่มชี้ให้เห็นโทษของการปิดเรียนเป็นเวลานาน ทั้งในแง่การเรียนรู้ อารมณ์จิตใจและโอกาสในอนาคต เด็กเล็กเป็นกลุ่มที่ได้ผลกระทบอย่างมาก โดยแต่ละวันที่เด็กวัยอนุบาลที่ไม่ได้ไปโรงเรียน พวกเขาสูญเสียการเรียนรู้ถึง 98% เมื่อเทียบกับวันที่เขาได้ไปโรงเรียนตามปกติ[1]
เด็กวัยรุ่นก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ผลการสำรวจโดยกรมสุขภาพจิตจากเด็กและวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปีราว 190,000 คน ตั้งแต่เริ่มมีการระบาดจนถึงเดือนกันยายน 2564 พบว่า ร้อยละ 28 ของเด็กและวัยรุ่นมีภาวะเครียดสูง ร้อยละ 32 มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า ในขณะที่อีกร้อยละ 22 มีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตาย[2]
นอกจากผลเสียต่อบุคคลแล้ว ยังมีผลเสียต่อประเทศ กล่าวคือทักษะที่ถดถอยจากการปิดเรียนยาวนานจะทำให้รายได้ระยะยาวตลอดชีวิตของนักเรียนรุ่นปัจจุบันลดลงเมื่อเทียบกับรุ่นอื่นๆ และส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต มีการคาดการณ์ว่า การปิดเรียนในครึ่งแรกของปี 2563 จะทำให้ GDP ในอนาคตของประเทศต่างๆ จนถึงปี 2100 ลดลงอย่างน้อย 1.5% โดยเฉลี่ย และอาจลดลงมากกว่านี้หากปิดเรียนนานขึ้น[3]
แม้ว่าหลายโรงเรียนจะพยายามทดแทนการเรียนที่โรงเรียน (ออนไซต์) ด้วยการเรียนรูปแบบอื่น เช่น ออนไลน์ ออนแฮนด์และออนแอร์ แต่ปัญหาความไม่พร้อมในการเรียนที่บ้านก็ยังคงอยู่ จากการสำรวจสถานศึกษาจากทุกสังกัดรวม 12,801 แห่งโดยกระทรวงศึกษาธิการ[4] พบว่า สถานศึกษาส่วนใหญ่ยังประสบปัญหาและอุปสรรคในการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์โควิด เช่น ร้อยละ 80 รายงานว่าผู้เรียนที่มีฐานะยากจนเข้าไม่ถึงการเรียนออนไลน์ด้วยข้อจำกัดด้านอุปกรณ์ สัญญาณอินเตอร์เน็ต และสภาพแวดล้อมทางบ้าน ร้อยละ 79 รายงานว่าผู้ปกครองไม่มีเวลากำกับดูแลนักเรียนในการเรียนจากที่บ้าน และร้อยละ 62 รายงานว่า คุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องจากขาดการฝึกทักษะการเรียนรู้ และมีเวลาเรียนไม่เพียงพอ
จึงจะเห็นได้ว่า การปิดเรียนนั้นส่งผลเสียมาก ในขณะที่ผลประโยชน์ด้านสุขภาพที่ได้จากการปิดเรียนนั้นมีน้อย เพราะเด็กที่ติดโควิดมีแนวโน้มที่จะมีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ และมีโอกาสเสียชีวิตต่ำ อยู่ที่ 1.9 คนในหนึ่งล้านคน[5] ความเสี่ยงนี้ยังลดลงอีกเมื่อนักเรียนอายุ 12-17 ปีกว่า 3 ล้านคนและครูหลายแสนคนได้รับวัคซีนแล้วสองเข็ม[6] (ข้อมูล ณ วันที่ 19 ธ.ค. 2564) นอกจากนี้ ศูนย์ป้องกันโรคติดต่อ สหรัฐอเมริกา (CDC) ยังระบุว่า ไม่พบว่าการเปิดเรียนหรือการติดเชื้อเพิ่มขึ้นในกลุ่มเด็กนำไปสู่การระบาดในชุมชน และการติดเชื้อระหว่างนักเรียนกันเองเกิดขึ้นได้น้อยหากมีมาตรการป้องกันที่รัดกุมในโรงเรียน[7]
“การเปิดโรงเรียนโดยมีมาตรการป้องกันความเสี่ยงที่เหมาะสม” จึงควรเป็น “ความปกติใหม่” ของการอยู่ร่วมกับโรคระบาด ไม่ใช่การปิดโรงเรียนในวงกว้างและการเรียนออนไลน์
ไม่ได้เรียนออนไซต์เพราะ “ปิดง่าย-เปิดยาก”
แม้กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดเงื่อนไขการเปิดโรงเรียนไว้ตั้งแต่ตุลาคม 2564 ทว่า จากการสำรวจเมื่อพฤศจิกายน 2564 พบว่า แม้สถานศึกษาถึงร้อยละ 97 ประเมินตนเองว่ามีความพร้อม[8] แต่ร้อยละ 34 ไม่สามารถเปิดเรียนออนไซต์ได้
เมื่อศึกษาเงื่อนไขการเปิดเรียนตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ[9] และสัมภาษณ์ผู้บริหารสถานศึกษาจำนวนหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่า อุปสรรคในการขอเปิดเรียนมีหลายประการ ดังต่อไปนี้
ประการแรก เงื่อนไขที่โรงเรียนต้องปฏิบัติตามมีจำนวนมากและยุ่งยากในทางปฏิบัติ เช่น กำหนดให้ต้องมีห้องแยกกักตัวรองรับผู้ติดเชื้อในโรงเรียน (School Isolation) ต้องจัดให้มี School Pass สําหรับนักเรียน ครู และบุคลากรในสถานศึกษา ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลผลการประเมิน TST ผลตรวจคัดกรองหาเชื้อของแต่ละบุคคล และประวัติการรับวัคซีน ต้องควบคุมดูแลการเดินทางเข้าและออกของนักเรียนจากบ้านมาโรงเรียนอย่างเข้มข้น (Seal Route) ทั้งกรณีรถรับ-ส่งนักเรียน รถส่วนบุคคล และรถโดยสารสาธารณะ เป็นต้น
อีกทั้ง มาตรการบางส่วนอยู่นอกเหนือจากการควบคุมของโรงเรียน เช่น กําหนดให้สถานประกอบกิจการที่อยู่รอบรั้วโรงเรียนให้ผ่านการประเมิน Thai Stop COVID plus (TSC+) COVID free setting หรือให้ผู้ปกครองของนักเรียนได้รับวัคซีน 85-100% ที่สำคัญ มาตรการจำนวนไม่น้อยก่อให้เกิด “ต้นทุน” ในการปฏิบัติตาม เช่น กำหนดให้นักเรียนและบุคลากรทุกคนต้องตรวจคัดกรองด้วย Antigen Test Kit (ATK) ก่อนกลับเข้ามาโรงเรียนและกำหนดให้สุ่มตรวจทุกสัปดาห์ พบว่า สถานศึกษาร้อยละ 56 ไม่มีงบประมาณในการจัดซื้อชุดตรวจ ATK หากไม่มีทรัพยากรสนับสนุนจากภายนอก สถานศึกษาอาจผลักภาระให้ผู้ปกครองแบกรับค่าใช้จ่าย และกลายเป็นเงื่อนไขให้นักเรียนจากครอบครัวรายได้น้อยไม่อาจเข้าเรียนได้ สุดท้าย การทำตามมาตรการเหล่านี้เพิ่มภาระให้ครู โดยสถานศึกษาร้อยละ 35 รายงานว่าครูผู้สอนมีภาระงานด้านการสอนและภาระงานด้านธุรการสูงขึ้น
ประการที่ 2 คือ ดุลยพินิจของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัด เนื่องจากประกาศของกระทรวงศึกษาเปิดช่องให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกำหนดเงื่อนไขและขั้นตอนเพิ่มเติมแก่โรงเรียนในจังหวัดได้ ความยากง่ายของการเปิดเรียนในแต่ละจังหวัดจึงแตกต่างกัน ทั้งนี้ ดุลยพินิจของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอาจไม่สอดคล้องกับแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษากำหนดไว้ร่วมกัน เช่น ในกรณีมีผู้ติดเชื้อประปรายในชุมชน โรงเรียนยังอาจเปิดสอนได้ตามแผนเผชิญเหตุที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด แต่คณะกรรมการฯ อาจสั่งปิดโรงเรียนทั้งจังหวัดได้ทันที ปรากฏการณ์นี้สอดคล้องกับผลการสำรวจโรงเรียนที่ไม่ได้เปิดเรียนออนไซต์ ที่ส่วนใหญ่รายงานว่าสาเหตุที่เปิดเรียนไม่ได้มาจากมติของคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัด/กทม.[10]
จากการสัมภาษณ์ผู้บริหารสถานศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งในสังกัด สพฐ. อปท. และ เอกชน พบว่า มีการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมจากประกาศของศธ. เช่น กำหนดให้บุคลากรในสถานศึกษาต้องได้รับวัคซีน 100% จึงจะขอเปิดเรียนได้ ทั้งที่ศธ. กำหนดไว้เพียง 85% และกำหนดให้โรงเรียนที่ประสงค์จะเปิดเรียนออนไซต์จะต้องผ่านกระบวนการพิจารณา 7 ขั้นตอน[11] ในระหว่างขั้นตอนนี้ หากหน่วยงานใดเพียงหน่วยงานหนึ่งใช้ดุลยพินิจไม่ให้เปิดก็จะไม่สามารถเปิดได้ คำขอเปิดเรียนของโรงเรียนบางแห่งถูกชะลอไว้ตั้งแต่ระดับอำเภอ ไปไม่ถึงการพิจารณาของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เนื่องจากการสื่อสารนโยบายที่ผ่านมาทำให้เจ้าพนักงานกังวลว่าจะถูกลงโทษหากเกิดการระบาดขึ้นในพื้นที่รับผิดชอบ
ประการสุดท้าย คือ กลไกการตัดสินใจผ่านหน่วยงานหลายระดับ ใช้เวลานาน ทำให้มติที่ได้ไม่ทันสถานการณ์ ด้วยกระบวนการปัจจุบัน โรงเรียนจะต้องนำเสนอแผนการเปิดเรียนและต้องผ่านการพิจารณาขั้นตอน เช่น สาธารณสุขอำเภอ ศึกษาธิการจังหวัด ไปจนถึงขั้นสุดท้ายคือ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. แต่ละรอบต้องอาศัยการประชุมเป็นรายสัปดาห์ ทำให้ใช้เวลามากตั้งแต่วันที่ขอเปิดเรียนจนถึงวันที่ได้เปิดจริง ในช่วงเวลานั้น สถานการณ์การระบาดในพื้นที่อาจเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก
ด้วยเหตุผลนี้ ทำให้สถานศึกษาทั่วประเทศอยู่ในสภาวะ “ปิดง่าย-เปิดยาก” ในขณะที่สถานประกอบหลายประเภทที่มักเป็นต้นตอของการระบาดหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา เช่น ร้านอาหาร ผับ บาร์ สถานที่ท่องเที่ยวยามค่ำคืน ได้รับการผ่อนปรนให้กลับมาเปิดเป็นปกติ และจะถูกสั่งปิดก็ต่อเมื่อมีการระบาดเกิดขึ้น
ข้อเสนอเชิงนโยบาย: จาก “ปิดง่าย–เปิดยาก” เป็น “เปิดเป็นปกติ–ปิดเมื่อจำเป็น”
เมื่อเด็กไทยกำลังรับศึกสองด้าน ด้านหนึ่งคือโรคระบาด อีกด้านหนึ่งคือการเรียนรู้ที่ถดถอย การตัดสินใจเปิด–ปิดโรงเรียนจึงควรตั้งอยู่บนสมดุลระหว่างการป้องกันการแพร่ระบาดในโรงเรียน กับ การสร้างโอกาสการเรียนรู้แก่นักเรียน
เงื่อนไขการเปิดโรงเรียนที่เหมาะสมจะต้องไม่ยากเกินไปจนทำให้เปิดไม่ได้เสียเลย และไม่ง่ายเกินไปจนเกิดการระบาดเป็นวงกว้าง กระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)และกระทรวงสาธารณสุขควรทบทวนเงื่อนไขการขอเปิดโรงเรียนและมาตรการป้องกันการระบาดในสถานศึกษา ให้มีความเข้มข้นใกล้เคียงกับสถานประกอบการอื่นๆ คงไว้เพียงมาตรการที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์แล้วว่าเพียงพอ และตัดเงื่อนไขที่อยู่นอกเหนือขอบเขตความรับผิดชอบของสถานศึกษาออก และควรระมัดระวังไม่ให้มาตรการบางอย่างกลายเป็นการกีดกันนักเรียน เช่น การห้ามไม่ให้นักเรียนที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือไม่มีผลตรวจ ATK เข้าเรียน
หากมีมาตรการใดที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดที่สถานศึกษาต้องปฏิบัติตาม กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุขควรสนับสนุนทรัพยากรให้เพียงพอต่อการปฏิบัติตามมาตรการเหล่านั้น เช่น จัดสรรชุดตรวจ ATK ให้เพียงพอเพื่อมิให้นักเรียนและผู้ปกครองต้องแบกรับค่าใช้จ่าย
คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดควรให้อำนาจสถานศึกษาตัดสินใจตามแผนเผชิญเหตุที่มีการกำหนดไว้ หากจะใช้อำนาจสั่งปิดสถานศึกษา ควรพิจารณาผลดีและผลเสีย โดยใช้ข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์และสถิติเชิงประจักษ์ประกอบการตัดสินใจข้อมูลสำคัญที่ต้องใช้เป็นหลักในการพิจารณาคือ อัตราการระบาดในชุมชนและอัตราการได้รับวัคซีนในชุมชน และควรพิจารณาปิดเป็นรายโรงเรียนไป ควรหลีกเลี่ยงการสั่งปิดโรงเรียนแบบยกหน้ากระดาน เมื่อสถานการณ์ระบาดคลี่คลาย ควรให้โรงเรียนที่ถูกสั่งปิดไปกลับมาเปิดได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการพิจารณาใหม่ทั้งหมด
ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน แม้จะมีมาตรการเข้มข้นเพียงใดก็ไม่อาจจำกัดความเสี่ยงให้เป็นศูนย์ได้ กรอบคิดในการทำงานไม่ใช่การหลีกเลี่ยงความเสี่ยงแต่เป็นการบริหารจัดการความเสี่ยง ผู้กำหนดนโยบายทั้งในระดับประเทศและระดับจังหวัดควรปรับวิธีการสื่อสารสร้างความมั่นใจให้ผู้ปฏิบัติงานว่าจะไม่ถูกลงโทษหากดำเนินการอย่างรัดกุมแล้วแต่ยังมีการระบาดเกิดขึ้น
การมาถึงของโควิดสายพันธุ์โอไมครอนสะท้อนว่า เราทุกคนอาจจะต้องใช้ชีวิตกับโรคระบาดไปอีกพักใหญ่ แต่ละวันที่โรงเรียนปิดช่วยลดความเสี่ยงของโรคระบาดในระยะสั้น แต่ส่งผลเสียต่ออนาคตของชาติในระยะยาว
เมื่อคลื่นการระบาดครั้งใหม่คลี่คลาย คงถึงเวลาแล้วที่ผู้กำหนดนโยบายจะปรับวิธีการเปิดโรงเรียนจาก “ปิดง่าย-เปิดยาก” ไปสู่ “เปิดเป็นปกติ-ปิดเมื่อจำเป็น” เพื่อให้เด็กๆ ของเราอยู่ร่วมกับโรคระบาดอย่างปลอดภัยและต่อสู้กับการเรียนรู้ที่ถดถอยไปพร้อมๆ กัน
บทความโดย ณิชา พิทยาพงศกร นักวิจัยอาวุโส นโยบายด้านการปฏิรูปการศึกษา
[1] Learning Losses from School Closure due to the COVID-19 Pandemic for Thai Kindergartners โดย ดร.วีระชาติ กิเลนทอง และคณะ สถาบันวิจัยเพื่อออกแบบและประเมินนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (กันยายน 2564)
[2] https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=31220
[3] The Economic Impacts of Learning Losses โดย Eric A. Hanushek และ Ludger Woessmann (กันยายน 2563)
[4] http://www.covid.moe.go.th/app/report/report.php (เข้าถึงเมื่อธันวาคม 2564)
[5] Green P. Risks to children and young people during covid-19 pandemic BMJ 2020; 369 :m1669 doi:10.1136/bmj.m1669
[6] https://www.bbc.com/thai/thailand-58778595
[7] https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/science/science-briefs/transmission_k_12_schools.html#sars-cov-2
[8] มีสถานศึกษาผ่านการประเมินสีเขียว 16,552 แห่งจากสถานศึกษาที่รายงานผล 16,917 แห่ง คิดเป็น 97.84%
[9] ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง หลักเกณฑ์การเปิดโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาตามข้อกําหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๓๔)
[10] ที่เดียวกับ 3
[11] แนวทางการพิจารณาการขออนุญาตเปิดเรียนแบบ On Site ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จังหวัดเชียงใหม่ (https://drive.google.com/drive/folders/16khDTvs8P8oo1DXR4IpNUdMy3L4BhEMj)
ผลงานล่าสุดจากทีดีอาร์ไอ
- พินิจเศรษฐกิจการเมือง : ปรับจัดเก็บภาษีอย่างไร แก้โจทย์ไทยเหลื่อมล้ำถูกจุด?
- คิดยกกำลังสอง : แบ่งแยกเรื่องเล่า…เท่ากับอยู่คนละโลก
- พินิจเศรษฐกิจการเมือง: สร้างเมืองใหม่…ให้ยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ
- คิดยกกำลังสอง: ทรัมป์ 2.0…หนุนประสิทธิภาพรัฐ ?
- พินิจเศรษฐกิจการเมือง : ช่วยภาคการผลิต…ไม่ติดปัญหาท่วม-แล้ง ภาคอุตสาหกรรม – การท่องเที่ยว