“ข้อมูลความยั่งยืน” ต้องไม่ถูกลดทอนเป็นการฟอกเขียว

องค์กรเอกชน หรือหน่วยงานที่ต้องสื่อสารกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมาก เช่น หน่วยงานรัฐบาล หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ หรือมหาวิทยาลัย เป็นต้น ต่างตระหนักว่าการจัดทำและการเปิดเผยข้อมูลในรายงานประจำปีเป็นภารกิจสำคัญ เพราะเป็นสิ่งสะท้อนประสิทธิภาพความโปร่งใสของการดำเนินงานต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มบริษัทจดทะเบียนที่การเปิดเผยข้อมูลจะมีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุน
        

การจัดทำรายงานของบริษัทจดทะเบียน จึงถูกคาดหวังว่าต้องมีครบถ้วน สมบูรณ์ สอดคล้องกับการดำเนินงานอย่างแท้จริง รวมถึง “ข้อมูลความยั่งยืนองค์กร” ก็เป็นหนึ่งในประเด็นที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยเพิ่มเติมจากรายงานประจำปีในรูปแบบเดิม ผ่านการจัดทำรายงานประจำปีด้วยแบบ 56-1 One Report
         

เพื่อแสดงถึงนโยบาย ผลกระทบ และผลการดำเนินงาน “ด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของธุรกิจ” ภายใต้ระบบการกำกับดูแล กิจการที่ดี ซึ่งช่วยให้ผู้ลงทุนและผู้ใช้ข้อมูลได้เห็นถึงมุมมองการดำเนินธุรกิจในมิติ ที่กว้างกว่าข้อมูลทางการเงินและการสร้างผลตอบแทนในระยะยาวทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อองค์กรอย่างรอบด้าน
         

แต่การเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนองค์กร มีโอกาสถูกตั้งคำถามว่าจะเป็นเพียงการ “ฟอกเขียว” หรือจะเป็นเพียงการเกาะกระแสความยั่งยืนหรือไม่
          

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) โดยทีมการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน เล็งเห็นความเสี่ยงดังกล่าว จึงตั้งโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้การเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนองค์กร ไม่ได้เป็นแค่การจัดทำรายงานแบบผิวเผิน หรือหวังลดการตรวจสอบเท่านั้น
         

จากการศึกษาและถอดบทเรียนจากการจัดทำรายงานความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียน ในดัชนี SET100 ทีมวิจัยได้พบว่าการให้ความสำคัญกับ “กระบวนการ” ที่ได้มาซึ่งข้อมูลความยั่งยืนองค์กร ผ่านกระบวนการวิเคราะห์ประเด็นที่มีนัยสำคัญ (Materiality Assessment) ที่เน้นการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และมีกระบวนการวัดผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนอย่างเป็นระบบ เป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างยิ่งในการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนขององค์กร
         

ทั้งนี้ เพื่อเป็นประโยชน์แก่บริษัท จดทะเบียน รวมทั้งองค์กรที่มีความสนใจในการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนหรือข้อมูล “ด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม” ขององค์กร ทีมวิจัยจึงเสนอ “10 ประเด็นสำคัญ ในการจัดทำรายงานความยั่งยืน” เพื่อยกระดับการจัดทำรายงานความยั่งยืนของภาคธุรกิจ ดังนี้
         

1.ปรับมุมมองต่อรายงานความยั่งยืนว่าเป็นมากกว่าการเปิดเผยข้อมูลหรือการจัดทำรายงาน เพราะสิ่งนี้จะช่วยให้องค์กรบริหารจัดการประเด็นด้านความยั่งยืน และรู้ว่าประเด็นที่สำคัญที่ต้องดำเนินการคืออะไร โดยเชื่อมโยงไปกับกลยุทธ์ และการดำเนินงานหลักขององค์กร เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในองค์กร และไม่เพิ่มภาระให้แก่ผู้ปฏิบัติงานโดยไม่จำเป็น
          

2.เลือกใช้กรอบการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นไปตามกรอบมาตรฐาน ข้อบังคับ ความเหมาะสมและทรัพยากรขององค์กร รวมทั้งอาจพิจารณาใช้กรอบหรือมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูล ที่เป็นภาคความสมัครใจตามความเหมาะสม
          

3.มีกระบวนการประเมินประเด็นความยั่งยืนที่สำคัญ (Materiality Assessment) เป็นจุดตั้งต้นและหัวใจสำคัญ ในการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนองค์กร เพื่อระบุและจัดลำดับประเด็นที่มีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจและต่อผู้มี ส่วนได้เสียทั้งด้านบวกและลบ
          

ในกระบวนการนี้ต้องคำนึงถึงการวิเคราะห์กิจกรรมในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) และรับฟังผู้ที่เกี่ยวข้อง องค์กรควรต้องเปิดเผยข้อมูล Materiality Assessment ในแง่รายละเอียดของกระบวนการ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องในกระบวนการ และความถี่ของการจัดทำด้วย
          

4.ต้องมีกระบวนการรับฟังและเข้าใจความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแต่ละกลุ่ม เพื่อให้การตอบสนองความคาดหวัง เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดความเสี่ยงในอนาคต
          

5.ทบทวนและปรับปรุงประเด็นความยั่งยืนที่มีนัยสำคัญ เมื่อมีปัจจัยที่เข้ามากระทบอย่างสม่ำเสมอ เช่น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์หรือการดำเนินงานขององค์กร ความเสี่ยงรูปแบบใหม่ที่องค์กรต้องเผชิญ หรือความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
          

6.ใช้กรอบ SDGs หรือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ประกอบกับมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลอื่นๆ เข้ามาช่วยในการมองประเด็นด้านความยั่งยืนในภาพใหญ่ พร้อมเชื่อมโยงกับประเด็นที่มีนัยสำคัญและกลยุทธ์องค์กร
          

7.วางโครงสร้างองค์กร และการกำกับดูแลที่เอื้อต่อการขับเคลื่อนประเด็นด้านความยั่งยืน ผู้บริหารให้ความสำคัญ มีคณะทำงานหรือฝ่ายที่ดูแลรับผิดชอบ เรื่องนี้อย่างชัดเจน รวมถึงภายในองค์กรได้รับการสื่อสารถึงความสำคัญ บทบาท หน้าที่ของตัวเองที่ชัดเจน
          

8.กำหนดตัวชี้วัดและเป้าหมาย ด้านความยั่งยืนที่เชื่อมกับกลยุทธ์ และประเด็นที่มีนัยสำคัญ นอกจากนี้การเปิดเผยเป้าหมายควรเปิดเผยบริบทที่สำคัญด้วย เช่น การวัดผลเป็นระยะ ปีฐาน ปีที่บรรลุเป้าหมาย รวมถึงแผนงาน
          

9.ลงทุนในเครื่องมือและระบบการเก็บข้อมูลที่เหมาะสม โดยอาจพิจารณาเลือกและพัฒนาเครื่องมือตามความพร้อมและทรัพยากรที่มี เพื่อให้เจ้าของข้อมูลในฝ่ายงานต่างๆ สามารถบันทึก และเรียกดูข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
          

10.ใช้ผู้สอบทานอิสระเพิ่มความมั่นใจให้ผู้ใช้ข้อมูล โดยอาจพิจารณาจากตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่เป็นไปตามข้อบังคับ หรือมีนัยสำคัญก่อนแล้วค่อยขยายขอบเขตเมื่อมีความพร้อมเพิ่มขึ้น
          

ข้อเสนอแนะเหล่านี้ ทีมวิจัยได้นำเสนอในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการในวันที่ 24 พ.ค. 2566 ภายใต้หัวข้อ “Sustainability reporting ของภาคธุรกิจ คิดและทำอย่างไร ให้ครอบคลุมประเด็นความยั่งยืนที่มี นัยสำคัญ” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF)
          

สิ่งที่ได้เรียนรู้ร่วมกันในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ คือ ทุกฝ่ายเห็นเป้าหมายและประโยชน์ร่วมกันของการยกระดับการจัดทำรายงานความยั่งยืน และพบว่า กระบวนการจัดทำและเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน ไม่มี “สูตรสำเร็จตายตัว” เพราะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของแต่ละองค์กร มีมุมมอง ความต้องการที่แตกต่าง
          

ดังนั้น แต่ละองค์กรที่มี “การเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนองค์กร” จะต้องเปิดให้มีการรับฟังและแลกเปลี่ยนร่วมกันอย่างเพียงพอ เพื่อให้ “การเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนองค์กร” เป็นการสร้างกรอบความรับผิดชอบที่มีการตกลงร่วมกัน ไม่เป็นเพียงแค่ “ผลผลิต” ของกระบวนการ และไม่ถูกลดทอน ว่าเป็นเพียงการฟอกเขียว แต่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เกิดผลประโยชน์ร่วมกันอย่างแท้จริง
          

บทความโดย ชาริกา ชาญนันทพิพัฒน์  ขจรพงศ์ ประศาสตรานุวัตร และเอกปวีณ อนุสนธิ์

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 15 มิ.ย. 2566


ผลงานล่าสุดจากทีดีอาร์ไอ