ทีดีอาร์ไอ ใช้ บิ๊กดาต้า สำรวจตลาดแรงงาน พบไตรมาส 3 คึกคัก รับเพิ่มกว่า1.4หมื่นตำแหน่ง แต่น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ธุรกิจขายส่ง-ปลีก บัญชี มาแรง ส่วนช่างเทคนิคที่นายจ้างต้องการ ต้องมีทักษะมากกว่าหนึ่งอย่าง
ทีมวิจัย “โครงการวิเคราะห์การประกาศหางานออนไลน์” ของทีดีอาร์ไอ ได้พัฒนาระบบติดตามการจ้างงานในประเทศไทย โดยใช้ Big Data และการวิเคราะห์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ได้พัฒนาต่อยอดจากโครงการการจัดทำฐานข้อมูลความต้องการทักษะแรงงานด้วย Big Data เพื่อส่งเสริมการปฏิรูปการศึกษา ที่สนับสนุนโดยกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อปี 2561
โครงการนี้มีจุดประสงค์เพื่อวิเคราะห์สถานะความต้องการแรงงานมีทักษะและทักษะต่างๆ ของแรงงานที่นายจ้างต้องการ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วตามสภาวะทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี โดยใช้ Big Data จากประกาศรับสมัครงานของนายจ้าง ซึ่งมีความละเอียดสูงและทันสมัย และน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน ตลอดจนมหาวิทยาลัยและสถาบันอาชีวะศึกษาต่างๆ ที่ผลิตบุคลากรป้อนตลาดแรงงาน
ในปัจจุบัน โครงการนี้ใช้ระบบอัตโนมัติในการเก็บข้อมูลประกาศหางานจาก 14 เว็บไซต์หางานในประเทศไทย ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ เว็บไซต์หางานระดับประเทศ 8 เว็บไซต์ เว็บไซต์หางานตามกลุ่มอาชีพเฉพาะ 5 เว็บไซต์ และเว็บไซต์หางานตามกลุ่มภูมิภาค 1 เว็บไซต์
ไตรมาส3 คึกคัก รับเพิ่มเกือบ 10 % แต่น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ล่าสุดในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 (1 กรกฎาคม 2566–30 กันยายน 2566) พบว่า มีประกาศรับสมัครงานทั้งหมด 169,484 ตำแหน่งงาน เพิ่มขึ้นจากช่วงไตรมาสที่ผ่านมา ที่มีประกาศรับสมัครงานทั้งหมด 154,595 ตำแหน่งงาน หรือเพิ่มขึ้น 9.6% แต่ลดลงจากไตรมาสที่ 3 ของปีที่แล้ว 2.6% เมื่อจำแนกประกาศรับสมัครงานตามวุฒิการศึกษาขั้นต่ำที่ระบุในประกาศรับสมัครงาน พบว่าประกาศรับสมัครงานวุฒิมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีจำนวน 11,456 ตำแหน่งงาน (6.8%) มัธยมศึกษาปีที่ 6 10,473 ตำแหน่งงาน (6.2%) ปวช. 18,346 ตำแหน่งงาน (10.8%) ปวส. 13,536 ตำแหน่งงาน (8.0%) ปริญญาตรี 68,822 ตำแหน่งงาน (40.6%) สูงกว่าปริญญาตรี 1,637 ตำแหน่งงาน (1.0%) และที่ไม่ระบุวุฒิการศึกษาขั้นต่ำมีจำนวน 45,214 ตำแหน่งงาน (26.7%)
เมื่อจำแนกประกาศรับสมัครงานตามภูมิภาคที่ระบุในประกาศ พบว่าประกาศรับสมัครงานในกรุงเทพและปริมณฑล มีจำนวนมากที่สุด 114,931 ตำแหน่งงาน (67.8%) ตามด้วยไม่ระบุภูมิภาค 27,673 ตำแหน่งงาน (16.3%) ภาคตะวันออก 10,478 ตำแหน่งงาน (6.2%) ภาคใต้ 6,593 ตำแหน่งงาน (3.9%) ภาคกลาง 4,357 ตำแหน่งงาน (2.6%) ภาคเหนือ 3,464 ตำแหน่งงาน (2.0%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,354 ตำแหน่งงาน (0.8%) และภาคตะวันตก 634 ตำแหน่งงาน (0.4%)
ธุรกิจค้าส่ง-ปลีก ครองแชมป์ต้องการแรงงานมาก
เมื่อจำแนกประกาศรับสมัครงานตามกลุ่มประเภทธุรกิจที่ระบุในประกาศรับสมัครงาน โดยอ้างอิงข้อมูลจากฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในการช่วยจำแนกข้อมูล พบว่าประกาศรับสมัครงานในกลุ่มธุรกิจการขายส่งและการขายปลีก มีจำนวนมากที่สุด 27,483 ตำแหน่งงาน (16.2%) ไม่สามารถระบุได้ 26,951 ตำแหน่งงาน (15.9%) การผลิต 20,172 ตำแหน่งงาน (11.9%) กิจกรรมทางวิชาชีพ วิทยาศาสตร์ และเทคนิค 15,704 ตำแหน่งงาน (9.3%) กิจกรรมการบริหารและการบริการสนับสนุน 15,493 ตำแหน่งงาน (9.2%) ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 12,413 ตำแหน่งงาน (7.3%) กิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ 11,217 ตำแหน่งงาน (6.6%) ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร 8,351 ตำแหน่งงาน (4.9%) กิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย 8,243 ตำแหน่งงาน (4.9%) การก่อสร้าง 6,970 ตำแหน่งงาน (4.1%) การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 6,834 ตำแหน่งงาน (4.0%) กิจกรรมบริการด้านอื่นๆ 2,380 ตำแหน่งงาน (1.4%) การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ 1,992 ตำแหน่งงาน (1.2%) กิจกรรมด้านสุขภาพและงานสังคมสงเคราะห์ 1,606 ตำแหน่งงาน (0.9%) ศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการ 1,485 ตำแหน่งงาน (0.9%) การศึกษา 1,167 ตำแหน่งงาน (0.7%) และกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ 1,023 ตำแหน่งงาน (0.6%)
กลุ่มอาชีพบัญชี สุดคึกคักนายจ้างประกาศรับมากที่สุด
เมื่อจำแนกประกาศรับสมัครงานตามกลุ่มอาชีพที่ระบุในประกาศรับสมัครงาน โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการช่วยจำแนกกลุ่มอาชีพ พบว่าประกาศรับสมัครงานในกลุ่มอาชีพบัญชี/การเงินมีจำนวนมากที่สุด 29,345 ตำแหน่งงาน (17.3%) ตามด้วยการตลาด 28,471 ตำแหน่งงาน (16.8%) ช่างเทคนิค 23,759 ตำแหน่งงาน (14.0%) วิศวกร 20,573 ตำแหน่งงาน (12.1%) งานไอที 16,045 ตำแหน่งงาน (9.5%) ไม่สามารถระบุได้ 15,352 ตำแหน่งงาน (9.1%) ฝ่ายจัดซื้อจัดจ้าง 10,583 ตำแหน่งงาน (6.2%) งานฝ่ายบุคคล 7,394 ตำแหน่งงาน (4.4%) ตำแหน่งงานอื่นๆ 4,258 ตำแหน่งงาน (2.5%) พนักงานขายของ 3,286 ตำแหน่งงาน (1.9%) พนักงานคิดเงิน 1,834 ตำแหน่งงาน (1.1%) ครู/ครูสอนพิเศษ 1,634 ตำแหน่งงาน (1.0%) แม่บ้าน 1,585 ตำแหน่งงาน (0.9%) นักออกแบบกราฟิก 1,537 ตำแหน่งงาน (0.9%) นักแปล/ล่าม 1,464 ตำแหน่งงาน (0.9%) สถาปนิก 1,221 ตำแหน่งงาน (0.7%) และคนขับรถ 1,143 ตำแหน่งงาน (0.7%)
ตำแหน่งงานกระจุกตัวกทม.- ป.ตรี
เมื่อจำแนกประกาศรับสมัครงานตามวุฒิการศึกษาและภูมิภาค จะเห็นว่า ตำแหน่งงานส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพและปริมณฑล ซึ่งนายจ้างต้องการผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี นอกจากนี้ ยังมีตำแหน่งงานอีกไม่น้อยที่ไม่ระบุระดับการศึกษาและไม่ระบุภูมิภาค
เมื่อจำแนกประกาศรับสมัครงานตามกลุ่มอาชีพและภูมิภาค พบว่า ส่วนใหญ่ตำแหน่งงานในแต่ละกลุ่มอาชีพจะมีการกระจายตัวอิงตามสัดส่วนของจำนวนตำแหน่งงานตามภูมิภาค
เมื่อจำแนกประกาศรับสมัครงานตามวุฒิการศึกษาและกลุ่มอาชีพ พบว่ากลุ่มอาชีพที่ต้องการทักษะจำเพาะ เช่น กลุ่มงานบัญชี การเงิน ไอที วิศวกร จะต้องการวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป
ช่างเทคนิค ต้องมีทักษะมากกว่า 1 อย่าง
เมื่อจำแนกเฉพาะตำแหน่งงานในกลุ่มช่างเทคนิคจากจำนวน 23,759 ตำแหน่งงาน และวิเคราะห์กลุ่มทักษะที่ต้องการ พบว่าทักษะงานช่างเป็นทักษะที่มีความต้องการมากที่สุด 20,384 ตำแหน่งงาน (85.8%) งานประปา 19,485 ตำแหน่งงาน (82.0%) งานไฟฟ้า 18,674 ตำแหน่งงาน (78.6%) ซ่อมแอร์ 14,701 ตำแหน่งงาน (61.9%) ซ่อมบำรุงอาคาร 14,180 ตำแหน่งงาน (59.7%) ซ่อมเครื่องยนต์ 13,583 ตำแหน่งงาน (57.2%) งานไม้ 4,853 ตำแหน่งงาน (20.4%) และซ่อมโทรศัพท์ 3,910 ตำแหน่งงาน (16.5%) โดยในหนึ่งตำแหน่งงานมีทักษะที่ต้องการมากกว่าหนึ่งทักษะ และไม่ได้พบความต้องการทักษะอื่นๆ เช่นทักษะภาษาอังกฤษ ทักษะไอที ในตำแหน่งงานกลุ่มช่างเทคนิค
เมื่อวิเคราะห์วุฒิการศึกษาขั้นต่ำของกลุ่มอาชีพช่างเทคนิคพบว่ามีประกาศรับสมัครงานวุฒิมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 3,684 ตำแหน่งงาน (15.5%) มัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 3,493 ตำแหน่งงาน (14.7%) ปวช. 8,653 ตำแหน่งงาน (36.4%) ปวส. 6,503 ตำแหน่งงาน (27.4%) และที่ไม่ระบุวุฒิการศึกษาขั้นต่ำมีจำนวน 1,426 ตำแหน่งงาน (6.0%)
เมื่อดูกระจายตัวของตำแหน่งงานกลุ่มช่างเทคนิคตามภูมิภาคต่างๆ เทียบกับกลุ่มอาชีพอื่นๆ พบว่ามีตำแหน่งงานของกลุ่มไอทีในกรุงเทพและปริมณฑล คิดเป็น 66.6% ของตำแหน่งงานไอทีเทียบกับ 67.8% ของตำแหน่งงานทั้งหมดที่อยู่ในกรุงเทพและปริมณฑล ซึ่งชี้ให้เห็นว่าตำแหน่งงานของกลุ่มไอทีมีการกระจายตัวใกล้เคียงกับตำแหน่งงานอื่นๆ
เมื่อเปรียบเทียบความต้องการของทักษะของกลุ่มอาชีพช่างเทคนิคในไตรมาสที่ 3 ปี 2566 เทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปีที่แล้ว พบว่าทักษะส่วนใหญ่มีความต้องการมากขึ้น ยกเว้นทักษะการซ่อมโทรศัพท์
โครงการวิเคราะห์การประกาศหางานออนไลน์จะวิเคราะห์และนำเสนอการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานไทยอย่างต่อเนื่องไปในทุกไตรมาส โดยทีมวิจัย “โครงการวิเคราะห์การประกาศหางานออนไลน์” วินิทร เธียรวณิชพันธุ์ และ ฐิติรัตน์ สีหราช
บทความที่เกี่ยวข้อง
เปิดผลสำรวจตลาดแรงงานด้วย Big Data พบเปิดรับสมัครงานลด 2 หมื่นตำแหน่ง