ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนไทยเฉลี่ยต่อหัวทะยานสูงขึ้นกว่า 3 เท่าในระยะเวลาเพียง 15 ปี ระหว่างปี 2548-2563 ซึ่งเพิ่มสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ และทำให้ภาครัฐและผู้ป่วยมีภาระมากขึ้น
การเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ดังกล่าว ส่วนหนึ่งสามารถอธิบายได้ด้วย หลักการทางเศรษฐศาสตร์ว่าด้วย “โรคต้นทุน” หรือ “Cost Disease” ของศาสตราจารย์วิลเลียม บาวมอล (William J. Baumol) ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังชาวอเมริกัน ที่เพิ่งเสียชีวิตไปไม่กี่ปีก่อน
Baumol แบ่งบริการทางการแพทย์เป็นสองประเภท ได้แก่ ประเภทที่ใช้ทุนเข้มข้นในการผลิต (capital intensive) ซึ่งราคาจะลดลงตามพัฒนาการทางเทคโนโลยี และความแพร่หลาย และประเภทที่ใช้ แรงงานเข้มข้นในการผลิต (labour intensive) ซึ่งราคามีแนวโน้มสูงขึ้นจากความยากในการเพิ่มผลิตภาพในการทำงานของบุคลากรด้านการแพทย์ เช่น ต่อให้แพทย์-พยาบาล มีประสบการณ์มากขึ้น ก็คงไม่สามารถฉีดยาได้เร็วขึ้นมากนัก
บริการทางการแพทย์ส่วนใหญ่จัดอยู่ในประเภทที่สอง คือต้องใช้บุคลากรใน การให้บริการมาก ทำให้มีแนวโน้มที่จะมีต้นทุนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นภาระต่อประเทศในระยะยาวเมื่อประเทศไทยกลายเป็นสังคมสูงอายุแล้วเช่นในปัจจุบัน
“นวัตกรรม” ทั้งนวัตกรรมกระบวนการและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ คือกุญแจสำคัญที่จะช่วยไขปัญหาการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ นวัตกรรมกระบวนการ (Process Innovation) คือการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ในการทำงานขั้นตอนต่างๆ เพื่อเพิ่มผลิตภาพ
การนำแอปพลิเคชัน LINE ที่ใช้กันทั่วไปเข้ามาใช้ในการแพทย์ทางไกล (telemedicine) ของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สามารถเพิ่มผลิตภาพในการตรวจของแพทย์ได้มากถึง 40-60% หมายความว่า แพทย์ตรวจผู้ป่วยได้มากขึ้นในเวลาเท่าเดิม ที่สำคัญผู้ป่วยจำนวนหนึ่งก็ไม่ต้องเสียเวลาและเสียเงินเดินทาง มาที่โรงพยาบาล และลดความเสี่ยงในการติดโรคระบาดต่างๆ จากโรงพยาบาลที่แออัดด้วย
ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่านวัตกรรมกระบวนการเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีซับซ้อน เพราะอาจเอาเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม
นอกจากนวัตกรรมกระบวนการแล้ว นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ (Product Inno vation) ยังอาจช่วยลดต้นทุนของบริการทางสุขภาพ เช่น ในปัจจุบันเรามีรากฟันเทียม ที่พัฒนาและผลิตในประเทศราคาซี่ละ 25,000-28,000 บาท ในขณะที่รากฟันเทียมจากต่างประเทศที่มีคุณภาพใกล้เคียงกันมีราคาสูงถึงซี่ละ 80,000 บาท แม้บางครั้งนวัตกรรมทางสุขภาพอาจทำให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มสูงขึ้น แต่ถ้ามีการใช้นวัตกรรมนั้นอย่างกว้างขวางพอก็จะเกิดการประหยัดต่อขนาด (economies of scale) ที่ทำให้ราคาต่อหน่วยลดลง
โครงการบัญชีนวัตกรรมไทยของภาครัฐ เป็นหนึ่งในกลไกที่สนับสนุนให้หน่วยงาน รัฐซื้อสินค้านวัตกรรมของคนไทย รวมถึง นวัตกรรมทางการแพทย์ ด้วยแนวคิดว่า ตลาดเครื่องมือแพทย์ในโรงพยาบาลของ รัฐมีขนาดใหญ่ ถ้าสามารถขยายการใช้นวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นจนเกิดการประหยัดต่อขนาด คนไทยก็จะสามารถเข้าถึงเข้าถึงเครื่องมือแพทย์และบริการทางสุขภาพได้ในราคาไม่แพง อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ส่วนหนึ่งยังมีความเชื่อว่าสินค้าไทยยังมีคุณภาพไม่ดีนัก สู้สินค้าจากต่างประเทศไม่ได้ โดยเฉพาะในกรณีของเครื่องมือแพทย์ที่มีรายละเอียดซับซ้อน ซึ่งเปรียบเทียบคุณภาพสินค้ากันได้ยาก
มือเทียมของโครงการ “ไทยฤทธิ์” (Thai Reach) เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าเครื่องมือแพทย์ที่มีราคาถูกกว่าไม่จำเป็นต้องมีคุณภาพด้อยกว่าเสมอไป ไทยฤทธิ์ผลิตมือเทียมด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติจากแบบพิมพ์แบบโอเพนซอร์ส (open-source) ที่ไม่มีค่าทรัพย์สินทางปัญญา ของเครือข่ายอาสาสมัคร กลุ่ม e-NABLE ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ผู้พิการก้าวข้ามความต่างโดยไม่แสวงหากำไร จึงมีราคาไม่สูง นอกจากนี้การใช้วัสดุพลาสติก แทนเหล็กยังทำให้มือเทียมของไทยฤทธิ์ มีน้ำหนักเบา และทำให้ผู้ใช้สวมใส่ได้นานขึ้น
โดยสรุป ตัวอย่างต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นว่า นวัตกรรมสามารถ เพิ่มผลิตภาพในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์และทำให้เครื่องมือแพทย์ถูกลง ดังนั้น นวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้จริงในวงกว้างจึงสามารถช่วยให้ต้นทุนของบริการทางสุขภาพลดลง และทำให้งบประมาณด้านการรักษาพยาบาลของไทย ไม่สูงเกินไป
จึงน่าเสียดายที่ทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ส่วนหนึ่ง ยังขาดความเชื่อมั่นในสินค้าที่พัฒนาและผลิต ในประเทศไทย แม้ว่านวัตกรรมเหล่านั้นจะได้รับการรับรองมาตรฐานสากล แล้วก็ตาม เช่น รากฟันเทียมของมูลนิธิ ทันตนวัตกรรมและบริษัท โนเว็ม อินโนเวชั่น จำกัด ได้มาตรฐาน CE Mark ซึ่งแสดงว่ามีคุณภาพสูงในระดับที่สามารถวางขายในสหภาพยุโรปได้
เราจึงควรหันมาเลือกใช้เครื่องมือแพทย์ตามความเหมาะสมด้านราคาและการใช้งาน โดยอิงจากผลการวิจัยหรือมาตรฐานที่เครื่องมือนั้นได้รับ มากกว่าการยึดติดว่าเครื่องมือแพทย์ที่มีคุณภาพดีจะต้องมาจากต่างประเทศเสมอไป
การสนับสนุนเครื่องมือแพทย์ที่ได้มาตรฐานที่ผลิตและคิดค้นในประเทศไทย จะเป็นพลังสำคัญที่ช่วยผลักดันให้คนไทยทั้งประเทศ สามารถเข้าถึงบริการทางสุขภาพที่ทั้งมีคุณภาพดีและราคาถูกได้
บทความโดย : นัชชา ยงพิพัฒน์วงศ์ นักวิจัยทีมนโยบายนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ทีดีอาร์ไอ
หมายเหตุเผยแพร่ครั้งแรก : นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 10 ส.ค. 2566
- พินิจเศรษฐกิจการเมือง: สร้างเมืองใหม่…ให้ยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ
- คิดยกกำลังสอง: ทรัมป์ 2.0…หนุนประสิทธิภาพรัฐ ?
- พินิจเศรษฐกิจการเมือง : ช่วยภาคการผลิต…ไม่ติดปัญหาท่วม-แล้ง ภาคอุตสาหกรรม – การท่องเที่ยว
- ขาดระบบเตือนภัย ทำ 3 จังหวัดชายแดนใต้วิกฤต
- การพัฒนาชุดข้อมูลการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Profile) ระดับจังหวัด ใน 15 จังหวัดเป้าหมาย