tdri logo
tdri logo
26 มิถุนายน 2023
Read in Minutes

Views

รู้จัก “การสอบทาน” เพิ่มความน่าเชื่อถือ “ข้อมูลความยั่งยืนองค์กร”

ในบทความนี้ทางทีมวิจัยอยากชวนทุกท่านมาทำความรู้จักกับ “การสอบทานข้อมูลความยั่งยืนองค์กร” ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่มีผู้สอบทานอิสระมาให้ความเชื่อมั่นแก่ข้อมูลด้านความยั่งยืนที่องค์กรเปิดเผย

ความต้องการข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลทางการเงินของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างนักลงทุน หรือสถาบันการเงิน รวมถึงข้อบังคับการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวจากหน่วยงานกำกับดูแลที่เพิ่มขึ้น ทำให้ในปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนมีการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนองค์กรอย่างแพร่หลาย จำนวนข้อมูลที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้เกิดการตั้งคำถามถึงคุณภาพของข้อมูลดังกล่าว ซึ่งเป็นที่มาของการให้ความสำคัญกับการใช้ผู้สอบทานข้อมูลด้วย

การสอบทานข้อมูลองค์กรที่หลายท่านคุ้นเคยอาจเป็นการสอบทานข้อมูลทางการเงินของกิจการโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต สำหรับบริบทของข้อมูลความยั่งยืนองค์กรนั้น บริษัทจดทะเบียนจำนวนหนึ่งในประเทศไทยก็เลือกใช้ผู้สอบทานอิสระเช่นกัน เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือของข้อมูลความยั่งยืนที่บริษัทเปิดเผย และให้ความมั่นใจแก่ผู้ใช้ข้อมูลทั้งภายใน และภายนอกองค์กร

มาตรฐานการสอบทานที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ได้แก่ ISAE 3000 ซึ่งเป็นมาตรฐานสำหรับการรับรองข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลทางการเงิน และ ISAE 3410 ซึ่งเป็นมาตรฐานสำหรับการให้ความเชื่อมั่นต่อรายงานก๊าซเรือนกระจก รวมถึง AA1000AS ที่เป็นมาตรฐานสำหรับการรับรองรายงานความยั่งยืน หรือข้อมูลด้านความยั่งยืนในองค์กร อย่างไรก็ดี ผู้สอบทานอาจใช้มาตรฐานเหล่านี้ปะปนกันได้ เพราะแต่ละมาตรฐานดังกล่าวไม่มีความขัดแย้งกัน ผู้สอบทานบางรายอาจมีกระบวนการสอบทานของตนเองที่มีการผนวกมาตรฐานข้างต้น และมาตรฐานอื่น ๆ เข้าไปด้วย

ประโยชน์ และประเด็นคำถามเกี่ยวกับการสอบทานข้อมูลความยั่งยืน

ประโยชน์หลักที่เป็นที่กล่าวถึงของการสอบทานข้อมูลความยั่งยืนคือ การเพิ่มความน่าเชื่อถือให้ข้อมูลความยั่งยืนที่บริษัทเปิดเผย รวมถึงเป็นกระบวนการที่ส่งเสริมการพัฒนาการเปิดเผยข้อมูล และบริหารจัดการข้อมูลความยั่งยืนองค์กรอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามบทบาทของการสอบทานข้อมูลความยั่งยืนอาจถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับความจำเป็น และคุ้มค่าของการสอบทานข้อมูลดังกล่าว เมื่อเทียบต้นทุนกับประโยขน์ที่พึงได้ รวมถึงประเด็นเกี่ยวกับคุณภาพของการสอบทาน และความรับผิดชอบของผู้สอบทานด้วย การตั้งคำถามในประเด็นนี้อาจรวมไปถึงประเด็นที่ว่าการสอบทานข้อมูลความยั่งยืนองค์กรเป็นส่วนช่วยให้ความน่าเชื่อถือของข้อมูลเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจริง หรือเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่องค์กรใช้เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์เท่านั้น

การสอบทานข้อมูลด้านความยั่งยืนในบริบทประเทศไทย

ในบริบทประเทศไทยองค์กรต่าง ๆ โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ ได้จัดทำรายงานความยั่งยืนอย่างแพร่หลายมาระยะหนึ่งแล้ว โดยเมื่อมีการเปิดเผยข้อมูลหรือจัดทำรายงานความยั่งยืน บริษัทบางแห่งก็อาจว่าจ้างผู้สอบทานอิสระเข้ามาตรวจสอบ และให้ความเห็นต่อข้อมูลที่องค์กรเปิดเผย รวมถึงกระบวนการที่ได้มาซึ่งข้อมูลด้วย

จากผลการศึกษาโครงการสำรวจการจัดทำรายงานความยั่งยืน และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการกำหนดประเด็นความยั่งยืนที่มีนัยสำคัญของบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทย ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) ที่เก็บข้อมูลจากบริษัทจดทะเบียนใน SET100 ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2558-2564 ทีมวิจัยพบว่า มีการใช้ผู้สอบทานอิสระในการให้ความเชื่อมั่นต่อข้อมูลความยั่งยืนของบริษัทในกลุ่มตัวอย่างเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อยอยู่ โดยในปี พ.ศ. 2558 มีเพียง 16 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นของบริษัทจากกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ผู้สอบทานอิสระ สัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 33 เปอร์เซ็นต์ ในปี พ.ศ. 2564

โดยการให้ความเชื่อมั่นแก่ข้อมูลความยั่งยืนของผู้สอบทานอิสระส่วนมากยังเป็นการให้ความเชื่อมั่นแบบจำกัด (limited assurance) มีส่วนน้อยสำหรับข้อมูลบางประเภท เช่น ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีการให้ความเชื่อมั่นอย่างสมเหตุสมผล (reasonable assurance) ซึ่งเป็นการให้ความเชื่อมั่นในระดับที่สูงกว่า โดยการให้ความเชื่อมั่นแบบจำกัดเป็นแนวปฏิบัติที่ปกติในการให้ความเชื่อมั่นแก่ข้อมูลความยั่งยืน

จากข้อมูลงานวิจัยข้างต้นพบว่าการใช้ผู้สอบทานอิสระค่อนข้างแพร่หลายในธุรกิจที่อยู่ในบางกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมทรัพยากร หมวดธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค ซึ่งการตัดสินใจใช้ผู้สอบทานอิสระอาจเป็นไปในทางเดียวกับพัฒนาการการเปิดเผยข้อมูล และการให้ความสำคัญของข้อมูลความยั่งยืนองค์กร

อย่างไรก็ดี แนวปฏิบัติของการสอบทานข้อมูลความยั่งยืนยังไม่ได้เป็นกฎข้อบังคับอย่างชัดเจนในบริบทประเทศไทย จึงส่งผลให้ขอบเขตและลักษณะการใช้ผู้สอบทานอิสระต่อข้อมูลความยั่งยืนองค์กรของบริษัทจดทะเบียนแต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน เช่น การใช้ผู้สอบทานอิสระต่อข้อมูลที่เปิดเผยในรายงานยังมีขอบเขตของการสอบทานที่จำกัดเฉพาะเจาะจงกับบางชุดข้อมูล โดยองค์กรมีสิทธิในการกำหนดขอบเขต หรือชุดข้อมูลที่ต้องการให้มีการให้ความเห็นโดยผู้สอบทาน ซึ่งขอบเขตของการสอบทานมักขึ้นอยู่กับความต้องการและทรัพยากรขององค์กร รวมถึงข้อบังคับ หรือความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กรด้วย เช่น บริษัทหลายแห่งตัดสินใจใช้ผู้สอบทาน และเลือกขอบเขตของการสอบทานจากข้อคำถามในการประเมิน Dow Jones Sustainability Index (DJSI)

หน่วยงานอิสระที่ทำหน้าที่เป็นผู้สอบทาน โดยให้บริการด้านการตรวจรับรองหรือให้ความมั่นใจในการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นความยั่งยืนองค์กรในประเทศไทยมีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นบริษัทสอบบัญชีและให้คำปรึกษาทางธุรกิจอย่างบริษัทในกลุ่ม Big 4 หรือบริษัทที่รับงานตรวจรับรอง หรือสอบทานข้อมูลที่ไม่ใช่บริษัทสอบบัญชี อย่าง LRQA, SGS, TUV Nord หรือสถาบันไทยพัฒน์

จากผลงานวิจัยของทีมวิจัยทีดีอาร์ไอในโครงการข้างต้นพบว่า บริษัทจดทะเบียนที่ให้ข้อมูลจะเน้นเลือกผู้สอบทาน โดยให้ความสำคัญกับความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ ความเข้าใจกรอบการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน เช่น GRI Standards และความเข้าใจอุตสาหกรรมที่บริษัทดำเนินการอยู่ ปัจจัยรองลงมาคือปัจจัยด้านราคา โดยบางบริษัทอาจพิจารณาเลือกผู้สอบทานอิสระจากความสามารถในการให้คำแนะนำ และการเสนอมุมมองใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการทำงานของบริษัทด้วย

แนวโน้มของการใช้ผู้สอบทานอิสระต่อข้อมูลความยั่งยืนองค์กร

ในอนาคตทางทีมวิจัยคาดว่าองค์กรที่เปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มที่จะใช้บริการการสอบทานข้อมูลความยั่งยืนองค์กรมากขึ้น โดยองค์กรที่ยังไม่มีการสอบทานข้อมูลความยั่งยืนน่าจะเริ่มที่ข้อมูลที่เป็นประเด็นสำคัญขององค์กรก่อน และได้รับความสนใจจากหน่วยงานกำกับดูแลก่อน เช่น ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น ส่วนองค์กรที่มีการใช้บริการการสอบทานข้อมูลความยั่งยืนองค์กรมาอยู่แล้ว ก็มีแนวโน้มที่จะขยายขอบเขตของชุดข้อมูลที่ได้รับการสอบทานมากขึ้น

อย่างไรก็ตามตลาดของผู้ให้บริการการสอบทานข้อมูลด้านความยั่งยืนในประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจพิจารณาแนวทางเพื่อเพิ่มจำนวนบริษัทสัญชาติไทยที่มีศักยภาพในการให้บริการการสอบทานข้อมูลด้านความยั่งยืน เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนมีทางเลือก ทั้งในแง่ความเชี่ยวชาญของผู้สอบทานและราคาของบริการดังกล่าว

นอกจากนี้หากหน่วยงานกำกับดูแลจะพิจารณาออกข้อบังคับที่ชัดเจนให้บริษัทจดทะเบียนใช้ผู้สอบทานอิสระ อาจกำหนดขอบเขตเป็นประเด็นรายตัวชี้วัดที่สำคัญก่อน และอาจต้องพิจารณาหรือสำรวจความพร้อมของบริษัทในด้านข้อมูลความยั่งยืนที่เปิดเผย ก่อนที่จะมีการบังคับใช้ข้อกำหนดดังกล่าวอย่างชัดเจนด้วย

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยโครงการสำรวจการจัดทำรายงานความยั่งยืน และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการกำหนดประเด็นความยั่งยืนที่มีนัยสำคัญของบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทย ที่ได้รับการสนับสนุนโดยกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF)

บทความโดย ชาริกา ชาญนันทพิพัฒน์  ขจรพงศ์ ประศาสตรานุวัตร และเอกปวีณ อนุสนธิ์


ผลงานล่าสุดจากทีดีอาร์ไอ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด